เมืองไทย 360 องศา
ในสภาพอารมณ์เศร้าโศกของคนไทยทั้งประเทศเวลานี้สามารถสัมผัสได้ ขณะเดียวกันอารมณ์ดังกล่าวก็เหมือนกับการหลอมรวมดวงใจเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างน่าอัศจรรย์อีกครั้งหนึ่ง
การหลั่งไหลของคนไทยทั้งประเทศเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ก็เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย นั่นย่อมพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง แม้จะมีอารมณ์เศร้าสลดเพียงใด แต่ก็ยังมีสติมีความสามัคคีช่วยเหลือโอบอุ้มกันอย่างน่าประหลาด เป็นภาพที่น่าอัศจรรย์ที่แม้แต่ชาวต่างประเทศทั้งที่ได้มาสัมผัสด้วยตัวเองขณะเดินทางเข้ามาในประเทศในช่วงนี้ รวมทั้งจากการรับรู้จากข่าวสารที่ถ่ายทอดออกไปตามสื่อต่างๆ
อย่างไรก็ดี ในสภาพบรรยากาศอันเศร้าสลด และรัฐพิธีดังกล่าวก็กลับยังมีขบวนการ “บ่อนทำลาย” คอยหาจังหวะสอดแทรกเข้ามาเข้ามาอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน มีความพยายามปล่อย “ข่าวลือ” ทำได้แม้กระทั่ง “ปลอมแปลงแถลงการณ์”
สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นเกิดข่าวลือที่มีเจตนาสร้างความแตกแยก หวังให้เกิดความวุ่นวายในสังคม ซึ่งหากสังเกตจะพบว่า ขบวนการพวกนี้เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน ยังมีความพยายามจะอาศัยสาเหตุจากกรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ขบวนการร้ายพวกนี้ก็พยายามบิดเบือนปลุกปั่นปล่อยข่าวลือว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีอำนาจเสนอชื่อพระมหากษัตริย์” ทั้งที่ไม่จริง
ขบวนการพวกนี้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความแตกแยก เกิดความปั่นป่วน มีการปล่อยข่าวในโลกโซเซียลฯ อย่างรวดเร็ว ยังดีที่ฝ่ายรัฐบาลทันเกม ให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็ว เป็นการ “ดับไฟ” อย่างทันท่วงที และเพื่อป้องกันความสับสน ก็ขอนำคำพูดของ รองนายกฯ ดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เวลา 21.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาลมากล่าวซ้ำอีกที ดังนี้
“เป็นที่ทราบกันมาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2515 ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสถิตอยู่ในตำแหน่งที่ทางการเรียกว่าพระรัชทายาท ฉะนั้น รัฐธรรมนูญไทยได้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2534 เรื่อยมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมถึงที่จะเขียนในฉบับใหม่ว่าเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง กรณีที่มีการตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว จะไม่มีทางอื่นใดทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีจะต้องแจ้งไปยังประธานรัฐสภา ซึ่งขณะนี้คือประธาน สนช. ให้ทราบว่าได้มีการตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วเมื่อไหร่ อย่างไร พร้อมหลักฐานพยานต่างๆ ที่จะแนบไป ซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานประกาศพระบรมราชโองการ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ โดยประธานสภาฯ จะเรียกประชุมเพื่อมีมติรับทราบอย่างเป็นทางการ เมื่อเรียบร้อยแล้วจะได้กราบบังคมทูลเชิญขึ้นครองราชย์ และออกประกาศให้รู้ว่า บัดนี้เรามีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว นี่คือขั้นตอนตาม
รัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้ชัดเจน”
“เรื่องนี้ในกฎมณเฑียรบาลระบุไว้ว่า การตั้งเจ้านายพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระรัชทายาท เป็นการตั้งตามกฎมณเฑียรบาล เพราะฉะนั้นในประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงได้มีประโยคหนึ่งตามโบราณนิติราชประเพณีนั้น ระบุว่า เมื่อถึงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ทรงเจริญพระชนมายุสมควรแล้ว ก็จะตั้งเป็นพระรัชทายาทเพื่อสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป ขณะเดียวกันในกฎมณเฑียรบาล มาตรา 4 เขียนไว้ว่า คำว่ารัชทายาท หมายถึงเจ้านายเชื้อบรมวงศ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา โดยจัดการพระราชพิธีสถาปนาให้เป็นพระรัชทายาท และตอนนี้ทุกอย่างได้เดินตามกฎมณเฑียรบาล ทั้งยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ทั้งนี้ปัญหาจะเกิดในกรณีที่ไม่พระรัชทายาท ซึ่งขณะนี้ไม่มีปัญหา เพราะเป็นกรณีที่มีพระรัชทายาท”
