xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : “โดนัลด์ ทรัมป์” คว้าชัย ฝ่าทุกแรงต้านสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีอเมริกา คนที่ 45

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



ปิดฉากกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือผู้นำสูงสุดแห่งเมืองลุงแซม ที่โดยปกติแล้วจะมีขึ้น 1 ครั้งในทุก 4 ปี โดยการเลือกตั้งที่จัดขึ้นล่าสุดในวันอังคาร (8 พ.ย.) ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นของอเมริกา จบลงแบบชวนอึ้งและน่าตกตะลึงยิ่งนัก เมื่อมหาเศรษฐีฝีปากกล้าจากนิวยอร์กอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัวแทนของพรรครีพับลิกัน (Grand Old Party : GOP) เป็นฝ่ายเข้าป้ายคว้าชัยชนะไปครองได้แบบที่เรียกได้ว่า “หักปากกาเซียน” แทนที่จะเป็น “เต็งจ๋า” จากฟากฝั่งเดโมแครตอย่าง “ฮิลลารี คลินตัน” อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง อดีตวุฒิสมาชิก อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ถูกยกให้ “นอนมา” ตั้งแต่วันแรกที่เธอประกาศตัวลงชิงชัยในเส้นทางสู่ทำเนียบขาว 2016

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ออกมาอย่างเป็นทางการระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้คะแนน “Popular vote” หรือคะแนนโหวตที่นับจากคะแนนเสียงของประชาชนจริงๆ รวมทั้งสิ้น 59,133, 398 เสียง น้อยกว่า ฮิลลารี คลินตัน ที่ได้ 59,297,366 เสียง แต่นั่นก็มิใช่ปัญหา และไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใดเพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมืองลุงแซมนั้นเกณฑ์การตัดสินผลแพ้ชนะนั้น ต้องดูที่จำนวนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ในแต่ละมลรัฐเป็นสำคัญ

ในปัจจุบันคณะผู้เลือกตั้งจากทุกมลรัฐของสหรัฐฯ มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 538 คนซึ่งมาจากตัวแทนตามจำนวนเขตการปกครอง 438 คน บวกกับวุฒิสภา 100 คน โดยเป้าหมายของผู้ลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น ในวันเลือกตั้งพวกเขาจะต้องได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้งนี้ให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของ 538 เสียง นั่นก็คืออย่างน้อย “270 เสียง” เพื่อการันตีการก้าวเข้าสู่ “ทำเนียบขาว”

ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเมื่อ 8 พ.ย. ปรากฏว่า ทรัมป์ที่เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันสามารถคว้าคะแนนคณะผู้เลือกตั้งมาครองได้ถึง 276 เสียง ขณะที่ตัวแทนจากฝั่งเดโมแครตอย่างคลินตันได้ไป 218 เสียง ส่งผลให้ทรัมป์เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะ และจะได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนที่ 45 ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันภายหลังการเข้าทำพิธีสาบานตน ในวันที่ 20 มกราคม ปี 2017 ขณะที่อดีตผู้ว่าการมลรัฐอินดีแอนาอย่าง ไมค์ เพนซ์ ที่เป็นคู่หู “running mate” ของทรัมป์ก็จะเข้ารับตำแหน่ง “รองประธานาธิบดีที่ 48” ของสหรัฐฯ ในวันเดียวกัน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 ถือเป็นการเลือกตั้งผู้นำเมืองลุงแซมครั้งที่ 5 ในประวัติศาสตร์ที่ผู้ชนะการเลือกตั้ง และคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีไปนอนกอดนั้น เป็นฝ่ายพ่ายแพ้คะแนน Popular vote เช่นเดียวกับในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อปี ค.ศ. 1824, 1876, 1888 และล่าสุดคือการเลือกตั้งเมื่อปี 2000

ด้วยวัย 70 ปี โดนัลด์ ทรัมป์ จะถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีอายุมากที่สุดที่เข้ารับตำแหน่งในสมัยแรก (first term) ทุบสถิติเดิมของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่มีอายุ 69 ปี เมื่อครั้งที่เรแกนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรกในปี 1980

