xs
xsm
sm
md
lg

คดีธัมมชโยถึงทางตัน ไม่มอบตัวถูกจับสึกแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไพบูลย์ นิติตะวัน ยันอัยการสั่งฟ้องธัมมชโย ตรงตามที่ดีเอสไอส่งสำนวนถือเป็นความชอบธรรม เชื่อดีเอสไอเข้าจับกุมพระธัมมชโย จะเลือกใช้วิธีการจากเบาไปหนัก และใช้คำสั่ง คสช. ที่ 13/2559 มีผลให้ทหารเข้ามาร่วมสนธิกำลังได้ และยังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย มั่นใจอัยการแถลงสั่งฟ้อง ก่อนนัดวันที่ 30 พ.ย.นี้ เพื่อเปิดทางให้พระธัมมชโยมอบตัว และยังมีโอกาสขอประกันตัวกับอัยการได้โดยไม่ต้องสึก แต่ถ้าไม่ยอมมอบตัว ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 หมวด 4 นิคหกรรมและการสละสมณเพศ ในมาตรา 30 การจับกุมตัว โดยศาลมีคำสั่งให้จับกุมนั้น มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้!
 ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ร่วมกันแถลงข่าวที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ (23 พ.ย. 2559)
หลังจากที่อัยการออกมาแถลงเรื่องเห็นควรสั่งฟ้องพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กับพวก ในคดีฟอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และรับของโจรนั้น ล่าสุดยังคงมีกระแสบิดเบือนข้อมูลจากฝั่งสาวกธรรมกายว่า อัยการเพียงแต่ออกความเห็นสั่งฟ้อง แต่ยังไม่ได้สั่งฟ้อง

สำหรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องกิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นอย่างที่ออกมาสร้างกระแสแต่อย่างใด การที่อัยการแถลงว่าเห็นควรสั่งฟ้อง เนื่องจากพระธัมมโยยังไม่ถูกจับกุมตัวเหมือนจำเลยอีก 3 คน คือนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ผู้ต้องหาที่ 1 (ถูกคุมขังในคดีอื่นอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว) น.ส.ศรัญญา มานหมัด อดีตคณะบริหารสหกรณ์ฯ ผู้ต้องหาที่ 3 นางทองพิน กันล้อม อดีตคณะบริหารสหกรณ์ฯ ผู้ต้องหาที่ 4 ที่มีคำสั่งฟ้อง และจะเริ่มดำเนินคดีในชั้นศาลเดือนพฤศจิกายนนี้

กรณีของพระธัมมชโยนั้น เป็นกรณีที่อยู่ระหว่างหลบหนี จึงต้องแถลงเรื่อง “เห็นควรสั่งฟ้อง” เพื่อให้ทางดีเอสไอไปจับกุมตัวมาที่อัยการ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการสอบสวนเพิ่มเติม จนไปถึงกระบวนการสั่งฟ้องต่อไป
 วัดพระธรรมกาย เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย หลังอัยการสั่งฟ้อง พระธัมมชโย
ความเห็นตรงกันว่าผิดจริง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในขั้นตอนนี้สรุปได้ว่า หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพระธัมมชโย มีความชัดเจนมากแล้ว เพราะจากสำนวนที่ดีเอสไอนำส่งมา เมื่อตรวจสอบแล้ว “อัยการ” ลงความเห็นเช่นเดียวกับ “ดีเอสไอ” จึงออกมาในรูปของความเห็นควรสั่งฟ้อง แสดงอย่างชัดเจนว่าเห็นด้วยกับสำนวนของดีเอสไอ

แต่เนื่องจากพระธัมมชโยยังอยู่ระหว่างหลบหนี และยังไม่ได้มาให้ปากคำเพิ่ม อัยการจึงออกความเห็นควรสั่งฟ้อง เพื่อให้ดีเอสไอนำตัวมาสอบสวนเพิ่มเติมตามขั้นตอน

