xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่องกรณีศึกษา ทางรอด-ทางเลือก..ขายข้าวออนไลน์ ปีเดียวคืนทุน!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปฏิเสธกันไม่ได้ว่า รากเหง้าวิกฤตราคาข้าว เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ยุคจำนำข้าวตันละหมื่นห้า ทำให้โครงสร้างพันธุ์ข้าวไทย เปลี่ยนทั้งระบบ..ชาวนาส่วนใหญ่หันมาปลูก “ข้าวเบา” แบบปลูก 3-4 เดือนเกี่ยวขายกันเป็นส่วนใหญ่ จากเดิมที่มีแต่นาปี-นาปรัง

เมื่อหมดยุคจำนำข้าว ... ราคาข้าวทุกประเภทร่วงเหลือเกวียนละ 5-6 พันบาทเศษ ตั้งแต่บัดนั้น จนถึงบัดนี้..

หลากทางเลือกสู้วิกฤตชาวนาไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายภาคส่วนสนับสนุนชาวนาไทย “ทำเอง-สีเอง-กินเอง-ขายเอง” ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะการขายข้าวออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก-แอพพลิเคชั่นไลน์-IG-เว็บไซต์ ฯลฯ เช่น นายเมธา ขอชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สะกาด อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ได้เร่งระดมความคิดเห็นจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และคนหนุ่ม คนสาวในพื้นที่ เพื่อหาทางออกเป็นทางเลือก และทางรอด ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

กระทั่งได้ข้อสรุปว่า “งดขายข้าวเปลือก” ให้กับโรงสีข้าวหรือพ่อค้าคนกลาง หันมาลงหุ้นรวมกลุ่มกันสีข้าวจากโรงสีชุมชนขนาดกลาง และนำไปขายกันเอง เป็นข้าวถุงขนาด 5 กิโลกรัม (ก.ก.) และขนาด 48 กก. ใช้ชื่อว่า “สะกาด ขวัญข้าว” สนับสนุนชาวนาโดยองค์การบริหารส่วนตำบลสะกาด อ.สังขะ จ.สุรินทร์ สามารถสั่งซื้อ-ติดต่อได้ที่นายเมธา ขอชัย ปลัด อบต.สะกาด 098-121-8398 หรือคุณน้อง 093-4545-979,096-416-9165

นายเมธา กล่าวว่า หลังชุมชนเราเกี่ยวข้าวเสร็จ จะมีการคัดคุณภาพ เอามาสีเป็นข้าวสาร บรรจุหีบห่อแล้วส่งไปขายตามท้องตลาด อาจไปวางฝากขายไว้ตามร้านค้า หรือให้นักธุรกิจคลองถม ขนไปขายที่พัทยา จ.ชลบุรี ทำให้สามารถระบายข้าวได้มากขึ้น ราคาข้าวเปลือกที่ชาวบ้านขายกันในขณะนี้ ราคากิโลกรัมละ 6 -8 บาท จะได้เพิ่มเป็น กิโลกรัมละ 12-13 บาท

“ทุกอย่างชาวนาทุกคนเป็นคนตัดสินใจเอง เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ได้เอง ผมมีหน้าที่แค่ผลักดันแนวคิดนี้เท่านั้น”

ขณะที่ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ต.ตาอ็อง อ.เมืองสุรินทร์ ก็ได้ส่งเสริมสมาชิกผลิตข้าวพันธุ์ จำนวน 42 ราย มีพื้นที่ปลูกกว่า 450 ไร่ หันมาปลูกข้าวขายเมล็ดพันธุ์ ได้ราคาอย่างต่ำกิโลกรัมละ 20-25 บาท หรือตันละ 20,000-25,000 บาท หักส่วนแบ่งเข้าศูนย์ กก.ละ 2 บาท เท่ากับว่าเกษตรกรจะขายพันธุ์ข้าวได้ กก.ละ 18-23 บาท

และแม้ว่า ข้าวไม่ผ่านการคัดเลือกได้เป็นเมล็ดพันธุ์ ก็ยังถือเป็นข้าวเปลือกคุณภาพ ซึ่งในปีที่แล้วขายได้ราคา 10-12 บาท ปีนี้ขายได้กิโลกรัมละ 8 บาท แต่ก็ยังสูงกว่าราคาท้องตลาดที่อยู่ในระดับ 5-6 บาท/กก.