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังถือเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ ที่ถือกำเนิดลืมตาดูโลกใน “มลรัฐนิวยอร์ก” ต่อจากประธานาธิบดีมาร์ติน แวน บิวเรน, มิลลาร์ด ฟิลล์มอร์, ธีโอดอร์ รูสเวลต์ และแฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลต์



หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการถูกประกาศออกไปนานหลายชั่วโมง นางฮิลลารี คลินตันซึ่งถูก “ดับฝัน” การเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ได้ออกมาปรากฏตัวต่อกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นครั้งแรก โดยเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนจำนวนหลายล้านคนของเธอที่ยังคง “ทำใจไม่ได้” กับความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ให้ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ออกมา และเปิดโอกาสให้ทรัมป์ได้ทำหน้าที่ผู้นำของประเทศ

“นี่ไม่ใช่ผลลัพธ์ในแบบที่เราต้องการ หรือในแบบที่เราทุ่มเทแรงกายแรงใจไปเพื่อมัน ดิฉันเสียใจที่เราไม่ได้เป็นฝ่ายที่คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ถึงกระนั้นดิฉันก็รู้สึกภาคภูมิใจ และรู้สึกขอบคุณสำหรับแคมเปญสู้ศึกเลือกตั้งอันยอดเยี่ยมนี้ที่พวกเราร่วมสร้างกันขึ้นมา ดิฉันยอมรับว่าความพ่ายแพ้ครั้งนี้มันแสนเจ็บปวด แต่เราต้องยอมรับมันและมองไปสู่อนาคตที่รออยู่เบื้องหน้า” ฮิลลารี คลินตัน กล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าชัยชนะแบบค้านผลโพลของแทบทุกสำนักในคราวนี้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกตกใจในหมู่นักลงทุนทั่วโลกไม่น้อย เห็นได้จากการดิ่งลงของราคาหุ้น ราคาน้ำมัน ตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในตลาดซื้อขายทั่วโลกแบบฉับพลันถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ และถือเป็นอีกหนึ่งเรื่อง “สุดช็อก” ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุน (อย่างน้อยก็ในระยะสั้น) ไม่ต่างจากข่าวการลงประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร หรือ “Brexit” เมื่อ 5 เดือนก่อนหน้านี้


จับตาดูนโยบาย “ทรัมป์” จากถ้อยคำสวยหรู สู่การปฏิบัติ

จนถึงขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มจับตามองไปที่คณะบุคคลที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะดึงตัวมาร่วมงานในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลของเขา แต่ที่ถูกจับตามองมากกว่า คือ บรรดาจุดยืนหรือ “จุดขาย” ที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ในระหว่างการหาเสียงตลอดระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมาว่าจะถูกแปรเปลี่ยนจาก “ถ้อยคำอันสวยหรู” ไปสู่ “นโยบายที่ปฏิบัติได้จริง” อย่างไรกันบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียที่ย่ำแย่เลวร้ายถึงขีดสุดในยุคของบารัค โอบามา, การลดสัดส่วนการขาดดุลการค้าต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนลง, การรื้อฟื้นดำเนินคดีรอบใหม่กรณีเซิร์ฟเวอร์อีเมลส่วนตัวสุดฉาวของฮิลลารี ที่กระทบความมั่นคง, การเดินหน้าเนรเทศแรงงานเถื่อนจากละตินอเมริกาและเอเชีย จำนวนมากกว่า 10 ล้านคน ออกจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพื่อสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้กับชาวอเมริกัน, การกำราบสมาชิกร่วมพรรครีพับลิกันที่ทำตัวเป็นปรปักษ์กับเขาตลอดแคมเปญหาเสียงที่ผ่านมาผ่านกลไกด้านงบประมาณ, การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านสีผิว หลังเกิดความรุนแรง ที่มีต้นตอจากการที่มีชาวผิวดำถูกตำรวจผิวขาว สังหารโหดไปนับสิบรายตลอด 2 ปีมานี้ โดยที่ทรัมป์ประกาศจะใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดในเรื่องนี้ เพื่อสร้างเป็นธรรมและนำ “ความสงบเรียบร้อย” กลับสู่สังคมอเมริกัน ตลอดจนอนาคตของความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตร อย่างองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รวมถึงพันธมิตรเก่าแก่ในเอเชีย-แปซิฟิกอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

