xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus:เลือกตั้งจบ แต่ วุ่นไม่จบ” กองทัพคนดัง-ปชช.แห่ต้านทรัมป์ “ของขวัญรับน้องใหม่” ผู้นำมะกันเบอร์ 45

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ปิดฉากกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมืองลุงแซมที่เมื่อ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นของอเมริกา ที่จบลงด้วยชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีฝีปากกล้าจากนิวยอร์กผู้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ที่เข้าป้ายเฉือนชนะฮิลลารี คลินตัน จากฟากฝั่งเดโมแครต ในแบบที่ทำเอาทั่วทั้งโลกตกตะลึงไปหลายชั่วยาม


ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ออกมาระบุว่า ทรัมป์ ได้คะแนน “Popular vote”หรือคะแนนโหวตจากเสียงจริงของประชาชน 59.1 ล้านเสียง น้อยกว่าฮิลลารี คลินตันที่ได้ 59.29 ล้านเสียง แต่ทรัมป์กลับเป็นฝ่ายเข้าป้ายได้ตั๋วสู่ทำเนียบขาวแบบหน้าตาเฉยด้วยข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญอเมริกันที่ระบุ ให้ยึดถือคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ที่มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 538 คนซึ่งมาจากตัวแทนตามจำนวนเขตการปกครอง 438 คนบวกกับวุฒิสภา 100 คน



ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเมื่อ 8 พ.ย.ส่งผลให้ ทรัมป์ซึ่งคว้าคะแนนคณะผู้เลือกตั้งมาครองได้ถึง 276 เสียง (ฮิลลารีได้ 218 เสียง) ทรัมป์เลยได้กลายเป็น “ว่าที่”ประธานาธิบดีคนใหม่ และจะได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันภายหลังการเข้าทำพิธีสาบานตน วันที่ 20 มกราคม ปี 2017

อย่างไรก็ดี หนทางสู่ทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้เขาจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฏหมายเนื่องจากชัยชนะของทรัมป์ได้จุดกระแสความไม่พอใจ ของชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะบรรดาผู้สนับสนุนของ ฮิลลารี คลินตัน ที่ต่างออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในหลายเมืองใหญ่ทั่วอเมริกา แสดงพลังเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฏกติกาการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ผู้ชนะคะแนน Popular vote ต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายได้เข้าสู่ทำเนียบขาวแทน

โดยกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากต่างพากันเดินชูป้าย ที่มีเนื้อหาว่า “ทรัมป์มิใช่ประธานาธิบดีของฉัน” (NOT MY PRESIDENT) และอีกหลากหลายข้อความ ที่มีเนื้อหาชี้ให้เห็นถึง “รูโหว่ของประชาธิปไตยสไตล์อเมริกัน” ที่มองข้ามความสำคัญของเสียงโหวตจากประชาชนที่สมควรจะถือเป็น “เสียงสวรรค์” ในการตัดสินผลการเลือกตั้ง แทนที่จะเป็นการปล่อยให้ผู้แพ้คะแนน Popular vote เป็นฝ่ายชนะแบบค้านสายตาเฉกเช่นเดียวกับการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯสุดอื้อฉาวอีก 4 ครั้งในปีค.ศ.1824 , 1876, 1888, และการเลือกตั้งเมื่อปี 2000



***พบหลักฐาน “จอร์จ โซรอส” ทุ่มเงินอัดฉีด “ม็อบต้านทรัมป์”

แต่ไหนแต่ไรมา เป็นที่ทราบกันดีว่า “พ่อมดการเงินชื่อดัง” ในวัยไม้ใกล้ฝั่ง 86 กะรัตอย่างจอร์จ โซรอส เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตและเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของพรรคการเมืองนี้มายาวนาน

แต่ “ชื่อเสีย” ของโซรอสที่ร่ำรวยมาจากการปลุกปั่นและระดมโจมตีค่าเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเงินบาทของไทย ได้รับการตอกย้ำให้เห็นชัดและลึกมากยิ่งกว่าครั้งใดๆ เพราะมีการเปิดเผยหลักฐานที่ชี้ว่า นักลงทุนหน้าเลือดเชื้อสายยิว-ฮังกาเรียน แต่ถือสัญชาติอเมริกันผู้นี้ อัดฉีดเงินก้อนโตซึ่งไม่มีการเปิดเผยจำนวนที่แน่ชัดให้แก่สมาชิก “ม็อบจัดตั้ง” ออกไปแฝงตัวปะปนกับประชาชนที่ออกมาเดินขบวนต้านทรัมป์-คัดค้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคราวนี้


