xs
xsm
sm
md
lg

ลูกสาวชาวนาสุดเจ๋ง!! “ดวงดาว แสงทอง” ผู้บุกเบิกขายข้าวทางเฟซบุ๊ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกิดเป็นกระแสแชร์และส่งต่อในช่วงสัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนตุลาคมที่วิกฤตราคาข้าวถล่มทับชาวนา ราคาตกต่ำถึงขีดสุดมากกว่าปีไหน ๆ ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรเดือดร้อนไปทั่วทั้งท้องทุ่งถิ่นไทย

แต่ทว่าไม่ใช่กับ “ดวงดาว แสงทอง” พนักงานโรงงานย่านชลบุรี และบุตรีลูกชาวนาตำบลขนุน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ริเริ่มสานต่อวิถีหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน พึ่งพาตนเอง ปลูกข้าวแล้วขายผ่านโลกออนไลน์ตั้งแต่ยังไม่เกิดวิกฤตราคาข้าว สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ราคาข้าวที่กำลังเร่งเร้าหาทางออก
จริงหรือไม่ที่ชาวนาจะอยู่ไม่ได้ หากไม่พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง
ศึกษาวิถีการเดินทางของ “ข้าวเปี่ยมคุณ” จากการปลุกปั้นของครอบครัว “แสงทอง” ผู้เดินตามคำสอนของพ่อหลวง ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงปลูกข้าว หากแต่ยังทำไร่นาสวนผสม ได้ผลผลิตพออยู่พอกิน

• ไอเดียแรกที่จุดประกายให้เริ่มขายข้าวในเฟซบุ๊ก

จุดเริ่มต้นมาจากการที่เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อ ตั้งแต่เราเด็ก ๆ 20 - 30 ปีที่แล้ว สมัยคุณพ่อหนุ่ม ๆ ท่านทำเกษตรไร่นาสวนผสม เป็นตัวแทนของอำเภอประกวดในสาขาไร่นาสวนผสม ตอนนี้เราอายุ 39 ปี เราก็ซึมซับชอบวิธีการทำของคุณพ่อในการทำเกษตร ซึ่งคุณพ่อก็ได้รับความรู้แรงบันดาลใจมาจากพ่อหลวงของเรา ที่ท่านได้เข้ามาอบรมความรู้ต่าง ๆ พร้อมทั้งตัวเราเองก็เคยได้ไปศึกษาดูงานจากศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ มาบ้างเหมือนกัน และเราก็ได้นำความรู้มาแบ่งปันกัน ปรึกษากัน โดยคุณพ่อเป็นคนลงมือทำ และเราเป็นคนค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจนออกมาเป็นรูปเป็นร่างพอที่จะให้คนได้เข้ามาเรียนรู้ได้บ้าง พ่อได้เดินตามรอยในหลวงมาตลอดในการทำเกษตร ชีวิตก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ

จากเกษตรกรยากจนคนหนึ่งสมัยที่เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำนาอย่างเดียว พริกอย่างเดียวตามบรรพบุรุษ เลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียน ลูกสาวทั้งหมด 4 คน เรียนระดับปริญญาตรี ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เพราะเกษตรกรเชิงเดี่ยวมันไปไม่ได้อยู่แล้ว ด้วยเหตุผลกลไกการตลาดที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ว่าจะชนิดเกษตรอะไร ปีไหนราคาตกก็แย่หมด ล้มไปทั้งแถบ เหมือนตอนนี้ที่เราเจอปัญหาเรื่องข้าวซึ่งราคาตกต่ำมาก ข้าวเปลือกในประเทศไทยเราราคาถูกมาก ปีที่แล้วรู้สึกว่าตอนเกี่ยวใหม่ ๆ กิโลกรัมละ 7 บาท 8 บาท ก็เลยบอกว่าพ่อกับแม่ว่าไม่ต้องขายข้าวเปลือกแล้ว ทำไปไม่คุ้มค่าแรงและปีแรกที่คิดจะทำ ข้าวงามมากเราเกิดความเสียดายข้าวที่พ่อทำด้วย ในเมื่อเรามีโรงสีเอง เราทำเอง เรามีข้าวคุณภาพที่ดี ทำไมเราไม่ขายเป็นข้าวสาร