สำหรับโอกาสที่จะไม่สั่งฟ้องในวันนี้เท่ากับศูนย์ ไม่มีอะไรจะมาเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่โดยความเห็นส่วนตัว มองว่าอัยการยังคงเปิดช่อง โดยทนายของพระธัมมชโยสามารถดำเนินการให้พระธัมมชโยขอเข้ามอบตัวกับอัยการ ลักษณะนี้ถือว่าพระธัมมชโยยังมีโอกาสก่อนที่ดีเอสไอจะไปจับกุมตัว

ในกรณีที่พระธัมมชโยจะยังคงใช้วิธีดื้อแพ่ง และกบดานอยู่ต่อไปนั้น ในส่วนของดีเอสไอก็สามารถเดินหน้าวางแผนเพื่อเข้าจับกุมตัวตามหนังสือของอัยการได้เลย

ดังนั้นโอกาสในการขอเข้ามอบตัวกับอัยการ จึงเป็นโอกาสในระยะเวลาอันสั้นมาก และไม่มีประเด็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และแผนการจับกุมของดีเอสไอ

ภายในวันที่ 30 พ.ย. 2559 หากทนายของพระธัมมชโยมีการติดต่อเพื่อขอเข้ามอบตัวกับอัยการ น่าจะสามารถขอประกันตัวได้ในชั้นอัยการ แต่สำหรับในส่วนของดีเอสไอ ขั้นตอนต่อไปคือการขอหมายค้นจากศาล ซึ่งเชื่อว่าหมายค้นในครั้งนี้จะเป็นหมายค้นที่สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพให้สามารถเข้าไปจับกุมตัวได้ โดยขั้นตอนนี้ไม่ต้องคอยเป็นเวลานานเหมือนที่ผ่านมา เพียงแต่ใช้หนังสือจากอัยการ นำไปยื่นต่อศาลก็น่าจะได้หมายค้นทันที เนื่องจากศาลรอให้อัยการสั่งฟ้องแสดงความเห็นด้วยกับสำนวนของดีเอสไอ จึงน่าจะเป็นขั้นตอนที่รวดเร็ว และสามารถออกหมายค้นเต็มรูปแบบได้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องกิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ความชอบธรรมเต็มร้อย

สถานการณ์ในวันนี้ถือว่าสมบูรณ์และชอบธรรมทั้งหมดแล้ว เพราะอัยการกับดีเอสไอเห็นตรงกัน เพียงแต่นำตัวมาสอบสวนเพิ่มเติมและนำไปสู่การสั่งฟ้องที่ศาลอาญาต่อไป

ซึ่งการที่อัยการออกมาแถลงวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะรูปคดีมาในทิศทางนี้อยู่แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย และเรื่องนี้ใช้เวลามามากพอสมควรแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ คดีที่อัยการออกมาแถลง ไม่ได้แถลงเฉพาะคดีพิเศษที่ 27/2559 เท่านั้น แต่ยังแถลงรวมไปถึงคดีพิเศษที่146/2556 และ 63/2557 ซึ่งทางทนายของพระธัมมชโยเคยยื่นขอความเป็นธรรม 5 ข้อ โดยระบุว่าคดีที่ 146/2556 กับ 63/2557 เป็นคดีที่ซ้ำซ้อนกัน

แต่การที่อัยการออกมาแถลงเห็นควรสั่งฟ้องหมดทั้ง 3 คดีนั้น แสดงว่าไม่มีความเห็นว่าซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด (คดีที่ 146 อ้างว่าเป็นคดีลักทรัพย์ สหกรณ์เป็นเจ้าทุกข์ ขณะที่คดีที่ 63/2557 สมาชิกสหกรณ์เป็นเจ้าทุกข์) หนังสือขอความเป็นธรรมของทนายที่ยื่น จึงถือว่าจบไป ไม่มีประเด็น