สื่อหลายสำนักรวมถึงสำนักข่าวสปุตนิกนิวส์ของรัสเซีย แฉหลักฐานเด็ดว่า เว็บไซต์ “MoveOn.org” ที่ได้รับเงินสนับสนุน จากมูลนิธิ Open Society Foundations ของโซรอส อยู่เบื้องหลัง “ม็อบจัดตั้งเพื่อต้านทรัมป์” ในหลายเมืองทั่วอเมริกา ซึ่งในจำนวนม็อบแอบแฝงเหล่านี้ มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ได้รับ “ไฟเขียว” จากโซรอสให้ก่อความรุนแรง เพื่อโหมสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศให้ลุกลาม หวังสร้างแรงกดดันแก่ทรัมป์ ให้ต้องยอมถอนตัวจากเส้นทางสู่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า


***กองทัพศิลปินตบเท้าแสดงพลังต้านทรัมป์ “เลดี้กาก้า-มาดอนนา-อาร์โนลด์” นำทัพ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสนามประท้วงต่อต้านทรัมป์ที่มีสีสันมากที่สุด นั่นคือ การประท้วงที่เกิดขึ้นภายในมหานครนิวยอร์กซึ่งเป็นที่มั่นของทรัมป์เอง สาเหตุของความมีสีสันก็คงหนีไม่พ้นการปรากฏตัวท่ามกลางฝูงชน ของเหล่าดารา-ศิลปินตัวเป็นๆ จากทั่วฟ้าฮอลลีวูดที่แห่กันออกสื่อต่อต้านว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เว้นแต่ละวัน

ในบรรดาศิลปินที่ถูกยกให้เป็นโต้โผใหญ่ แห่งแคมเปญต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ในคราวนี้ทั้งการร่วมเดินขบวนและการปลุกระดมผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย มีชื่อของสองนักร้องสาว ”เลดี้ กาก้า” กับ “มาดอนนา” รวมถึงพระเอกคนเหล็กอย่าง “อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์” รวมอยู่ด้วย

โดยเฉพาะในกรณีของเลดี้ กาก้า ที่ร่วมเคลื่อนไหวให้ประชาชนชาวอเมริกัน จำนวนหลายล้านคนมาร่วมลงรายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อร้องต่อคณะผู้เลือกตั้งอเมริกา (the Electoral College) ให้ลงคะแนนในวันที่ 19 ธ.ค สำหรับการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปลี่ยนใจให้เลือกฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต เป็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ แทน ทรัมป์ โดยที่ล่าสุดพบว่า ผู้ร่วมลงชื่อในเว็บนี้ได้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนมีมากกว่า 380,000 คนไปแล้ว แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่จะทำให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปได้ ที่ 4.5 ล้านคน
นอกเหนือจาก 3 รายชื่อข้างต้นแล้ว กองทัพบุคลากรฮอลลีวูด ที่แสดงจุดยืนต้านทรัมป์ผ่านช่องทางอื่นๆ ซึ่งรวมถึงทวิตเตอร์และอินสตาแกรม ยังมีชื่อของมาร์ค รัฟฟาโล , ทาราน คิลแลม , จอช ฮัตเชอร์สัน , โรเบิร์ต เดอ นีโร , เคตี้ เพอร์รี ฯลฯ รวมอยู่ด้วย


***ทรัมป์อาจไม่ย้ายเข้าอยู่ทำเนียบขาว “ฝันร้าย” แห่งการรักษาความปลอดภัย
แน่นอนว่า ทำเนียบขาวถือเป็นที่ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกือบทุกยุคทุกสมัยต้องใช้เป็นทั้งบ้าน+ที่ทำงาน แต่มันจะเกิดอะไรขึ้น หากประธานาธิบดีคนต่อไปที่มีชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์จะไม่ขอเก็บประเป๋าย้ายเข้าไปพักอาศัย ในทำเนียบขาวแห่งนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า ทั้งตัวเขาและครอบครัว จะใช้อาคารสูงนามว่า “ทรัมป์ทาวเวอร์” ในมหานครนิวยอร์ก เป็นทั้งบ้านและศูนย์บัญชาการหลักในการบริหารบ้านเมือง