• ก็เลยเปิดตลาดขายเองทางออนไลน์โดยไม่ผ่านคนกลาง

อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง คือเกิดจากความภาคภูมิใจ เราก็เกิดความภาคภูมิใจ เกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เลยมีความคิดว่าสิ่งที่พ่อเราทำ ทั้งเกษตรไร่นาสวนผสม เกษตรอินทรีย์ซะเป็นส่วนใหญ่ เราต้องการที่จะเผยแพร่ให้คนอื่นได้รับรู้ไปด้วย

เพราะทุกพื้นที่แม้จะมีน้อยแต่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของพื้นที่ มีทั้งพืชระยาว อย่างปาล์ม ระยtกลาง อย่างมะละกอ ระยะสั้น อย่างพริก ตะไคร้ พืชผักสวนครัว มีเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด บ่อปลา บ่อกบ เมื่อ 4 - 5 ปีที่แล้วก็มีโรงสีของตัวเอง เพราะหมูกับโรงสีเป็นของคู่กัน ชีวิตก็ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ เมื่อปีที่แล้ว เราก็เลยคิดว่าเราทำงานเป็นพนักงานกินเงินเดือน ยังไงวันหนึ่งเราก็ต้องกลับไปบ้าน บั้นปลายชีวิตเรา บรรพบุรุษเราทำมาอย่างนี้ เราก็ต้องไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเราอยู่แล้ว แต่ว่าจะมีอาชีพอะไรให้ตัวเองที่จะสามารถเลี้ยงครอบครัวเราได้ ก็เป็นจุดเปลี่ยนจุดคิดที่เราต้องหาอาชีพให้ตัวเองก่อนที่จะกลับไปภูมิลำเนาของเรา ก็เลยกู้เงินธนาคารซื้อที่นา เราก็ไม่อยากปล่อยพื้นที่ไว้เปล่าให้เสียดอกเบี้ยให้กับธนาคารโดยสูญประโยชน์ก็เลยปลูกข้าว อันนี้คือจุดเริ่มต้นของ “ข้าวเปี่ยมคุณ”

• ชื่อ “ข้าวเปี่ยมคุณ” มีที่มาความหมายว่าอย่างไรครับ

“เปี่ยม” มาจากคุณพ่อที่ชื่อ “เปี่ยม แสงทอง” ส่วน “คุณ” มาจากกรรมวิธีการทำของเราที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ

• ดำเนินการขั้นตอนแรกการค้าในเฟซบุ๊กอย่างไรครับ

เริ่มแรกเลยขายให้กับเพื่อนร่วมงานที่โรงงาน เพราะความที่เราภูมิใจในตัวพ่อ พ่อเราทำแบบนี้ เราก็อยากให้เพื่อน ๆ เราได้รับสิ่งดี ๆ ได้ทานข้าวที่มีคุณภาพ ก็ทักถามเพื่อน ๆ ว่ามีใครสนใจไหม ต้องถามเพื่อนก่อนว่าใครจะรับข้าวเราไหม เราจะไม่ได้สีไว้ เพราะข้าวของเราเก็บได้ไม่นาน เนื่องจากไม่มีสารกันมอด สีข้าวเสร็จแล้วภายในหนึ่งอาทิตย์เราต้องแพ็กข้าวส่งให้กับลูกค้า ต้องมีออเดอร์ก่อนถึงจะสีข้าว และเริ่มกระบวนการในครอบครัวของเรา น้า ๆ ยาย ๆ เขาจะมาช่วยเก็บกาก ช่วยคัด คนในครอบครัวทำเองหมด แล้วทีนี้เราก็จะกลับไปแพ็กเองตามรายการที่สั่ง

