xs
xsm
sm
md
lg

วันสำคัญทางวิทยาศาสตร์เนื่องในพระอัจฉริยภาพ “รัชกาลที่ ๙”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ด้วยพระปรีชาสามารถใน “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” หลายๆ วันในประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนำไปสู่การจัดงานในวันสำคัญเพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณ

2 กุมภาพันธ์ “วันนักประดิษฐ์”

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

เหตุที่เป็นวันดังกล่าวเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2536 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้า แบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” นับเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและของโลก

“กังหันน้ำชัยพัฒนา” นั้นเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ได้พระราชทานรูปแบบและพระราชดำริเมื่อ 24 ธ.ค. 2531 มีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนได้ถึง 1.2 กิโลกรัมต่อแรงม้าต่อชั่วโมง ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ กังหันน้ำชัยพัฒนาถูกนำไปทดลองติดตั้งเพื่อบำบัดน้ำเสียที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2532 และที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2532

เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2537 กำหนดให้วันที่ 2 ก.พ.ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” และนายกรัฐมนตรีได้บัญชาการให้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานกลางในการจัดงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”

นอกจากเพื่อเฉลิมพระเกียรติ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” แล้ว งานวันนักประดิษฐ์ยังเป็นเวทีระดับชาติในการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักประดิษฐ์ไทยในการพัฒนาประดิษฐ์คิดค้นให้มีประสิทธิภาพสูง สร้างบรรยากาศการเรียนรู้และพัฒนาทักษะแก่นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการเผยแพร่ผลงานเพื่อประดิษฐ์คิดค้นเพื่อนำไปสู่การต่อยอดหรือสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งสร้างเครือข่ายนักประดิษฐ์และองค์กรการประดิษฐ์ในอาเซียนและนานาชาติ

วช.ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดงานวันนักประดิษฐ์ขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และในปี 2559 นี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 ภายในงานมีนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ของไทย ทั้งนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการผลงานรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ไทยที่ได้รับรางวัลนานาชาติ รวมถึงการประชุมเสวนา การประกวดสิ่งประดิษฐ์ และการมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น

19 ตุลาคม “วันเทคโนโลยีของไทย”

ทุกวันที่ 19 ตุลาคมถือเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เนื่องจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เห็นควรเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาตลอด โดยทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยและทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในวันที่ 12 ธ.ค. 2543 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้เทิดพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ในฐานะ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และกำหนดวันเทคโนโลยีของไทย

วันเทคโนโลยีของไทยตรงกับวันที่ 19 ตุลาคม เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และฝนตกลงตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ แม้การทำฝนเทียมจะเริ่มขึ้นในต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงมีเทคนิคการทำฝนเทียมเป็นแบบฉบับเฉพาะของพระองค์เอง

การทำ “ฝนเทียม” หรือ “ฝนหลวง” มี 3 ขั้นตอน คือ 1. “ก่อกวน” กระตุ้นให้เมฆรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเพื่อใช้เป็นแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝนในระยะต่อมา สารเคมีที่ใช้ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์, แคลเซียมคาร์ไบด์, แคลเซียมออกไซด์ หรือส่วนผสมระหว่างเกลือแกงกับสารยูเรีย หรือสารผสมระหว่างสารยูเรียกับแอมโมเนียไนเตรต โดยสารผสมดังกล่าวจะก่อให้เกิดกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในอากาศ

2. “เลี้ยงให้อ้วน” ใช้สารเคมี คือ เกลือแกง สารประกอบสูตร ท.1 สารยูเรีย แอมโมเนียไนเตรต น้ำแข็งแห้ง และอาจใช้สารแคลเซียมคลอไรด์ร่วมด้วยเพื่อให้เกิดแกนเม็ดไอน้ำให้กลุ่มเมฆมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น และ 3. “โจมตี” สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้เป็นสารเย็นจัด คือ ซิลเวอร์ไอโอได และน้ำแข็งแห้งเพื่อให้เกิดภาวะไม่สมดุลมากที่สุด ซึ่งจะเกิดเป็นเม็ดน้ำที่มีขนาดใหญ่มากและตกลงเป็นฝนในที่สุด

สำหรับกิจกรรมในงานวันเทคโนโลยีของไทย ส่วนใหญ่เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถในฐานะ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการเทคโนโลยีที่คิดค้นโดยคนไทย เช่น เครื่องมือเครื่องจักรกลการเกษตร และมีการมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น รวมถึงงานสัมมนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

5 ตุลาคม “วันนวัตกรรมแห่งชาติ”

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2549 เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม โดยทรงใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้

วันที่ 5 ต.ค. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส และทรงมีพระราชดำรัสแสดงถึงความเป็นนวัตกรรมของ “โครงการแกล้งดิน” โครงการทดลองเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่พรุ หรือพื้นที่ราบลุ่มตามชายฝั่งทะเลของไทย

“การแกล้งดิน” เป็นวิธีการศึกษาการเปลี่ยนความเป็นกรดของดินกำมะถัน โดยจำลองสภาพฤดูแล้งและฤดูฝนให้กับดิน ด้วยการทำให้ดินเปียกสลับแห้งหลายๆ รอบ เพื่อเร่งปฏิกิริยาเคมีของดินให้เปรี้ยวจัดจนพืชตายหมด เป็นวิธีที่ช่วยย่นระยะเวลาในการศึกษาดินเปรี้ยว แล้วจึงทดลองหาทางแก้ปัญหาดินเปรี้ยวด้วยวิธีต่างๆ จนสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ เช่น ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน ปรับปรุงดินเพื่อทำนา หรือปลูกพืชล้มลุกในฤดูแล้ง เช่น ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ใช้ปูนคลุกหน้าดิน หรือใช้น้ำชะล้างควบคู่กับการใช้ปูนคลุกหน้าดิน และปรับสภาพพื้นที่เพื่อปลูกไม้ผลหรือพืชล้มลุก เช่น การยกร่อง หรือปลูกพืชแล้วทำคันดินล้อมรอบ

ในวันนวัตกรรมแห่งชาตินั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา และเครือซีเมนต์ไทย ร่วมจัดงานเพื่อเทิดพระเกียรตินวัตกรรม “แกล้งดิน” โดยภายในงานมีการมอบรางวัลและจัดนิทรรศการแสดงนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลระดับชาติ เช่น รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ รางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย และรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย

5 ธันวาคม “วันดินโลก”

นอกจากวันที่ 5 ธันวาคมเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” และตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 แล้ว องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยังมีมติสนับสนุนและผลักดันให้วันดังกล่าวเป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ (Emeritus Professor Dr. Stephen Nortcliff) กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2555 และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก”

วันสำคัญเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งให้เราได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตพสกนิกร แม้พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่พระปรีชาสามารถจะเป็นแนวทางให้ชาวไทยน้อมนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น