โจนาธาน แวคโครว์ อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจลับสหรัฐฯ ได้ให้ความเห็นว่า การอารักขาความปลอดภัยแก่“ทรัมป์ ทาวเวอร์” ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางนิวยอร์ก จะสร้างผลกระทบใหญ่หลวงกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยในมหานครแห่งนี้ ซึ่งในเวลานี้เริ่มพบปัญหาที่น่าหงุดหงิดแล้วว่า ชาวนิวยอร์กโดยรอบ ต้องถูกจำกัดการห้ามเข้าบริเวณทางเท้าติดกับตัวอาคารแห่งนี้ ท่ามกลางกำลังตำรวจ-ทหาร- สุนัขดมกลิ่นอีกนับไม่ถ้วน ที่ต้องถูกส่งเข้ามาในพื้นที่ ยังไม่นับรวมกับความเป็นไปได้ที่จะมีการประกาศใช้ “เขตห้ามบิน” เหนือตึกทรัมป์ ทาวเวอร์และอีกหลายช่วงตึกโดยรอบ


โดยล่าสุดสื่อสหรัฐฯชี้ว่า แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ภายในกรมตำรวจนิวยอร์ก (NYPD) ประเมินว่าต้องมีตัวเลขค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับการรักษาความปลอดภัยอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ โดยตัวเลขงบประมาณที่ว่านี้ อาจสูงลิ่วถึงหลายสิบล้านดอลลาร์








***เหยื่อกาม “ทรัมป์” เผยยังไม่คิดดำเนินคดี เว้นแต่จะถูกฟ้องก่อน
หนึ่งในสตรีที่ออกมาอ้างว่าเคยถูก โดนัลด์ ทรัมป์ ล่วงละเมิดทางเพศ ระบุ เธอจะฟ้องร้องเอาผิดเขาก็ต่อเมื่อถูกเขาใช้กฎหมายเล่นงานก่อนเท่านั้น

“เวลานี้เขาเป็นจอมข่มขู่เบอร์หนึ่งของโลก เขายังไม่เลิกขู่ฟ้องร้องฉันและคนอื่นที่เปิดโปงพฤติกรรมของเขา” ซัมเนอร์ เซอร์วอส อดีตผู้แข่งขันรายการเรียลิตีโชว์ “The Apprentice” ซึ่ง ทรัมป์ รับหน้าที่พิธีกร แถลงต่อสื่อมวลชนในสัปดาห์นี้

ขณะที่กลอเรีย ออลเรด ซึ่งเป็นทนายความของ เซอร์วอสระบุลูกความของเธอยังไม่มีแผนที่จะดำเนินคดีกับ ทรัมป์ แต่หาก ทรัมป์ ฟ้องบรรดาผู้หญิงที่ออกมาอ้างว่าถูกเขาล่วงละเมิดทางเพศ จุดยืนนี้ก็อาจเปลี่ยนไป พร้อมเรียกร้องให้ทรัมป์ ถอนคำพูดที่เคยกล่าวหาลูกความของเธอเป็นพวก “ลวงโลก”


เมื่อต้นเดือนนี้ เซอร์วอส ได้อ้างว่าถูกทรัมป์ล่วงละเมิดทางเพศ ขณะที่เข้าไปพูดคุยเรื่องโอกาสในการทำงานกับเขาที่โรงแรม เบเวอร์ลีย์ ฮิลล์ส ในนครลอสแองเลจิส เมื่อปี 2007 โดยระบุทรัมป์รุกเข้าหาเธออย่างก้าวร้าวและยังจับหน้าอกเธอด้วย โดยที่เธอไม่ยินยอมพร้อมใจ


เซอร์วอส และผู้หญิงอีกหลายคน ได้ออกมาเปิดเผยประสบการณ์ของตนเอง หลังจากที่มีการแพร่คลิปวิดีโอเมื่อปี 2005 ซึ่งทรัมป์ได้พูดโอ้อวดเกี่ยวกับการจับของสงวนผู้หญิงโดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจ

ที่ผ่านมาทรัมป์อ้างว่าคลิปวิดีโอนี้เป็น“มุกตลกในห้องแต่งตัว” พร้อมวิจารณ์ผู้หญิงที่ออกมากล่าวหาเขาว่า เป็นพวกโกหก และขู่จะดำเนินคดีต่อพวกเธออย่างถึงที่สุด


***จับตาใครนั่งเก้าอี้สำคัญ ใน “รัฐบาลทรัมป์ 1”

หัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาว (White House Chief of Staff) –ไรน์ซ พรีบัส อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติของพรรครีพับลิกัน ได้รับการคัดเลือกจากว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้เข้ามารับหน้าที่ “พ่อบ้านใหญ่” แห่งทำเนียบขาวคนต่อไป


