xs
xsm
sm
md
lg

พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ทั้งจากภัยน้ำแล้ง ภัยน้ำล้น และภัยน้ำเสียด้วยแนวพระราชดำริการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน เพื่อให้ราษฎรมีน้ำกินน้ำใช้ที่พอเพียงไม่มากเกินความจำเป็น ไม่น้อยกว่าความต้องการ และมีคุณภาพที่ดี เปลี่ยนจากสภาพปัญหาที่มีอยู่ไปสู่การดำรงชีวิตที่เปี่ยมสุข ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สร้างความปลาบปลื้มปีติแก่เหล่าพสกนิกรเป็นล้นพ้น จึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาสมกับที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถยิ่งว่า “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ”

1. ทรงตระหนักความสำคัญของน้ำ: ต้นทุนหลักของชีวิต

ตลอดระยะเวลา 60 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่มีถิ่นที่ใดที่พระองค์ไม่เคยย่างพระบาทไปถึง ทั้งนี้ทรงมุ่งสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่พสกนิกร ทรงตระหนักว่าปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างยิ่งของความอยู่ดีของชีวิตนั้นคือ น้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น มีฝนตกชุก ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนจำนวนมากทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน หากขาดการจัดการน้ำที่ดี จะไม่สามารถเก็บกักน้ำจำนวนมากนั้นมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กอปรกับมีการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ทำให้ปริมาณน้ำลดน้อยลงไป จนเกิดปัญหาภัยแล้งและเมื่อถึงฤดูฝนก็ไม่มีกำแพงตามธรรมชาติที่จะป้องกันการไหลของน้ำ น้ำที่ไหลบ่าเข้ามาปะทะอย่างรวดเร็วจึงสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง จนเกิดเป็นปัญหาอุทกภัย ขณะที่ชุมชนในเขตเมืองต้องเผชิญปัญหาจากน้ำท่วมขังและน้ำเสีย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวพระราชดำริไว้มากมาย เพื่อควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ทั้งแนวพระราชดำริการพัฒนาแหล่งน้ำและแนวพระราชดำริการจัดการระบบชลประทาน ซึ่งช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาจากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

“...การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือการควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสม แก่การเกษตรการอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้วเมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้นก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบกระเทือนแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ The Third Princess ChulabhornScience Congress (P C III) เรื่อง “น้ำและการพัฒนา : น้ำเปรียบดังชีวิต” ณ โรงแรมแชงกรี-ลา วันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2538

2. การจัดการน้ำแล้งตามแนวพระราชดำริ

การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารในหลายภูมิภาค ปัญหาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประจักษ์คือ เรื่องน้ำ กล่าวคือ ราษฎรขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อเกษตรกรรม มีสภาพการดำรงชีวิตอย่างอัตคัดขัดสน ซึ่งสาเหตุของความขาดแคลนคือ การขาดประสิทธิภาพในการกักเก็บยามน้ำมากไว้ใช้ แหล่งน้ำตามธรรมชาติตื้นเขิน ทำให้ขาดแคลนแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดปี จึงมีพระราชดำริแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่นับวันจะมีขึ้นทุกหนทุกแห่งและรุนแรงมากขึ้นทุกปี สามารถทำให้พสกนิกรมีน้ำเพียงพอแก่การอุปโภคบริโภคและการเกษตรเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันประเสริฐที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติและประชาชนทั่วประเทศอย่างล้นเหลือ

2.1 ฝนหลวงพระราชทาน

ในสภาวะที่เกษตรกรต้องเผชิญกับภัยแล้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจัดสรรน้ำที่มีอยู่ในบรรยากาศมาใช้ในการเพาะปลูก ทรงเริ่มจากประดิษฐ์เครื่องดักหมอก เนื่องจากทรงสังเกตว่า หมอกที่ล่องลอยในอากาศจะกลายเป็นหยดน้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้ได้ โดยใช้วัสดุในที่หาง่ายในท้องถิ่น มีราคาถูก มาทำเป็นแผงดักหมอกตั้งขวางทางลม เมื่อหมอกลอยมาปะทะก็จะกลั่นเป็นหยดน้ำลงสู่พื้นดิน