แต่ทีนี้ บางคนที่โรงงานก็รู้จักเราบ้าง ไม่รู้จักเราบ้าง เราก็เลยต้องลงในเฟซบุ๊ก เพื่อให้คนข้างนอกพอรู้จักบ้างนิดหน่อย อยู่ราว ๆ หลักร้อย จนกระทั่งปีนี้ เมื่อช่วงวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 59 ราคาข้าวตกมาก เราเอาไปโพสต์ในกลุ่ม “ชมรมคนรักเกษตร” เพื่อที่จะเผยแพร่ให้คนได้เห็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาสถานการณ์แบบนี้ที่ราคาข้าวตกต่ำ โดนกันทั่วประเทศ เราสามารถแพ็กข้าวขายเองได้ ก็เกิดการแชร์กันไปเยอะมาก ภายในข้ามคืนเดียว มีคนสนใจข้าวเราเยอะมาก เป็นพัน ๆ คนเลย โดยที่เราไม่คาดคิด เราไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะโปรโมตข้าวเราด้วยซ้ำ เป็นการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหา แต่ทีนี้ คนที่เขาสนใจในเรื่องราคาข้าว ณ ตอนนี้ เขากลับเอาไปแชร์แล้วเมนต์กันต่อ ๆ ไป ก็เลยเกิดการกระแสตามมามาก

แต่ตามจริง เราไม่ได้ติดตามไปอ่านเท่าไหร่ ก็รู้เท่าที่เพื่อนส่งข้อมูลมาให้ดู ในเพจต่าง ๆ เขาเอาไปลง ก็คือ ชมว่าไอเดียสุดเจ๋ง เราไมเป็นทาสพ่อค้าคนกลางแล้วนะ ไม่ต้องไปผ่านพ่อค้าคนกลาง เรามาทำเองดีกว่า ยึดหลักการพึ่งพาตัวเอง ก็ทำให้เรามีกำลังใจที่อยากจะทำสิ่งดี ๆ ทำอาชีพที่บรรพบุรุษเราให้ไว้

คือ ความรู้สึกของชาวนาที่บอกว่าทำแล้วเสียแรงเปล่า เท่าที่คุยกับคุณลุงคุณป้าเพื่อนบ้าน มาคุยมาปรึกษากับพ่อแม่เรา เขาทำแล้วเขาได้เท่าทุนหรือไม่ก็ติดลบ ไม่พอค่าปุ๋ย ทำนา 5 ไร่ ขายได้ 10,000 บาท แต่ค่าปุ๋ยราคาก็ปาเข้าไปตั้ง 8,000 บาท ต้นทุนจ้างเกี่ยวข้าวไร่ละ 600 บาท ไม่รวมค่าไถและค่าอื่น ๆ เฉลี่ยคือปีหนึ่งได้รับเงินเดือนแค่เดือนละหลัก 100 บาท หรือ 1,000 บาท เท่านั้น


• พอเรามาทำแบบนี้ ก็ถือว่าไม่เสียแรงเปล่าแล้ว อีกทั้งก็ภูมิใจที่ได้สานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษให้ไว้ให้ดีขึ้นด้วย

ค่ะ...ก็ทำให้เรามีกำลังใจทำให้ดีขึ้น ทำตรงนี้ให้ดีขึ้น เพราะเราสามารถอยู่ได้ อาจจะไม่ถึงกับร่ำรวยแต่ก็ไม่ยากจน ราคาที่เราตั้งไว้ข้าวหอมมะลิกิโลกรัมละ 30 บาท ราคานี้เมื่อปีที่แล้ว เพื่อนไม่มีบ่น เพราะเป็นราคากลาง ราคาข้าวตามห้าง บางทีแพงกว่าด้วยซ้ำที่เขาบอกกันมา 5 กิโลกรัม 180 บาท ถึง 200 บาท ในเกรดที่คุณภาพพอ ๆ กับเรา ทานนิ่ม ถ้าถูกกว่าก็จะแข็ง จากลูกค้าที่มาคุยให้เราฟัง เมื่อก่อนใช้ยี่ห้อนี้มา พอได้มาลองซื้อของเราไปกินแล้วเปลี่ยนเลย ทีนี้ก็รอเราตลอด ซื้อไปฝากเพื่อน ๆ ญาติพี่น้อง เราก็ดีใจแล้ว

