บนพื้นที่กว่า 38 ไร่ บริเวณสามเหลี่ยมดอนเมือง ที่เป็นที่ตั้งของ "อนุสรณ์สถานแห่งชาติ" สถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของทหารกล้าที่สู้รบเพื่อแผ่นดิน และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาติไทย รวมถึงได้รวบรวมพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการทหารและกองทัพไทย เพื่อให้ลูกหลานได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกองทัพไทยเสมอมา
"อนุสรณ์สถานแห่งชาติ" อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออนุสรณ์ให้ และได้ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2526 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2537 โดยใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 11 ปี
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพิธีเปิดอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ซึ่งนอกจะสร้างให้เป็นอนุสรณ์แก่ผู้เสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติและบันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทยในเหตุการณ์รบครั้งสำคัญต่างๆ แล้ว ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไปอีกด้วย
อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วน ที่จัดแสดงเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย เริ่มต้นที่ “ลานประกอบพิธี” ที่เป็นลานกว้างสามารถตั้งแถวทหารได้ถึง 3 กองร้อย ตั้งอยู่หน้าอาคารประกอบพิธี ซึ่งลานนี้จะใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนอนุสรณ์ฯ และใช้เป็นที่ประกอบพิธีวางพวงมาลาในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น วันกองทัพไทย วันทหารผ่านศึก
ส่วนที่ 2 คือ “อาคารประกอบพิธี” เป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาทรงไทย ด้านหน้าอาคารจะมี “ดวงโคมนิรันดร์ประภา” ทำด้วยแก้วผลึกที่มีในประเทศไทย ยามค่ำคืนจะส่องสว่างเปรียบเสมือนดวงวิญญาณและเกียรติคุณของบรรพชนไทย ที่สถิตอยู่ในความทรงจำของลูกหลายชาวไทยตลอดไป
ภายในดวงโคมนิรันดร์ประภานี้ได้บรรจุ “ดินสมรภูมิ” จากการรบที่สำคัญทั่วประเทศ 10 แห่ง โดยใช้ความรู้จากธรณีวิทยาในการขุดลึกลงไปที่สถานที่จริงจนถึงชั้นดินในช่วงเวลาที่เกิดสงครามครั้งนั้น เพราะเชื่อว่าดินนั้นมีเลือดเนื้อของบรรพชนที่สู้รบเพื่อแผ่นดินอยู่นั่นเอง
นอกจากนั้นภายในอาคารประกอบพิธียังมี พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ ที่ทรงเป็นมหาราช 9 พระองค์ เป็นพระบรมรูปครึ่งพระองค์ขนาดเท่าพระองค์จริง ทำจากโลหะสัมฤทธิ์รมดำ, ภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่ออกแบบไว้บนบานหน้าต่างกระจกสลับสี, ภาพมงคลแปดของศาสนาพราหมณ์ ประกอบด้วย คทา สังข์ จักร ธงสามชาย ขอช้าง อุณหิส โคอุสุภราช และหม้อน้ำมนต์ ออกแบบไว้บนบานหน้าต่างกระจกสลับสีเช่นกัน, ภาพจำหลักนูนต่ำ ออกแบบไว้บนไม้สักทอง แสดงถึงเหตุกาณ์การก่อตั้งราชนีของไทย ประดับไว้บนผนังด้านบนทั้ง 4 ด้าน
เดินออกมาจากอาคารประกอบพิธีก็จะเข้าสู่ส่วนที่ 3 คือ “อาคารภาพประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร” ที่เป็นอาคารทรงแปดเหลี่ยมสูง 5 ชั้น มองดูคล้ายป้อมค่ายหอรบสมัยโบราณ ด้านหน้าอาคารประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประทับยืนขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง แกะสลักด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี มีความสวยงามมาก
หากเดินมาจากส่วนที่ 2 จะเชื่อมเข้าสู่ชั้นที่ 2 ของอาคารส่วนที่ 3 ซึ่งจะได้เห็น “รายชื่อผู้กล้าหาญที่เสียชีวิต” ที่จารึกอยู่บนผนังกำแพงรอบนอกอาคาร และเมื่อเข้าสู่ภายในอาคาร จะเข้าสู่ “ห้องพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติจอมทัพไทย” ที่แบ่งห้องจัดแสดงออกเป็น 5 ห้อง คือ
ห้องที่ 1 “ใต้ร่มพระบารมี พระภูมีนฤบดินทร์” เป็นห้องโถงประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งวาดโดย พันเอก เอกศักดิ์ อ่อนชื่น รองผู้อำนวยการกองพิพิธภัณฑ์ทหารและอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และภาพจิตรกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ
ห้องที่ 2 “ธ พลังของแผ่นดิน สยามินทราชา” ห้องนี้จัดแสดงพระราชประวัติและพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ของพระองค์ท่าน ถัดมาในห้องที่ 3 “ทวยราฎษร์และทวยหาญ ประณตกรานเหนือเกศส อัครกษัตรา พระจักรา จอมทัพไทย” ที่จัดแสดงความเป็นมาของจอมทัพไทยและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับทหาร
ไฮไลต์จัดแสดงที่สำคัญที่สุดของห้องที่ 3 คือ “ฉลองพระองค์เครื่องแบบทั้งสามเหล่าทัพ” ได้แก่ ทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ รวมถึงของใช้ส่วนพระองค์ระหว่างบำเพ็ญพระราชกรณียกิจแต่ละวาระ พร้อมทั้ง “พระคทาจอมทัพไทย” ที่ใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น ใช้ในพิธีประดับยศนายพล ซึ่งกองบัญชาการกองทัพไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานยืมมาจัดแสดง
ส่วนในห้องที่ 4 “กองทัพสนองบาท เฉลิมราชรักษ์ไผท” ห้องนี้จะเป็นห้องสตูดิโอขนาดเล็กให้ได้นั่งชมวิดีทัศน์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านทหาร และห้องที่ 5 “น้อมคำพระทรงชัย ดำริไว้เพื่อแผ่นดิน” ห้องสุดท้ายของชั้นที่ 2 นี้ จะจัดแสดงเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กองทัพไทยรับสนองพระบรมราชโองการ
จากนั้นเดินต่อขึ้นชั้นที่ 3 ที่จัดแสดง “หุ่นจำลองขนาดย่อของวีรกรรมบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์” รวมทั้งหมด 14 เหตุการณ์ เช่น วีรกรรมพันท้ายนรสิงห์ที่คลองโคกขาม โดยจะมีคำอธิบายแบบย่อๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้อ่านหรือจะกดฟังก็ได้
ต่อกันที่ชั้นที่ 4 “ห้องวิวัฒนการเครื่องแบบ” จัดแสดงเครื่องแต่งกาย เครื่องแบบ เครื่องหมายยศ และส่วนประกอบของเครื่องแบบทหาร ตั้งแต่สมัยก่อน จนถึงสมัยปัจจุบัน ผ่านหุ่นขี้ผึ้งที่ทำจากไฟเบอร์กลาส รวมทั้งหมด 15 หุ่น ที่มีความสมจริงมากๆ ตั้งแต่เส้นผมจนถึงรอยสักยันต์ที่เป็นลวดลายตามลายจริง
ไฮไลต์ของชั้นที่ 4 นี้คือ 4 หุ่นสำคัญ ที่ถือว่าเป็นพระบิดาหรือตัวแทนของแต่ละเหล่าทัพ ได้แก่ จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช, พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (เสด็จเตี่ย), จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี, พลตำรวจเอก หลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) ที่สวมเครื่องแบบเต็มยศ
จากนั้นลงลิฟต์สู่ชั้น 1 บริเวณส่วนโถงต้อนรับ จะมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับบุคคลสำคัญและวีรกรรมที่สำคัญที่ช่วยป้องกันประเทศ รวมถึงมีการจัดนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับ “พิพิธภัณฑ์ทหารไทย” ที่จัดแสดงหุ่นจำลองเหตุการณ์สงครามที่กองทัพไทยได้ปฏิบัติการรบ 5 เหตุการณ์สำคัญ
ได้แก่ จำลองเหตุการณ์การเดินสวนสนามของทหารไทยลอดประตูชัยกลางกรุงปารีส เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1, จำลองเหตุการณ์สงครามอินโดจีน ไทย - ฝรั่งเศส ที่เกาะช้าง จ.ตราด, จำลองเหตุการณ์วีรกรรมกองบินน้อยที่ 5 ในสงครามมหาเอเชียบูรพา, จำลองเหตุการณ์การรบที่เขาพอร์คชอบจากสงครามเกาหลี พร้อมจุดถ่ายรูป และจำลองเหตุการณ์การรบที่ฟุกโถของสงครามเวียดนาม
ส่วนที่ 4 ของอนุสรณ์ที่ไม่ควรพลาดชมก็คือ “อาคารภาพปริทัศน์” เป็นอาคารใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม จัดแสดงภาพวาดสีน้ำมันเขียนด้วยสีอะคริลิก วาดต่อเนื่องกันบนผนังที่โค้งเป็นวงกลมเส้นรอบวง 90 เมตร สูง 4 เมตร แบ่งภาพวาดออกเป็น 10 กลุ่มภาพ ตามเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับเรื่องการสร้างบ้านเมืองโดยลำดับมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
ส่วนที่ 5 ที่ถือเป็นจุดถ่ายรูปของอนุสรณ์ฯ ก็คือ “ภูมิสถาปัตยกรรมและพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง” ตั้งอยู่ที่พื้นที่บริเวณภายนอกรอบตัวอาคาร ประกอบไปด้วย ส่วนจัดแสดงยุทโธปกรณ์ที่เคยใช้ในสมรภูมิรบต่างๆ ที่ได้ปลดประจำการแล้ว เช่น รถสะเทินน้ำสะเทินบก เครื่องโจมตีทิ้งระเบิด จัดแสดงอยู่ในสวนหย่อมกลางแจ้ง ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาพักผ่อนได้ด้วย
“อนุสรณ์สถานแห่งชาติ” เป็นแหล่งความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ควรค่าแก่การเรียนรู้เป็นอย่างมาก เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความกล้าหาญและเสียสละของบรรพบุรุษที่ได้อุทิศตนเพื่อรักษาเอกราชของชาติไทย รวมถึงได้ภูมิใจในพระปรีชาสามารถของในหลวง ร.9 ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “กษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพไทย”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“อนุสรณ์สถานแห่งชาติ” ตั้งอยู่ที่ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี บริเวณสามเหลี่ยมดอนเมือง ด้าน ถ.วิภาวดีรังสิต บรรจบกับ ถ.พหลโยธิน เปิดให้เข้าชมโดยฟรีทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 - 15.00 น. หากสนใจชมเป็นหมู่คณะกรุณาแจ้งล่วงหน้า โทร. 0 2533 8467, 0 2532 1021
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com