xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ทรัมป์” เว้ยเฮ้ย ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปิดฉากกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือผู้นำสูงสุดแห่งเมืองลุงแซมที่โดยปกติแล้วจะมีขึ้น 1 ครั้งในทุก 4 ปี โดยการเลือกตั้งที่จัดขึ้นล่าสุดเมื่อวันอังคาร (8 พ.ย.) ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นของอเมริกาจบลงแบบชวนอึ้งและน่าตกตะลึงยิ่งนัก

เมื่อ มหาเศรษฐีฝีปากกล้าจากนิวยอร์กอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัวแทนของ “รีพับลิกัน” เป็นฝ่ายเข้าป้ายคว้าชัยชนะไปครองได้แบบที่เรียกได้ว่า “หักปากกาเซียน” แทนที่จะเป็น “เต็งจ๋า” จากฟากฝั่ง “เดโมแครต” อย่าง “ฮิลลารี คลินตัน” อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง-อดีตวุฒิสมาชิก-อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ถูกยกให้ “นอนมา” ตั้งแต่วันแรกที่เธอประกาศตัวลงชิงชัยในเส้นทางสู่ทำเนียบขาว 2016

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ออกมาอย่างเป็นทางการระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้คะแนน “Popular vote” หรือคะแนนโหวตที่นับจากคะแนนเสียงของประชาชนจริงๆ รวมทั้งสิ้น 59,133, 398 เสียง น้อยกว่า ฮิลลารี คลินตันที่ได้ 59,297,366 เสียง แต่นั่นก็มิใช่ปัญหา และไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด

เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมืองลุงแซม เกณฑ์การตัดสินผลแพ้ชนะนั้น ต้องดูที่จำนวนเสียงของ คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ในแต่ละมลรัฐเป็นสำคัญ

ในปัจจุบันคณะผู้เลือกตั้งจากทุกมลรัฐของสหรัฐฯ มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 538 คนซึ่งมาจากตัวแทนตามจำนวนเขตการปกครอง 438 คน บวกกับวุฒิสภา 100 คน โดยเป้าหมายของผู้ลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้น ในวันเลือกตั้งพวกเขาจะต้องได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้งนี้ให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของ 538 เสียง ซึ่งนั่นก็คืออย่างน้อย “270 เสียง” เพื่อการันตีการก้าวเข้าสู่ “ทำเนียบขาว”

ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเมื่อ 8 พ.ย. ปรากฏว่า ทรัมป์ที่เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันสามารถคว้าคะแนนคณะผู้เลือกตั้งมาครองได้ถึง 276 เสียง ขณะที่ตัวแทนจากฝั่งเดโมแครตอย่างคลินตันได้ไป 218 เสียง ส่งผลให้ทรัมป์เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะ และจะได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันภายหลังการเข้าทำพิธีสาบานตน ในวันที่ 20มกราคม ปี 2017

ขณะที่อดีตผู้ว่าการมลรัฐอินดีแอนาอย่าง ไมค์ เพนซ์ ที่เป็นคู่หู “Running Mate” ของทรัมป์ก็จะเข้ารับตำแหน่ง “รองประธานาธิบดีที่ 48” ของสหรัฐฯ ในวันเดียวกัน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 ถือเป็นการเลือกตั้งผู้นำเมืองลุงแซมครั้งที่ 5 ในประวัติศาสตร์ที่ผู้ชนะการเลือกตั้ง และคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีไปนอนกอดนั้น เป็นฝ่ายพ่ายแพ้คะแนน Popular vote เช่นเดียวกับในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อปี ค.ศ.1824 , 1876, 1888, และล่าสุดคือการเลือกตั้งเมื่อปี 2000

ขณะที่ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสส์ทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (House) กับ วุฒิสภา (Senate) ฝ่ายรีพับลิกันก็สามารถ “กุมเสียงข้างมาก” ไว้ได้ทั้งสองสภาเช่นกัน

ทำไม “ทรัมป์” ถึงชนะ “ฮิลลารี่”

หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการถูกประกาศออกไปนานหลายชั่วโมง นางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งถูก “ดับฝัน” การเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ได้ออกมาปรากฏตัวต่อกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นครั้งแรก โดยเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนจำนวนหลายล้านคนของเธอที่ยังคง “ทำใจไม่ได้” กับความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ให้ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ออกมา และเปิดโอกาสให้ทรัมป์ได้ทำหน้าที่ผู้นำของประเทศ

“นี่ไม่ใช่ผลลัพธ์ในแบบที่เราต้องการ หรือในแบบที่เราทุ่มเทแรงกายแรงใจไปเพื่อมัน ดิฉันเสียใจที่เราไม่ได้เป็นฝ่ายที่คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ถึงกระนั้นดิฉันก็รู้สึกภาคภูมิใจ และรู้สึกขอบคุณสำหรับแคมเปญสู้ศึกเลือกตั้งอันยอดเยี่ยมนี้ ที่พวกเราร่วมสร้างกันขึ้นมา ดิฉันยอมรับว่า ความพ่ายแพ้ครั้งนี้มันแสนเจ็บปวด แต่เราต้องยอมรับมัน และมองไปสู่อนาคตที่รออยู่เบื้องหน้า” ฮิลลารี คลินตัน กล่าว

แน่นอน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไม “ทรัมป์” ถึงชนะ?

คำตอบก็คือ “นโยบายในการหาเสียง” ของทรัมป์โดนใจประชาชนชาวอเมริกัน (ส่วนใหญ่) ไปเต็มๆ

ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ของประเทศสหรัฐฯ ในขณะเลือกตั้งตกอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยปัญหาสารพัดสารพัน เวลา 8 ปีที่คนอเมริกันอยู่ภายใต้การบริหารงานของ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งพรรคเดโมแครต ไม่เป็นที่น่าประทับใจเอาเสียเลย

กระทั่งทำให้เกิดกระแสความเบื่อแผ่กระจายไปทั่วทั้งประเทศ ประกอบกับตัวผู้สมัครชิงประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตคนใหม่ก็คือ “ฮิลลารี คลินตัน” รวมทั้งนโยบายที่นำเสนอออกมาในการหาเสียง ก็มิได้มีความโดดเด่นเลยแม้แต่น้อย

นี่ไม่รวมถึงความผิดพลาดในการเชลียร์ของสื่อยักษ์ใหญ่อเมริกันที่ชี้นำว่า ฮิลลารีจะเป็นผู้ชนะ และเผยแพร่โพล ที่ผิดพลาดออกมากระทั่งทำให้ยุทธศาสตร์การหาเสียงของนางฮิลลารีล้มเหลวและไม่สามารถแก้เกมได้ทันจนเกิดปรากฏการณ์ Land Slide ขึ้น

ทั้งนี้ คนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่เป็น “คนขาว” และ “คนใช้แรงงาน” ไม่พอใจความผิดพลาดกับการเปิดประเทศมากเกินไป จนสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอเมริกัน

ขณะที่ทรัมป์ประกาศชูนโยบายที่โดนใจอย่าง “Make America Great Again” ทำให้อเมริกันชนเกิดความหวังขึ้นมาว่า ทรัมป์น่าจะดีกว่านางฮิลลารี ไม่ว่าจะเป็นการประกาศสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเม็กซิโกเพื่อตัดวงจรการลักลอบเข้าประเทศมาแย่งงานทำของคนเม็กซิกัน การสร้างกำแพงภาษีกั้นไม่ให้สินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาในสหรัฐฯ

หรือสรุปง่ายๆ ก็คือคนอเมริกันเห็นด้วยกับแนวคิดต่อต้านการค้าเสรีในโลกยุคโลกาภิวัตน์ของทรัมป์ เพราะเห็นว่า คนสหรัฐฯ ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร

ขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศสหรัฐฯ เองก็อยู่ในยุคตกต่ำสุดๆ เศรษฐกิจก็ตกต่ำ อัตราการว่างงานก็สูงลิ่ว ระบบสาธารณูปโภคก็แย่ลง สังคมก็มีแต่ข่าว อาชญากรรม ฆ่ากันตายไม่เว้นแต่ละวัน เฉกเช่นเดียวกับกับปัญหาการก่อการร้ายที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับอเมริกันชนมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อทรัมป์เสนอแนวคิดในการจัดการการก่อร้ายให้สิ้นซากด้วยการใช้กำลังทางทหาร พร้อมทั้งประกาศไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าประเทศ ก็ยิ่งทำให้ทรัมป์ได้ใจคนอเมริกันที่ใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงร่วม 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ผลพวงการทำตัวเป็น “ตำรวจโลก” ของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายด้านการต่างประเทศก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้อะไร จะมีก็แต่กลุ่มทุนและกลุ่มพ่อค้าอาวุธจำนวนเท่านั้นที่ร่ำรวยจากการนี้ ในขณะที่ภาพรวมของประเทศเสียหายไปมากกับการำทหน้าที่ “ตำรวจโลก” ในห้วงเวลาที่ผ่านมา

สรุปง่ายๆ ก็คือคนอเมริกันต้องการ CHANGE อย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่ CHANGE แบบโอบามาที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ แถมยังย่ำรอยกลับไปยังจุดเดิมอีกต่างหาก

คนอเมริกันฝันเอาไว้สวยงามกับการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ครั้งนี้เหมือนอย่างเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยกันดีว่า “แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา”

จับตาดู นโยบายทรัมป์ จากถ้อยคำสวยหรู สู่การปฏิบัติ

ทั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศจะนำความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่มาสู่สหรัฐฯ และเริ่มต้นกระบวนการ “ระบายน้ำเน่า” ของแวดวงการเมืองอเมริกัน ตั้งแต่ช่วง 100 วันแรก ของการรับหน้าที่เป็นประธานาธิบดี

มหาเศรษฐีที่สร้างตัวเองขึ้นจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และรายการเรียลลิตี้โชว์ ผู้ซึ่งไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อนให้สัญญาว่าชาวอเมริกันจะได้เห็น “ความเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นนับตั้งแต่วันแรกที่อยู่ในตำแหน่ง”

ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 จากพรรครีพับลิกันผู้นี้ ได้กล่าวแจกแจงแผนการในช่วง 100วันแรก ของการเข้าครองอำนาจในทำเนียบขาว ภายใต้แนวคิดหลักที่จะ “ทำให้อเมริกันยิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Make America Great Again) ตามคำขวัญหลักในการหาเสียงของเขา

สำหรับ ทรัมป์ หนึ่งในคำมั่นสัญญาที่เขาบอกว่า จะทำในวันแรกๆ ของการขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้แก่การเปิดเจรจาใหม่เกี่ยวกับเงื่อนไขในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ซึ่งสหรัฐฯ ทำกับแคนาดาและเม็กซิโกตั้งแต่ยุคบิล คลินตัน และการประกาศถอนตัวจาก ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งชาติสมาชิกส่วนใหญ่ ยังอยู่ในขั้นตอนรอให้รัฐสภาของแต่ละชาติให้สัตยาบันรับรองถึงจะมีผลบังคับใช้

ทรัมป์ประกาศจะยกเลิกข้อจำกัดในการผลิต “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ทั้งน้ำมันก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน, การเปิดตัวโครงการท่อส่งน้ำมันสาย “คีย์สโตน เอ็กซ์แอล” ขึ้นใหม่หลังถูกประธานาธิบดีโอบามาระงับ

รวมทั้งการยกเลิกคำมั่นสัญญาจ่ายเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ในโครงการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ ตลอดจนการยกเลิกทุกคำสั่งบริหารของโอบามาที่เขาระบุว่า ขัดรัฐธรรมนูญ

สัญญาอีกประการหนึ่งได้แก่ ทรัมป์ ประกาศกวาดล้างการทุจริตเชิงนโยบายในแวดวงการเมืองอเมริกันผ่านการกลไกการ “จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง” ของสมาชิกรัฐสภา และห้ามสมาชิกรัฐสภา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวไปเป็น “นักล็อบบี้” ในช่วง5 ปี หลังพ้นตำแหน่งทางการเมือง จนถึงขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มจับตามองไปที่คณะบุคคลที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะดึงตัวมาร่วมงานในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลของเขา

แต่ที่ถูกจับตามองมากกว่า คือ บรรดาจุดยืนหรือ “จุดขาย” ที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ ในระหว่างการหาเสียงตลอดระยะเวลา18 เดือนที่ผ่านมาว่า จะถูกแปรเปลี่ยนจาก “ถ้อยคำอันสวยหรู” ไปสู่ “นโยบายที่ปฏิบัติได้จริง” อย่างไรกันบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียที่ย่ำแย่เลวร้ายถึงขีดสุดในยุค ของบารัค โอบามา, การลดสัดส่วนการขาดดุลการค้าต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนลง, การรื้อฟื้นดำเนินคดีรอบใหม่กรณีเซิร์ฟเวอร์อีเมล์ส่วนตัวสุดฉาวของฮิลลารี ที่กระทบความมั่นคง ,การเดินหน้าเนรเทศแรงงานเถื่อนจากละตินอเมริกาและเอเชีย จำนวนมากกว่า 10 ล้านคน ออกจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพื่อสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้กับชาวอเมริกัน, การกำราบสมาชิกร่วมพรรครีพับลิกันที่ทำตัวเป็นปรปักษ์กับเขาตลอดแคมเปญหาเสียงที่ผ่านมาผ่านกลไกด้านงบประมาณ, การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านสีผิว หลังเกิดความรุนแรง ที่มีต้นตอจากการที่มีชาวผิวดำถูกตำรวจผิวขาว สังหารโหดไปนับสิบรายตลอด 2 ปีมานี้

โดยที่ทรัมป์ประกาศจะใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดในเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและนำ “ความสงบเรียบร้อย” กลับสู่สังคมอเมริกัน ตลอดจนอนาคตของความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตร อย่างองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รวมถึงพันธมิตรเก่าแก่ในเอเชีย - แปซิฟิก อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

นอกจากนั้นหลายฝ่ายยังคงเฝ้าจับตานโยบายการบริหารประเทศโดยภาพรวมของทรัมป์ว่าจะสอดคล้องกับสโลแกนสุดเก๋ของเขา ระหว่างแคมเปญหาเสียงที่ว่า “Make America Great Again” ได้มากน้อยเพียงใด และนี่จะเป็นตัวตัดสินอนาคตทางการเมืองของมหาเศรษฐีจากนิวยอร์กผู้นี้ว่า มีดีพอสำหรับการลงสู้ศึกเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2ในปี ค.ศ. 2020

3 นโยบายยุคประธานาธิบดีทรัมป์

1.นโยบายคนเข้าเมืองและผู้อพยพ

การก้าวขึ้นครองอำนาจของทรัมป์ถือเป็นข่าวร้ายอย่างแท้จริง สำหรับบรรดาชาวต่างชาติที่ต้องการหางานทำ รวมถึงเหล่าผู้อพยพที่ปรารถนาการได้ตั้งรกรากใหม่ในแผ่นดินอเมริกา เพราะหนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่ทรัมป์ ประกาศจะดำเนินการหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า คือ การผลักดันแรงงานผิดกฎหมายจำนวนหลายล้านคนออกนอกประเทศ เพื่อสร้างตำแหน่งงานใหม่แก่ชาวอเมริกันที่ยังอดอยากและว่างงาน ท่ามกลางข้อมูลจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (US Department of Homeland Security) ที่ระบุว่า ในเวลานี้ สหรัฐฯ มีแรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบเข้าประเทศและทำงานแบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่มากกว่า 11ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคละตินอเมริกาและเอเชีย

ขณะเดียวกันการประกาศสร้างกำแพงกั้นตามแนวพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกและกำหนดโทษจำคุกต่ำสุด 2 ปี ต่อผู้อพยพซึ่งถูกเนรเทศไปแล้ว แต่ยังพยายามลักลอบกลับเข้ามาในสหรัฐฯอีก ยังถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่น่าจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างในเร็ววัน หลังทรัมป์ก้าวขึ้นครองอำนาจ