นอกจากนั้น หลายฝ่ายยังคงเฝ้าจับตานโยบายการบริหารประเทศโดยภาพรวมของทรัมป์ว่าจะสอดคล้องกับสโลแกนสุดเก๋ของเขา ระหว่างแคมเปญหาเสียงที่ว่า “make America great again” ได้มากน้อยเพียงใด และนี่จะเป็นตัวตัดสินอนาคตทางการเมืองของมหาเศรษฐีจากนิวยอร์กผู้นี้ว่ามีดีพอสำหรับการลงสู้ศึกเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี ค.ศ. 2020

8 ปีของโอบามา-เดโมแครต = ความพยายามที่สูญเปล่า?

ผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่ออกมาล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จบลงด้วยชัยชนะของตัวแทนพรรครีพับลิกันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสส์ทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (เฮาส์) กับ วุฒิสภา (ซีเนต) ที่ต่างจบลงโดยที่ฝ่ายรีพับลิกันได้ “กุมเสียงข้างมาก” ไว้ได้ทั้งสองสภาหลังวันที่ 8 พ.ย.นำมาซึ่งคำถามที่ว่า นโยบายต่างๆ ที่ถือเป็น “มรดกทางการเมือง” ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และพรรคเดโมแครตผลักดันริเริ่ม-สั่งสมเอาไว้ตลอดระยะเวลา 8 ปีแห่งการครองอำนาจที่ผ่านมาจะถูก “สานต่อ” หรือถูก “ล้มล้าง” ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบอันหลังดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในยุคที่ “รีพับลิกันครองเมือง”

ในบรรดามรดกทางการเมืองที่โอบามาสร้างเอาไว้ตลอดระยะเวลา 8 ปีแห่งการครองอำนาจที่ดูเหมือนสุ่มเสี่ยงต่อการถูก “ขุดรากถอนโคน” ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์มากที่สุด ประกอบด้วย นโยบายหลักประกันสุขภาพ “โอบามาแคร์”, พันธะของสหรัฐฯ ต่อประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่ทรัมป์มองว่าเป็น “เรื่องลวงโลก”, ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่นำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่าน รวมถึง บรรดาข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศที่โอบามาริเริ่มไว้ ที่ทรัมป์โจมตีมาตลอดว่า ทำให้อเมริกาเสียเปรียบและถูก “มัดมือชก”


จับตา 3 นโยบายยุคประธานาธิบดีทรัมป์

1. นโยบายคนเข้าเมืองและผู้อพยพ

การก้าวขึ้นครองอำนาจของทรัมป์ถือเป็นข่าวร้ายอย่างแท้จริงสำหรับบรรดาชาวต่างชาติที่ต้องการหางานทำ รวมถึงเหล่าผู้อพยพที่ปรารถนาการได้ตั้งรกรากใหม่ในแผ่นดินอเมริกา เพราะหนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่ทรัมป์ประกาศจะดำเนินการหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า คือ การผลักดันแรงงานผิดกฎหมายจำนวนหลายล้านคนออกนอกประเทศ เพื่อสร้างตำแหน่งงานใหม่แก่ชาวอเมริกันที่ยังอดอยากและว่างงาน ท่ามกลางข้อมูลจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (US Department of Homeland Security) ที่ระบุว่า ในเวลานี้สหรัฐฯ มีแรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบเข้าประเทศและทำงานแบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่มากกว่า 11 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคละตินอเมริกาและเอเชีย

ขณะเดียวกัน การประกาศสร้างกำแพงกั้นตามแนวพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก และกำหนดโทษจำคุกต่ำสุด 2 ปี ต่อผู้อพยพซึ่งถูกเนรเทศไปแล้ว แต่ยังพยายามลักลอบกลับเข้ามาในสหรัฐฯ อีก ยังถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่น่าจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างในเร็ววัน หลังทรัมป์ก้าวขึ้นครองอำนาจ

2. นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นี่คือหนึ่งในนโยบายหลักที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะเดินหน้า เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างงานหลายล้านตำแหน่งให้แก่ชาวอเมริกัน ผ่านโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งทางหลวง สะพาน ระบบโทรคมนาคม ระบบไฟฟ้า รวมถึงการปรับปรุงการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ซึ่งทางหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่าง American Society of Civil Engineers ออกมาประเมินล่าสุดว่า รัฐบาลอเมริกันภายใต้การริเริ่มของประธานาธิบดีทรัมป์จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2020 ในการผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรม แลกกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ถึงปีละ 4% และการมีงานทำของชาวอเมริกัน ผ่านการสร้างตำแหน่งงาน 25 ล้านตำแหน่ง ภายในเวลา 10 ปีจากนี้

3. ข้อตกลงการค้าเสรี Trans-Pacific Partnership (TPP)

แน่นอนว่านี่คือนโยบายหลักในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา และพรรคเดโมแครต แต่เป็นสิ่งที่ทรัมป์และแกนนำพรรครีพับลิกันจำนวนไม่น้อย แสดงจุดยืนต่อต้าน

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับข้อตกลงการค้าเสรี TPP ในยุคของทรัมป์ดูจะไม่สดใสนักซึ่งหนึ่งในนั้นคือความเป็นไปได้ที่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์จะ “ฉีกข้อตกลง” มีสูงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกสินค้านับหมื่นรายการ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย ที่เคยคาดหวังจะได้ผลประโยชน์และสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรจากข้อตกลงนี้


100 วันแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์?

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะนำความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่มาสู่สหรัฐฯ และเริ่มต้นกระบวนการ “ระบายน้ำเน่า” ของแวดวงการเมืองอเมริกัน ตั้งแต่ช่วง 100 วันแรก ของการรับหน้าที่เป็นประธานาธิบดี

มหาเศรษฐีที่สร้างตัวเองขึ้นจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และรายการเรียลิตี้โชว์ ผู้ซึ่งไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อนให้สัญญาว่าชาวอเมริกันจะได้เห็น “ความเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นนับตั้งแต่วันแรกที่อยู่ในตำแหน่ง”

ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 จากพรรครีพับลิกันผู้นี้ ได้กล่าวแจกแจงแผนการในช่วง 100 วันแรกของการเข้าครองอำนาจในทำเนียบขาว ภายใต้แนวคิดหลักที่จะ“ทำให้อเมริกันยิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Make America Great Again)ตามคำขวัญหลักในการหาเสียงของเขา

สำหรับ ทรัมป์ หนึ่งในคำมั่นสัญญาที่เขาบอกว่าจะทำในวันแรกๆ ของการขึ้นเป็นประธานาธิบดี ได้แก่ การเปิดเจรจาใหม่เกี่ยวกับเงื่อนไขในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ซึ่งสหรัฐฯ ทำกับแคนาดาและเม็กซิโกตั้งแต่ยุคบิล คลินตัน และการประกาศถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งชาติสมาชิกส่วนใหญ่ ยังอยู่ในขั้นตอนรอให้รัฐสภาของแต่ละชาติให้สัตยาบันรับรอง ถึงจะมีผลบังคับใช้

ทรัมป์ประกาศจะยกเลิกข้อจำกัดในการผลิต “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน, การเปิดตัวโครงการท่อส่งน้ำมันสาย “คีย์สโตน เอ็กซ์แอล” ขึ้นใหม่หลังถูกประธานาธิบดีโอบามาระงับ และรวมทั้ง การยกเลิกคำมั่นสัญญาจ่ายเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ในโครงการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ ตลอดจนการยกเลิกทุกคำสั่งบริหารของโอบามาที่เขาระบุว่าขัดรัฐธรรมนูญ

สัญญาอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ทรัมป์ ประกาศกวาดล้างการทุจริตเชิงนโยบายในแวดวงการเมืองอเมริกันผ่านการกลไกการ“จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง” ของสมาชิกรัฐสภาและห้ามสมาชิกรัฐสภาตลอดจนเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวไปเป็น “นักล็อบบี้” ในช่วง 5 ปี หลังพ้นตำแหน่งทางการเมือง


