xs
xsm
sm
md
lg

ทางตันของประยุทธ์หลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ดูเหมือนการตีความของศาลรัฐธรรมนูญหลังประชามติที่บอกว่าให้ ส.ส.และส.ว.รวมกันเลือกนายกรัฐมนตรี และประเด็นสำคัญก็คือศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองไม่ได้ ให้ขอมติเพื่อเลือกคนนอกได้ตลอด 5 ปีแรก ต่างกับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เคยอธิบายว่า สามารถทำได้ครั้งแรกครั้งเดียว

ดังนั้น มันเท่ากับดูเหมือนว่าเส้นทางของนายกฯ คนนอกหลังการเลือกตั้งจะราบรื่น และอาจอยู่ในตำแหน่งได้นานถึง 2 สมัย 8 ปีทีเดียว

ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า หลังเลือกตั้งถ้าไม่สามารถหาตัวนายกรัฐมนตรีได้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีไปจนถึงตอนนั้นยังมีมาตรา 44 อยู่ในมือสามารถยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้ทันที

เพราะว่ามาตรา 265 ของบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2559 ที่ผ่านประชามติ ยังให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังมีมาตรา 44 อยู่ในมือ

ถามว่า โอกาสที่จะถึงทางตันอย่างที่นายวิษณุพูดจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น บอกตรงๆ ว่ามีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกันนะครับ เรามาดูกัน

ขั้นตอนแรกเมื่อเลือกตั้งเสร็จ ส.ส. 500 คน และส.ว. 250 คนจะร่วมกันเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเสนอ คนที่จะเป็นนายกฯ ต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภาคือ 376 เสียงจึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่เรารู้กันแล้วตอนนี้ว่า ส.ว. 250 เสียงนั้น เขาเตรียมไว้เลือกใคร คำตอบก็คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเสนอตั้งแต่แรกก็จบข่าว โอกาสที่จะเป็นนายกฯ จากขั้นตอนแรกก็ง่ายมาก แต่ถามว่า การเป็นนายกฯ ได้เสียง ส.ว. 250 เสียงและเสียง ส.ส.อีกเพียง 126 เสียงก็พอแล้วนั้น ในทางคณิตศาสตร์การเมืองก็ใช่ครับเพราะ 376 เสียงเกินครึ่งของสองสภาแล้ว แต่บริหารได้มั้ย คำตอบคือ ไม่ได้ครับ เพราะอย่างไรคนเป็นนายกฯ ก็ต้องได้เสียงจาก ส.ส.เกินครึ่งคือต้องไม่น้อยกว่า 251 เสียงอยู่ดี เพราะตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือผ่าน พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินไม่สามารถพึ่งเสียง ส.ว.ด้วย

ดังนั้น โดยสรุปถ้าพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แม้จะได้เสียง ส.ว. 250 เสียงหนุนแน่ๆ เพราะตั้งมากับมือ ก็ต้องได้เสียง ส.ส. 251 เสียงขึ้นไปด้วย

แต่แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองตั้งแต่แรก แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยเขาได้เกิน 251 เสียงก็จบข่าวนะครับ ขั้นตอนแรกผ่านไปไม่ได้เลย เพราะเขาไม่เลือกพล.อ.ประยุทธ์แน่

ถ้าไม่มีคนเสนอรายชื่อพล.อ.ประยุทธ์ในบัญชีพรรคการเมือง คนอื่นที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีถ้าได้เสียง 376 เสียงแล้วเป็นได้หรือไม่ คำตอบได้นะครับ สมมติว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ซึ่งมีโอกาสเป็นอย่างนี้สูง ส.ว. 250 คนยืนกรานไม่เอาจากบัญชีรายชื่อแน่เพื่อรอไปเลือกจากคนนอก แต่ถ้า ส.ส.เขาสามารถจับมือกันได้ 376 เสียงก็ได้นายกรัฐมนตรีทันที ถ้าเป็นอย่างนี้พล.อ.ประยุทธ์ก็วืด

โอกาสเป็นแบบนี้มีมั้ย คำตอบคือ มี แต่ถ้าจะเป็นไปได้มีคนคำนวณว่านั่นหมายถึงเพื่อไทยกับปชป.ต้องจับมือกัน ซึ่งโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก เพราะรู้กันว่าสองพรรคนี้ไม่มีวันเผาผีกัน เว้นเสียว่า ส.ส.มานั่งคุยกันว่า ถ้าไม่เลือกกันเองตั้งแต่ขั้นตอนแรกโอกาสคนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ 8 ปีนั้นสูงมาก เอาเป็นว่า ถ้า ส.ส.รวมกันได้ 376 เสียงแล้วเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อก็จบข่าวไม่ต้องไปขั้นตอนอื่นต่อ

แต่ถ้าเลือกตามขั้นตอนแรกไม่ได้ ไม่มีใครได้เป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อ ก็ต้องให้สมาชิกกึ่งหนึ่งของสองสภาคือ 376 เสียง ของดเว้นการเลือกจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองซึ่งไม่ยากเพราะมี ส.ว.รองรับอยู่แล้ว 250 คนต้องการเสียง ส.ส.แค่ 126 คนก็ผ่านขั้นตอนนี้ แล้วไปถึงขั้นตอนต่อไปคือใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสองสภาคือ 501 เสียงขึ้นไปขอให้เลือกนายกฯ จากนอกบัญชีพรรคการเมือง ตรงนี้แหละยากถ้าพรรคเพื่อไทยเขาได้เกิน 251 คนหรือ ส.ส.จับมือกันเกิน 251 คนแล้วยืนกรานไม่เอาด้วยก็จบข่าวไปต่อไม่ได้

ดังนั้น โอกาสจะถึงทางตันอย่างที่นายวิษณุว่า จะเกิดขึ้นทันทีถ้าพรรคเพื่อไทยได้มาเกิน 251 คนหรือ ส.ส.รวมกันเกิน 251 คน แต่ถ้าขั้นแรกไม่จบก็ไปต่อที่คนนอกไม่ได้ ถ้าพรรคเพื่อไทยหรือว่า ส.ส.มีเสียงรวมกัน 251 เสียงยืนกรานไม่เอาด้วยก็มาถึงทางตันไปต่อไม่ได้ ก็ต้องให้พล.อ.ประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ยุบสภาอย่างที่นายวิษณุเสนอแนะเพื่อกลับไปเลือกตั้งกันใหม่

ถ้าเลือกกันใหม่แล้วยังตั้งกันไม่ได้จะทำอย่างไร คำตอบก็คือ ต้องใช้มาตรา 44 งดเว้นบางขั้นตอนนั่นแหละครับ แต่เป็นแบบนั้นก็เพราะได้เสียง ส.ส.ในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่งนั่นเอง ดังนั้น ถ้าไม่อยากเจอขั้นตอนนี้ก็ต้องทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.ตามเป้าหมายหรือพรรคเพื่อไทยรวมกับพันธมิตรต้องได้ไม่เกิน 251 ที่นั่ง

การเมืองหลังจากนี้จึงไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วย ถ้าทำให้มวลชนของทักษิณในภาคเหนือและอีสานเปลี่ยนใจไม่ได้ โอกาสที่พรรคของทักษิณจะได้เสียงข้างมากเหมือนที่เคยทำได้คือเกินครึ่งก็ยังมีอยู่ บางคนอาจบอกว่าไม่ต้องกังวลไม่มีวันที่พรรคของทักษิณจะได้คะแนนเสียงเหมือนเดิมแล้ว แต่เราก็ต้องคิดเผื่อไปจนสุดทางก่อนว่าถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องทำอย่างไร

ผมเห็นคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ประกาศตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปเพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ บอกว่า ถ้าอยากได้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต้องไม่เลือกสองพรรคการเมืองใหญ่ ผมว่ามันอาจเชิญชวนฝ่ายที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ได้นะ แถมพรรคประชาธิปัตย์นี่อาจจะแตกกันภายในอยู่แล้ว อยู่ที่ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณจะยึดพรรคจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้หรือไม่ แต่มันจะเชิญชวนคนที่เคยเลือกพรรคของทักษิณได้เหรอไม่มีทางเลย

เท่าที่ฟังคุณไพบูลย์จะเสนอพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะคนนอกในขั้นที่ 2 หลังจากที่เลือกจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ แต่ผมว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์ยินยอมให้พรรคประชาชนปฏิรูปเสนอรายชื่อตั้งแต่ขั้นตอนแรกจะสง่างามกว่าและง่ายกว่ามาก แต่นั่นแหละถ้าเกิดไม่ได้เสียง ส.ส.เกินครึ่งก็จบเลยเหมือนกัน ก็คงไม่อยากเสี่ยง

ทางเลือกต่อไปก็คือ จะมีการเซ็ตซีโร่พรรคการเมืองหรือไม่ เพื่อให้ ส.ส.แตกรังเพราะต้องจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่

ดังนั้น โดยสรุปโจทย์ใหญ่ของการเลือกตั้งหลังจากนี้ก็คือต้องเอาชนะทักษิณให้ได้เท่านั้นเอง ทักษิณไม่อยู่แล้วแต่มวลชนของทักษิณยังอยู่

แม้มีเสียง ส.ว. 250 คนอยู่ในมือ แต่เส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯ หลังเลือกตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้ง่ายเสียทีเดียว แต่จะโทษใครได้เพราะตั้งแต่หลังยึดอำนาจมายังไม่เห็นทำอะไรที่จะให้มวลชนของทักษิณเปลี่ยนใจเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น