อีกอย่างหนึ่งคือเราโชคดี เรามีตลาดของเรา บางคนเขาเป็นชาวนาที่อยู่ในบ้านเฉย ๆ เขาก็ไม่รู้จะไปขายให้ใคร แต่เราโชคดีกว่าตรงที่ว่าเราได้ทำงานแล้วเราก็ขายให้เพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก เรามีช่องทางการตลาด บางคนที่เขาคิดก็เลยยังไม่กล้าทำ เราก็เลยไม่อยากขายให้ราคาแพงกว่านี้ เราอยากให้เพื่อน ๆ ได้ในราคาที่ถูก ซึ่งกำไรก็พอควร แต่ไม่เคยนับ รู้แค่ว่าเบ็ดเสร็จ ข้าวเปลือกขายกิโลกรัมละ 7 บาท เราสีเองมาขายเอง 30 บาท อีก 23 บาท คือที่เราได้ สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือคนอื่นได้กินข้าวเรา เราแค่มาออกแรงนิดหน่อย สีเอง แพ็กเอง และไปขนส่งเอง มันก็ไมได้หนักหนาอะไร

บางคนเขาก็บอกว่าขายข้าวสารมันหนักนะ มันเหนื่อยนะ แต่เรากลับมองว่ามันไม่ได้หนักเหนื่อย ความหนักเหนื่อยของแต่ละคนไม่เท่ากัน เราก็ทำตามกำลังของเรา เราก็เลยอยากจะเผยแพร่ตรงนี้ทางออกหนึ่ง แต่จะให้คิดว่าทุกคนต้องมีโรงสีเองทั้งหมด บางทีมันเกินกำลังของคน ๆ นั้นด้วย อยากจะให้มาเหมือนเราหมด ก็คงไม่ได้ มันก็ต้องขึ้นอยู่กับกำลังของตัวเอง คือเรารู้ว่าเราทำอะไรแล้วมันไม่เกินกำลังของเรา เราสามารถทำได้

• อย่างนี้จะมีปัญหาหรือไม่ต่อตลาดค้าข้าวโดยรวมบ้างไหม เพราะกำลังเป็นกระแส หากถ้ามีการตัดราคาโดยไร้การควบคุม

ส่วนตัวมองว่ามันขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคนมากกว่า แล้วก็เป็นความพอใจของผู้บริโภคมากกว่า ว่า เขาจะรับได้แค่ไหน คือ บางคนอยากได้เท่านี้ เขาก็ตั้งราคาน้อย บางคนกลัวขายไม่ได้ เพิ่งจะเริ่มต้นก็ตั้งราคาน้อยไว้ก่อนอย่างนี้เป็นต้น แต่เรามองว่าราคาอย่างนี้มันเป็นราคากลาง ๆ ซึ่งตัวที่มันจะตัดสินก็คือคุณภาพของตัวข้าวเองว่าจะทำให้อยู่ได้หรือไม่ได้

มันเป็นเรื่องคุณภาพมากกว่า คือ ถ้าคุณภาพข้าวดี ถึงแพงกว่าก็ขายได้ อย่างเราบอกว่าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูก ราคา 30 บาท คนจะซื้อไหม ก็ซื้อ เพราะไม่ได้แพง ข้าวอินทรีย์โดยทั่วไปมันต้องแพงกว่านี้ แต่เราคิดว่าเรารับได้ในตรงนี้ ก็เลยไม่คิดว่าจะมีปัญหาตลาดโดยรวมอยู่ที่คุณภาพของคุณเองว่าจะอยู่ได้ไม่ได้

• แนวทางในอนาคตที่วางไว้กับรูปแบบการแก้ปัญหาช่องทางหนึ่งเรื่องราคาข้าวที่ตกต่ำ

เรื่องธุรกิจข้าวเราก็จะทำตามกำลังเรา ขายแค่ข้าวตัวเอง เพราะว่าถ้าเกิดเราไปรับข้าวคนอื่นมาขาย เราไม่รู้ว่ากรรมวิธีในการทำของเขาเป็นอย่างไร ปีที่ผ่านมา ก็ขายเฉพาะข้าวของเราเอง หมดแล้วก็หมดเลย ให้ลูกค้ารอช่วงเก็บเกี่ยวใหม่ เขาก็เต็มใจรอ ไม่รู้ว่าระหว่างนั้นซื้อที่ไหนหรือไม่ แต่พอถึงช่วงเขาก็จะเริ่มสั่งใหม่