ในพุทธศักราช 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรระหว่างเส้นทางกุฉินารายณ์และสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จากคำกราบทูลของราษฎรทรงพบว่าความเสียหายของเกษตรกร คือ ฝนตกในช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิต จึงนำไปสู่แนวพระราชดำรินำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมน้ำฝนให้ตกบนพื้นที่เป้าหมาย อันเป็นที่มาของโครงการฝนหลวงพระราชทานซึ่งเป็นช่องทางที่จะใช้บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ทรงทดลองปฏิบัติการครั้งแรกที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อพุทธศักราช 2512

วันที่ 19 ตุลาคม พุทธศักราช 2515 ทรงควบคุมปฏิบัติการสาธิตการทำฝนหลวงให้ผู้แทนรัฐบาลประเทศสิงคโปร์ชม โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี การทดลองปฏิบัติการครั้งนี้สามารถควบคุมให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมายได้ภายใน 5 ชั่วโมง

ฝนหลวงพระราชทาน เป็นการผสมผสานระหว่างหลักธรรมชาติกับหลักวิทยาศาสตร์ ทรงใช้สารเคมีมาโปรยบนท้องฟ้าเพื่อกระตุ้นให้ไอน้ำในอากาศก่อตัวเป็นก้อนเมฆและเร่งให้เมฆจับตัวกันหนาแน่น แล้วใช้สารเคมีเพื่อให้เกิดภาวะไม่สมดุลมากที่สุด เกิดเป็นเม็ดน้ำที่มีขนาดใหญ่มากตกลงมาเป็นฝนในพื้นที่เป้าหมายในช่วงเวลาที่ต้องการสารเคมีเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า “สารฝนหลวง” ในพุทธศักราช 2548 สำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรฝนหลวง “Weather Modification by Royal Rainmaking Technology” เลขที่ 1491088

คณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษมีแผนปฏิบัติการเชิงรุกเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ความต้องการของน้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งความต้องการน้ำของชาวบ้านปริมาณน้ำที่มีอยู่เป็นต้นทุน สภาวะความแห้งแล้งตั้งแต่ระยะเริ่มก่อตัวและการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง เพื่อให้มีฝนกระจายสม่ำเสมอไม่ทิ้งช่วงนาน ทำให้ฝนตกเติมน้ำที่กักเก็บไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ก่อนฤดูฝนจะสิ้นสุด แนวทางปฏิบัติการนี้ได้ผลสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถกู้ภัยแล้งในพุทธศักราช 2542 ได้อย่างดี

2.2 พระราชดำริจัดการด้านชลประทาน

แนวพระราชดำริลำดับแรกๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกร คือ การสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำมิให้ไหลล้นไปอย่างสูญเปล่า ทรงศึกษาสภาพภูมิประเทศในเบื้องต้นด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งพระราชทานแนวพระราชดำริแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินงานในขั้นรายละเอียดต่อไป ยังผลให้ปัจจัยการเกษตรของราษฎรในพื้นที่เหล่านั้นได้รับการพัฒนา

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทางด้านชลประทานโครงการแรก เริ่มเมื่อพุทธศักราช 2506 คืออ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขนาดประมาณ 600,000 ลูกบาศก์เมตร จากนั้นมาพื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรีได้พัฒนางานด้านการจัดการแหล่งน้ำขึ้นทั่วไป ขยายไปยังพื้นที่แห้งแล้งในภูมิภาคอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำและเขื่อนเกิดขึ้นจากโครงการตามแนวพระราชดำริกระจายอยู่ทุกภูมิภาคที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน

แนวพระราชดำริให้มีการสร้างฝายทดน้ำ ในกรณีที่มีพื้นที่ทำการเกษตรสูงกว่าลำห้วย ทรงเลือกใช้วิธีการทำสิ่งก่อสร้างปิดขวางทางน้ำไหล เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูงขึ้นจนสามารถผันน้ำเข้าไปตามคลองหรือคูส่งน้ำ ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลล้นข้ามฝายไปเอง รวมถึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกหนองบึงเพื่อให้การระบายน้ำตามธรรมชาติเป็นไปอย่างสะดวก ทรงแนะนำให้ขุดสระเก็บน้ำในไร่นาซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก

3. การจัดการน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าน้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยต้องประสบ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำสายใหญ่และบริเวณที่ราบเชิงเขา ในพื้นที่ชนบทน้ำท่วมทำให้ราษฎรต้องเผชิญกับความเดือดร้อน ความรุนแรงของกระแสน้ำที่ไหลทะลักท่วมท้นสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรมและบ้านเรือน ส่วนน้ำท่วมในเมือง นอกจากปิดกั้นเส้นทางสัญจรแล้ว ราษฎรยังต้องเผชิญกับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมขังที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตทุกอย่างของคนเมือง สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตลอดมา

3.1 การจัดการน้ำท่วมในส่วนภูมิภาค

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาข้อมูลหลายด้านและมีพระบรมราชวินิจฉัยลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่เกิดปัญหา มีพระราชดำริเลือกใช้วิธีการแก้ไขต่างๆ ให้เหมาะกับสภาพท้องที่และประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรวมทั้งงบประมาณ ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรับไปดำเนินการ ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนและปัญหาระยะยาว แนวพระราชดำริแก้ปัญหาน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ ได้แก่

พระราชดำริก่อสร้างคันดินกั้นน้ำ

เป็นวิธีป้องกันน้ำท่วมแบบดั้งเดิม คือ การสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสมขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งพอสมควร เพื่อป้องกันมิให้น้ำจากแม่น้ำลำคลองล้นตลิ่งลงไปท่วมพื้นที่หลังคันกั้นน้ำอันจะนำมาสู่ปัญหาน้ำท่วมขังต่อไปได้

พระราชดำริก่อสร้างทางผันน้ำ


การขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม เพื่อผันน้ำที่ล้นตลิ่งให้ไหลไปตามทางผันน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ ไปลงลำน้ำสายอื่นหรือระบายออกสู่ทะเล ทั้งนี้ต้องสร้างอาคารเพื่อควบคุมและบังคับน้ำบริเวณปากทางให้เชื่อมกับลำน้ำสายใหญ่ เป็นการระบายน้ำที่ท่วมหรือเกิดอุทกภัยออกจากพื้นที่ ทั้งพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งชุมชน

พระราชดำริปรับปรุงลำน้ำที่มีอยู่เดิมขุดลอกลำน้ำที่ตื้นเขิน ตกแต่งคันตลิ่งให้เรียบ กำจัดวัชพืชผักตบชวาที่ลอยขวางลำน้ำและรื้อทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับน้ำให้มากขึ้นและเปิดทางการไหลหลากของกระแสน้ำให้สะดวกในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาว มีดังนี้

พระราชดำริก่อสร้างเขื่อนอเนกประสงค์

เขื่อนอเนกประสงค์มีประโยชน์ทั้งเป็นอ่างเก็บน้ำและป้องกันอุทกภัย เพื่อกั้นน้ำจำนวนมากในฤดูฝนมิให้ไหลหลากลงมาท่วมบริเวณที่ราบใต้เขื่อนอย่างรวดเร็วและรุนแรง ถือได้ว่าเป็นมาตรการสำคัญที่ทรงใช้ในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม อันเป็นแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาวโดยการสร้าง โครงการก่อสร้างเขื่อนในพระราชดำริบริเวณที่ลุ่มภาคกลาง ประกอบด้วย โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบนจังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีความคุ้มค่า สมประโยชน์

เขื่อนกั้นแม่น้ำป่าสัก ดำเนินการก่อสร้างในพุทธศักราช 2537 แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามว่า “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” อำนวยประโยชน์ให้แก่พื้นที่ชลประทานมากกว่าแสนไร่สนองพระราชดำริในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างรวมทั้งกรุงเทพฯ ตลอดจนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

เขื่อนกั้นแม่น้ำนครนายก ดำเนินการก่อสร้างเมื่อพุทธศักราช 2542 แล้วเสร็จพุทธศักราช 2549 ได้รับพระราชทานนามว่า “เขื่อนขุนด่านปราการชล” เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่ยาวที่สุดในโลก สามารถแก้ไขปัญหาหลัก  3 ประการของจังหวัดนครนายกได้ คือ ลดน้ำยามท่วมเติมน้ำยามแล้ง แปลงดินยามเปรี้ยว เมื่อเขื่อนตามพระราชดำริก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พระราชดำริโครงการแก้มลิง

