สายใยรัก “พ่อ-ลูก”
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีเรื่องเล่ามากมายถึงความรักความอาทรของพ่อและ อีกทั้งยังมีภาพแห่งความประทับใจตลอดช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจ อย่างเมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 มีการเผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์ ในขณะที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในวัยเยาว์ ทรงคม ทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ ในระหว่างเสด็จฯไปทรงเปิดงานกาชาด ประจำปี พ.ศ.2499
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ขณะเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เคลื่อนผ่านโรงพยาบาลศิริราช ได้ทรง ประทับยืนถวายความเคารพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช
อีกหนึ่งภาพประทับที่มีการเผยแพร่ต่อเป็นจำนวนมากที่สุดภาพหนึ่ง คือเมื่อครั้งที่พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 ในระหว่างที่ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะในงานพระราชทานเลี้ยง โอกาสที่นายจอร์จ ดับเบิล ยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ขณะนั้น) และภริยา ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงดูแลฉลองพระองค์ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นแบบอย่างของการดูแลซึ่งกันและกันของพ่อ-ลูก ในวันที่ทรงเจริญพระชนมมายุมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังทรงพระเยาว์นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นผู้จัดฉลองพระองค์ให้พระราชโอรสด้วยพระองค์เอง
ขับร้อง “ลาวดวงเดือน” ถวาย “สมเด็จแม่”
การทรงดนตรีเป็นส่วนพระองค์ในพระราชฐานนั้นมีเป็นครั้งคราว ก็จะทรงรับแขกเป็นการส่วนพระองค์ที่พระตำหนักเรือนต้นในบริเวณสวนจิตรลดา มีครั้งหนึ่งซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จลงเสวยตอนค่ำ เป็นการเลี้ยงต้อนรับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ เสด็จกลับจากการศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย
วันนั้นตรงกับวันดนตรีไทยอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ นักเรียนและครูด้านดนตรีต่างก็ขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่กันหมด ต้องตามนักเรียนนายเรือมาบรรเลงแทน ครูยรรยง แดงกูร และ ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล ก็ถูกตามเข้าไปช่วยกะทันหัน โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงซออู้ ครูยรรยง สีซอด้วง เป็นวงมโหรีที่ไม่เรียบร้อยนัก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็มีพระราชประสงค์ทรงฟังเพลง “ลาวดวงเดือน” ซึ่งเป็นเพลงที่ทรงโปรดมากรับสั่งกับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ ว่า “ชายร้องเพลงดาวดวงเดือนให้แม่ฟังหน่อย ร้องแบบที่แม่ชอบนะ แม่น้อยบรรเลงเพลงเข้า แล้วให้น้องเล็กฟ้อนด้วยนะ ….”
ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล นั่งอยู่หน้าวงดนตรี ได้ยินชัดทุกองค์ที่รับสั่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ ก็เสด็จมาประทับหน้าวงดนตรี รับสั่งเบาๆว่า “คอยบอกเนื้อร้องด้วย จำได้ไม่หมด เนื้อยาวตั้งหลายท่อน” และทรงร้อง 2 เที่ยวกลับ ตามแบบของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ขนานแท้
“สมเด็จย่า” กับ “พระราชนัดดา”
“..ไม่ได้แนะนำอะไรเป็นพิเศษ เพราะท่านไม่เคยรับสั่งถึงตำแหน่ง ถึงลาภ ถึงยศ ท่านเพียงแต่ให้เป็นคนดี รับผิดชอบในหน้าที่ ในตำแหน่งของตนและไม่ให้ทำอะไรเป็นที่ขายหน้าหรือที่เสียอกเสียใจของพ่อแม่หรือบุพการีเสียใจ … ท่านไม่ได้สอนแบบ Formal (ทางการ) อะไร อยากให้เป็นคนดี อยากให้มีชีวิตที่ดี เพราะว่าไม่ว่าเราจะเป็นตำแหน่งอะไร ถ้าทำตัวดี ปฏิบัติหน้าที่ของเรา เราก็เจริญต่อไป..”สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ เคยรับสั่งถึงการอภิบาลพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2516 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ ในงานพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ณ วังสระปทุม ภายหลังเสร็จสิ้นงานวันพระราชพิธีฯ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2515
ในช่วงที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังทรงมีพระชมน์ชีพ หลายวาระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจหลายต่อหลายครั้งด้วย
ทรงอุ้ม “สมเด็จแม่” เพื่อไม่ให้เปียกกลางป่าพรุ
