ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่รู้จักกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยะภาพมากมาย โดยเฉพาะพระอัจฉริยภาพในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทรงเป็นทั้งพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ และพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย
ผลงานการประดิษฐ์คิดค้นในพระองค์ที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยดี ทั้งยังเลื่องลือไปถึงต่างแดน อาทิ การประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และโครงการพระราชดำริที่มีคุณค่ายิ่งต่อพสกนิกรชาวไทยอีกหลายโครงการ เช่น โครงการพระราชดำริฝนหลวง โครงการพระราชดำริเรื่องทฤษฎีใหม่ และโครงการพระราชดำริไบโอดีเซล เป็นต้น ซึ่งทุกโครงการล้วนคิดค้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆให้พสกนิกรของพระองค์
พระปรีชาญาณอันสุดจะประมาณนี้ เป็นที่ประจักสายตาชาวโลกทำให้หลายหน่วยงานทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลระดับโลกมากมาย ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กีฬา วรรณกรรม ดนตรี ฯลฯ
“กังหันน้ำชัยพัฒนา” 5 รางวัลบรัสเซลส์ ยูเรก้า 2000
รางวัลระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถได้เด่นชัดที่สุด ซึ่งเราจะอดกล่าวถึงไม่ได้ คือ รางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นในการจัดงาน บรัสเซลส์ ยูเรกา “Brussels Eureka 2000” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ที่จัดโดย The Belgian Chamber of Inventors ซึ่งเป็นสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของราชอาณาจักรเบลเยียม ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในยุโรป โดยทางคณะผู้จัดงานได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่พระองค์ถึง 2 ปีติดต่อกัน คือ ในปี พ.ศ.2543 และปี พ.ศ.2544
รางวัลบรัสเซลส์ ยูเรก้า ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายทั้ง 2 ปีนี้ ได้แก่ ในปี พ.ศ.2543 สภาวิจัยแห่งชาติ ได้นำผลงาน “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ในพระองค์เข้าประกวดในสิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 1 เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม (Pollution Control - Environment) ปรากฏว่า ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการจัดงานว่าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการบำบัดน้ำเสีย
ในครั้งนั้นทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลรวมทั้งสิ้น 5 รางวัล คือ 1. เหรียญรางวัล Prix OMPI (Organisation Mondiale De La Propriete Intelietuelle) หรือรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นระดับโลก พร้อมประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน 2,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ 2. เหรียญรางวัล Gold Medal with Mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ และประกาศนียบัตรเกียรตินิยมจากบรัสเซลส์ ยูเรก้า ประจำปี พ.ศ.2543
3. ถ้วยรางวัล Grand Prix International (International Grand Prize) หรือรางวัลผลงานประดิษฐ์ดีเด่นสูงสุด 4.ถ้วยรางวัล Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) หรือรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น และ 5. ถ้วยรางวัล Yugosiavia หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์
สำหรับรางวัลในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติในขณะนั้น นำนายโยเซ ลอริโย (Mr.Jose Loriaux) ประธานองค์กรบรัสเซลส์ ยูเรก้า แห่งราชอาณาจักรเบลเยียม พร้อมด้วยคณะทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2544 ณ ศาลาเริงใจ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ทั้งนี้ ชอบวิทย์ ลับไพรี รองเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขอพระบรมราชานุญาตนำกังหันน้ำชัยพัฒนาไปร่วมแสดงในครั้งนั้น ได้เล่าว่า เมื่อนำกังหันน้ำชัยพัฒนาไปจัดแสดง ชาวต่างชาติต่างให้ความสนใจมาก โดยฝ่ายไทยได้สาธิตการทำงานให้ผู้ร่วมงานได้เข้าชมอย่างใกล้ชิด ซึ่งในโอกาสนี้เองที่ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อเป็นของขวัญให้แก่ประเทศเบลเยียม ตามคำขอของนายโยเซ โดยตั้งอยู่ ณ สวนสาธารณะโวลูเว แซงต์-ปิแอร์ (Woluve Sainte-Pierre) กลางกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวยุโรปได้ชื่นชมพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
ฝนหลวง - ทฤษฎีใหม่ - ไบโอดีเซล ได้รับเกียรติอีก 5 รางวัล
ถัดมาในปี พ.ศ.2544 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะกรรมการจัดงานบรัสเซลส์ ยูเรก้า ได้เชิญประเทศไทยให้ร่วมจัดนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์อีกครั้งในงาน บรัสเซลส์ ยูเรก้า 2001 ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ย.2544 โดยสภาวิจัยแห่งชาติได้จัดแสดงผลงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำนวน 3 ชิ้น คือ ผลงานเรื่องทฤษฎีใหม่ (The New Theory) ผลงานเรื่องน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม (Palm Oil Formula) และผลงานเรื่องฝนหลวง (Royal Rain Making)
