xs
xsm
sm
md
lg

“ฝนหลวง” พระอัจฉริยภาพ “พ่อหลวง” ของปวงชนชาวไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้” เป็นหนึ่งโจทย์ปัญหาที่ทรงสังเกตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต่อมากลายเป็นแนวพระราชดำริอันยิ่งใหญ่ คือ การทำฝนหลวง หรือ ฝนเทียม ที่พระองค์ทรงค้นพบด้วยพระองค์เองจากสายพระเนตรอันยาวไกลและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ที่สามารถใช้วิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อสร้างเป็นเม็ดฝน สร้างความชุ่มชื้นให้พสกนิกรในพื้นที่แห้งแล้งหรือขาดแคลนน้ำ

 เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับฝนหลวงแก่ข้าราชการสำนักงาน กปร. ประกอบด้วย นายสุเมธ ตันติเวชกุล นายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ และนายพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

เรื่องฝนเทียมนี้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2498 แต่ยังไม่ได้ทำอะไรมากมาย เพราะว่าไปภาคอีสานตอนนั้นหน้าแล้งเดือนพฤศจิกายน ที่ไปมีเมฆมากอีสานก็แล้ง ก็เลยมีความคิด 2 อย่าง ต้องทำ Check dam ตอนนั้นเกิดความคิดจากนครพนม ผ่านสกลนครข้ามไปกาฬสินธุ์ ลงไปสหัสขันธ์ที่เดี๋ยวนี้เป็นอำเภอ สมเด็จ...ไปจอดที่นั่นไปเยี่ยมราษฎรมันแล้ง มีฝุ่น...

แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้ ก็เคยได้ยินเรื่องทำฝนก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้..

ด้วยพระเนตรที่ยาวไกล และความอัจฉริยะของพระองค์ท่านที่ประกอบด้วยคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ จึงทรงสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้นแล้ว จึงมีพระราชดำริครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2498 แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่าจะทรงค้นหาวิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากที่จะได้รับจากธรรมชาติ โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์กับทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดมีศักยภาพของการเป็นฝนให้ได้ และพระองค์ทรงเชื่อมั่นในพระราชหฤทัยว่า

“ ลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศของบ้านเราจะสามารถดำเนินการให้บังเกิดผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน”
ภาพจาก www.trueplookpanya.com
โครงการพระราชดำริ การทำฝนหลวง หนึ่งในโครงการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตการขาดแคลนน้ำ เริ่มขึ้น ในปี พ.ศ. 2499 โดยพระองค์ท่านพระราชทานพระราชดำริแก่ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ว่า ในลู่ทางที่จะคิดค้นหาเทคนิคหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ด้านการดัดแปลงสภาพอากาศมาช่วยให้เกิดการก่อและรวมตัวของเมฆให้เกิดฝนได้ การรับสนองพระราชดำริได้ดำเนินการอย่างจริงจังจากความร่วมมือกันระหว่าง ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ในอันที่จะศึกษาและนำวิธีการทำฝนอย่างในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับสภาพอากาศของเมืองไทย

วันที่ 20 กรกฎาคม 2512 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์แห่งการทำฝนหลวงของประเทศไทย เพราะเป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้น้ำแข็งแห้ง (dry-ice) โดยที่ยอดของกลุ่มก้อนเมฆ ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ 15 นาที ก้อนเมฆในบริเวณนั้นเกิดมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนเห็นได้ชัด สังเกตได้จากสีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้

จากปัญหาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเปลี่ยนที่ทดลองไปยังจุดแห้งแล้งอื่นๆ เช่น ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

นอกจากนี้พระองค์ฯ ได้พระราชทานคำแนะนำและมีพระราชดำริเพิ่มเติมในการปรับปรุงหลายประการจนสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ดีและทรงให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ตลอดทั้งทรงติดตามการปฏิบัติงานทดลองอย่างใกล้ชิดทุกระยะ และทรงแนะนำฝึกฝนนักวิชาการให้สามารถวางแผนปฏิบัติการอย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่น บางครั้งพระองค์ก็ทรงทดลองและควบคุมบัญชาการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เอง

รวมทั้งการศึกษาวิจัยส่วนพระองค์ เกี่ยวกับกระแสและทิศทางลมในแต่ละพื้นที่แต่ละเวลา รวมทั้งการทดสอบปรับปรุงหลายประการ จนสามารถพระราชทานข้อแนะนำให้ดึงหรือสร้างเมฆได้ ทั้งยังสามารถบังคับเปลี่ยนทิศทางของเมฆให้เกิดฝนตกในบริเวณรับน้ำที่ต้องการ เช่นอ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลองบึง หรือบริเวณใกล้เคียงที่กำหนดได้

นับว่าฝนหลวง เป็นความสำเร็จที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพ และความสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้จริง โดยพระองค์ทรงทำการทดลองวิจัยด้วยพระองค์เอง รวมทั้งได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่าย เพื่อทำการทดลองปฏิบัติการฝนหลวง พระเมตตาธรรม ระยะเวลาที่ทรงมานะบากบั่น อดทนด้วยพระวิริยอุตสาหะ

ในที่สุดด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพที่ทรงสั่งสมจากการทดลอง สามารถทำให้กำหนดบังคับฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จ กลายเป็นแนวทางให้นักวิชาการฝนหลวงรุ่นปัจจุบัน ได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างมีระเบียบและเป็นระบบวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง

หลังจากที่ทรงประสบผลสำเร็จและมีการยอมรับจากทั้งภายในและต่างประเทศแล้วนั้น ปริมาณความต้องการฝนหลวงเพื่อช่วยพื้นที่เกษตรกรรมและการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2520-2534 มีการร้องเรียนขอฝนหลวงเฉลี่ยถึงปีละ 44 จังหวัด ซึ่งทรงพระเมตตาอนุเคราะห์ช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการบรรเทาการสูญเสียทางเศรษฐกิจให้ประสบความเสียหายน้อยที่สุด

นอกจากนี้ประโยชน์สำคัญที่ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภค ก็คือ เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างและเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน และผลิตกระแสไฟฟ้า แหล่งน้ำและต้นน้ำลำธารธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงป่าไม้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งความชุ่มชื้นที่ได้รับเพิ่มขึ้น

ฝนหลวง : แก้ไขภัยแล้ง ก้าวไปสู่การบรรเทาสาธารณภัย และเพิ่มพูน เศรษฐกิจ

ฝนหลวง ได้บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์มากเกินกว่าที่คาดคิดกันไว้นัก เพราะ ฝนหลวง กลับกลายจากจุดมุ่งหวังที่ในครั้งแรกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งนั้น ได้รับการร้องขอให้ขยายการบรรเทาความเดือดร้อนที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอีกด้วย กล่าวคือ ฝนหลวง มีส่วนช่วยเหลือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยหลายประการไม่ว่าจะด้านเกษตร หรือ ด้านอุปโภคบริโภคก็ตาม

สภาพความแห้งแล้งอันเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ...ได้กลับพลิกฟื้นคืนสู่สภาพที่สดใสขึ้นอีกครั้งหนึ่งบนผืนแผ่นดินไทย โดยพระราชดำริฝนหลวง อันเกิดจากน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตาและพระกรุณาธิคุณแห่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงสอดส่องดูแลทุกข์สุขและห่วงใยทุกชีวิตโดยแท้

กำลังโหลดความคิดเห็น