ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ทว่า การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 ของมหาเศรษฐีวัย 70 ปีอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” นั้น ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว
ที่สำคัญคือ ทรัมป์จอาจจะต้องลุ้นระทึกชนิดวันต่อวันก่อนจะทำพิธีสาบานตน ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2560 เพื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำไป ว่าจะได้เป็นประธานาธิบดีจริงๆ หรือไม่ เพราะทันทีที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ประเทศสหรัฐฯ ก็เกิดเหตุความวุ่นวายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์
เกิดเหตุจลาจลขึ้นในหลายพื้นที่เพื่อต่อต้านทรัมป์ และเป็นการจลาจลที่สามารถใช้คำว่า “มีการจัดตั้ง” ขึ้นอย่างเป็นระบบ
มีความเคลื่อนไหวถึงขั้นขอแยก “แคลิฟอร์เนีย” ออกเป็นรัฐอิสระที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลวอชิงตัน เพราะรับไม่ได้ที่จะเห็นทรัมป์เป็นประธานาธิบดี
มีการใช้สื่อในหลากหลายรูปแบบ ทั้งสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์เพื่อปลุกกระแสการต่อต้านทรัมป์
ปฏิกิริยาต่อต้านนายทรัมป์ร้ายแรงถึงขั้น มีการโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ ยุงยงให้ลอบสังหารนายทรัมป์ และข่มขืนภรรยา
มีการปลุกกระแสคะแนน Poppular vote หรือคะแนนโหวตที่นับจากคะแนนเสียงของประชาชนจริงๆ ที่นางฮิลลารีชนะทรัมป์ มาเป็นธงนำว่า นี่คือความต้องการของอเมริกันชน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ วัดกันที่จำนวนเสียงของ คณะผู้เลือกตั้ง(Electoral College) และทรัมป์ก็ชนะนางฮิลลารีไปแบบถล่มทลาย
ฯลฯ
แน่นอน นี่เป็น “ปฏิบัติการโค่นทรัมป์” ที่มิได้เป็นไปตามธรรมชาติ หากแต่ผ่านการวางแผนของ “กลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มทุนเก่า” ที่ผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น ซึ่งไม่อาจกระพริบตาได้ เพราะเมื่อจับสัญญาณหรือ Signature ของการเคลื่อนไหวแล้ว บอกได้เลยว่า “ไม่ธรรมดา”
ชำแหละเครือข่ายต้าน “ทรัมป์”
ทันทีที่มีความชัดเจนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ ฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความปั่นป่วนวุ่นวายก็เกิดขึ้นในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลิเบอรัลสุดขั้ว” ในฉับพลันทันที และความวุ่นวายก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงแต่อย่างใด
โดยเฉพาะบรรดาผู้สนับสนุนของ ฮิลลารี คลินตัน ที่ต่างออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในหลายเมืองใหญ่ทั่วอเมริกา แสดงพลังเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎกติกาการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ผู้ชนะคะแนนPopular vote ต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายได้เข้าสู่ทำเนียบขาวแทน
เท็กซัส...ชิคาโก...นิวอิงแลนด์...แคนซัส ซิตี...นิวยอร์ก...โอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย...ลอสแอเจลิส...พอร์ตแลนด์ มลรัฐออริกอน เช่นเดียวกับในซิลเวอร์ สปริง มลรัฐแมรีแลนด์ แม้แต่ที่หน้าทำเนียบขาว
กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากต่างพากันเดินชูป้าย ที่มีเนื้อหาว่า “ทรัมป์มิใช่ประธานาธิบดีของฉัน” (NOT MY PRESIDENT) และอีกหลากหลายข้อความ ที่มีเนื้อหาชี้ให้เห็นถึง “รูโหว่ของประชาธิปไตยสไตล์อเมริกัน” ที่มองข้ามความสำคัญของเสียงโหวตจากประชาชนที่สมควรจะถือเป็น “เสียงสวรรค์” ในการตัดสินผลการเลือกตั้ง แทนที่จะเป็นการปล่อยให้ผู้แพ้คะแนน Popular voteเป็นฝ่ายชนะแบบค้านสายตาเฉกเช่นเดียวกับการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ สุดอื้อฉาวอีก 4 ครั้งในปี ค.ศ.1824 , 1876, 1888, และการเลือกตั้งเมื่อปี 2000
นอกจากนี้ นักเรียนหลายร้อย คนในหลายมลรัฐของสหรัฐฯ ในนั้นรวมถึงแคลิฟอร์เนียและแมรีแลนด์ ลุกออกจากห้องเรียน ในการแสดงออกเพื่อประท้วงต่อต้านว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่นักเรียนและนักศึกษาหลายร้อยคนในซีแอตเติล ฟินิกซ์ และอีก 3 เมืองในเบย์ แอเรีย ได้แก่ โอ๊คแลนด์ ริชมอนด์ และ เอลเซอร์ริโต ชุมนุมประท้วงผลเลือกตั้งเช่นเดียวกัน
ฯลฯ
เรียกได้ว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา และหลายเมืองถึงขนาดต้องประกาศสถานการณ์จลาจล
ทั้งนี้ มีข้อสงสัยประการสำคัญถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า เป็นฝีมือของหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาคือ สำนักข่าวกรองกลาง Central Intelligence Agency) หรือซีไอเอ (CIA) หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศที่รัฐบาลวอชิงตันต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น ตุรกี อียิปต์ เป็นต้น
เพียงแต่เที่ยวนี้ เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง
เหตุที่ชวนสงสัยให้เป็นเช่นนั้นก็มีร่องรอยปรากฏให้เห็นอยู่แล้วว่า ซีไอเอไม่พอใจนโยบายทางด้านความมั่นคงและด้านการต่างประเทศของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งขัดต่อผลประโยชน์ของหน่วยงานที่ทรงอำนาจหน่วยงานนี้
กรณีการปลุกกระแสและประกาศแยก “แคลิฟอร์เนีย” ออกจากสหรัฐอเมริกาเพื่อตั้ง “รัฐอิสระ” ของตัวเองในชื่อ Calexit ของเหล่าคนดังแห่งซิลิคอนย์วัลเล่ย์คือตัวอย่างที่ชัดเจนของความพยายามของกลุ่มทุนเก่าเป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่ต้องการทำให้เรื่องนี้เป็น “ปัญหาด้านความมั่นคงของชาติ” เพียงเพราะเห็นว่า นโยบายของทรัมป์ที่ประกาศในช่วงหาเสียงจะปิดโอกาสในการเติบโตของเมืองให้ริบหรี่ลง ทั้งเรื่องการจำกัดจำนวนแรงงานข้ามชาติไม่ให้เข้ามาแย่งงานพลเมืองอเมริกัน หรือการเห็นค้านกับบริษัทเทคโนโลยีอย่างแอปเปิล (Apple) ที่ไปลงทุนผลิตสินค้าในจีนว่า ทำให้เงินไหลออก ฯลฯ เป็นต้น
แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า ฐานเสียงใหญ่ของเมืองนี้สนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน แห่งพรรคเดโมแครต
ใครเลยจะคิดว่า จะปรากฏแนวคิดเรื่องการจัดตั้งรัฐอิสระเกิดขึ้นในแผ่นดินสหรัฐอเมริกาถ้าไม่มีเป้าประสงค์ในทางการเมือง ซึ่งก็คือการโค่นทรัมป์
ขณะที่ผู้นำการต่อต้านทรัมป์ที่เปิดเผยอย่าง “เลดี้ กาก้า” ก็เป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า เป็นผู้สนับสนุน “นางฮิลลารี คลินตัน” ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู โดยเธอได้ส่งข้อความทางทวิตเตอร์ ประกาศให้ทุกคนในสหรัฐฯ ที่ไม่ต้องการให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป ให้ร่วมลงรายชื่อในคำร้อง บนเว็บไซต์ Change.org เพื่อต้องการให้คณะผู้เลือกตั้งอเมริกา (the Electoral College) ซึ่งมีอำนาจในการกลับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตามกฎหมายสหรัฐฯ ให้เปลี่ยนการตัดสินใจโดยการลงคะแนนให้กับ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครตในวันที่ 19 ธ.คที่จะถึงนี้
