เมืองไทย 360 องศา
ในภาวะที่ประชาชนคนไทยที่เป็นพสกนิกรกำลังอยู่ในช่วงทุกข์โศกต่อการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เหมือนกับสิ้นร่มโพธิ์ร่มไทร เหมือนแสงสว่างดับวูบอยู่ตรงหน้า และความรู้สึกดังกล่าวแม้เวลาจะผ่านไปความทุกข์โศกก็ไม่ได้คลายลงเลย ยิ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าพวกเขารักและเทิดทูนพระองค์ท่านมากเพียงใด
คำพูดและข้อความที่พรั่งพรูออกมา เช่น “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” หรือการแสดงออกจิตอาสาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อทำความดีถวายพระราชกุศลแด่พ่อหลวงที่อยู่ในดวงใจของคนไทยทุกคน
ในอารมณ์เศร้าแบบนี้ อีกด้านหนึ่งมันก็ยังมีคนคิดไม่ดีฉวยโอกาสแฝงตัวเข้ามาพยายามสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย โดยอาศัยบรรยากาศแบบนี้มาบิดเบือนความจริงให้ไปอีกทาง ซึ่งจะว่าไปแล้วคนพวกนี้หรือขบวนการนี้ มีมานานแล้วและเริ่มขยายตัวเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ แม้ว่าในยุคปัจจุบันจะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังก็ตาม แต่ขบวนการพวกนี้มีการเคลื่อนไหวทั้งในและนอกประเทศ ที่สำคัญก็คือใช้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข่าวลือข่าวลวงบิดเบือนออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจตนาเพื่อสร้างความแตกแยก ยุยงปลุกปั่น รวมไปถึงการสร้างสถานการณ์บางอย่างขึ้นมา
หากสังเกตให้ดีจะพบว่า จุดเริ่มแรกที่เป็นประเด็นหลักๆ ก็คือ กรณี “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ที่เวลานี้คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งที่ผ่านมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้ยืนยันให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว โดยให้สัมภาษณ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เวลา 21 นาฬิกา ที่ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้
“เป็นที่ทราบกันมาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2515 ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสถิตอยู่ในตำแหน่งที่ทางการเรียกว่าพระรัชทายาท ฉะนั้น รัฐธรรมนูญไทยได้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2534 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมถึงที่จะเขียนในฉบับใหม่ว่าเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง กรณีที่มีการตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว จะไม่มีทางอื่นใดทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีจะต้องแจ้งไปยังประธานรัฐสภา ซึ่งขณะนี้คือประธาน สนช.ให้ทราบว่าได้มีการตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วเมื่อไหร่อย่างไร พร้อมหลักฐานพยานต่างๆ ที่จะแนบไป ซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานประกาศพระบรมราชโองการ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ โดยประธานสภาฯ จะเรียกประชุมเพื่อมีมติรับทราบอย่างเป็นทางการ เมื่อเรียบร้อยแล้วจะได้กราบบังคมทูลเชิญขึ้นครองราชย์ และออกประกาศให้รู้ว่าบัดนี้เรามีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว นี่คือขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ชัดเจน”
“เรื่องนี้ในกฎมนเทียรบาลระบุไว้ว่า การตั้งเจ้านายพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระรัชทายาท เป็นการตั้งตามกฎมนเทียรบาล เพราะฉะนั้นในประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงได้มีประโยคหนึ่งตามโบราณนิติราชประเพณีนั้นระบุว่า เมื่อถึงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ทรงเจริญพระชนมายุสมควรแล้ว ก็จะตั้งเป็นพระรัชทายาทเพื่อสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป ขณะเดียวกันในกฎมนเทียรบาล มาตรา 4 เขียนไว้ว่า คำว่ารัชทายาท หมายถึงเจ้านายเชื้อบรมวงศ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา โดยจัดการพระราชพิธีสถาปนาให้เป็นพระรัชทายาท และตอนนี้ทุกอย่างได้เดินตามกฎมนเทียรบาล ทั้งยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ทั้งนี้ปัญหาจะเกิดในกรณีที่ไม่พระรัชทายาท ซึ่งขณะนี้ไม่มีปัญหา เพราะเป็นกรณีที่มีพระรัชทายาท”
“จึงไม่มีเหตุที่จะเลื่องลือ เล่าขาน คิดเป็นอย่างอื่นทั้งสิ้น ทุกอย่างจะเดินตามนี้ รัฐบาลก็ตั้งใจที่จะเดินตามนี้ ทำตามนี้ เพียงแต่จะทำช้าหรือเร็ว เป็นเรื่องที่ต้องรับสนองพระราชปรารภของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งพระองค์มีรับสั่ง อย่างเราต้องเข้าใจว่า แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จะสถิตในหทัยราษฎร์ ขณะเดียวกันพระองค์ท่านก็สถิตในหทัยราชสมเด็จพระบรมฯ ในฐานะทรงเป็นราชที่หมายถึงราษฎร และเป็นยิ่งการคือการเป็นลูกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่พระองค์มีรับสั่งเองว่าขอเวลาทำพระทัยร่วมกับประชาชนชาวไทย คนไทยวิปโยคอย่างไร พระองค์ก็วิปโยคอย่างนั้น อาจจะมากยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำ เพราะเป็นลูก มีความผูกพัน อยู่ๆ จะต้องมาได้รับการตั้งเป็นพระเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรทั้งหมด เพราะการเป็นพระเจ้าอยู่หัวเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาจรวดเร็วกะทันหันเกินไป”