“ทรัมป์” ส่อฟื้นสัมพันธ์รัสเซีย ทิ้งชาติพันธมิตร “หนาวจับจิต” หวั่นถูกลอยแพ

สำนักข่าวรอยเตอร์นำเสนอบทวิเคราะห์ล่าสุดในวันพุธ (9 พ.ย.) โดยระบุว่า ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ อาจพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย, ทอดทิ้งพันธมิตรเก่าแก่ทั้งในยุโรป และเอเชีย หากไม่ยอมจ่ายมากขึ้นในด้านการป้องกันประเทศ ท่ามกลางข้อกังขาที่ว่าว่าที่ประมุขคนใหม่แห่งทำเนียบขาวเป็นผู้ที่คาดเดาได้ยากยิ่งนัก

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌ็อง-มาร์ก อายโรลต์ ได้ลั่นวาจาจะร่วมทำงานกับทรัมป์แต่ก็กล่าวว่า บุคลิกส่วนตัวของทรัมป์ “อาจทำให้เกิดปัญหา” นอกจากนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าชัยชนะของทรัมป์จะหมายถึงการท้าทายเกี่ยวกับนโยบายหลักต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือปัญหาโลกร้อน และกรณีนิวเคลียร์ระหว่างชาติตะวันตก กับอิหร่าน จนถึงสงครามกลางเมืองในซีเรีย

ทรัมป์ซึ่งไม่มีประสบการณ์ทั้งด้านการต่างประเทศ และการทหาร กำลังจะต้องเผชิญกับความไม่เป็นเอกภาพในระดับชาติ หรือแม้กระทั่งในพรรครีพับลิกันด้วยกันเองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับสงครามซีเรีย, กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส), การเติบใหญ่ของจีน และการที่รัสเซียกำลังมีบทบาทโดดเด่น

“นี่ไม่ต่างกับดินแดนที่เราไม่รู้อะไรเลย อันตรายใหญ่หลวงที่สุดในการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ ก็คือ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และความรู้สึกขาดความมีเสถียรภาพ ไม่ว่าในบรรดาพันธมิตรของเรา รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามกับเราด้วย” อารอน เดวิด มิลเลอร์ ผู้เจรจาปัญหาตะวันออกกลางที่เคยร่วมงานกับประธานาธิบดีหลายคน ทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตกล่าว โดยปัจจุบันเขาทำงานที่ศูนย์นักวิชาการวูดโรว์ วิลสัน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ด้าน เจมส์ ด็อบบินส์ อดีตนักการทูตสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาด้านนโยบายอย่างแรนด์คอร์ปกล่าวว่าเขาไม่แปลกใจที่จะได้เห็นการรีเซตสัมพันธ์สหรัฐฯ กับรัสเซียใหม่ แต่สำหรับจีนแล้ว ทรัมป์ แสดงความก้าวร้าวมากกว่า โดยบอกว่า จะตีตราแดนมังกรเป็นประเทศผู้ “ปั่นค่าเงินตรา” และขู่จะใช้มาตรการภาษีต่อสินค้าจีน

สำหรับทางยุโรป ทรัมป์ได้เสนอความคิดที่จะละทิ้งนโยบายร่วมป้องกันของนาโต โดยกล่าวว่า สหรัฐฯ จะช่วยเหลือในการป้องกันสมาชิก เช่น รัฐบอลติก โดยมีข้อแม้ว่าประเทศเหล่านั้นต้องบรรลุพันธกิจที่มีต่อสหรัฐฯ เช่นกัน

เมื่อถูกถามในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเกี่ยวกับว่า เขาจะคัดค้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หรือไม่ ทรัมป์เผยต่อนิวยอร์กไทม์สว่าอาจมีสักวันที่สหรัฐฯ ไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้เช่นในอดีต และพวกเขาอาจจำเป็นจะต้องพัฒนาอาวุธของตัวเอง

กรณีตัวอย่างข้างต้นล้วนขัดต่อหลักการในนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ยึดถือมายาวนานหลายทศวรรษ นั่นคือ การโจมตีสมาชิกนาโตชาติใดชาติหนึ่ง ถือเป็นการโจมตีทั้งกลุ่ม และการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยง

ขณะที่จอน อัลท์แมน หัวหน้าโครงการตะวันออกกลางแห่งศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า การมีแนวโน้มที่ปล่อยให้ชาติต่างๆ ต้องคาดเดาเอาเองอยู่ตลอดเวลานั้นจะเป็นสาเหตุความไร้เสถียรภาพในตัวเอง และจะถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดสำหรับเวทีระหว่างประเทศในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์


ทำความรู้จัก “เมลาเนีย ทรัมป์” ว่าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนใหม่

หลังชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้คนทั่วโลกยังพากันจับจ้องไปที่ว่าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนต่อไปที่จะก้าวขึ้นเป็น “นายหญิงแห่งทำเนียบขาว”อย่าง เมลาเนีย ทรัมป์ อดีตนางแบบสาวชาวสโลวีเนีย ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 46 ปี

เมลาเนีย ถือเป็นภรรยาคนที่ 3 ของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยทั้งคู่พบกันครั้งแรกภายในงานปาร์ตี้ที่ย่านแมนฮัตตันขณะที่เธอมีอายุ 28 ปี ก่อนที่ทั้งคู่จะตกลงเข้าสู่ประตูวิวาห์กันในปี 2005 จากนั้นในปีถัดมาเธอได้ให้กำเนิดลูกชาย คือ บาร์รอน ทรัมป์ และยังช่วยเลี้ยงดูลูกอีก 4 คนของทรัมป์ที่เกิดกับอดีตภรรยา 2 คนก่อนหน้านี้ด้วย

ข้อมูลระบุว่า เมลาเนีย ทรัมป์ สามารถสื่อสารได้ถึง 5 ภาษา คือ ภาษาสโลวีเนีย, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมัน และเซอร์เบีย ซึ่งหลังจากที่สามีอย่างทรัมป์ได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีเมืองลุงแซมจะส่งผลให้เมลาเนียกลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของสหรัฐฯ ที่เกิดในดินแดนที่เคยปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ และถือเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งอเมริกันรายที่ 2 ซึ่งมีพื้นเพจากต่างประเทศ ต่อจากนางลุยซา อดัมส์ ภรรยาชาวอังกฤษของประธานาธิบดีจอห์น ควินซี อดัมส์ ที่เป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของสหรัฐฯ ที่ครองอำนาจในระหว่างปี ค.ศ. 1825-1829

สื่อบางสำนักคาดหมายว่า เมลาเนีย ทรัมป์จะกลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ที่โด่งดังไม่แพ้ แจ็กกี เคนเนดี ภรรยาของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ส่วนจะกลายเป็นความจริงหรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ทุกท่านต้องติดตามกันต่อไป




รู้หรือไม่?

- โดนัลด์ ทรัมป์ มีชื่อเต็มว่า โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์กิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946 ที่ย่านควีนส์ในมหานครนิวยอร์ก เขาเป็นลูกคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คนของเฟรด ทรัมป์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งนิวยอร์กซึ่งมีเชื้อสายเยอรมัน กับแมรี แม็กคลาวด์ ทรัมป์ ญิงสาวจากแคว้นสกอตแลนด์ ดังนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงได้ชื่อว่าเป็น “ลูกครึ่งเยอรมัน-สกอตติช”

- ในบรรดาพี่น้องของทรัมป์ทั้ง 5 นั้น ปัจจุบันยังมี 3 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ แมรีแอนน์, เอลิซาเบ็ธ และโรเบิร์ต ทรัมป์ โดยที่ในจำนวนนี้มีเพียงคนเดียวที่ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคม คือ แมรีแอนน์ ทรัมป์ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 79 ปี และได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ให้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาประจำศาลแขวงนิวเจอร์ซีย์ในระหว่างปี 1983-1999


- เฟรด ทรัมป์ จูเนียร์ พี่ชายของทรัมป์เสียชีวิตเมื่อปี 1981 จากอาการเจ็บป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งนั่นกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท รวมถึงไม่สูบบุหรี่