โดยในใบคำร้องมีข้อความว่า “คุณทรัมป์ไม่มีความเหมาะสมที่จะบริหารประเทศ ในขณะที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ คลินตัน ชนะคะแนนเสียงป็อปปูลาร์โหวต และเธอสมควรได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ “
และในใบคำร้องกล่าวต่อว่า “หากคณะผู้เลือกตั้งอเมริกา (the Electoral College)ออกเสียงตามที่รัฐของพวกเขาเหล่านั้นได้ลงคะแนน จะทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ยังสามารถเปลี่ยนใจ และหันมาลงคะแนนให้กับฮิลลารี คลินตันได้ ซึ่งมีเหยื่อชาวอเมริกันจำนวนมากที่ถูกแฉปรากฏต่อสาธารณะ ความหุนหันพลันแล่น ความเป็นอันธพาล ความเป็นคนโกหกสับปลับรายวัน เรื่องฉาวทางการคุกคามสตรีเพศ และการไร้ซึ่งประสบการณ์อย่างสิ้นเชิง ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นตัวอันตรายอย่างร้ายแรงต่อประเทศอเมริกาของพวกเรา”
อย่างไรก็ตาม นอกจากเลดี้ กาก้าซึ่งโต้โผใหญ่ แห่งแคมเปญต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ในคราวนี้ ยังมี “มาดอนนา” พระเอกคนเหล็กอย่าง “อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์” ตลอดจนมาร์ค รัฟฟาโล , ทาราน คิลแลม , จอช ฮัตเชอร์สัน , โรเบิร์ต เดอ นีโร , เคตี้ เพอร์รี ฯลฯ รวมอยู่ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นแปลความได้หรือไม่ว่า นางฮิลลารี คลินตัน รู้เห็นเป็นใจกับปฏิบัติการโค่นทรัมป์ที่เกิดขึ้น เพราะแม้ “ปาก” นางฮิลลารีจะแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง แต่สถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และประเด็นที่ถูกปลุกขึ้นมาทำลายทรัมป์ แสดงให้เห็นว่า นางฮิลลารีมิได้ยอมรับความพ่ายแพ้เหมือนที่ปากพูดจริงๆ และนางฮิลลารี ตลอดรวมถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งพรรคเดโมแครตเองก็มิได้ขอร้องให้ผู้สนับสนุนตนเองยุติการเคลื่อนไหวและยอมรับผลการลงคะแนน
“ทั้งที่เพิ่งมีศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เสรีที่และประสบความสำเร็จที่สุด ตอนนี้พวกผู้ชุมนุมมืออาชีพ ซึ่งปลุกปั่นโดยสื่อมวลชน กำลังประท้วง มันไม่ยุติธรรมเลย”ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯใช้ทวิตเตอร์ตอบโต้ หลังจากเหล่าผู้ประท้วงทั้งในรัฐสีแดงและสีน้ำเงิน พากันหลั่งไหลไปบนท้องถนน เพื่อแสดง ความโกรธแค้นที่เขาได้รับชัยชนะอย่างพลิกความคาดหมาย
นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นยังสอดรับการโหมประโคมข่าวของ “สื่อ” ในสหรัฐอเมริกา ที่พยายามชี้นำทิศทางการเลือกตั้งมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนก่อนเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำ “โพลล์” ที่ “จงใจ” ช่วยเหลือผู้สมัครอย่างนางฮิลลารี และเมื่อนางฮิลลารีพบกับความพ่ายแพ้ การนำเสนอข่าวก็ออกไปแนวไม่พอใจ โดยชี้ให้เห็นข้อเสีย ข้อด้อย ตลอดจนขุดความริยำตำบอนของทรัมป์มาเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ทรัมป์ยังมิได้รับตำแหน่งเสียด้วยซ้ำไป
แน่นอน บางเรื่องเป็นเรื่องจริง บางเรื่องเป็นเรื่องโกหก และบางเรื่องยังคงต้องรอการพิสูจน์
แต่นั่นย่อมชี้ให้เห็นว่าบรรดาสื่อชั้นนำของสหรัฐฯ เลือกที่จะยืนข้างนางฮิลลารีมากกว่าทรัมป์