“ส่วนการตั้งผู้สำเร็จราชการฯ เกิดขึ้นได้ 2 กรณี 1. เกิดจากกรณีที่พระมหากษัตริย์หรือกรณีที่บุคคลอื่นที่มีอำนาจในการตั้ง เช่น คณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอ เนื่องจากเกิดภาวะว่างเปล่าขึ้น กรณีนี้เรียกว่าเป็นโดยการแต่งตั้ง หากเป็นกรณีนี้ต้องปฏิญาณตนต่อรัฐสภา ซึ่งเคยมีมาแล้วเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยการแต่งตั้ง เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จออกผนวช สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ต้องไปทรงปฏิญาณพระองค์ในที่ประชุมรัฐสภามาแล้ว 2. การเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แปลว่าเป็นชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะไม่มีการแต่งตั้ง ไม่มีการประกาศ ไม่มีการสถาปนา และไม่มีการไปปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา”
“เป็นทันทีในเวลาแรกสุด เมื่อเกิดเหตุที่ราชบัลลังก์ว่างลง เพราะว่าตั้งไม่ทันก็ต้องมีเพื่อจะ หรืออาจจะต้องปฏิบัติหน้าที่บางอย่าง แต่ถ้าไม่มีอะไรต้องปฏิบัติก็แล้วไป แต่ของอย่างนี้ต้องเผื่อเอาไว้จะเกิดช่องว่างขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้นอย่าเรียกให้เป็นภาษาพูดว่าอัตโนมัติอะไรเลย ถือว่าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ส่วนจะเป็นไปพลางถึงไหน รัฐธรรมนูญเขียนว่าพลางก่อนจนกระทั่งมีการอัญเชิญพระรัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ตรงนั้นจะเกิดช้าเกิดเร็วเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้เวลาสักระยะ ฉะนั้นก็ไม่เกิดปัญหา ไม่มีอะไรเป็นช่องว่างสำหรับกรณีนี้ และผู้ที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนนั้น อย่าไปสนใจว่าเป็นใคร ชื่ออะไร ต้องสนใจว่าตำแหน่งอะไร เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วไม่มีทางที่จะไม่เป็น แล้วไม่มีทางที่จะไม่รับ เป็นคือต้องเป็น แต่กรณีที่จะไม่เป็นมีกรณีเดียวคือ กรณีที่มีการประกาศอัญเชิญพระรัชทายาทขึ้นทรงครองราชย์ ทุกอย่างจึงไม่มีช่องว่าง ทุกอย่างก็เดินไป”
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 17.45 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกครั้งหนึ่งถึงกรณีนายกรัฐมนตรีระบุเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์เมื่อพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลผ่านพ้นช่วงเวลา 7 วัน 15 วันไปแล้วระยะหนึ่งว่า เป็นไปอย่างที่นายกฯ ได้อธิบาย และเป็นไปตามที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้มีพระราชปรารภตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ต.ค. และอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ตอนที่นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ พร้อมกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพระองค์ทรงรับสั่งว่าเรื่องที่จะดำเนินการสืบราชสันตติวงศ์ให้รอระยะเวลา พระองค์ทรงใช้คำว่าทุกฝ่ายสามารถทำใจได้ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วก่อน ดังนั้นขอให้รอ เมื่อถึงเวลาอันสมควร ประชาชนคลายความทุกข์โศกลงได้บ้าง ให้พระราชพิธีต่างๆ ได้ผ่านพ้น”
“เพราะฉะนั้นที่นายกฯ พูดถึง 7 วัน 15 วัน เป็นรอบของการที่จะมีพระราชพิธีครบรอบ 7 วัน 15 วัน 50 วัน ซึ่งคนไทยเราทำบุญตามรอบเช่นนี้ จึงขอให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่คนได้ทำสิ่งที่อยากทำกันเสียก่อน แล้วการยอมรับความเปลี่ยนแปลงก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นได้ ความหมายมีแค่นี้ ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน”
“ส่วนที่นายกฯ ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยภายในกรอบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยจะไม่กระทบต่อปฏิทินการทำงานนั้น นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยด้วยพระองค์เอง แต่จะเป็นเมื่อไรนั้นไม่สามารถตอบได้ แต่ขอให้ความมั่นใจว่าจะไม่กระทบขั้นตอนระยะเวลาในปฏิทินการทำงานเป็นอันขาด เพราะเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญ ร่างดังกล่าวจะอยู่ที่สำนักราชเลขาธิการได้ 90 วัน ดังนั้นจะอยู่ในช่วงเวลานั้น หรือหากล่าช้ากว่านั้นก็ไม่มีผลกระทบใดๆ เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถทำงานของเขาได้ จึงอย่าไปตีความอะไร ทุกอย่างตรงไปตรงมาหมด ส่วนรัฐบาลเองจะได้เตรียมการ สถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็พร้อม”
เป็นเรื่องที่ดีที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาย้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสยบข่าวลือในทางลบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความพยายามในการจุดประเด็นเรื่อง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” หรือพยายามจุดประเด็นเรื่อง พล.อ.เปรม จะเป็นผู้เสนอพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมารองนายกฯวิษณุ ได้ชี้แจงอธิบายยืนยันชัดเจนแล้วว่าทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนด รวมทั้งเป็นไปตามกฎมนเฑียรบาล และโบราณราชประเพณี ไม่มีลัดขั้นตอนอะไรทั้งสิ้น
ดังนั้นเพื่อป้องกันความสับสนและตกเป็นเหยื่อของขบวนการบ่อนทำลายความมั่นคงที่ฉวยโอกาสสอดแทรกเข้ามาในช่วงที่ประชาชนคนไทยกำลังโศกเศร้า สร้างความบิดเบือน ก็ต้องตั้งสติและรับฟังข่าวสารจากทางราชการและทางสื่อที่เชื่อถือได้เท่านั้น!