รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เตือนนักการเมืองไม่ควรร่วมกระบวนการร่างกฎหมายลูก เชื่อแทงกั๊กเซตซีโร่พรรคการเมือง อย่าไปตื่นเต้น แค่วัฏจักรเดิมหลังยึดอำนาจ ประวัติศาสตร์มีแต่คนไม่จำ หยัน “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ตั้งพรรคหนุน “ประยุทธ์” บอกอย่าโมเมคะแนนเสียงเข้าข้างตัวเอง ที่ผ่านมาพรรคใหม่พอเจอของจริง หาเสียงแบบเขตไม่เป็น มีแต่ลงปาร์ตี้ลิสต์ ระบุร่างรัฐธรรมนูญใหม่กาได้เบอร์เดียวเท่านั้น
วันนี้ (11 ส.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระบวนการร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ ว่า เรื่องสัดส่วนผู้ร่างกฎหมายลูกที่ยังเพิ่มได้อีก 9 คนนั้น เห็นว่านักการเมืองไม่ควรเข้าไปร่วม เพราะในฐานะผู้เล่น ย่อมมีส่วนได้เสียโดยตรงในอนาคต แต่หากถามมาเป็นรายประเด็น พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมให้ความร่วมมือ
ส่วนกระแสความนิยมที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อไป หรืออาจถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก หลังการเลือกตั้ง นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ตามหลักการเสียงประชาชน คือ ผู้กำหนดรูปแบบการปกครองประเทศ จะเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เต็มใบ คอมมิวนิสต์ หรือเผด็จการ เสียงส่วนมากเห็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น ตนเป็นเสียงส่วนน้อยพูดยาก
“ส่วนเรื่องเซตซีโร่ล้างไพ่พรรคการเมืองจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ผมว่าคนร่างเขาเก่ง ที่เขายังกั๊กอยู่ คงรอดูอารมณ์คน ถ้ากระแสของพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ยังดีอยู่อย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นผมว่ามีเซตซีโรแน่ เพื่อให้พรรคการเมืองแตกไปร่วมกับพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ แต่อย่าไปตื่นเต้นกับเรื่องพวกนี้ มันเป็นวัฏจักรเดิมๆ หลังการยึดอำนาจอยู่แล้ว แต่คนไม่จดจำประวัติศาสตร์เท่านั้น” นายนิพิฏฐ์กล่าว
นายนิพิฏฐ์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ประกาศเตรียมตั้งพรรค “ประชาชนปฏิรูป” พร้อมประกาศจุดยืนหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหาอะไร ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชน แต่ไม่อยากให้ไปตื่นเต้น เพราะเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นประจำ คือ การตั้งพรรคการเมืองเพื่อรองรับการลงของผู้ที่ยึดอำนาจ ซึ่งมีประจำในประวัติศาสตร์ไทย โดยทางพรรคก็เฉยๆ กับเรื่องนี้
ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์มักจะเดินทางแนวเดียวกันเสมอ การตั้งพรรคหลังจากมีการยึดอำนาจจะจบอย่างไร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาก็ไม่เคยฉีกไปจากนี้เลย ดังนั้น พรรคที่อยู่มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้เป็นพรรคเฉพาะกิจรองรับการยึดอำนาจ แต่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนโดยประชาชน
นายนิพิฏฐ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตนได้ฟังความเห็นของนายไพบูลย์อยู่หลายครั้ง อย่างกรณีที่เขาถูกถามว่า ทำไมต้องให้ ส.ว.สรรหา สามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย นายไพบูลย์ก็ตอบว่า ส.ว.250 คนมีเพื่อกำกับให้การปฏิรูปเดินไปตามร่างรัฐธรรมนูญ ในเมื่อนายไพบูลย์ได้ ส.ว.อย่างที่ต้องการแล้ว มาวันนี้เขาก็ต้องการเพิ่มอีก นั่นคือ อำนาจรัฐ ไม่ใช่เพียงแค่กำกับการปฏิรูปแล้ว ก็เลยเกิดเป็นคำถามว่าตกลงนายไพบูลย์ไม่มั่นใจ ส.ว.ในร่างรัฐธรรมนูญที่ให้กำกับการปฏิรูปใช่หรือไม่ เลยต้องการอำนาจรัฐเพิ่ม
“เรื่องนี้อาจจะเป็นการตื่นเต้นจนขาดความระมัดระวังก็ได้ พอคะแนนประชามติมาเช่นนี้ เขาก็คงคิดว่านี่คือคะแนนของตัวเอง ซึ่งผู้ที่เห็นด้วยก็คิดว่า นี่คือ คะแนนของตัวเองทั้งนั้น แต่อย่าลืมว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมานั้น เวลาชาวบ้านไปเลือก ส.ส. เขาเลือกแบบเขตได้อย่างเดียวเท่านั้น เมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ทางพรรคการเมืองก็ปฏิรูปตัวเองกันหมดแล้ว คนที่มีคะแนนเสียงจริงๆ ก็จะลงแบบเขตหมด เพราะต้องการคะแนนแบบเขต ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวบ้านในเขต ดังนั้น ปัญหาของพรรคใหม่ ก็คือ คุณจะต้องหาคนที่ชำนาญในการเลือกตั้งแบบเขตมาลง ถือเป็นปัญหาของพรรคใหม่ ที่ผ่านมาพรรคใหม่ๆ คนจะลงแบบบัญชีรายชื่อเยอะ เพราะหาเสียงไม่เป็น และนี่ก็คือ ปัญหาที่พรรคการเมืองใหม่ต้องประสบ” นายนิพิฏฐ์กล่าว