ในงานบรัสเซลส์ ยูเรกา 2001 นี้ก็อีกเช่นกัน ที่พระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในล้นเกล้าฯ ได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาประเทศอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลถึง 5 รางวัล คือ
1.รางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailande พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน โดยคณะกรรมการตัดสินได้ลงมติเห็นชอบทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเทิดพระเกียรติคุณเป็นกรณีพิเศษแด่ผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั้ง 3 ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศไทย
2.รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้แก่ผลงานประดิษฐ์คิดค้น โครงการน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม
3.รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการทฤษฎีใหม่
4. รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการฝนหลวง
และ 5. ถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร มอบให้ผลงานประดิษฐ์คิดค้นทฤษฎีใหม่ ปาล์มน้ำมัน ฝนหลวง และประกาศนียบัตร Honored Member of BACCI โดยเป็นรางวัลจาก Bulgarina American Chamber of Commercial and Industry (BACCI)
ยูเอ็น สรรเสริญยกเป็นกษัตริย์ที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนามนุษย์
'ยูเอ็น' โดย นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทูลเกล้าถวายรางวัล "ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์ The Human Development Lifetime Achievement Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถ และพระราชกรณียกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรไทยตลอดรัชสมัย เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2549 ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของรางวัลดังกล่าวนี้
และด้วยพระปรีชาญาณอันเป็นที่ประจักสายตาชาวโลก ยังส่งผลให้องค์กรต่างๆ ทูลเกล้าถวายรางวัลอย่างต่อเนื่อง เฉพาะ
ไม่เพียงเท่านั้น หน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติยังตระหนักถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไทย ถึงขนาดทูลเกล้าฯถวายรางวัลเพิ่มเติมอีกมากถึง 9 รางวัล อันได้แก่
1. เหรียญฟิแล Philae Medal
2.เหรียญทองเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงอุทิศตนเป็นแบบอย่างในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติ
3.เหรียญทองสุขภาพดีถ้วนหน้า
4. รางวัลเทิดเกียรติในฐานะที่ทรงมีบทบาทโดดเด่นในความพยายามทีจะควบคุมการแพร่ระบาดของยาเสพติดในไทย
5.เหรียญอากรีโคลา 6 ธันวาคม 2538ในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและความสุขของประชาชนในประเทศองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ
6.รางวัลเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงสนับสนุนงานอุตุนิยมวิทยาและการนำทรัพยากรน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
7.เหรียญเทเลฟู้ด
8.แผ่นจารึกเทิดเกียรติขององค์การอนามัยโลก
9.รางวัลเทิดพระเกียรติของยูเอ็น-ฮาบิแทต
ผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา
นายฟรานซิส เกอร์รี่ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญาแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 14 มกราคม 2552 เป็นพระองค์แรกของโลกที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะยังไม่มีผู้นำของโลกรายใดได้รับรางวัลดังกล่าว
หญ้าแฝกของพ่อ…หยั่งรากในแผ่นดิน หยั่งลึกในดวงใจ
สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ในหลวง” เป็น “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) พระองค์แรกของโลก โดยเชื่อมั่นว่า พระองค์จะทรงเป็นผู้นำในการพัฒนาและอนุรักษ์ดินของไทยและของโลกอย่างยั่งยืน เป็นแบบอย่างที่ดียิ่งสำหรับประเทศอื่นๆ ที่จะนำไปปฏิบัติ และยังยกย่องนำ “หญ้าแฝก” มาแก้ไขปัญหาดินได้สำเร็จ พร้อมนำแนวพระราชดำริไปสานต่อเพื่อพัฒนาโลกต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากที่องค์กรระดับโลกเห็นพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงสนับสนุนการบริหารจัดการดินในประเทศไทยจนได้ผลดีเยี่ยม ด้วยการแนะนำหญ้าแฝกมาปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน แก้ปัญหาการขาดแคลนที่ทำกินสำหรับเกษตรกร การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
นอกจากนี้การที่ทรงริเริ่มให้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องดินและฝึกอบรมราษฎรให้รู้จักการพัฒนาดิน
จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลทั้ง 10 รางวัล จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาตินี้ จึงการันตีได้ถึงความเป็นนักประดิษฐ์และนักเทคโนโลยีในพระองค์ได้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยหากสังเกตให้ดีแล้วจะพบว่า ผลงานแต่ละชิ้นในพระองค์ล้วนแล้วแต่เป็นการตอบโจทย์ปัญหาใกล้ตัว ซึ่งเรามักมองข้ามกันทั้งสิ้น เช่น การพัฒนากังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย เนื่องจากการขาดออกซิเจนในน้ำ และการพัฒนาไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน เป็นต้น
พระองค์ทรงถือเป็นแบบอย่างแก่ผู้พบเห็น น้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาปรับใช้กับชีวิต