ด้านเกษตรกรต้นแบบอย่าง นายวินิจ ถิตย์ผาด อดีตเกษตรอำเภอ ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว ทำ สวนจารุวรรณ หมู่ 8 ต.ภูปอ อ.เมืองกาฬสินธุ์ เนื้อที่ 84 ไร่ แบ่งพื้นที่ให้เป็นป่า ที่เหลือปลูกทั้งพืชสวน พืชไร่ นาข้าวปลอดสารเคมี ได้รับมาตรฐานออแกนิกไทยแลนด์ และเป็นพ่อค้าขายข้าวที่แพ็คถุงจำหน่ายกันเอง ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวดำ ข้าวมะลิดำ ข้าวมะลิแดง และข้าวเหนียวก่ำ

นายวินิจ เล่าว่า โดยส่วนตัวแล้วได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ในหลวง ร.๙ มาใช้ในชีวิตประจำวันตั้งนานแล้ว เลือกที่จะอยู่อย่างพอเพียงพึ่งพาตนเอง โดยนาข้าวที่ทำแต่ละปีจะปลูกข้าวแค่ 10 ไร่ จากพื้นที่ 84 ไร่ เพราะที่นี่ต้องแบ่งเป็นพื้นที่ป่า พืชผลอื่นๆ 10 ไร่ นาข้าวก็จะปลูกข้าว 2 ครั้งทั้งนาปรังและนาปี แม้ว่าจะอยู่ที่สูงแห้งแล้งแต่สามารถทำนาข้าวได้ผลผลิตดี

“ตอนนี้นาข้าวที่สวนจารุวรรณปลูกข้าวแต่ละชนิดเฉลี่ยที่ 440-550 กก.ต่อไร่ ตามแต่ละประเภทข้าว เหลือก็นำออกจำหน่าย โดยมีเครือข่ายออร์แกนิกไทยแลนด์ ที่เป็นกลุ่มนาข้าวคุณภาพร่วมจำหน่าย ซึ่งเวลานี้สวนจารุวรรณเป็นทั้งต้นน้ำ คือ ผู้ผลิต ปลายน้ำ ก็คือผู้ขาย-ผู้จำหน่าย”

นายวินิจ เปิดเผยอีกว่า สวนจารุวรรณนอกเหนือจะผลิตข้าวขายเองแล้ว ยังรับซื้อข้าวเปลือกของเครือข่ายออร์แกนิกไทยแลนด์ในพื้นที่ใกล้เคียงกันด้วย โดยรับซื้อที่ กก.ละ 22-25 บาท มีเครื่องสีขนาดครัวเรือนสีข้าว คัดแยกกาก และทำแพกเกจบรรจุภัณฑ์ด้วยตนเอง เป็นธุรกิจครอบครัวที่มีการจำหน่ายข้าวอยู่ที่เดือนละ 300-500 กก.ต่อเดือน ส่วนข้าวที่จำหน่ายเริ่มต้นที่ 60-120 บาท

ทางด้านเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอย่างพิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายแบบหลวมๆในนาม “กลุ่มชาวนาพาสุข” ปลูกข้าวปลอดสารในพื้นที่รวมประมาณ 1,500 ไร่ มาต่อเนื่องหลายปี