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ส่วนที่จะพัฒนาต่อยอด คือ การเผยแพร่ความรู้ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เราจัดค่ายเกษตร “คุยโขมงลั่นทุ่ง” จัดกับเด็กนักเรียนเพื่อเผยแพร่ให้กับคนที่สนใจเป็นครั้งแรกแบบเป็นทางการและคงจะมีจัดไปเรื่อย ๆ อีก แต่โดยธรรมดาปกติคนที่อยู่ใกล้ ๆ เขาก็จะมาศึกษาดูงานกับคุณพ่ออยู่แล้ว หรือถ้าใครรู้ก็จะไปหาความรู้ไปปรึกษาไปอะไรอยู่แล้ว เราก็เลยมีความคิดว่าอยากจะมีการเผยแพร่กรรมวิธีหรือวิธีทำของพ่อสักวันหนึ่ง เป็นการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ส่งต่อกัน

• ไม่ได้คิดที่จะทำให้เกิดการแตกหักทางการตลาดหรือล้มระบบ

ไม่ได้คิด ไม่ได้คิดว่าจะไปแย่งตลาดหรือทำตลาดข้าวล้ม ไม่ คือ เราขายในกลุ่มของเรา แต่ว่าถ้าเกิดใครที่สนใจซื้อ เต็มใจ เราก็ยินดี แต่เราจะทำตามกำลังของเราเพราะว่าถ้าเกินกำลังเราแล้ว เราเหนื่อยไป หรือว่าทำให้เขาไม่ได้ นั่นมันเป็นความโลภแล้ว ไม่ใช่ความพอเพียง

เราจะไม่รับออเดอร์ถ้าเราไม่มีข้าว ตอนนี้ก็กังวลผู้คนให้ความสนใจสั่งเป็นจำนวนมาก แล้วก็ขอความรู้แนวทางความคิดการทำตรงนี้ แต่เราก็ตอบให้ได้ไม่หมด เพราะข้อความส่งมาเยอะมาก ในบางคอมเมนต์เขาบอกว่าถ้าคุณไม่รีบตอบ คุณก็จะเสียลูกค้าเสียออเดอร์ไปเลยนะ แต่เราไม่ได้ซีเรียส เพราะเราจะไม่ปิดกั้นผู้บริโภค เพื่อที่จะให้เขาไปเลือกซื้อเกษตรกรรายอื่นด้วยค่ะ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีข้าวแล้วเราไปรับออเดอร์ไว้แล้วให้เขาโอนเงินให้เรา เราจะไม่ทำอย่างนั้น เปิดโอกาสให้เขาไปซื้อกับคนอื่นด้วยคือแนวทางเราไม่ได้มาจากการค้าหวังกำไรอย่างที่บอก ตามกำลัง เราทำได้แค่ไหน ก็แค่นั้น

• พอเพียง พึ่งพาตนเอง ดั่งคำพ่อสอน

ก็ภูมิใจในวิธีการ คือเราได้นำแนวคิดของพ่อหลวงมาใช้ในครอบครัวเรา ชีวิตก็ดีขึ้น วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 59 คุณพ่อก็เพิ่งได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นประจำจังหวัด ในสาขาไร่นาสวนผสมอีกด้วย หรือจากยอดสุทธิข้าวที่ได้ประมาณเกือบ 4 ตัน ปีแรกเลย ปีที่แล้วได้เกือบ 8 ตัน ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยจากแนวทางของพระองค์ท่าน

นอกจากนี้คือภูมิใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ต่อ ตอนนี้ก็สร้างเฟซบุ๊กของพ่อขึ้นมาด้วย เพื่ออยากเผยแพร่สิ่งที่ครอบครัวเราทำมาให้คนอื่นที่เขายังไม่มี เขาอยากจะทำเหมือนเรา คนที่เขามาดูงาน เขาก็จะกลับไปปรับปรุงในพื้นที่ของเขา สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ชีวิตเขาดีขึ้น ก็เป็นความภาคภูมิใจของเราที่ช่วยเหลือคนอื่นได้








สำหรับผู้สนใจ สามารถกดติดตามเพื่อศึกษาแนวทาง ตลอดจนให้การสนับสนุน “ข้าวเปี่ยมคุณ” ของ “ดวงดาว แสงทอง” ได้ทางเฟซบุ๊ก : ข้าวเปี่ยมคุณ - ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และ doungdao.nongderam
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ดวงดาว แสงทอง

กำลังโหลดความคิดเห็น