ผู้จัดการรายวัน360- "วิษณุ" เผยคณะองคมนตรีเลือก"ธานินทร์ กรัยวิเชียร" ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน หลัง"พล.อ.เปรม" ต้องทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สั่งกรมสารนิเทศแจงขั้นตอนพระราชพิธีต่อทูตต่างประเทศ ยันประเทศไทยยังมีพระมหากษัตริย์ คาดคำวินิจฉัยศาล รธน.ออก 3 แนวทาง ใครเป็นผู้แก้ไขคำปรารภ เชื่อปมพระปรมาภิไธยใหม่ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตั้ง "จรุงจิตต์" เป็นเลขานุการฯ พระราชินี
เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (19ต.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่เอกสารสำนักเลขาธิการทำเนียบองคมนตรี แจ้งมายังปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า คณะองคมนตรีได้เลือก นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ทำหน้าที่ประธานองคมนตรี เป็นการชั่วคราว ผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า เอกสารจริงหรือปลอมไม่รู้ แต่ข้อเท็จจริงคือ เมื่อประธานองคมนตรี คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 24 ระบุไว้ โดยได้เขียนว่า ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวนั้น ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ของประธานองคมนตรีด้วย แม้ว่าจะยังเป็นประธานองคมนตรีอยู่ก็ตาม ต้องแยกกัน และรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ได้เขียนต่อรองรับไว้ว่า กรณีที่เกิดเหตุเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรี เลือกองคมนตรีขึ้นมาคนหนึ่งมาปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
นายวิษณุ กล่าวว่า โดยเมื่อวันที่ 14 ต.ค. คณะองคมนตรีได้มีการปรึกษา และเลือกนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน โดยไม่ใช่ให้เป็นประธานองคมนตรี และเมื่อถึงเวลาที่ พล.อ.เปรม ได้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ของประธานองคมนตรีตามปกติ โดยไม่ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นวันนี้พล.อ.เปรม จะมีตำแหน่งประธานองคมนตรี และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีไม่ได้เท่านั้นเอง และรัฐบาลได้รับแจ้งเรื่องนี้แต่แรกแล้ว และไม่ต้องมีการประกาศเช่นเดียวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เมื่อถามว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสวรรคต คณะองคมนตรี ต้องพ้นไปด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีการบัญญัติไว้แบบนั้น แต่กลับเขียนไว้อีกอย่างว่า การดำรงตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
**ยันประเทศไทยยังมีพระมหากษัตริย์
นายวิษณุ ยังกล่าวถึง กรณีสื่อต่างประเทศ หรือชาวต่างประเทศไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย ไม่เข้าใจหัวจิตหัวใจของคนไทย เวลาเสนอรายการ หรือเขียนข่าวอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะเมื่อมีการเอาไปเทียบกับธรรมเนียมของเขา ที่พระมหากษัตริย์สวรรคตแล้วไม่เกิน 7 วัน จะมีการฝังพระบรมศพ แต่ของไทยเขาไม่เข้าใจว่าจะต้องมีพระราชพิธีถวายพระเพลิง ต้องมีการสร้างพระเมรุ ซึ่งอีกยาวนาน ดังนั้น กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จะต้องไปแจ้งเพื่อให้เขารู้ขั้นตอน
โดยจะต้องแจ้งให้เขาทราบว่ามี 3 ขั้นตอน คือ 1. การขึ้นรับราชสมบัติ ซึ่งจะมาเป็นลำดับแรก โดยจะมีในเร็ววันนี้ 2. การถวายพระเพลิง ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกประมาณ 1 ปีหลังจากนี้ไป และ 3. การบรมราชาภิเษก ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังการถวายพระเพลิงไปอีกระยะหนึ่ง โดยให้อธิบดีกรมสารนิเทศไปชี้แจงต่อทูตประเทศต่างๆ เพื่อให้ทูตไปชี้แจงต่ออีก
อย่างไรก็ตาม วันนี้ขั้นตอนที่ 1 ยังไม่เกิดขึ้น เพราะรอเวลาตามพระราชปรารภของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยจะเกิดขึ้นแน่ในระยะเวลาหนึ่ง และนายกฯได้แจ้งแล้วว่า ขอเวลาบำเพ็ญพระราชกุศลที่จะให้ประชาชนได้ถวายบังคมพระบรมศพระยะหนึ่ง ให้สมกับที่ตั้งใจและรอคอย สิ่งเหล่านี้จะมาเองในเวลาอันสมควร ดังนั้นที่ต่างประเทศไปออกข่าวกันว่า ประเทศไทยไม่มีพระมหากษัตริย์นั้น ไม่เป็นความจริง