เป็นการระบายน้ำวิธีหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำมาใช้แก้ปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิผลยั่งยืนในทุกพื้นที่ หลักการคือ หาพื้นที่ว่างหรือแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถรองรับและพักน้ำในยามน้ำหลาก แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลยามที่น้ำทะเลลดเช่นเดียวกับลิงที่เก็บตุนกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มก่อนแล้วค่อยๆ ปลิ้นออกมาเคี้ยวกินภายหลัง




พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการแก้มลิงครั้งแรกในคราวที่เกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เมื่อพุทธศักราช 2538 พื้นที่โครงการแก้มลิงแบ่งออกได้สองส่วน ประกอบด้วยโครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำตั้งแต่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ระบายมาตามลำคลองสายต่างๆ โดยใช้คลองชายทะเลในจังหวัดสมุทรปราการทำหน้าที่เป็นแก้มลิงหรือบ่อพักรับน้ำ ก่อนระบายลงสู่ทะเล

อีกส่วนหนึ่งคือโครงการแก้มลิงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำตั้งแต่จังหวัดอ่างทองพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร ไปลงคลองมหาชัย - สนามชัย และแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งเพิ่มเติมในเรื่องโครงการแก้มลิงนี้ว่า

“...โครงการแก้มลิงนั้นได้พูดถึงหลายปีมาแล้ว และเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้ ที่ได้ทำกิจกรรมแก้มลิงนี้ก็ได้ผล
พอสมควรแล้ว. ปีนี้กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม แต่ได้ใช้โครงการนี้ในที่ที่น้ำท่วม และได้เกิดผลดี...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2540 ปัจจุบันโครงการแก้มลิงยังขยายการดำเนินงานไปที่โครงการบรรเทาอุทกภัยตามพระราชดำริ (แก้มลิงหนองใหญ่) จังหวัดชุมพร และโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย

3.2 การจัดการน้ำท่วมในเขตเมือง

“...ระดับน้ำทางด้านตะวันออก (ของกรุงเทพฯ) คือน้ำที่มาจากแม่น้ำป่าสักสูงกว่าด้านที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 20 เซนติเมตร ความรู้นี้ไม่เคยมีใครเคยรู้...”

“...ทำให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งกรมชลประทานเกิดความรู้ว่าน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาจากไหน และไปไหน...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ว่าสืบเนื่องจากตั้งอยู่บนที่ลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเพียงเล็กน้อย อีกทั้งประเทศไทยยังมีที่ตั้งในเขตมรสุมที่มีฝนตกชุก หากมีฝนตกหนักติดต่อกันน้ำเหนือจะหลาก เมื่อประกอบกับน้ำทะเลหนุน ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้

นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว ความรุนแรงของน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ยังเกิดจากการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว คลองที่เคยใช้เป็นเส้นทางระบายน้ำถูกถมเป็นถนนจำนวนมาก การสูบน้ำบาดาลมาใช้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แผ่นดินกรุงเทพฯ ทรุดตัวอย่างรวดเร็ว กรุงเทพฯต้องเผชิญกับน้ำท่วมซ้ำซาก ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนกรุงเทพฯ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

อุทกภัยครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อพุทธศักราช 2523 พุทธศักราช 2526 และพุทธศักราช 2532 สร้างความเสียหายให้แก่พสกนิกร เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างมากมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในความเดือดร้อนของราษฎรที่เกิดขึ้นตลอดมา ในพุทธศักราช 2526 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสถานการณ์น้ำท่วมถึง 6 ครั้ง และเสด็จพระราชดำเนินลุยน้ำท่วมที่ประตูน้ำคลองพระยาราชมนตรี เขตบางขุนเทียนเป็นระยะทางถึง 1 กิโลเมตร



แนวพระราชดำริป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่บนพื้นฐานของการป้องกันน้ำจากภายนอกพื้นที่ไหลเข้ามา นำน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ออกไป และการสร้างพื้นที่เก็บน้ำที่มามากก่อนระบายออกทำนองเดียวกับการป้องกันน้ำท่วมในส่วนภูมิภาค เช่นการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำ ป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำตามคลองรอบๆ กรุงเทพฯ ด้านทิศเหนือและด้านตะวันออก ไม่ให้ไหลบ่าเข้าท่วมกรุงเทพฯ ชั้นใน การปรับปรุงลำน้ำที่มีอยู่เดิม ดังจะเห็นได้จากพระราชดำริโครงการขุดลอกและปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ พร้อมประตูระบายน้ำที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อประโยชน์สำหรับเร่งระบายน้ำออกจากกรุงเทพฯ สามารถย่นระยะทางการไหลบ่าของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อลงสู่อ่าวไทย จาก 16-18 กิโลเมตร เหลือเพียง 600 เมตร ทำให้บรรเทาวิกฤตน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ได้ในช่วงพุทธศักราช 2549 และที่สำคัญคือ การสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้ช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำให้ดีตลอดไป