นาทีทองของดีเอสไอ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า โดยความเห็นส่วนตัวนั้น เชื่อว่าดีเอสไอต้องเข้าจับกุมก่อนวันที่ 30 พ.ย.นี้แน่นอน เพื่อนำส่งศาลพร้อมจำเลยอีก 3 คน ที่มีนัดของอัยการจะส่งฟ้องศาลในวันเดียวกัน

จากกระแสข่าวลือว่าพระธัมมชโยหลบหนีไปที่ประเทศพม่า หรือบางกระแสก็ว่าไปที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศออสเตรเลียนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่ามีการยืนยันว่าพระธัมมชโยวันนี้ยังอยู่ในวัด ไม่ได้มีการหลบหนี ซึ่งมองว่าไม่มีเหตุผลที่จะหลบหนี เพราะการหลบหนีความผิดฟอกทรัพย์ รับของโจรนั้น ถือว่าเป็นความผิดอาญาสากล สามารถขอส่งตัวได้จากทุกที่

แม้จะมีข่าวลืออย่างไรก็ตามดีเอสไอก็สามารถเข้าไปจับกุมตัวในวัดได้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สมบูรณ์ เป็นนาทีทองที่รอมาเป็นเวลานาน ดีเอสไอนั้นถูกโจมตีมาตลอด เมื่ออัยการสั่งฟ้องจึงถือว่าสามารถดำเนินการได้โดยสะดวกไม่มีความสุ่มเสี่ยงในทางกฎหมายเหมือนในอดีต วันนี้จึงไม่ได้ทำงานแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการเดินไปตามความเห็นของอัยการ

จากเบาไปหนักใช้คำสั่ง คสช. ที่ 13/2559

ในส่วนแผนการตั้งรับของเหล่าสาวกทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ดีเอสไอก็มีมาตรการจัดการได้ทั้งสิ้น ซึ่งจะเป็นมาตรการจากเบาไปหาหนัก พิจารณาตามสถานการณ์ โดยหากมาตรการทั่วไปไม่ได้ผล เช่น มีการระดมมวลชน ก็สามารถยกระดับขึ้นไปใช้คำสั่ง คสช. ที่ 13/2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อย

ซึ่งคำสั่งนี้จะมีผลให้ทหารเข้ามาร่วมสนธิกำลังได้ และมีอำนาจตามกฎหมายมากพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น จึงมีความเชื่อมั่นว่าจะจัดการได้สำเร็จและเรียบร้อย ดังนั้นเหล่าสาวกทั้งหลายที่จะพยายามขัดขวาง จึงไม่ควรออกมาดำเนินการใดๆ ที่ผิดกฎหมายอีก เพราะไม่คุ้มกัน การฝ่าฝืนอำนาจรัฐ และต้านกระแสสังคมที่รุนแรงขนาดนี้ทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ไม่มอบตัวก่อน 30 พ.ย.ต้องสึกตามมาตรา 30 พ.ร.บ.สงฆ์

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การมอบตัวในชั้นอัยการเป็นหนทางสุดท้ายที่พระธัมมชโยจะยังคงอยู่ในสมณเพศได้ และยังมีโอกาสในการขอประกันตัวกับอัยการต่อไป แต่ถ้าโดนจับกุมตัวแล้วนั้น ต้องไปที่ศาล การจะได้ประกันตัวหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ศาลเท่านั้น

ซึ่งการจับกุมทำให้มีสิทธิ์พ้นสมณเพศ เพราะการจับกุมตัวนั้น หมายถึงศาลมีคำสั่งให้จับกุมเนื่องจากมีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ยอมมามอบตัว ศาลอาจจะสั่งให้จำคุกไว้ในระหว่างสอบสวน

ดังนั้นก่อนการจำคุกจะต้องดำเนินการให้พ้นสมณเพศ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 หมวด 4 นิคหกรรมและการสละสมณเพศ มาตรา 30 เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น