อีกหนึ่งเรื่องราวสุดซึ้ง เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงพระราชกรณียกิจกับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นเรื่องเล่าจากข้าราชบริพาร หนึ่งในผู้ที่เคยเข้าถวายงานในฐานะช่างภาพ ที่เคยติดตามพระองค์ทั้งสอง ได้เผยแพร่ภาพผ่านเฟซบุ๊กชื่อ Napan Sevikul (ผู้ที่เคยเข้าถวายงานในฐานะช่างภาพ) พร้อมด้วยเรื่องเล่า ว่า
“ตามเสด็จฯ มีสนุกบ้างไหม? ถ้า “มีความสุข” ละก็ ตอบเลย ว่าทุกเวลานาที แต่ถ้าสนุก ซึ่งมักเป็นประสบการณ์ที่จดจำไม่มีวันลืม ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น บ่ายวันหนึ่ง มีขบวนสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตามหมายว่าเสด็จฯพระองค์เดียว โดยผู้ติดตามขบวน ได้การบอกเล่าแล้วว่า “เปียก” เพราะ “จะเสด็จฯ ตรวจป่า” (มีพระราชประสงค์ไปทอดพระเนตรพันธุ์ไม้แปลกๆ ในป่าพรุ เช่น หมากแดง หมากช้างร้อง หลาวชะโอน เฉพาะอย่างยิ่งย่านลิเพา)
เปียกก็คือเปียก ..เปียกอยู่บ่อยๆ จนเป็นเรื่องปกติของเมือง “ฝนแปด ..แดดสี่” อย่างนราธิวาส (คิดเอง) แต่ “เปียก” วันนั้น ไม่เหมือนวันอื่น และ “เสด็จฯ ตรวจป่า” ก็ไม่ใช่ป่าเขาตันหยง หลังพระตำหนัก แต่เป็น “ป่าพรุ” ที่จนถึงวันนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าพรุไหน? แต่เส้นทาง มีแต่การลุยน้ำตั้งแต่ระดับเข่า ..ไปจนถึงระดับคอ ขบวนรถ แล่นไปถึงขอบพรุ ก็ลงเดิน ย่ำน้ำ .. เสียงคุยกันแต่แรกก็ชักจะเงียบ เพราะป่าพรุนั้น เดินเข้าไปก้าวเดียว แสงก็มืดแล้ว ..?
เสียงตบยุง เสียงตีแมลง ดังขึ้นเป็นระยะๆ .. เช่นเดียวกับความลึกของน้ำ ที่มีน้ำใสก็แต่ผิวๆ ต่ำลงไปศอกเดียวก็เป็นโคลนเหนียวหนึบที่เกิดจากการทับถมของใบไม้นับร้อย นับพันปี .. เสื้อผ้า เริ่มเปียก เสียงหัวเราะ มีเป็นครั้งคราว เพราะหลายคน เริ่มสูญเสียรองเท้าไปกับเลน ที่ชักขึ้นมาได้แต่เท้าเปล่า ไปได้สักพัก ก็เปียกปอนกันถ้วนทั่วทุกคน ผู้ที่วางแผนดีก็อาจจะเปียกน้อยหน่อย เพราะไต่เอาตามต้นไม้ล้มที่มีเป็นระยะๆ .. แต่ก็ไม่ค่อยรอดหรอก .. เพราะบางทีก็เห็นลื่นลงน้ำไปทั้งตัว
เจ้านาย ก็เปียกเท่าข้าราชบริพารนั่นแหละ แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ รับสั่งอย่างภาคภูมิใจว่า พระองค์ท่าน เปียกน้อยกว่าคนอื่นๆ เพราะ “องครักษ์ประจำตัวฉัน ไม่ยอมให้ฉันเปียกเลย ..ตรงไหนน้ำลึกๆ ก็ยกฉันจนตัวลอยพ้นน้ำเลย” (องครักษ์ประจำพระองค์ : ทรงหมายถึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่โดยเสด็จพระราชดำเนินในวันนั้น)
3-4 ชั่วโมงในป่าพรุ เต็มไปด้วยเสียงย่ำน้ำ เสียงหายใจหอบ (ของตัวเอง) และเสียงหัวเราะดังขึ้นเป็น ระยะๆ เมื่อคนใดคนหนึ่งในคณะ ก้าวพลาดลงไปในน้ำที่กะความลึกไม่ได้ (เสียงหัวเราะจะดังเป็นพิเศษ เมื่อมีใครจมน้ำลงไปในระดับเกือบศีรษะ) ช่างภาพตามเสด็จฯ เอาชีวิตรอดกลับมาได้ พร้อมกล้องแห้งๆ แต่เสื้อผ้าสีน้ำตาลที่ใส่ไปวันนั้นหลายเป็นสีดำสนิท ...หมดทางซัก”
“ทูลกระหม่อมชาย” กับ “สมเด็จป้า”
เมื่อปี พ.ศ.2550 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสรงน้ำสงกรานต์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สมเด็จป้า) ณ ศาลาทรงงาน วังเลอดิส
แม้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงดำรงพระอิสริยยศที่สูงกว่า ในฐานะสมเด็จพระยุพราช แต่ก็ได้ประทับกับพื้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ ที่ทรงแสดงความเคารพต่อพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในเวลาที่เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์อยู่เสมอ
“พี่ชาย” กับ “น้องน้อย”
มีการเผยแพร่พระฉายาลักษณ์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ทอดพระเนตร และทรงลูบพระพักตร์พระขนิษฐา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ด้วยความรักและทะนุถนอมยิ่ง ขณะบรรทมในพระอู่
เมื่อทั้ง 2 พระองค์ทรงเจริญพระชันษา ต่างทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแบ่งเบาพระราชภาระ ทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ ในด้านต่างๆตลอด หลายวาระก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงสายใยรักความผูกพันของ 2 เจ้าฟ้า ผู้เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย
โดยเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2556 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อร่วมพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์
พระบรมฉายาลักษณ์ที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์และแย้มพระสรวญให้แก่ผู้มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ได้ถูกขนานนามจากสื่อมวลชนต่างประเทศว่า “Siam Smile” หรือ “ยิ้มสยาม”
พระปรีชาชาญ “จอมทัพไทย”
เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2505 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนฯ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ทรงเยี่ยมและทอดพระเนตรเครื่องบินไอพ่นฮอว์กเกอร์ ฮันเตอร์ ของฝูงบินที่ 20 กองอากาศยานหลวงแห่งสหราชอาณาจักรประจำภาคพื้นตะวันออกไกล ซึ่งมาประจำอยู่ที่สนามบินเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2505 ตามคำขอร้องของรัฐบาลไทย ในฐานะที่เป็นสมาชิกภาคีองค์การสนธิสัญญาซีโต้ (SEATO) เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ในอินโดจีน ซึ่งเป็นความประทับใจครั้งหนึ่งที่ทำให้พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัย และทรงศึกษาจนมีความเชี่ยวชาญในด้านการบินทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตลอดจนทรงมีความชำนาญในการบังคับอากาศยานชนิดต่างๆ ทั้งอากาศยานทหารและอากาศยานพาณิชย์ ยากที่จะมีผู้ใดเทียบเทียมได้ อันเป็นที่ประจักษ์ต่อชาวไทยทุกคน
พระองค์เคยได้ทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และทรงชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2530
ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสอน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ทรงพระแสงปืนเอ็ม16 ในท่าต่างๆ ณ อ่างเก็บน้ำ ภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2514 และต่อมาก็ทรงเป็นผู้ติดปีกพลร่มแก่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ด้วยพระองค์เอง ณ หอประชุมค่ายนเรศวร
ทรงเป็น “พุทธมามกะ”
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจิมพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในพระราชพิธีทรงผนวช โดยมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเคยทำหน้าที่พระอาจารย์ถวายการอบรมพระธรรมวินัย ขณะที่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 6-20 พฤศจิกายน พ.ศ.2521
หลายครั้งได้โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและมีพระราชปฏิสันถารพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ อาทิ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2526 โดยเสด็จไปเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ณ วัดดอยแม่ปั๋ง ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ หรือเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชปฏิสันถารกับพระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ) ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปิดวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูน ปริสุทโธ ต.ด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
จะภักดีต่อชาติ..ตราบชีวิตจะหาไม่
“...ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เป็นมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไว้เสมอด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลัง สติปัญญา ความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตและร่างกายจะหาไม่”
พระราชดำรัส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งทรงปฏิญาณทำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่มีขึ้นหลังพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515
ขณะที่เมื่อครั้งทรงพระชนมายุในวัยเยาว์ก็ได้มีพระมหากรุณาธิคุณปราศรัยและมีกระพระราชดำรัวแก่ประชาชนอีกครั้ง อาทิ เมื่อครั้งจะเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ทรงปราศรัยกับประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2508 หรือเมื่อโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2516 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีกระแสพระราชดำรัสแก่ ปวงชนชาวไทย ณ สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2515 ภายหลังจากขึ้นดำรงอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารไม่นาน
.....................
ที่มา : เฟซบุ๊ก Be Loved Crown Prince Maha Vajiralongkorn, เฟซบุ๊ก Royal Archives of OHM
และเฟซบุ๊ก Information Division of OHM, ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล นักวิชาการสาขาดนตรีวิทยา, เวบไซต์ kanchanapisek.or.th เครือข่ายกาญจนาภิเษก, นิตยสารแพรว ปีที่ 22 ฉบับที่ 507 วันที่ 10 ตุลาคม 2543, เฟซบุ๊ก Napan Sevikul คุณนภันต์ เสวิกุล ช่างภาพ ผู้ที่ได้มีโอกาสติดตามการทรงงานและเคยตามเสด็จตั้งแต่ปี 2519 - 2530, เฟซบุ๊ก ระลึกพระกรุณา สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เฟซบุ๊ก เรารักพระบรม, เวบไซต์ library.cmu.ac.th.