นายชัชชนะ ปรารถนารักษ์ อายุ 47 ปี เป็นชาวนา อยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ 6 ตำบลบ้านบุ่ง อ.เมืองพิจิตร หนึ่งในเครือข่ายฯ ซึ่งทำนาข้าวอินทรีย์ 50 ไร่ ไม่ใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลง แต่ทำน้ำหมักชีวภาพจากพืชสมุนไพรเป็นสารไล่แมลง บอกว่า ตนทำนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งผืนนาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี 25 ไร่ ข้าวหอมนิล 5 ไร่ ปลูกข้าวหอมประทุม 20 ไร่ ปี 56 ได้ผลผลิตโดยรวม 25 ตัน และไม่ได้นำข้าวเข้าโครงการรับจำนำ แต่ใช้วิธีนำไปสีเป็นข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศขายผ่านเครือข่ายชาวนาพาสุข รวมทั้งกลุ่มอาสา “ผูกปิ่นโตข้าว”

ขณะที่วิชชาลัยชาวนาพิจิตร ก็พยายามส่งเสริมเกษตรกรชาวนาเครือข่ายทำนาปลอดสารลดต้นทุนค่าปุ๋ย-ค่ายา ฯลฯ ล่าสุดหนึ่งในเกษตรกรเครือข่าย ยืนยันว่า ทำนาพื้นที่ 7 ไร่ ลงทุนไปประมาณ 6,000 บาท/ 7 ไร่ (858 บาท/ 1 ไร่) ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 6 ตัน ขายไป 4,780 กิโลกรัม (4 เกวียน 78 ถัง) ราคา 6,900 บาท/เกวียน รวมเป็นเงิน 32,816 บาท หักลบกลบหนี้ที่ลงทุนไป รวมทั้งรถเกี่ยวรถปั่น กำไร 26,816 ไม่รวมข้าวที่ก็บไว้ทำข้าวปลูก และสีขายอีกตันกว่า

“กาแฟนิลกาฬ”อีกช่องทางเพิ่มมูลค่าข้าวไรซ์เบอร์รี่

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าข้าว ที่น่าจับตาคือ “กาแฟนิลกาฬ” ของกลุ่มแปรรูปข้าวบ้านสร้อยสุวรรณ หมู่ที่ 22 ต.นาบ่อคำ อ.เมืองกำแพงเพชร ที่รวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 53 ปลูกข้าวแบบปลอดสารเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรจากข้าวไรซ์เบอรรี่ ที่ทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง ได้ผลผลิตภายใน 3 เดือน จำหน่ายผลผลิตได้ประมาณเกวียนละ 25,000 บาท รวมทั้งคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้เองด้วย

นางสัมสนธ์ ตาลาน สมาชิกกลุ่มแปรรูปบ้านสร้อยสุวรรณ บอกว่า เนื่องจากตลาดร้านกาแฟอยู่ในช่วงขยายตัว และมีฐานลูกค้ารองรับอีกมาก กลุ่มฯจึงคิดว่า เมื่อปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ขายแล้ว ส่วนหนึ่งนำมาแปรรูปเป็นส่วนผสมของกาแฟ บรรจุภัณฑ์ขาย เพื่อมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร โดยมีการกำหนดราคาเอง

การทำกาแฟนิลกาฬ ไม่ยุ่งยากมากนัก โดยรับซื้อข้าวนำข้าวหอมนิลจากสมาชิกมาสีแปรในโรงสีชุมชน เมื่อได้เมล็ดข้าวแล้ว นำมาคัดกรองเป่าด้วยแรงลมพัดเศษผงออก คั่วในหม้อไฟที่ร้อน เพิ่มความหอม ก่อนปั่นให้ละเอียด นำมาผสมกับข้าวลืมผัว กาแฟ คอฟฟีเมต น้ำตาล คลุกเคล้าให้เข้ากันจึงนำบรรจุภัณฑ์ เป็นสินค้าโอทอป จำหน่ายให้กับลูกค้า มีทั้งใน-ต่างจังหวัด สร้างรายได้ให้กับสมาชิก ต่อเดือนมีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพ

นางทัศนีย์ ทันแก้ว สมาชิกกลุ่มแปรรูปข้าวบ้านสร้อยสุวรรณ เปิดเผยว่า ทางรอดของชาวบ้านมีหลากหลาย ไม่ได้เน้นกำไรมากมาย เน้นสุขภาพของคนมากกว่า ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างต้องปลอดสารเคมี ทุกวันนี้คนในชุมชนทำนาแบบไม่ใส่สารเคมี หรือฉีดยาฆ่าหญ้ากันเลย