ยกตัวอย่างเช่น วอชิงตันโพสต์และรอยเตอร์ ที่พร้อมใจกันนำเสนอความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก รยาบคอฟ (Sergei Ryabkov) ได้ออกมายอมรับใน ว่ารัฐบาลรัสเซียได้ทำการติดต่อกับทีมหาเสียงของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมกับอ้างต่อว่ารัสเซียรู้จักคนวงในของเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ และเล็งช่องทางเพื่อสานความสัมพันธ์ในการติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคของทรัมป์ในอนาคตข้างหน้า
ทั้งนี้ วอชิงตันโพสต์ชี้ว่า การออกมาเปิดเผยของรัสเซียสร้างความสนใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงสหรัฐฯ ซึ่งอ้างอิงจากแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ชี้ว่า เครมลินต้องการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ทางวอชิงตันได้ออกมากล่าวหาว่า เครมลินใช้เล่ห์สกปรกโจมตีทางไซเบอร์ และแฮกอีเมล จอห์น โพเดสตา (John Podesta) ผู้จัดการหาเสียงของฮิลลารี คลินตัน และสำนักงานบริหารพรรคเดโมแครต DNC ซึ่งหลังจากนั้นข้อมูลความลับถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกโดยสื่อวิกีลีกส์ของเจ้าพ่อจูเลียน แอสซานจ์
วอชิงตันโพสต์รายงานเพิ่มเติมว่า ประเด็นฉาวของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ และความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดากับรัสเซียเป็นข่าวฉาวเริ่มตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าทรัมป์ให้ความเป็นกันเองและเป็นมิตรอย่างอบอุ่นกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน มากจนเกินไป และรวมไปถึงธุรกิจของทรัมป์ในอดีตในรัสเซีย ซึ่งมาจนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์อเมริกันได้เคยลงทุนในรัสเซียหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามจากสื่อสหรัฐฯ ที่ลากทีมงานของทรัมป์ออกมาแฉเป็นขดๆถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับรัสเซีย เช่น อดีตประธานการหาเสียง พอล มานาฟอร์ต (Paul Manafort) ที่เป็นผู้จัดการลงทุนให้กับโอลิกาดช์รัสเซียซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของปูติน หรือ พล.ท.ไมเคิล ฟลินน์ (Michael Flynn) ที่ปลดเกษียณแล้วจากกองทัพสหรัฐฯ และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับทรัมป์ ที่ถูกเล่นงานเพียงเพราะมีภาพเขานั่งติดกับปูตินในปี 2015 ในงานเลี้ยงตอนค่ำซึ่งจัดโดยสถานีโทรทัศน์รัสเซีย RT
ด้าน “รอยเตอร์” รายงาน 1 วันหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า มีการเปิดเผยภาพวิดีโอคลิปของ วลาดิมีร์ ซิรีนอฟสกี (Vladimir Zhirinovsky) นักการเมืองชาตินิยมขวาจัดรัสเซีย และยังเป็นพันธมิตรของประธานาธิบดีปูติน ได้ชนแก้วฉลองความสำเร็จในชัยชนะการเลือกตั้งให้แก่โดนัลด์ ทรัมป์ โดยเขากล่าวว่า “เพื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อชัยชนะ เพื่อทุกสิ่งที่ดีในสหรัฐฯ”
พบหลักฐาน“จอร์จ โซรอส” ทุ่มเงินอัดฉีด“ม็อบต้านทรัมป์”
แต่ไหนแต่ไรมา เป็นที่ทราบกันดีว่า “พ่อมดการเงินชื่อดัง” ในวัยไม้ใกล้ฝั่ง86 กะรัตอย่างจอร์จ โซรอส เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตและเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของพรรคการเมืองนี้มายาวนาน
แต่ “ชื่อเสีย” ของโซรอสที่ร่ำรวยมาจากการปลุกปั่นและระดมโจมตี ค่าเงิน ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเงินบาทของไทย ได้รับการตอกย้ำให้ เห็นชัด และลึกมากยิ่งกว่าครั้งใดๆ เพราะมีการเปิดเผยหลักฐานที่ชี้ว่า นักลงทุนหน้าเลือดเชื้อสายยิว-ฮังกาเรียน แต่ถือสัญชาติอเมริกันผู้นี้ อัดฉีดเงินก้อนโตซึ่งไม่มีการเปิดเผยจำนวนที่แน่ชัดให้แก่สมาชิก “ม็อบจัดตั้ง” ออกไปแฝงตัวปะปนกับประชาชนที่ออกมาเดินขบวนต้านทรัมป์-คัดค้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคราวนี้