4. การจัดการน้ำเสียตามพระราชดำริ

“...ภายใน 10 ปีที่ผ่านมาได้สังเกต เพราะว่าบางทีก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์วนกรุงเทพฯ หลายครั้ง ตรงไหนที่คลองโดยเฉพาะคลองพระโขนงแล้วก็คลองตรงปลายคลองผดุงกรุงเกษมมันออกมาเป็นสีดำ เดี๋ยวนี้แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งอัน คือไม่เป็นบางแห่งเพราะว่าสิ่งโสโครกออกมาก็ลงไปในทะเล ลงไปในทะเลก็ไปทำให้ทะเลโสโครก ปลาก็ตาย เมื่อปลาตายก็ประกอบตัวขึ้นเป็นสิ่งโสโครกโดยการเน่ามันไม่สามารถที่จะทำให้ได้วงจรที่ว่าสิ่งโสโครกกลายเป็นสิ่งที่ดี เช่นเป็นปุ๋ย แล้วก็ไม่สามารถที่จะทำให้สลาย อันนี้เป็นต้นเหตุของสิ่งโสโครก...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 26 กรกฎาคม พุทธศักราช 2532

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเสียทั้งในกรุงเทพฯ และในเขตชุมชนเมืองของจังหวัดต่างๆ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทรงชี้แนะว่าน้ำเสียสามารถบำบัดได้ด้วยวิธีการทางธรรมชาติ แต่ในเมืองใหญ่ดังกรุงเทพฯ แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นแหล่งระบายน้ำใช้จากชุมชนและจากโรงงาน ซึ่งนับวันจะกินพื้นที่และมีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้นวิธีการที่จะสามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งโดยวิธีการทางธรรมชาติ และการใช้เทคโนโลยีง่ายๆ เพื่อให้เป็นต้นแบบสำหรับการนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ได้ ซึ่งหลักการสำคัญของโครงการตามแนวพระราชดำริอาศัยวิธีการ 2 อย่างคือ วิธีการทางชีวภาพและวิธีการทางกลศาสตร์

4.1วิธีการทางชีวภาพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ดำเนินการทดลองโครงการบำบัดน้ำเสียในพุทธศักราช 2538  โดยทรงใช้กลไกของธรรมชาติในระบบนิเวศ นั่นคือการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย บนหลักการของปรากฏการณ์น้ำขึ้น - น้ำลงด้วยการควบคุมระดับน้ำในคลองสายต่างๆ ตามหลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก และถ่ายน้ำดีจากแม่น้ำเข้ามาในลำคลอง ทำให้น้ำเสียมีสภาพเจือจางลงและเมื่อน้ำทะเลลดก็ระบายออกสู่ทะเล เป็นการนำน้ำดีมาขับไล่น้ำเสียในคลองได้ภายในหนึ่งรอบการหนุนของน้ำทะเล และใช้เครื่องสูบน้ำช่วยในกรณีที่คลองสายนั้นๆ อยู่ลึกเข้าไปจากแม่น้ำมาก

นอกจากนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถทรงพบว่า ผักตบชวา มีส่วนช่วยในการบำบัดน้ำเสียได้ โดยทำหน้าที่ดูดซับความโสโครกและโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว สารแขวนลอยในน้ำ เสมือนเป็นเครื่องกรองน้ำธรรมชาติ และได้ทรงทดลองในโครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสัน ซึ่งเดิมใช้เป็นแหล่งระบายน้ำเสียจากชุมชนและโรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง โดยนำผักตบชวามาล้อมด้วยคอกไม้เป็นระยะๆตลอดตัวบึง แต่ละกอจะทำงานร่วมกับจุลินทรีย์ในน้ำเมื่อผักตบชวาสังเคราะห์แสง จะทำให้เกิดก๊าซออกซิเจน จุลินทรีย์ในน้ำจะนำไปใช้ในการย่อยสลายของเสียและสารอินทรีย์ได้ ซึ่งการดำเนินงานบำบัดน้ำเสียตามโครงการบึงมักกะสันได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริ การบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ รองรับน้ำจากตัวเมืองได้ทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีธรรมชาติ ทรงให้ศึกษาทดลองที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2533 เพื่อบำบัดน้ำเสียจากชุมชน เมืองเพชรบุรี