ขณะที่ชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุทัยธานี ก็ได้รวมตัวปลูกข้าวตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งข้าวหอมปทุมเทพ ข้าวขาวตาเคลือบ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิลต้นเขียว ข้าวเหนียวก่ำกาดำ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องพันธุ์กอใหญ่ ข้าวกล้องมะลิ แปรรูปนำออกขายเองราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 30 - 70 บาท

ถอดบทเรียนขายข้าวออนไลน์ปีละร้อยตัน

นายพิพัฒน์พล เกษสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง-ดูแลระบบการผลิต-จำหน่ายข้าวออนไลน์ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์กำแพงเพชร จำกัด ซึ่งมีการจำหน่ายข้าวผ่านช่องทางทั้งโทรศัพท์มือถือ , Line ID: ricevery , facebook.com/ricevery ,Twitter-Instagram : @ricevery , sales.ricevery@gmail.com , ricevery.com บอกว่า จุดเริ่มต้นจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 56 หลังมีโครงการจำนำข้าว ซึ่งทางชุมนุมสหกรณ์ฯ เห็นว่า ถ้าปล่อยให้ชาวนาทำนากันแบบอัดปุ๋ย-อัดยาต่อไป มีแต่หนี้สินพอกพูน เอาชีวิตไปผูกกับนโยบายรัฐบาลที่เอาแน่ เอานอนไม่ได้

ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ จึงรวมกลุ่มชาวนาเริ่มแรกราว 50 ราย เนื้อที่ราว 200 กว่าไร่ ผลิตข้าวพันธุ์ดี หอมมะลิปลอดสารพิษขายเองไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางภายในจังหวัด ก่อนที่จะพัฒนาทำตลาดออนไลน์ เริ่มจาก ricevery.com เมื่อ 8 มิ.ย.57 และขยายเครือข่ายช่องทางต่างๆ เพิ่มขึ้น เป็นข้าวบรรจุถุงสูญญากาศ ทั้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ 1 กก. ราคา 69 บาท กล้องหอมมะลิ 45 บาท ข้าวหอมมะลิ ขัดขาว 45 บาท จนปัจจุบันเฉพาะไรซ์เบอร์รี่ ทำยอดได้ในระดับ 100 ตัน (ข้าวสด)/ปี

นายพิพัฒน์พล ย้ำว่า การรวมกลุ่มเกษตรกรผลิต-แปรรูป-กินเอง/ขายเอง เป็นทางเลือกหนึ่งที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วงวิกฤตราคาข้าวตกต่ำนี้ได้ แต่หากจะทำกันในระยะยาวแล้ว เกษตรกรต้องศึกษาข้อมูลทั้งระบบ อย่างน้อยต้องมีโรงสีขนาดเล็ก-ระบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต้องลงทุนในหลักแสน รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่สูงถึง 20% เป็นอย่างต่ำ ซึ่งถ้ารวมแล้วราคาข้าวที่ขายกันอาจจะไม่หนีจากราคาข้าวถุงในโมเดิร์นเทรดเลย ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ ต้องพัฒนาคุณภาพให้เป็นสินค้าพรีเมียมให้ได้

“ทุกวันนี้ ricevery ขายข้าวผ่านระบบออนไลน์-หน้าร้าน และส่งให้สหกรณ์ฯต่างๆ ทั่วประเทศ ขายได้หนึ่งแสน เป็นต้นทุน 70% ค่าขนส่ง 20% เหลือกำไร 10% แต่เราพัฒนาคุณภาพตลอด ทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าทำยอดขายได้ในระดับเดียวกับไรซ์เบอร์รี่ได้แล้ว ภายใน 1 ปีสามารถคืนทุนได้แน่นอน”


กำลังโหลดความคิดเห็น