xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องธัมมชโย คดีฟอกเงิน-รับของโจร DSIเตรียมบุกรวบตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อัยการสั่งฟ้อง"ศุภชัย-ธัมมชโย"และพวกรวม 5 คน ผิดฟอกเงิน-รับของโจร นัดผู้ต้องหา 3-4 ยื่นฟ้องศาล 30 พ.ย.นี้ ประสานดีเอสไอ ตามจับผู้ต้องหาที่หลบหนีนำส่งอัยการภายในอายุความ 15 ปี ด้านอธิบดีดีเอสไอเผย พร้อมจับกุม"ธัมมชโย"ทันที หากอัยการส่งหนังสือเป็นทางการมา รับเตรียมแผนปฏิบัติการเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย-วางกำลังรับมือบรรดาเหล่าลูกศิษย์ไว้แล้ว รองผบ.ตร.ย้ำยังไม่บุกจับธัมมชโย รอดีเอสไอประสาน ด้านวัดพระธรรมกาย เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ยัน พระธัมมชโยยังนอนรักษาอาการอาพาธในวัด

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (23 พ.ย.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ร่วมกันแถลงข่าว การสั่งคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ผู้ต้องหาที่ 1 พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาที่ 2 น.ส.ศรัญญา มานหมัด อดีตคณะบริหารสหกรณ์ฯ ผู้ต้องหาที่ 3 นางทองพิน กันล้อม อดีตคณะบริหารสหกรณ์ฯ ผู้ต้องหาที่ 4 และ นางศศิธร โชคประสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 5 กระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ว่า หลังจากพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมมาให้อัยการ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะทำงานอัยการได้พิจารณาหลักฐานจากการสอบสวน และผลสอบสวนเพิ่มเติมทั้งหมด รวมถึงหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาแล้ว ได้มีความเห็นสั่งคดี เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีความเห็น สั่งฟ้องนายศุภชัย ผู้ต้องหาที่ 1 น.ส.ศรัญญา ผู้ต้องหาที่ 3 นางทองพิน ผู้ต้องหาที่ 4 ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยพนักงานอัยการได้นัด น.ส.ศรัญญา ผู้ต้องหาที่ 3 นางทองพิน ผู้ต้องหาที่ 4 มารายงานตัวเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 30 พ.ย.เวลา 09.30 น. ซึ่งผู้ต้องหาที่ 3, 4 ต้องมาพบพนักงานอัยการ หากไม่มา จะประสานขอออกหมายจับต่อศาล ส่วนนายศุภชัย ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกคุมขังในคดีอื่นอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว

นอกจากนี้ คณะทำงานยังมีความเห็นควรสั่งฟ้อง พระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 และน.ส.ศศิธร ผู้ต้องหาที่ 5 ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359, 83 และแจ้งให้ ดีเอสไอ ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาที่ 2 และ 5 มาส่งให้อัยการ เพื่อดำเนินการต่อไป ภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันที่กระทำผิด คือ เดือนม.ค.52

นายชาติพงษ์ กล่าวว่า นอกจากคดีนี้ ทางอัยการยังมีคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ทั้งคดีแพ่ง และอาญา ซึ่งจุดมุ่งหมายในการทำคดีไม่ได้เพียงแค่ต้องการนำเอาคนผิดมาลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดประสงค์ที่ต้องคุ้มครอง ดูแลผู้เสียหายในคดีนี้ด้วย โดยคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมากและมีผู้เสียหายหลายคนที่เดือดร้อน อัยการได้มุ่งติดตามตรวจสอบเส้นทางการเงินให้ชัดเจน จึงต้องพิจารณาสำนวนให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคืนเงินทั้งหมดให้แก่ผู้เสียหาย จึงเป็นเหตุให้การพิจารณาคดีมีความล่าช้า

นายชาติพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับคดีที่เกี่ยวข้อง ที่อัยการได้ยื่นฟ้องและสั่งคดีแล้วประกอบด้วย คดีอาญา ได้แก่

1. คดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายศุภชัยกับพวกรวม 12 คน ต่อศาลอาญาแล้ว เมื่อวันที่ 11 ต.ค. และวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3339/2559 และ 3734/2559 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 มูลค่าความเสียหาย 5,612,237,157.62 บาท ซึ่งอัยการขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืนทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่ถูกฉ้อโกงไปด้วย ตามจำนวนมูลค่าความเสียหาย โดยขณะคดีอยู่ระหว่างการนัดตรวจพยานหลักฐาน