วิธีการบำบัดน้ำเสียมี 3 ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรกเป็นระบบบำบัดน้ำเสีย โดยให้น้ำเสียทั้งหมดผ่านระบบบ่อตกตะกอน แสงอัลตราไวโอเลตและพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ จะช่วยเร่งให้เกิดการตกตะกอนเร็วขึ้น และฆ่าเชื้อโรคที่ปนมากับน้ำทำให้น้ำสะอาดในระดับหนึ่งและจะไหลล้นเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 คือ ระบบที่บำบัดด้วยแปลงหญ้า น้ำที่ผ่านกระบวนการทั้งสองขั้นนี้จะมีคุณภาพดีขึ้นและสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ขณะที่บางส่วนปล่อยเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 คือ ระบบบำบัดด้วยป่าชายเลนก่อนไหลลงสู่ทะเลธรรมชาติ เมื่อประสบผลสำเร็จจึงได้เผยแพร่วิธีการไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย

4.2วิธีการทางกลศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้นเครื่องกลเติมอากาศหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย ซึ่งต่อมาได้พระราชทานชื่อว่ากังหันน้ำชัยพัฒนา โดยพระราชทานหลักการและรูปแบบของเครื่องกลเติมอากาศแก่กรมชลประทานเมื่อพุทธศักราช 2531 เพื่อนำไปประดิษฐ์เป็นต้นแบบสำหรับทดลองใช้ จากนั้นได้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นตามลำดับ และได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ เครื่องกลเติมอากาศที่ทรงคิดค้นขึ้นนี้ ทรงได้แบบอย่างมาจาก หลุก เครื่องมือพื้นบ้านในภาคเหนือ ที่วางขวางตามลำธารภาคเหนือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองกังหันน้ำชัยพัฒนาที่บึงพระราม 9 กรุงเทพฯ เมื่อได้ผลดีจึงขยายการติดตั้งออกไปอีกหลายพื้นที่

หลักการของกังหันน้ำชัยพัฒนาคือ การเติมอากาศลงไปในน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำให้มีมาก อันจะช่วยบำบัดน้ำเสียได้รวดเร็วยิ่งขึ้น วิธีการเติมอากาศมีหลายวิธี จึงมีการประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศถึง 9 แบบด้วยกัน ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรในการประดิษฐ์คิดค้นกังหันน้ำชัยพัฒนาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2536 นับเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทยและของโลก และนับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับการจดสิทธิบัตรในประเทศต่างๆ รวมถึงองค์กรบรัสเซลส์ ยูเรกา (Brussels Eureka) แห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น ประจำพุทธศักราช 2543 ในงานบรัสเซลส์ ยูเรกา 2000 : นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ งานวิจัย และเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลก ครั้งที่ 49 มากถึง 5 รางวัล รวมถึงรางวัลจากองค์กรต่างๆ จำนวนมาก

การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สะท้อนแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ของพระองค์ ทรงมีความเข้าใจว่าน้ำไหลอย่างไร จากฝนมาเป็นน้ำ จะเก็บน้ำได้อย่างไร ใช้อย่างไร แล้วต้องดูแลน้ำอย่างไร เริ่มจากการมีฝายชะลอความชุ่มชื้นตั้งแต่ในป่าผ่านเมืองมีแก้มลิง และมีการจัดการน้ำท่วม จนกระทั่งถึงการปล่อยออกสู่ทะเล หรือระบบการบำบัดน้ำเสียในชุมชนเมืองดังที่บึงพระราม 9 ในกรุงเทพฯ และที่แหลมผักเบี้ย เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดอย่างเป็นระบบ และครบองค์รวม การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นการจัดการน้ำอย่างครบวงจรและยั่งยืน