2.นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นี่คือหนึ่งในนโยบายหลักที่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศจะเดินหน้า เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างงานหลายล้านตำแหน่งให้แก่ชาวอเมริกัน ผ่านโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้ง ทางหลวง สะพาน ระบบโทรคมนาคม ระบบไฟฟ้า รวมถึง การปรับปรุงการคมนาคมขนส่งทางน้ำ

ซึ่งทางหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่าง American Society of Civil Engineers ออกมาประเมินล่าสุดว่า รัฐบาลอเมริกันภายใต้การริเริ่มของประธานาธิบดีทรัมป์ จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง3.6 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2020 ในการผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรม แลกกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ถึงปีละ 4% และการมีงานทำของชาวอเมริกัน ผ่านการสร้างตำแหน่งงาน 25 ล้านตำแหน่ง ภายในเวลา 10 ปีจากนี้

3. ข้อตกลงการค้าเสรี Trans-Pacific Partnership (TPP)

แน่นอนว่า นี่คือนโยบายหลักในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา และพรรคเดโมแครต แต่เป็นสิ่งที่ทรัมป์และแกนนำพรรครีพับลิกันจำนวนไม่น้อย แสดงจุดยืนต่อต้าน

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับข้อตกลงการค้าเสรี TPPในยุคของทรัมป์ดูจะไม่สดใสนักซึ่ง หนึ่งในนั้นคือความเป็นไปได้ที่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์จะ “ฉีกข้อตกลง” มีสูงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกสินค้านับหมื่นรายการ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึง ประเทศไทย ที่เคยคาดหวังจะได้ผลประโยชน์และสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรจากข้อตกลงนี้

“ทรัมป์” ส่อฟื้นสัมพันธ์รัสเซีย

สำนักข่าวรอยเตอร์นำเสนอบทวิเคราะห์ล่าสุดในวันพุธ (9 พ.ย.) โดยระบุว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ อาจพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ทอดทิ้งพันธมิตรเก่าแก่ทั้งในยุโรป และเอเชีย ถ้าหากไม่ยอมจ่ายมากขึ้นในด้านการป้องกันประเทศ ท่ามกลางข้อกังขาที่ว่าว่าที่ประมุขคนใหม่แห่งทำเนียบขาวเป็นผู้ที่คาดเดาได้ยากยิ่งนัก

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌ็อง-มาร์ก อายโรลต์ ได้ลั่นวาจาจะร่วมทำงานกับทรัมป์แต่ก็กล่าวว่าบุคลิกส่วนตัวของทรัมป์ “อาจทำให้เกิดปัญหา” นอกจากนั้น ก็ยังไม่แน่ใจว่าชัยชนะของทรัมป์จะหมายถึงการท้าทาย เกี่ยวกับนโยบายหลักต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือปัญหาโลกร้อนและกรณีนิวเคลียร์ระหว่างชาติตะวันตก กับอิหร่าน จนถึงสงครามกลางเมืองในซีเรีย

ทรัมป์ซึ่งไม่มีประสบการณ์ ทั้งด้านการต่างประเทศ และการทหารกำลังจะต้องเผชิญกับความไม่เป็นเอกภาพในระดับชาติ หรือแม้กระทั่งในพรรครีพับลิกันด้วยกันเองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับสงครามซีเรีย, กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส), การเติบใหญ่ของจีน และการที่รัสเซียกำลังมีบทบาทโดดเด่น

“นี่ไม่ต่างกับดินแดนที่เราไม่รู้อะไรเลยอันตรายใหญ่หลวงที่สุดในการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ ก็คือ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และความรู้สึกขาดความมีเสถียรภาพ ไม่ว่าในบรรดาพันธมิตรของเรา รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามกับเราด้วย” อารอน เดวิด มิลเลอร์ ผู้เจรจาปัญหาตะวันออกกลางที่เคยร่วมงานกับประธานาธิบดีหลายคน ทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต กล่าว โดยปัจจุบันเขาทำงานที่ศูนย์นักวิชาการวูดโรว์ วิลสัน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ด้านเจมส์ ด็อบบินส์ อดีตนักการทูตสหรัฐฯซึ่งปัจจุบันทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาด้านนโยบายอย่างแรนด์คอร์ปกล่าวว่า เขาไม่แปลกใจที่จะได้เห็นการรีเซตสัมพันธ์สหรัฐฯกับรัสเซียใหม่ แต่สำหรับจีนแล้ว ทรัมป์ แสดงความก้าวร้าวมากกว่า โดยบอกว่าจะตีตราแดนมังกรเป็นประเทศผู้ “ปั่นค่าเงินตรา” และขู่จะใช้มาตรการภาษีต่อสินค้าจีน