2. คดีที่พนักงานอัยการ เพิ่งจะมีคำสั่งฟ้อง นายศุภชัย กับพวกรวม 4 คน ฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง และร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 334, 335 มูลค่าความเสียหาย 13,000 ล้านบาทเศษ และคดีแพ่งที่ ปปง. ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ และพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดาภิเษก แล้วรวม 2 สำนวน คือ 1. คดีหมายเลขดำที่ ฟ.173/2559 ที่อัยการยื่น เมื่อวันที่ 8 ก.ย.59 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของนายศุภชัย กับพวก ตกเป็นของแผ่นดิน จากที่มีการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 85,769,438.25 บาท ซึ่งศาลแพ่งนัดไต่สวน ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. 2. คดีหมายเลขดำที่ ฟ.208/2559 ที่อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 พ.ย.59 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของนายศุภชัยกับพวก ตกเป็นของแผ่นดิน จากที่มีการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 1,585,000,000 บาท โดยศาลแพ่ง นัดไต่สวนในวันที่ 20 ก.พ. 60 เวลา 09.00 น.

นอกจากนี้ ในส่วนของนายศุภชัย อดีตประธานสหกรณ์ฯ ยังมีคดีที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 14 ปี 24 เดือน ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.706/2559 ที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายศุภชัย ฐานยักยอกทรัพย์มูลค่า 27 ล้านบาทเศษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และ 353 และ 354

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ต้องให้พนักงานสอบสวนจับกุมตัวผู้ต้องหามาสอบคำให้การและส่งให้อัยการ เมื่อมีหลักฐาน และคำชี้แจงของผู้ต้องหา อัยการจะพิจารณาชั่งน้ำหนักอีกครั้งว่า จะสั่งฟ้องหรือไม่ คล้ายกับการสั่งคดีของแกนนำ กปปส.

เมื่อถามว่า จากพยานหลักฐานที่ ดีเอสไอ และ ปปง. ส่งมาในเรื่องเส้นทางการเงินของ พระธัมมชโย มีการนำเงินไปฟอกในธุรกิจใดบ้าง มูลค่าเท่าใด นายชาติพงษ์ กล่าวว่า ในเรื่องเส้นทางการเงินนั้น เป็นเรื่องในสำนวนที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดี ส่วนมูลค่าความเสียหายจากพยานหลักฐานที่อัยการได้รับมา เป็นเช็ค 27 ฉบับ มูลค่า 1,400 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนคดีพิเศษ ที่ 27/2559 ให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ พิจารณา ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.59 ซึ่งอัยการ ได้มีการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม 5 ครั้ง เริ่มจากครั้งแรก ที่อัยการนัดฟังคำสั่ง วันที่ 13 มิ.ย. 59 เลื่อนมาเป็น 11 ส.ค. ครั้งที่ 2 เลื่อนจากวันที่ 11 ส.ค. เป็น 30 ส.ค. ครั้งที่ 3 เลื่อนจากวันที่ 30 ส.ค. เป็น 6 ต.ค. ครั้งที่ 4 เลื่อนจากวันที่ 6 ต.ค. เป็น 7 พ.ย. และครั้งที่ 5 เลื่อนจากวันที่ 7 พ.ย. เป็น 30 พ.ย. จนกระทั่งล่าสุด อัยการคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้องคดีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา

**ดีเอสไอ เตรียมบุกธรรมกาย

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีคณะทำงานอัยการ มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องพระธัมมชโย ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด (คดีพิเศษที่ 27/2559) ว่า ดีเอสไอ ต้องรอหนังสือจากทางอัยการส่งมาก่อน จากนั้นต้องวางแผนการเข้าตรวจค้นภายในวัดพระธรรมกาย โดยดีเอสไอ มีแผนการปฏิบัติตามขั้นตอนอยู่แล้ว เพื่อนำตัวมาส่งอัยการต่อไป ทั้งนี้หากเกิดการขัดขวางของเหล่าบรรดาลูกศิษย์ เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำตามกระบวนการกฎหมาย ส่วนวัน และเวลา ไม่สามารถเปิดเผยได้

สำหรับผู้ต้องหา 3 ราย คือนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานบริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งถูกจำคุกในคดีพิเศษที่ 64/2557 กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์กว่า 27 ล้านบาท ถูกตัดสินจำคุก 16 ปี รวมคดีอื่นๆ , น.ส.ศรัณยา มานหมัด ผู้ต้องหาที่ 3 และ นางทองพิน กันล้อม ผู้ต้องหาที่ 4 ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยพนักงานอัยการ มีความเห็นสั่งฟ้องคดี และนัดให้มารายงานตัวเพื่อฟ้องต่อศาลอาญา ในวันที่ 30 พ.ย. เวลา 09.30 น.