หัวหน้าทีมวางแผนยุทธศาสตร์ – สตีเฟน เค. แบนนอน อดีตผู้บริหารสื่อมวลชนฝ่ายขวา ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งประสบความสำเร็จด้วยดีกับการรับหน้าที่ประธานดูแลแคมเปญหาเสียงของทรัมป์

รัฐมนตรีต่างประเทศ (Secretary of State) – รายงานข่าวของนิวยอร์กไทม์สระบุ ทรัมป์จะตัดสินใจเลือก 1 ใน 6 บุคคลต่อไปนี้เข้ารับตำแหน่งอันมีความสำคัญยิ่งตำแหน่งนี้ ประกอบด้วย จอห์น อาร์. โบลตัน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำองค์การสหประชาชาติสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช , โรเบิร์ต คอร์เกอร์ วุฒิสมาชิกมลรัฐเทนเนสซีและประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศของสภาซีเนท , นิวต์ กิงกริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ, รูดอล์ฟ จูลิอานี อดีตนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก , ซัลมาย คาลิลซาด อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอัฟกานิสถาน , สแตนลีย์ เอ. แม็คคริสตัล อดีตผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯในสงครามอัฟกานิสถาน



รัฐมนตรีคลัง (Treasury Secretary) – รายงานข่าวจากสื่อหลายสำนักระบุ ทรัมป์มี 4 ตัวเลือกที่อยู่ในใจสำหรับตำแหน่งสำคัญที่จะเข้ามากำกับดูแลเศรษฐกิจของประเทศระหว่าง ทิม พอว์เลนตี อดีตผู้ว่าการมลรัฐมินนีโซตา , สตีเวน นูชิน อดีตผู้บริหารโกลด์แมน แซคส์และเป็นผู้วางแผนทางการเงินให้กับทรัมป์ตลอดแคมเปญหาเสียงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯที่ผ่านมา , เจบ เฮนซาร์ลิง ประธานคณะกรรมาธิการการคลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากมลรัฐเทกซัส และโธมัส บาร์แรค จูเนียร์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัทด้านการลงทุน Colony Capital

รัฐมนตรีกลาโหม (Defense Secretary) – สำหรับตำแหน่งสำคัญซึ่งจะต้องดูแลปัญหาความขัดแย้งในอิรักและซีเรีย รวมถึงรับมือภัยคุกคามจากกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) นี้ แหล่งข่าววงในเผย ทรัมป์อาจเลือกระหว่าง ทอม คอตตอน ส.ว. จากมลรัฐอาร์คันซอส์ ที่เคยรับราชการในกองทัพบกสหรัฐฯและเคยรบในสงครามอิรักกับอัฟกานิสถาน หรือดันแคน ฮันเตอร์ ส.ส.จากแคลิฟอร์เนียที่เคยเป็นนาวิกโยธินในสงครามอิรักกับอัฟกานิสถาน (อาจมีตัวเลือกใหม่ที่พลิกโผ)

รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Secretary)- รายงานข่าวระบุ รูดอล์ฟ จูลิอานี อดีตนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์กที่อาจพลาดหวังจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ อาจได้นั่งในตำแหน่งนี้ แต่ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างโจ อาร์ปายโอ อดีตนายอำเภอคนดังแห่งเขตปกครองมาริโกปา เคาน์ตีในมลรัฐแอริโซนา , เดวิด เอ. คลาร์ก จูเนียร์ นายอำเภอสายแข็งจากเขตมิลวอกี เคาน์ตี้ รวมถึง ไมเคิล แม็คคอล ส.ส. มลรัฐเทกซัส และประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ (U.N. Ambassador) – แหล่งข่าวใกล้ชิดคาด เป็นการขับเคี่ยวระหว่าง 2 ตัวเลือก คือ เคลลี อาย็อตตี อดีตวุฒิสมาชิกจากนิวแฮมป์เชียร์ และริชาร์ด เกรเนลล์ อดีตโฆษกประจำตัวทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (C.I.A. Director) – นิวยอร์กไทม์สระบุ 3 ตัวเต็งในใจทรัมป์สำหรับเก้าอี้อันทรงอิทธิพลนี้ประกอบด้วยโรนัลด์ แอล. เบอร์เจสส์ จูเนียร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองทางกลาโหม และอดีตนายพลแห่งกองทัพสหรัฐฯ , ปีเตอร์ โฮคสตรา อดีตประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และฟรานเซส ทาวน์เซนด์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช


กำลังโหลดความคิดเห็น