สำหรับทางยุโรปทรัมป์ได้เสนอความคิดที่จะละทิ้งนโยบายร่วมป้องกันของนาโตโดยกล่าวว่า สหรัฐฯจะช่วยเหลือในการป้องกันสมาชิก เช่นรัฐบอลติก โดยมีข้อแม้ว่าประเทศเหล่านั้นต้องบรรลุพันธกิจที่มีต่อสหรัฐฯเช่นกัน

เมื่อถูกถามในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเกี่ยวกับว่า เขาจะคัดค้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้หรือไม่ ทรัมป์ เผยต่อนิวยอร์กไทม์สว่า อาจมีสักวันที่สหรัฐฯ ไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้เช่นในอดีต และพวกเขาอาจจำเป็นจะต้องพัฒนาอาวุธของตัวเอง

กรณีตัวอย่างข้างต้นล้วนขัดต่อหลักการในนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ยึดถือมายาวนานหลายทศวรรษ นั่นคือ การโจมตีสมาชิกนาโตชาติใดชาติหนึ่ง ถือเป็นการโจมตีทั้งกลุ่ม และการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยง

ขณะที่ จอน อัลท์แมน หัวหน้าโครงการตะวันออกกลางแห่งศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า การมีแนวโน้มที่ปล่อยให้ชาติต่างๆต้องคาดเดาเอาเองอยู่ตลอดเวลานั้นจะเป็นสาเหตุความไร้เสถียรภาพในตัวเอง และจะถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดสำหรับเวทีระหว่างประเทศในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์

ผลที่ “ทรัมป์” จะต้องแบกรับ

จากนโยบายและการหาเสียงทั้งหลายทั้งปวงข้างต้น สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ก็คือ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ “ทรัมป์” และต้องยอมรับว่า การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของเขาจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดประการแรกคือการก่อหวอดแสดงความไม่พอใจของผู้คนในระบบเดิมๆ ที่ไม่ต้องการเห็นทรัมป์เป็นประธานาธิบดี พร้อมทั้งออกมาชุมนุมเรียกร้องในหลายมลรัฐ

แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาสาหัสไม่น้อยก็คือ ทรัมป์จะมีปัญหาในการทำงานเป็นอย่างมาก เพราะต้องเผชิญหน้ากับ “หน่วยงานด้านความมั่นคง” ของสหรัฐฯ ซึ่งยืนอยู่ตรงข้ามเขาทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น FBI หรือ CIA

ขณะที่การบริหารความสัมพันธ์กับนานาประเทศที่โลกกำลังหวั่นวิตก แม้จะดูเป็นปัญหาใหญ่ แต่เชื่อได้ว่า นับจากนี้ไปท่าทีของทรัมป์จะเปลี่ยนแปลงไป ไม่แข็งกร้าวดุดันเหมือนเมื่อครั้งหาเสียง เพราะทรัมป์รู้ดีว่า เขาคือประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ไม่ใช่เจ้าของอาณาจักรทรัมป์ ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำที่เขาประกาศหลังคว้าชัยชนะซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

กระนั้นก็ดี ถ้าทรัมป์ทำจริงตามนโยบายที่ประกาศหาเสียงเอาไว้ ใครจะไปรู้ว่า ชีวิตของทรัมป์จะยืนยาวแค่ไหน เพราะประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เคยบันทึกเอาไว้แล้วว่า มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 คนที่ถูกลอบสังหาร

คนแรกคือประธานาธิบดีอัมราฮัม ลินคอร์น

และคนที่สองคือประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้


กำลังโหลดความคิดเห็น