ตลอดระยะเวลากว่า ๗ ทศวรรษที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเคียงบ่าเคียงไหล่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะ พระคู่ขวัญ พระแม่แห่งแผ่นดิน ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันน้อยใหญ่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานในด้านการสร้างปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เพื่อเกื้อกูลต่อการพัฒนาอาชีพของราษฎร หากแต่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ก็จะทรงงานด้านความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของราษฎร โดยเฉพาะงานหัตถกรรมในครัวเรือน เพื่อช่วยเสริมรายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่งเพราะทรงเห็นว่าคนไทยมีฝีมือหลายด้านทางการช่าง จึงทรงพระราชทานความช่วยเหลือผ่านโครงการในพระราชดำริหลากหลายโครงการดั่งที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวไทยและชาวโลก
สิ่งต่างๆเหล่านี้นอกจากจะส่งผลให้พสกนิกรของพระองค์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความอิ่มกายแล้วเท่านั้น หากแต่ความสุขทางใจของพสกนิกรทุกหมู่เหล่านั้น ก็ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยไปไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โดยพระองค์ทรงมอบความสุขให้กับประชาชนผ่านงานอนุรักษ์ด้านศิลปะวัฒนธรรมไทยที่นับวันกำลังเลือนหายไปจากความทรงจำ และหนึ่งในศิลปะวัฒนธรรมที่ทรงอนุรักษ์ไว้นั้นก็คือ “โขน” อันเป็นวิจิตรนาฎศิลป์ชั้นสูงของประเทศไทย โดยทรงให้มีการฟื้นฟูโขนพระราชทานขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๕0
นอกจากทรงฟื้นฟูโขนพระราชทานที่กำลังเลือนหายไปแล้วนั้น สิ่งที่ได้ตามมาคือคนไทยรุ่นใหม่นิยมการชมโขนมากขึ้น และยังทรงต่อลมหายใจให้กับงานปราณีตศิลป์ ในเรื่องงานปักเครื่องโขนที่สูญหายไปตามกาลเวลาหลายร้อยปี เพราะเบื้องหลังความงดงามและอลังการของการแสดงโขนพระราชทานนั้น ส่วนหนึ่งเเป็นผลงานของสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯที่ครั้งหนึ่งสองมือเคยกำเคียวเกี่ยวข้าว รับจ้างหาเช้ากินค่ำ พวกเขาทุกคนได้ประสานใจเป็นหนึ่งเดียวบรรจงปักผ้าลวดลายวิจิตรลงบนชุดนักแสดงโขนแทบทุกตัวการแสดง ฝากฝีไม้ลายมืออันงดงามให้เป็นที่ประจักษ์นับเป็นการต่อลมหายใจให้ช่างปักเครื่องโขนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ดังนั้นก่อนการแสดงโขนพระราชทาน ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์”ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๕ พ.ย. - ๕ ธ.ค.๒๕๕๙ ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรม ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยราชเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงได้พาเยือนสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เพื่อพาไปชมเบื้องหลังทุกขั้นของการทำชุดโขน
ซึ่งกว่าจะได้ผ้าลวดลายอันสวยงามมาแต่ละผืนนั้นต้องใช้เวลาเป็นแรมปี ด้วยจิตใจที่จงรักภักดีและต้องการสานต่อแนวพระราชของพระแม่แห่งแผ่นดินทีทรงมีพระราชประสงค์อยากให้งานปราณีตศิลป์เหล่านี้กลับมาโลดแล่นอีกครั้งในหัวใจของชาวไทยทั้งประเทศ ดังนั้นผ้าทุกผืนที่ออกมานั้นจึงเต็มไปด้วยหัวใจแห่งความรักและภักดี
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฉายภาพย้อนกลับไปว่า นับเป็นเวลาครบ ๑ ทศวรรษ ที่คนไทยได้มีโอกาสชมความวิจิตรตระการตาของการแสดงระดับชาติที่ได้รับการสืบทอดไว้ ตามพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยฟื้นฟูการแสดง “โขน” ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งนับตั้งแต่พ.ศ.๒๕๕0 องค์ประกอบต่างๆ ของโขนพระราชทาน ล้วนสร้างความประทับใจและความซาบซึ้งในความงดงามของศิลปะไทย ไม่ว่าจะเป็นฉาก แสง สี เสียง พัสตราภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีต ตามจารีตโบราณ รวมถึงการปักเครื่องโขน ที่ได้มีความพยายามในการฟื้นมาหลายปีโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จนประสบความสำเร็จ
“การปักเครื่องโขน และการทอผ้านั้น ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเรียกว่าปีชนปีก็ว่าได้ จึงมีการสืบสานงานในส่วนนี้ โดยมาพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง ในการเป็นแรงกำลังสำคัญในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านแล้ว ยังนับเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์การปักเครื่องโขนให้คงอยู่สืบไป”ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ อธิบายด้วยน้ำเสียงสดใส
