xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เร่งปรับโครงสร้าง-คิวต่อไปธุรกิจปิโตรเคมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ปตท.เร่งจัดโครงสร้างธุรกิจให้เกิดความชัดเจนในการบริหารงาน พร้อมโอนหุ้นบริษัทย่อยที่ถือตรงให้กับบริษัทแกนนำ (Flagship)แทน หลังแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกเป็นบริษัทใหม่ เผยอนาคตมองประโยชน์การควบรวมกิจการ 3บริษัทFlagship สำหรับโครงการโรงกลั่นและปิโตรฯที่เวียดนาม ดิ้นหาทางออก เร่งเจรจาเป็นพันธมิตรบริษัทที่ได้ใบอนุญาตทำโรงกลั่นแทน คาดได้ข้อสรุปต้นปี60 หลังจังหวัดบินห์ดินห์ไม่ส่งเสริมโครงการ

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างการจัดโครงสร้างการทำธุรกิจให้มีความชัดเจน โดยส่วนที่เป็นภาระหน้าที่ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ทางปตท.ก็จะดำเนินการเองโดยตรง แต่ถ้าเป็นส่วนธุรกิจที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ต้องแข่งขันกับภาคเอกชนอื่นทั้งในไทยและต่างประเทศก็จะให้บริษัทแกนนำ(Flagship)ในกลุ่มปตท.เป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ การจัดโครงสร้างธุรกิจให้มีความชัดเจน จะทำให้เห็นบทบาทหน้าที่ของปตท.ที่ชัดเจนมากขึ้นว่าในฐานะรัฐวิสาหกิจดำเนินการอะไรบ้าง มีผลการดำเนินงานอย่างไร เช่นเดียวกับบริษัทลูกที่เป็นFlagship มีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบการแข่งขันกับบริษัทอื่นทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันปตท.มีการถือหุ้นตรงในบริษัทย่อย 3-4 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาที่จะโอนบริษัทย่อยเหล่านี้ให้กับบริษัทแกนนำของกลุ่มปตท. โดยจะเสนอคณะกรรมการบริษัท ปตท. เพื่ออนุมัติต่อไป โดยยอมรับว่าปัจจุบันทั้ง บมจ.ไทยออยล์ (TOP) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)และบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ที่ดำเนินธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี รวมทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งสิ้น

โดยไทยออยล์มีโรงกลั่นขนาด 2.7แสนบาร์เรลและมีโรงอะโรเมติกส์ ส่วนพีทีที โกลบอลเคมิคอลก็มีโรงกลั่นและต่อยอดไปปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ ส่วนไออาร์พีซีก็มีโรงกลั่นและปิโตรเคมีที่ผสมผสานกัน โดยในอนาคตก็จะพิจารณาว่าจะมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะควบรวมกิจการเหล่านี้เข้าด้วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ปตท.เคยศึกษาการควบรวมกิจการระหว่างไออาร์พีซีกับพีทีที โกลบอล เคมิคอล แต่วันนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น เพราะต้องการให้บริษัทเหล่านี้เร่งเพิ่มประสิทธิ สร้างความเข้มแข็ง รวมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนในอนาคตเพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมองว่าธุรกิจการกลั่นมีโอกาสที่จะขยายกำลังการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นสายปิโตรเคมีนั้นยังมีโอกาสที่จะขยายการลงทุนได้อีกมากทั้งจากฝั่งไบโอเคมิคอลและปิโตรเลียม

นายเทวินทร์ กล่าวถึงกรณีที่ทางจังหวัดบินห์ดินประเทศเวียดนาม ยกเลิกการส่งเสริมโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์หรือโครงการVictoryที่ประเทศเวียดนามว่า ขณะนี้ทางไออาร์พีซีอยู่ระหว่างรอหนังสือปฏิเสธส่งเสริมลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีการสร้างรีสอร์ทขนาดใหญ่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงไม่เหมาะสมที่จะมีโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ส่วนจะมีการหาพื้นที่ใหม่เพื่อเดินหน้าโครงการVictory ในเวียดนามอีกหรือไม่ เป็นหน้าที่ของไออาร์พีซีที่จะศึกษาว่าเหมาะสมหรือไม่

ด้านนายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯอยู่ระหว่างการหาทำเลที่ตั้งโครงการVictoryใหม่หลังจากได้รับการยืนยันอย่างไม่เป็นทางการว่าทางจังหวัดบินห์ดินแล้ว รวมทั้งมองโอกาสที่จะเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับอนุญาตทำโครงการโรงกลั่นน้ำมันในเวียดนาม แต่ยังไม่ได้ดำเนินการโดยจะต่อยอดไปทำปิโตรเคมีต่อไป ซึ่งน่าจะทำให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็วคาดว่าจะสรุปได้ 2-3 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่าการลงทุนก็คงต้องพับแผนลงทุนไป หลังจากนั้นก็มองโอกาสที่จะลงทุนในไทยแทน แต่คงไม่ใช่เป็นโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์เพราะปัจจุบันกำลังการกลั่นน้ำมันไทยก็เกินความต้องการใช้และไทยออยล์ก็มีแผนขยายกำลังการกลั่นเป็น 4แสนบาร์เรล/วัน ดังนั้นบริษัทฯมองโอกาสลงทุนโครงการผลิตพาราไซลีน (PX) แทน

สำหรับโครงการVictory เป็นโครงการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันขนาด 4 แสนบาร์เรล/วัน โดยนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นไปต่อยอดทำโครงการปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติสก์ เดิมมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งอยู่ที่จังหวัดบินห์ดิน ประเทศเวียดนาม โดยดึงพันธมิตรนี้อย่าง Saudi Aramco เข้ามาถือหุ้นด้วย แต่ไม่สามารถหาพันธมิตรท้องถิ่นถือหุ้นได้ ต่อมาราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้ Saudi Aramco ถอนตัวจากการลงทุนเมื่อช่วงก.ค. 2559 ดังนั้น ปตท.ในฐานะเจ้าของโครงการจึงได้ให้ไออาร์พีซีเป็นผู้ดูแลโครงการดังกล่าวแทน

โดยไออาร์พีซีได้มีการทบทวนการลงทุนโครงการดังกล่าวอีกครั้ง โดยลดขนาดการกลั่นลงเหลือ 2 แสนบาร์เรล/วันและคงขนาดกำลังการผลิตปิโตรเคมีไว้เท่าเดิม ทำให้มูลค่าการลงทุนลดลงเหลือ 1-1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ยังไม่ได้เดืนหน้าเพราะต้องเปลี่ยนที่ตั้งโครงการใหม่แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น