** ศาลรธน.ชี้ใครเป็นผู้แก้ไขคำปรารภ 26ต.ค.
ส่วนกรณีที่ คณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 5 วรรคสอง ว่า นายกรัฐมนตรี จะปรับปรุงคำปรารภของร่าง รธน.ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ต.ค.59 ได้หรือไม่ ต้องรอพระปรมาภิไธยของพระองค์ใหม่ด้วยหรือไม่นั้น ศาลรธน. มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว และทราบว่าจะมีคำวินิจฉัยในสัปดาห์หน้า (26 ต.ค.) รัฐบาลได้ถามไว้ 2 ข้อ คือ 1. เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย จะสามารถแก้ได้หรือไม่ 2. ใครเป็นคนแก้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือไม่ เพราะเป็นผู้ร่างมาแต่เดิม หรือให้รัฐบาลแก้ เพราะเรื่องมาถึงมือรัฐบาลแล้ว หรือจะเป็นสำนักราชเลขาธิการแก้ไข เพราะกว่าจะปรากฏความชัดเจนว่าจะแก้อย่างไร รัฐบาลคงส่งไปถึงสำนักราชเลขาธิการแล้ว จึงขอให้ศาลรธน.วินิจฉัย และเมื่อผลคำวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็จะปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ หากศาลรธน.บอกว่า แก้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องแก้ ให้ปล่อยไปไว้อย่างนั้น ถ้าบอกว่าแก้ได้ และระบุใครเป็นคนแก้ คนที่ศาลสั่งต้องปฏิบัติตาม ส่วนจะแก้อย่างไร มีวิธีปฏิบัติอยู่แล้ว โดยที่ไม่ได้ลำบาก เพราะมีแบบอย่างมาตลอด ไม่ว่าการลงนามจะเป็นการลงนามโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ก็ตาม ซึ่งความจริงปรากฏชัดแล้วว่า มีพระราชบัณฑูรจะทรงลงพระปรมาภิไธยเอง ดังนั้น เวลาแก้ ต้องแก้ไปตามนั้น ส่วนพระปรมาภิไธยจะว่าอย่างไรนั้น ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะปกติก่อนจะบรมราชาภิเษกนั้น พระปรมาภิไธยพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาล ก็จะไม่เปลี่ยนเท่าไร คือใช้พระนามเดิม พระนามจะเปลี่ยนต่อเมื่อได้บรมราชาภิเษก ที่เราเรียกว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นหลังจากบรมราชาภิเษก เมื่อก่อนบรมราชาภิเษกนั้น ท่านยังเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุฬาลงกรณ์
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึง เรื่องการสืบสันตติวงศ์ ว่า ทางรัฐบาลได้มีการประสานกันมาตลอด เพราะว่าต้องขึ้นอยู่กับทางรัฐบาล เพราะตาม รธน.50 มาตรา 23 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปัจจุบันนั้น จะต้องมีกระบวนการที่ต้องให้ทาง ครม. แจ้งให้ทาง สนช. ทราบ ถึงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงตั้งพระรัชทายาทเอาไว้ ซึ่งก็จะต้องดำเนินการอย่างเป็นทางการด้วยมติ ครม. ถ้าทางครม. มีมติมาเมื่อใด ทางสนช. ก็จะต้องมีการดำเนินการประชุมโดยรีบด่วน โดยทางสนช. ก็ได้มีการเตรียมพร้อมตลอดทุกวัน แม้กระทั่งในวันนี้ พรุ่งนี้ ซึ่งอย่าลืมว่า สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพูดถึงนั้น ก็โยงไปถึงพระราชบัณฑูร ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ด้วย ดังนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กัน
**ตั้ง"จรุงจิตต์"เป็นเลขานุการฯ พระราชินี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็ปไซต์ราชกิจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ให้ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ตำแหน่งรองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ให้ดำรงตำแหน่ง ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สำนักราชเลขาธิการ ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