"ส่วนอีก 1 ราย คณะทำงานอัยการมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องน.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 5 ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 83 ที่กำลังหลบหนีอยู่ต่างประเทศและดำเนินการประสานงานเพื่อเร่งรัดติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป" อธิบดีดีเอสไอ กล่าว

*** รองผบ.ตร.ย้ำยังไม่บุกจับธัมมชโย รอดีเอสไอประสาน

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง กล่าวถึง คดีบุกรุกป่าของพระธัมมชโย ว่า ขณะนี้สำนวนยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน การดำเนินคดีต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยการขอหมายค้นเพื่อจะไปตรวจสอบหรือจับกุมภายในวัดพระธรรมกายนั้น พนักงานสอบสวนและชุดสืบสวนต้องมั่นใจ และสามารถยืนยันพระธัมมชโยอยู่ในวัดจริง

"ไม่สามารถยืนยันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าพระธัมมชโยอยู่ในวัดพระธรรมกาย แต่อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รรท.ผบก.ส.4 ดำเนินการตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อมูลแล้ว ยังรอรับรายงานอยู่ ก่อนจะพิจารณาดำเนินการต่อไป"

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า หลังจากพนักงานสอบสวนส่งเอกสารขอนิมนต์ให้พระธัมมชโยไปมอบตัว โดยให้พระผู้ใหญ่พามามอบตัว ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากตัวพระธัมมชโย หรือคนใกล้ชิดแต่อย่างใด ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการให้เข้ามอบตัว แต่จะดำเนินการให้เร็วที่สุด ระหว่างนั้นหากเจอตัวก็ต้องจับกุม ส่วนการประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.สั่งว่าให้รอทางดีเอสไอประสานมาว่าจะให้ตำรวจดำเนินการอย่างไร ก็พร้อมให้ความร่วมมือไปตามที่ร้องขอ

*** วัดธรรมกายคุมเข้ม รปภ.ตั้งด่านรอบวัด

ด้านบรรยากาศที่บริเวณหน้าประตู 7 วัดพระธรรมกาย ถนนบางขันธ์-หนองเสือ ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย หลังอัยการสั่งฟ้อง พระธัมมชโย ล่าสุด พบว่า มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของวัด ได้เลื่อนประตูเข้า-ออก เหลือเพียงครึ่งเดียว และตรวจรถที่เข้า-ออก วัดทุกคัน ขณะวันนี้มีประชาชนที่เข้ามาทำบุญที่วัดพระธรรมกาย ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนประตูด้านติดถนนคลองแอน ที่เคยนำรถแบ็กโฮมาจอดขวางไว้ ก็ถูกปิดเหมือนเดิม แต่ไม่มีรถมาปิดกั้นเหมือนครั้งก่อน

ด้านโฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย นายองอาจ ธรรมนิทา ชี้แจงผ่านไลน์กรุ๊ปสื่อวัดพระธรรมกาย สั้นๆ ว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ยังพักรักษาอาการอาพาธอยู่ภายในวัดตลอด ไม่ได้ไปไหน ส่วนเรื่องแถลงข่าวหลังอัยการสั่งฟ้อง ทางคณะศิษย์ ขอประชุมหารือกันก่อน แล้วจะแจ้งให้อีกครั้ง

** "ประสาร"แนะ "ธัมมชโย"มอบตัว

นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิก สปช. กล่าวว่า ทนายของพระธัมมชโย ควรแนะนำให้พระธัมมชโย เข้ามอบตัวต่อทางการ เพื่อต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

"พระธัมมชโยไม่เหลือเหตุผลใดๆ ที่จะแข็งขืนอีกแล้ว หลักฐานเอกสาร และพยานบุคคลหนักแน่น เป็นที่รับรู้ของสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ทางดีเอสไอและอัยการ มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ ที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหามาให้ได้ หาไม่แล้วทั้งอัยการ และดีเอสไอ จะกลายเป็นองค์กรเป็ดง่อย ที่เชื่อถือไม่ได้ " นายประสาร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น