การปักเครื่องโขนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะคัดเลือกสมาชิจากศูนย์ศิลปาชีพมาปักเครื่องโขนนั้นมีการคัดเลือกกันอย่างเข้มข้นไม่แพ้การประกวดออดิชั่นเวทีต่างๆเลยก็ว่าได้ อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ การแสดงโขนฯ เล่าถึงขั้นตอนการคัดเลือกช่างปักว่าแรกเริ่มมีคนมาสมัครถึง ๒0 คน โดยนำโจทย์การปักขั้นพื้นฐานอย่างการปักนก ปักลวดลายธรรมชาติ มาให้ทดสอบ และจากการวัดความสามารถของฝีเข็มในการปักดิ้นผ้า ทำให้มีผู้ผ่านการคัดเลือก ๑๔ คนเท่านั้น
โดยทั้ง๑๔ คนนี้จะมีหน้าที่ในการปักเครื่องโขน ซึ่งเป็นการปักดิ้นทองลงบนผ้า ตามแบบลายที่มีอยู่ ซึ่งต้องอาศัยความประณีตและความตั้งใจทำ โดยการปักเครื่องโขน ที่อำเภอสีบัวทองแห่งนี้นั้น จะมีการทำอยู่ทั้งหมด ๔0 ลาย ได้แก่ ลายราชวัตรดอกลอย , ลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบดอกใน , ลาย ราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง และลาย ขนทักษิณาวัตร
ซึ่งในแต่ละปีจะมีการปักเครื่องโขนเพื่อใช้สำหรับ พัสตราภรณ์ในการแสดงที่แตกต่างกันออกไป โดยเครื่องโขนฝีมือสมาชิกศูนย์นั้น ประกอบไปด้วย เสื้อ, แขนเสื้อ, อินธนู, กรองศอ, รัดเอว, สนับเพลา และเกราะด้านหน้า ที่ใช้สำหรับตัวละครที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พิเภก, ทศกัณฑ์, เสนายักษ์ ฯลฯ”
อ.วีรธรรม ฉายภาพให้ฟังเพิ่มเติมว่า "ลายต่างๆ จะใช้สำหรับส่วนต่างๆ ของชุดนักแสดง อาทิ ลายราชวัตรดอกลอย และ ลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบดอกใน ใช้สำหรับ ตัวละครเสนายักษ์ และตัวละครเอก , ลายราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง สำหรับตัวละครพิเภก และ ขนทักษิณาวัตร สำหรับตัวละครหนุมาน โดยขั้นตอนการปักเครื่องโขนนั้น จะมีการใช้ดิ้น-เลื่อม โดยเริ่มจากร่างแบบลายลงบนกระดาษไข แล้วนำไปทำบล็อกซิลค์สกรีน, หลังจากสกรีนลายลงบนผ้าด้วยกาวกระถินผสมดินสอพองแล้วนั้น จะขึงสะดึงด้วยผ้าขาวให้ตึง แล้วนำผ้าที่จะใช้มาปักเย็บตรึงให้เรียบ และเริ่มดำเนินการปักตามลาย โดยเริ่มจากการปักขอบลายด้วยดิ้นข้อก่อน เสร็จแล้วจึงปักด้านในของลายด้วยดิ้นโปร่งให้เต็มลาย"
พระมหากรุณาธิคุณในการทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ฟื้นฟูการแสดงโขน นอกจากเป็นการสืบต่อลมหายใจของภูมิปัญญาไทยหลายแขนงไว้ไม่ให้สูญหายแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือพสกนิกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลีกหนีความแร้นแค้นในชีวิต อีกทั้งยังสร้างความภูมิใจให้กับตัวเองที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติไว้
ดั่งเช่นวสะวรรณ โตงาม สาวใหญ่วัย๔๒ ปี ที่พิการขามาแต่กำเนิด เป็นสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองหนึ่งในผู้ได้รับหน้าที่เป็นช่างปักเครื่องโขน ชีวิตที่ผ่านมาเคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่ร่างกายไม่ครบ ๓๒ ประการไปสมัครงานี่ไหนก็ไม่มีใครรับ ได้แต่อาศัยความถนัดเฉพาะตัวด้านการเย็บปักถักร้อย รับจ้างเย็บผ้าหาเลี้ยงตัวและพ่อแม่ แต่ค่าจ้างเพียงน้อยนิด ครั้นเมื่อศูนย์ศิลปาชีพเปิดรับสมัครช่างปักผ้า สาวใหญ่กายพิการแต่หัวใจแกร่งเกินร้อยจึงรีบมาสมัคร และได้รับคัดเลือกเป็นผู้ทำหน้าที่ปักชุดโขน
๒ ปีแล้วที่วสะวรรณ รับหน้าที่อันสำคัญในชีวิต เธอบอกว่า ชีวิตวันนี้ช่างแตกต่างจากเมื่อก่อนยิ่งนัก การปักชุดโขนถึงแม้จะไม่ทำให้เธอร่ำรวยแต่ก็ทำให้เธอมีเงินพอเลี้ยงตัวและส่งเสียพ่อแม่ได้บ้าง แต่เหนืออื่นใดคือความภูมิใจที่ตัวเองได้มาทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ เพราะไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมารับหน้าที่ตรงนี้
“รักสมเด็จพระนางเจ้าฯมากเพราะพระองค์ท่านไม่เพียงแค่ให้ชีวิตใหม่กับเราเท่านั้น แต่ เรายังได้เป็นส่วนหนึ่งในการสานพระราชเสาวณีย์ของพระองค์ท่านที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้อนุกรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยที่กำลังหายไปให้อยู่ในใจชาวไทยทั้งประเทศอีกครั้ง และเราจะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด” วสะวรรณ เล่าด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของน้ำพระราชหฤทัยที่ผลิดอกออกผลบนผืนแผ่นดินไทยอย่างงดงาม
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา๘๔ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล โปรดบำรุงรักษาให้มีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญแห่งปวงพสกนิกรชาวไทยตราบจิรัฐิกาลเทอญ
................................
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ทีมข่าวCeleb Online Daily หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัย 360