xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิ รพ.สมเด็จพระยุพราช เตรียมหารายชื่อ “เด็ก” เกิดช่วงรอยต่อ 2 แผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เตรียมจัดทำหนังสือ 4 ทศวรรษ 2 แผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ” พร้อมรวบรวมรายชื่อเด็กเกิดช่วงรอยต่อ 2 แผ่นดิน

นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นับเป็นโรงพยาบาลของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องจากรัฐบาลในปี 2519 ได้สร้างโรงพยาบาล 21 แห่ง น้อมเกล้าฯ ถวายพระองค์ และทรงรับเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยเสด็จโรงพยาบาลแต่ละแห่งอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ วางศิลาฤกษ์ เปิดโรงพยาบาล และเยี่ยมโรงพยาบาลด้วยพระองค์เอง ซึ่งแต่ละแห่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมาก ทางมูลนิธิฯ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยตั้งใจดำเนินการต่างๆ เบื้องต้นจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ รพร. ทั้ง 21 แห่ง จัดบริการแพทย์แผนไทย โดยต้องมีอย่างน้อย 1 แห่ง ต้องมีเต็มรูปแบบ มีแพทย์แผนไทยบริหารจัดการ มีระบบบัญชี ระบบการบริหารจัดการต่างๆ เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มที่ รพร.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์

นพ.จักรธรรม กล่าวว่า นอกจากนี้ จะทำหนังสือโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 4 ทศวรรษ 2 แผ่นดิน ด้วย โดยจะมีภาพประวัติศาสตร์ พระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งมีภาพหนึ่งที่ตนจำไม่เคยลืมเลย คือ ผู้อำนวยการ รพร.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช มาประชุมร่วมกับ ผอ.รพร. อื่นๆ พอเสร็จการประชุมก็แยกย้ายกันเดินทางกลับ แต่ปรากฏว่า ผอ.รพร.ฉวาง ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ซึ่งยังมีลูกเล็กๆ ต้องเลี้ยงดู ปรากฏว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงรับเป็นพระราชานุเคราะห์ และมีอยู่ครั้งหนึ่ง วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระองค์ท่านพระราชทานข้าวสาร โดยให้โรงพยาบาลแต่ละแห่ง แห่งละ 4 - 5 กระสอบ เพื่อให้เลี้ยงประชาชน

นพ.จักรธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการว่าจะทำการรวบรวมรายชื่อเด็ก ที่เกิดใน 9 ชั่วโมงสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ เด็กที่เกิดใน 10 ชั่วโมงแรกของรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แล้วประกาศให้เขารู้ว่าเป็นผู้ที่เกิดในช่วงรอยต่อ 2 แผ่นดิน จากนั้นจะทำการดูแลสุขภาพ และพัฒนาการของเด็กเหล่านี้ในช่วงก่อนวัยเรียนจนถึงเข้าเรียนซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญมาก แต่บางครอบครัวอาจจะยังไม่มีความพร้อมมากนัก ทำให้เด็กหลุดการดูแลช่วงสำคัญของชีวิต ในกรณีที่ยากจนอาจจะมีระบบอุปถัมภ์เป็นพ่อ แม่ บุญธรรม เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนโครงการก่อนเสนอ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ในฐานะประธานมูลนิธิฯ พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะเป็นการรวบรวมเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งเท่านั้น เพราะเป็นโรงพยาบาลในการดูแลของทางมูลนิธิฯ แต่หากกระทรวงจะทำการรวบรวมข้อมูลเด็กที่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าวในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

กำลังโหลดความคิดเห็น