สื่อหลายสำนักรวมถึงสำนักข่าวสปุตนิกนิวส์ของรัสเซีย แฉหลักฐานเด็ดว่า เว็บไซต์ “MoveOn.org” ที่ได้รับเงินสนับสนุน จากมูลนิธิ Open Society Foundationsของโซรอส อยู่เบื้องหลัง “ม็อบจัดตั้งเพื่อต้านทรัมป์” ในหลายเมืองทั่วอเมริกา ซึ่งในจำนวนม็อบแอบแฝงเหล่านี้ มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ได้รับ “ไฟเขียว” จากโซรอสให้ก่อความรุนแรง เพื่อโหมสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศให้ลุกลาม หวังสร้างแรงกดดันแก่ทรัมป์ ให้ต้องยอมถอนตัวจากเส้นทางสู่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า
ทางเลือกของ “ทรัมป์” ผู้โดดเดี่ยว
แน่นอน “ปฏิบัติการโค่นทรัมป์” ที่เกิดขึ้นจากการประสานพลังของกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มอำนาจเก่า ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อย่างทรัมป์ กระทั่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาด้วยความไม่แน่ใจว่า “ทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จริงๆ หรือ”
อย่างน้อยก็จนกว่าจะถึงวันที่ 20 มกราคม 2560 ซึ่งทรัมป์จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามตามมากรณีที่สามารถฝ่าด่านก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสำเร็จอีกด้วยว่า “แล้วทรัมป์จะนั่งในตำแหน่งนี้ได้นานเท่าไหร่”
คำถามเหล่านี้ มิใช่เสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือคำถามที่โคมลอยโดยปราศจากข้อเท็จจริงสนับสนุน หากแต่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงไม่น้อย และเป็นที่ยอมรับโดยดุษฎีว่าหนทางสู่ทำเนียบขาวของทรัมป์ ดูเหมือนจะมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้เขาจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม
สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ ท่าทีของทรัมป์เปลี่ยนไปหรือไม่
เพราะทรัมป์ย่อมต้องเคยศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ และรู้ตื้นลึกหนาบางของเครือข่ายอำนาจตัวจริงที่ชักใยความเป็นไปของสหรัฐฯ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีว่า มีพลังมากน้อยเพียงใด
ทรัมป์ย่อมรู้ดีว่า การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินทางนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ได้เคยทำให้อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 คนถูกลอบสังหาร คนแรกคือประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น คนที่สองคือประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้
แล้วทำไมทรัมป์ซึ่งเป็นเพียงนักธุรกิจที่มิได้มีเกียรติประวัติหรือชาติตระกูลอะไรจะถูกลอบสังหารไม่ได้
ทั้งนี้ สิ่งผิดปกติที่ทรัมป์น่าจะตระหนักและรับรู้แล้วก็คือ แทบจะไม่มีความเคลื่อนไหวจากบรรดา “มวลชน” ที่สนับสนุนเขาออกมาให้ความช่วยเหลือเลยแม้แต่น้อย
เป็นไปได้อย่างไร ชัยชนะของทรัมป์ที่ได้รับมาแบบถล่มทลายจะทำให้ทรัมป์กลายเป็น “ผู้โดดเดี่ยว” เยี่ยงนี้
ด้วยเหตุดังกล่าว ณ เวลานี้ ทรัมป์จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ
ตัดสินว่าจะเดินหน้าตามสิ่งที่ประกาศไว้ในตอนหาเสียง และปรับเปลี่ยนบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นจริง โดยไม่หวั่นเกรงมหันตภัยที่จะเกิดขึ้นกับทั้งตนเอง และขยายวงไปถึง “ครอบครัว” ซึ่งบัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ถูกขุดเรื่องราวเก่าๆ และเรื่องใหม่ๆ ออกมาแฉไม่เว้นแต่ละวัน
เช่น กรณีการออกมาแฉว่าทรัมป์พยายามขอ “ซีคิวริตีเคลียร์แรนซ์” (security clearance) หรือการเข้าถึงชั้นความลับอเมริกา ให้กับลูกของตัวเอง และรวมไปถึงลูกเขย จาเรด คุชเนอร์(Jared Kushner) ทั้งๆที่ไม่มีตำแหน่งตามกฎหมายสหรัฐฯ เหมือนต้องการเอาสมาชิกครอบครัวเข้ามาบริหารอเมริกา
“ผมไม่ได้ขอการเข้าถึงชั้นความลับสุดยอดแก่ลูกๆของผม นี่เป็นข่าวที่มั่วสิ้นดี”ทรัมป์ทวิต
ขณะที่ตัวทรัมป์เองก็ถูกออกมาแฉเรื่องพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
นี่ไม่รวมถึงการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งสำคัญๆ รวมทั้งความไม่ลงรอยกันในคณะทำงานของเขาที่ทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย
รายงานของนิวยอร์กโพสต์ระบุว่า หนึ่งสัปดาห์หลังจากทรัมป์ได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้ง มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจประธานาธิบดีต้องพบอุปสรรคจากการทะเลาะวิวาทและการแทงข้างหลังของคนวงใน ขณะที่เขาเตรียมเข้ารับอำนาจในอีก 9 สัปดาห์ข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ โวยวายผ่านทวิตเตอร์ ปฏิเสธข่าวลือที่ว่ามีความไม่ลงรอยกันภายในคณะทำงานของเขา
หรือจะตัดสินใจยอมทำตาม “ฉันทมติ” ของกลุ่มทุนและกลุ่มเครือข่ายอำนาจเก่าของสหรัฐฯ โดยลดบทบาทเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ในเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เหมือนดังเช่นที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามายอมมาแล้ว ซึ่งถ้าพวกเขาประสบความสำเร็จในปฏิบัติการครั้งนี้ นั่นหมายความว่า พวกเขาสามารถรวบอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ความน่ากลัวก็จะเกิดขึ้น และโลกก็สุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความฉิบหายครั้งมโหฬาร
ทางเลือกของทรัมป์มีอยู่ 3 ทางเท่านั้นคือ
หนึ่ง-สู้
สอง-ยอมเปลี่ยนตัวและไม่รับตำแหน่งประธานาธิบดี
และสาม-ถอดใจ
แน่นอน ถ้าจะว่าไปแล้วทรัมป์คือว่าที่ประธานาธิบดีที่น่าสงสารที่สุด ขณะที่คนอเมริกันก็น่าสงสารที่สุดไม่แพ้กัน เพราะในยามที่พวกเขาเผชิญกับความแตกแยกและความขัดแย้งที่รุนแรง พวกเขาไม่มีทางออกและไม่มีที่พึ่งพิงเหมือนประเทศไทยที่ได้พระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาช่วยคลี่คลาย
นี่คือเวรกรรมของคนอเมริกันและประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่พวกเขาทำไว้กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ล้อมกรอบ
จับตาใครนั่งเก้าอี้สำคัญ ใน “รัฐบาลทรัมป์1”
หัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาว(White House Chief of Staff) -ไรน์ซ พรีบัส อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติของพรรครีพับลิกัน ได้รับการคัดเลือกจากว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้เข้ามารับหน้าที่ “พ่อบ้านใหญ่” แห่งทำเนียบขาวคนต่อไป
หัวหน้าทีมวางแผนยุทธศาสตร์- สตีเฟน เค.แบนนอน อดีตผู้บริหารสื่อมวลชนฝ่ายขวา ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งประสบความสำเร็จด้วยดีกับการรับหน้าที่ประธานดูแลแคมเปญหาเสียงของทรัมป์