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ

การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่พืชต้องการ อีกทั้งความผันแปรเนื่องจากฝนตกไม่พอเหมาะกับความต้องการ เป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ “น้ำคือชีวิต” ดังพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ความตอนหนึ่งว่า

“...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”

:: ตัวอย่างโครงการ ::
•โครงการแก้มลิง
•เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
•โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก
•โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จังหวัดลำพูน
•โครงการห้วยองคต จังหวัดกาญจนบุรี
•โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน
•โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขื่อนขุนด่านปราการชล
•โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย
•การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา
•โครงการฝนหลวง
•โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “คลองลัดโพธิ์”
•โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทอน จังหวัดหนองคาย
•โครงการขุดสระเก็บกักน้ำตามทฤษฎีใหม่ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
•โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครพนม
•โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาฬสินธุ์
•โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช
•โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
•โครงการฝายทดน้ำบ้านฆอรอราแม จังหวัดยะลา
•โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดมุกดาหาร
•โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ยอนตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
•โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง
•โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนอันเนื่องมาจากพะราชดำริ จ.พิษณุโลก
•โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จังหวัดลำพูน
•โครงการอ่างเก็บน้ำแม่แคมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแพร่
•โครงการฝายแม่งาวพร้อมระบบส่งน้ำบ้านประชาภักดีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
•โครงการฝายคลองช่องเรืออันเนื่องมาจากพระราชดําริ ตําบลทรายขาว อําเภอโคกธิ์ จังหวัดปัตตานี
•โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
•โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านห้วยหวด ตำบลจันทร์เพ็ญ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
•โครงการบำบัดน้ำเสียโดยใช้พืช บึงมักกะสัน กรุงเทพมหานคร
•โครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว หมู่ที่ 1 บ้านท่างิ้ว ตําบลท่างิ้ว อําเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
•โครงการอ่างเก็บน้ำผาน้ำหยดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
•โครงการอ่างเก็บน้ำบางกำปรัดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่
•โครงการชลประทานเมืองกาญจนบุรี-พนมทวน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านหนองโรง 2
•โครงการคลองตำหนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านตำหนัง หมู่ที่ 2 ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
•โครงการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา ศูนย์รวมพรรณไม้ภูมิภาค สาขาจังหวัดพังงา
•โครงการฝายทดน้ำคลองใน พร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปากคลอง หมู่ที่ 3 ตำบลรมณีย์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา

มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเงินจำนวน 84 ล้านบาท ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ให้เป็นทุนประเดิมสำหรับการก่อตั้งมูลนิธิน้ำ เพื่อสนองพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาเรื่องน้ำ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมูลนิธิน้ำว่า อุทกพัฒน์ และตราประจำมูลนิธิฯ กับพระราชทานพระมหากรุณาให้มูลนิธิฯ อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยชื่อของมูลนิธิ อุทกพัฒน์ มาจากคำว่า อุทก ซึ่งหมายถึง “น้ำ” และพัฒน์ มาจากคำว่า “พัฒนา” เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายว่า “มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเรื่องน้ำ”

ความหมายโดยรวมของเครื่องหมายของมูลนิธิ หมายถึง “น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต จำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันในการบริหารและพัฒนา ซึ่งหากจะทำได้ก็ต้องมีข้อมูล ความรู้ และความเข้าใจเรื่องน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ ทั้งความสำเร็จ ความรู้ เทคนิค ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษา ค้นคว้า พัฒนา และทดลองเรื่องน้ำมาโดยตลอด

นับตั้งแต่ทรงครองสิริราชสมบัติ และทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จำเป็นต้องนำมาบันทึก รวบรวม และเผยแพร่ให้ประชาชนใช้เป็นหลักในการแก้ไข พัฒนา บริหารน้ำของท้องถิ่นและของประเทศต่อไป”

การสร้างความสมดุลของทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “น้ำคือชีวิต” และการบริหารจัดการน้ำ “จากภูผาสู่นที” คือต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำที่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การพัฒนารูปแบบป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การจัดการน้ำแล้งและน้ำหลากนอกเขตชลประทาน และอีกหลายแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงทำเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นต้นแบบสู่การนำไปใช้ในชุมชนได้จนประสบความสำเร็จ

กำลังโหลดความคิดเห็น