“จึงไม่มีเหตุที่จะเลื่องลือ เล่าขาน คิดเป็นอย่างอื่นทั้งสิ้น ทุกอย่างจะเดินตามนี้ รัฐบาลก็ตั้งใจที่จะเดินตามนี้ ทำตามนี้ เพียงแต่จะทำช้าหรือเร็ว เป็นเรื่องที่ต้องรับสนองพระราชปรารภของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งพระองค์มีรับสั่ง อย่างเราต้องเข้าใจว่า แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จะสถิตในหทัยราษฎร์ ขณะเดียวกันพระองค์ท่านก็สถิตในหทัยราชสมเด็จพระบรมฯ ในฐานะทรงเป็นราช ที่หมายถึงราษฎร และเป็นยิ่งว่า คือการเป็นลูกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่พระองค์มีรับสั่งเองว่า ขอเวลาทำพระทัยร่วมกับประชาชนชาวไทย คนไทยวิปโยคอย่างไร พระองค์ก็วิปโยคอย่างนั้น อาจจะมากยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำ เพราะเป็นลูก มีความผูกพัน อยู่ๆจะต้องมาได้รับการตั้งเป็นพระเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรทั้งหมด เพราะการเป็นพระเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาจรวดเร็วกระทันหันเกินไป”
“ส่วนการตั้งผู้สำเร็จราชการฯ เกิดขึ้นได้ 2 กรณี 1. เกิดจากกรณีที่พระมหากษัตริย์ หรือกรณีที่บุคคลอื่นที่มีอำนาจในการตั้ง เช่น คณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอ เนื่องจากเกิดภาวะว่างเปล่าขึ้น กรณีนี้เรียกว่า เป็นโดยการแต่งตั้ง หากเป็นกรณีนี้ต้องปฏิญาณตนต่อรัฐสภา ซึ่งเคยมีมาแล้วเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยการแต่งตั้ง เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จออกผนวช สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ต้องไปทรงปฏิญาณพระองค์ในที่ประชุมรัฐสภามาแล้ว 2. การเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แปลว่า เป็นชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะไม่มีการแต่งตั้ง ไม่มีการประกาศ ไม่มีการสถาปนา และไม่มีการไปปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา”
“เป็นทันทีในเวลาแรกสุด เมื่อเกิดเหตุที่ราชบัลลังก์ว่างลง เพราะว่าตั้งไม่ทันก็ต้องมี เพื่อจะ หรืออาจจะต้องปฏิบัติหน้าที่บางอย่าง แต่ถ้าไม่มีอะไรต้องปฏิบัติ ก็แล้วไป แต่ของอย่างนี้ต้องเผื่อเอาไว้ จะเกิดช่องว่างขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้นอย่าเรียกให้เป็นภาษาพูดว่าอัตโนมัติอะไรเลย ถือว่าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ส่วนจะเป็นไปพลางถึงไหน รัฐธรรมนูญเขียนว่า พลางก่อนจนกระทั่งมีการอัญเชิญพระรัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ตรงนั้นจะเกิดช้า เกิดเร็วเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้เวลาสักระยะ ฉะนั้นก็ไม่เกิดปัญหา ไม่มีอะไรเป็นช่องว่างสำหรับกรณีนี้ และผู้ที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนนั้น อย่าไปสนใจว่า เป็นใคร ชื่ออะไร ต้องสนใจว่า ตำแหน่งอะไร เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วไม่มีทางที่จะไม่เป็น แล้วไม่มีทางที่จะไม่รับ เป็นคือต้องเป็น แต่กรณีที่จะไม่เป็นมีกรณีเดียวคือ กรณีที่มีการประกาศอัญเชิญพระรัชทายาทขึ้นทรงครองราชย์ ทุกอย่างจึงไม่มีช่องว่าง ทุกอย่างก็เดินไป”
“ขอร้องว่าข่าวลือต่างๆ ที่ออกมาอย่างสนุกสนานจนเละไปหมด ขอเรียนว่าไม่มีมูลความจริง ขอให้ฟังจากประกาศและแถลงของทางราชการเท่านั้น เพราะเรื่องเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนทางราชการ จะประกาศส่งเดชไม่ได้ ประโยคเดียว คำพูดเดียว วรรคเดียวต้องปรึกษาตั้งแต่สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ รัฐบาล องคมนตรี จนกระทั่งได้ข้อสรุปออกมาได้”
“ที่ลือกันส่งเดชว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ทรงพระปรมาภิไธยว่าดังนี้ ตั้งกันเป็นที่สนุกสนานนั้น ไม่เป็นความจริง และจะไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันด้วย เพราะพระปรมาภิไธยจะเกิดขึ้นได้เมื่อไปถึงขั้นบรมราชาภิเษก ซึ่งเราก็รู้ว่าจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ไม่ได้ เพราะต้องรอให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพก่อน อีกทั้งของอย่างนี้ต้องดูทั้งรัฐธรรมนูญ กฎมณเฑียรบาล และโบราณราชประเพณี ที่ไปออกคลิป ออกอะไรนั้นส่งเดช ไม่ได้ดูอะไรเลย แล้วก็ไปแต่งเองขึ้นมา”
ดังนั้น ตามขั้นตอนที่เกิดขึ้น ถือว่ามีความชัดเจน ที่สำคัญทุกอย่างดำเนินไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎมณเฑียรบาล โบราณราชประเพณีที่กำหนดเอาไว้ทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่วายมีความพยายามไปสร้างข่าวลือเพื่อเจตนาให้เกิดความวุ่นวายแตกแยก ยังดีที่ฝ่ายรัฐบาลไหวตัวทันมีการชี้แจงได้อย่างทันการณ์ และที่สำคัญเรามีรัฐบาลที่เป็นเอกภาพ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จนสามารถสกัดการก่อตัวของขบวนการอัปมงคลได้อย่างทันการณ์!