- โดนัลด์ ทรัมป์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จาก Wharton School of the University of Pennsylvania เมื่อปี 1968 ก่อนจะเข้ารับสืบทอดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างของบิดาในปี 1971 โดยทรัมป์ได้เปลี่ยนชื่อธุรกิจของครอบครัวใหม่เป็น “The Trump Organization” ซึ่งในปัจจุบันครอบครองตึกสูงระฟ้านับสิบแห่งทั้งในสหรัฐฯ แคนาดา อิสราเอล อินเดีย ฟิลิปปินส์ ตุรกี ปานามา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ เม็กซิโก และสาธารณรัฐโดมินิกัน, ธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งในรูปของบ้านพักและคอนโดมิเนียม รวมถึงโรงแรม, ธุรกิจสนามกอล์ฟอย่างน้อย 18 แห่งทั้งในสหรัฐอเมริกา สกอตแลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ไร่องุ่นและโรงงานผลิตไวน์ในมลรัฐเวอร์จิเนีย, เจ้าของกิจการลานสเกตน้ำแข็งในมหานครนิวยอร์ก, ธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์และเจ้าของลิขสิทธิ์การประกวดนางงามหลายเวที, การลงทุนในหุ้น ฯลฯ

- โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดประกวดนางงามหลายเวที โดยเฉพาะการประกวด “Miss USA” ที่เขาถือลิขสิทธิ์แบบผูกขาดในระหว่างปี 1996-2015

- ทรัมป์ทำหน้าที่พิธีกร และโปรดิวเซอร์ร่วมของรายการเรียลิตี้ชื่อดัง The Apprentice ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีในระหว่างปี 2004-2015

- ในปีนี้ (2016) นิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับให้ทรัมป์เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยเป็นลำดับที่ 324 ของโลก และลำดับที่ 156 ของสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 3,700 ล้านดอลลาร์

- ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยผ่านการสมรสมาแล้วกับ อิวานา มารี เซลนิคโควา อดีตนางแบบชาวเช็ก เมื่อปี 1977 ก่อนจะหย่าขาดจากกันในปี 1991 จากนั้นทรัมป์ได้พบรักและแต่งงานเป็นครั้งที่ 2 กับ มาร์ลา แอนน์ เมเปิลส์ นักแสดงและพิธีกรสาวชาวอเมริกันเมื่อปี 1993 แต่ชีวิตรักต้องจบด้วยการหย่าร้างเป็นครั้งที่ 2 ในปี 1999 ก่อนจะแต่งงานครั้งที่ 3 กับเมลาเนีย คเนาส์ นางแบบสาวชาวสโลวีเนียเมื่อปี 2005

- ทรัมป์มีเอกลักษณ์ที่คุ้นตาในเรื่องทรงผม ถึงขั้นมีผู้จัดทำเว็บไซต์ http://www.trumpshair.com/ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทรงผมของเขาโดยเฉพาะ

- ปัจจุบัน ทรัมป์ประกาศยกกิจการทั้งหมดในเครือ The Trump Organization ให้กับบุตรทั้ง 3 คนที่เกิดกับภรรยาคนแรกเป็นผู้ดูแล ประกอบด้วย โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ จูเนียร์ ลูกชายคนโตวัย 38 ปี , อิวังกา ทรัมป์ บุตรสาววัย 35 ปีซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจโรงแรม และเอริค ทรัมป์ วัย 32 ปี ซึ่งเป็นผู้ดูแลธุรกิจการปลูกและผลิตไวน์ของครอบครัว ร่วมกับการบริหารสนามกอล์ฟของครอบครัวอีก 18 แห่ง

- ทรัมป์มีบุตรสาวอีก 1 คนคือ ทิฟฟานี อาเรียนา ทรัมป์ วัย 23 ปี ซึ่งเกิดกับภรรยาคนที่สอง คือ มาร์ลา แอนน์ เมเปิลส์ โดยบัณฑิตสาวจาก University of Pennsylvania รายนี้ มีชื่อเสียงในฐานะ “เน็ตไอดอล” ที่มีผลงานด้านดนตรีและแฟชั่นออกมาเป็นระยะ

- บาร์รอน ทรัมป์ วัย 10 ปี เป็นบุตรชายคนสุดท้อง และเป็นบุตรคนเดียวที่เกิดกับภรรยาคนปัจจุบัน นั่นคือ เมลาเนีย ว่าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯคนต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น