รัฐมนตรีต่างประเทศ (Secretary of State) - รายงานข่าวของนิวยอร์กไทม์สระบุ ทรัมป์จะตัดสินใจเลือก 1 ใน 6 บุคคลต่อไปนี้เข้ารับตำแหน่งอันมีความสำคัญยิ่งตำแหน่งนี้ ประกอบด้วย จอห์น อาร์.โบลตัน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำองค์การสหประชาชาติสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช, โรเบิร์ต คอร์เกอร์ วุฒิสมาชิกมลรัฐเทนเนสซีและประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศของสภาซีเนท, นิวต์ กิงกริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ,รูดอล์ฟ จูลิอานี อดีตนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก , ซัลมาย คาลิลซาด อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอัฟกานิสถาน, สแตนลีย์ เอ. แม็คคริสตัล อดีตผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯในสงครามอัฟกานิสถาน
รัฐมนตรีคลัง(Treasury Secretary) - รายงานข่าวจากสื่อหลายสำนักระบุ ทรัมป์มี 4 ตัวเลือกที่อยู่ในใจสำหรับตำแหน่งสำคัญที่จะเข้ามากำกับดูแลเศรษฐกิจของประเทศระหว่าง ทิม พอว์เลนตี อดีตผู้ว่าการมลรัฐมินนีโซตา, สตีเวน นูชิน อดีตผู้บริหารโกลด์แมน แซคส์และเป็นผู้วางแผนทางการเงินให้กับทรัมป์ตลอดแคมเปญหาเสียงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯที่ผ่านมา, เจบ เฮนซาร์ลิง ประธานคณะกรรมาธิการการคลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากมลรัฐเทกซัส และโธมัส บาร์แรค จูเนียร์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัทด้านการลงทุน Colony Capital
รัฐมนตรีกลาโหม(Defense Secretary) - สำหรับตำแหน่งสำคัญซึ่งจะต้องดูแลปัญหาความขัดแย้งในอิรักและซีเรีย รวมถึงรับมือภัยคุกคามจากกลุ่มรัฐอิสลาม(ไอเอส)นี้ แหล่งข่าววงในเผย ทรัมป์อาจเลือกระหว่าง ทอม คอตตอน ส.ว.จากมลรัฐอาร์คันซอส์ ที่เคยรับราชการในกองทัพบกสหรัฐฯ และเคยรบในสงครามอิรักกับอัฟกานิสถาน หรือดันแคน ฮันเตอร์ ส.ส.จากแคลิฟอร์เนียที่เคยเป็นนาวิกโยธินในสงครามอิรักกับอัฟกานิสถาน (อาจมีตัวเลือกใหม่ที่พลิกโผ)
รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ(Homeland Security Secretary)- รายงานข่าวระบุ รูดอล์ฟ จูลิอานี อดีตนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์กที่อาจพลาดหวังจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ อาจได้นั่งในตำแหน่งนี้ แต่ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง โจ อาร์ปายโอ อดีตนายอำเภอคนดังแห่งเขตปกครองมาริโกปา เคาน์ตีในมลรัฐแอริโซนา, เดวิด เอ. คลาร์ก จูเนียร์ นายอำเภอสายแข็งจากเขตมิลวอกี เคาน์ตี้ รวมถึง ไมเคิล แม็คคอล ส.ส.มลรัฐเทกซัส และประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ (UN Ambassador) - แหล่งข่าวใกล้ชิดคาด เป็นการขับเคี่ยวระหว่าง 2 ตัวเลือก คือ เคลลี อาย็อตตี อดีตวุฒิสมาชิกจากนิวแฮมป์เชียร์ และริชาร์ด เกรเนลล์ อดีตโฆษกประจำตัวทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช
ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA Director) - นิวยอร์กไทม์สระบุ 3 ตัวเต็งในใจทรัมป์สำหรับเก้าอี้อันทรงอิทธิพลนี้ประกอบด้วยโรนัลด์ แอล. เบอร์เจสส์ จูเนียร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองทางกลาโหม และอดีตนายพลแห่งกองทัพสหรัฐฯ , ปีเตอร์ โฮคสตรา อดีตประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และ ฟรานเซส ทาวน์เซนด์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช