ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ยักแย่ยักยัน กันนานสองนาน
กว่าที่ อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะจรดปากกาลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จาก บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 6 คน มูลค่าประมาณ2 หมื่นล้านหรือไม่
เรื่องของเรื่องก็กลัวว่า ถ้าขั้วอำนาจพลิก จะถูก “เช็กบิล” ย้อนหลังนั่นเอง จน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องสะบัดปากกาใช้ “กระบองยักษ์” มาตรา 44 ออกคำสั่งมาคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐ “ผู้สุจริต” ที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีโครงการบริหารจัดการข้าวของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ออกมา
เมื่อกระทรวงพาณิชย์เปิดหัวเรียกค่าเสียหายในส่วนของ “จีทูจี” ให้แล้ว ถัดมาก็เป็นคิวของกระทรวงการคลังที่ต้องเรียกค่าเสียหายใน “ภาพรวม” ของโครงการรับจำนำข้าวบ้าง จริงๆตัวเลขเคาะไว้ตั้งแต่สมัย สุภา ปิยะจิตติ ยังเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว เคยสรุปไว้ว่า ทั้งโครงการทำเจ๊งไปเกิน 6 แสนล้านบาท
แต่ตามขั้นตอนกระทรวงการคลัง ก็ต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง มี มนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน โดยล่าสุดได้ดีดลูกคิดคำนวณความเสียหายออกมาที่ 178,586 ล้านบาท แต่ในส่วนที่ไปเรียกค่าเสียหายกับ “คุณหนูปู” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ 35,717 ล้านบาท หรือสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด
ก่อนที่ “มนัส” จะลงนามรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ให้เรียกค่าเสียหาย “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” ก็มีเสียงนกเสียงการ้องออกมาทำนองว่า เจ้าตัวอาจปล่อยค้างแล้วเกษียณอายุราชการไปในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อไม่ให้เจ็บตัว แต่ก็ด้วยอานิสงค์ของดาบอาญาสิทธิ์จาก “บิ๊กตู่” และทางฝั่งกระทรวงพาณิชย์ก็นำร่องไปก่อนแล้ว ทำให้เลิกอิดออดแล้วจัดให้โดยพลัน
เอาเป็นว่า หลังจากนี้ในส่วนของกรณีจีทูจีเก๊ของ “บุญทรง” กับพวก หลังจากร้องแรกแหกกระเชอเสร็จ พอได้รับคำสั่งทางปกครองที่ลงนามโดย “อภิรดี - ชุติมา” แล้ว คงไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยแน่ๆ แต่จะกระเตงตัวเองไปร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ส่วนในรายของ “หนูปู” ตอนนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้ “บิ๊กตู่” พิจารณา แล้วก็ตัดสินใจกันว่า ตกลงว่า “ท่านผู้นำ” จะให้เกียรติลงนามคำสั่งปกครองคู่กับ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อทวงค่าเสียหายจาก “อดีตผู้นำหญิง” ด้วยตัวเอง หรือจะยึดแนวเดียวกับที่โยนให้กระทรวงพาณิชย์ไปทวงเงิน “จีทูจี” โดยมอบอำนาจให้ “อภิศักดิ์” กับ “สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลัง ลงนามแทน
ถ้าให้เดาก็ฟันธงได้ว่า “บิ๊กตู่” ไม่น่าจะลงนามเองแน่ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะแบบตรงๆ แถมรู้ดีว่า “คุณหนูปู” จ้องเขม็งที่จะหาช่องทางทางกฎหมายเพื่อทำให้คำสั่งทางปกครองมิชอบ เพราะสู้มาตลอดว่า “นายกฯ ตู่” มีส่วนได้ส่วนเสียเป็น “คู่ขัดแย้ง” กับตัวเอง
หวยน่าจะไปออกที่ “อภิศักดิ์ - สมชัย” เพื่อหารความเสี่ยง
มองอย่างผิวเผิน “ฝ่ายแอนตี้ระบอบทักษิณ” หลายคนคงสะใจ เพราะทั้ง “ยิ่งลักษณ์ - บุญทรง” กำลังจะได้รับผลแห่งกรรมที่ทำเอาไว้ จนลืมมองตัวเลขว่า สมเหตุสมผลหรือเปล่า
ที่ชัดๆ มือปราบข้าวอย่าง วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่อสู้เรื่องนี้มาตลอดออกอาการไม่แฮปปี้อย่างแรง เพราะตัวเลขที่จะเรียกค่าเสียหายจากอดีตนายกฯ น้อยนิดเสียเหลือเกิน เมื่อเทียบกับความเสียหายตลอด 4 ฤดูกาลที่สูญไปไม่รู้กี่แสนล้านบาท โดยเฉพาะเมื่อใช้ตัวเลข 6 แสนล้านบาทของคณะกรรมการชุด “สุภา” เป็นตัวตั้ง
หรือกระทั่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในโครงการรับจำนำข้าวที่มี “เดอะแอ๊ว” จิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็สรุปเอาไว้ที่ 2.8 แสนล้านบาท
จากคำชี้แจงของ “มนัส” บอกว่า เหตุคณะกรรมการหั่นตัวเลขเหลือแค่ 178,586 ล้านบาท มาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/2556 และปี 2556/2557
ส่วนปีการผลิต 2554/2555 และนาปรัง 2555 ไม่ได้จงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
พูดง่ายๆ คณะกรรมการฯชุด “มนัส” ตัดสินไปล่วงหน้าแล้วว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ทำเสียหายแค่ 2 ฤดูกาล ส่วนอีก 2 ฤดูกาล ปีการผลิต 2554/55 และนาปรัง ปี 2555 ที่มีความเสียหาย 115,342 ล้านบาท ยังไม่ถือว่า “ยิ่งลักษณ์” ทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งเห็นต่างจากคณะกรรมการฯชุด “จิรชัย”
อีกประเด็นสำคัญคือ คณะกรรมการฯชุด “มนัส” ยังคำนวณเสร็จสรรพว่า “คุณหนูปู” ในฐานะนายกฯคุมนโยบาย รับผิดชอบเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 35,717 ล้านบาทเท่านั้น ส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ หรือกว่า 1.4 แสนล้านบาท จะไปเรียกจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่รัฐ โรงสี เจ้าของโกดัง ฯลฯ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง
โดยอ้างว่าเป็นไปตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 วรรคที่ 2 ระบุว่า “การเรียกค่าเสียหายให้คำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำ และต้องให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องชดใช้ความเสียหายเต็มจำนวนก็ได้”
และวรรคสุดท้าย ระบุถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ร่วมกระทำความผิดหลายคน กำหนดให้รับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตนเท่านั้น
อ่านซ้ำไปซ้ำมาก็ไม่เห็นมีวรรคไหนเอ่ยถึงตัวเลข 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 80 เปอร์เซ็นต์เลย แต่คณะกรรมการฯชุด “มนัส” คิดเองเออเองว่า “ยิ่งลักษณ์” รับผิดชอบความเสียหาย 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขที่ลอยมาจากไหนไม่ทราบได้
เรียกว่าไม่เพียงแต่กองเชียร์เฮไม่สุดแล้ว การหั่นตัวเลขลดฮวบฮาบขนาดนี้อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินของศาลในอนาคตอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อหนังสือของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่แจ้งมายัง กระทรวงการคลัง หลังชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์” เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2558 ระบุตัวเลขเอาไว้ถึง 682,000 ล้านบาท
ที่สำคัญการชี้มูลครั้งนั้น ก็ชี้มูล “ยิ่งลักษณ์” คนเดียว ไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่น หากยึดตามมติ ป.ป.ช.ก็ต้องทวงค่าเสียหายทั้ง 682,000 ล้านบาทจาก “ยิ่งลักษณ์” คนเดียว
อีกทั้งข้อสรุปของคณะกรรมการฯชุด “มนัส” ที่ว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ทำเสียหายแค่ 2 ฤดูกาล ส่วนอีก 2 ฤดูกาล ยังไม่ถือว่าทำให้รัฐเสียหาย ย่อมถูกนำไปเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลอย่างแน่นอน เพราะถือว่าขัดแย้งกับข้อสรูปของหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง ป.ป.ช. คณะกรรมการฯชุด “จิรชัย” คณะกรรมการชุด “สุภา” หรือกระทั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ชี้ชัดว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ทำเจ๊งทั้ง 4 ฤดูกาลที่เข้ามาบริหารประเทศ
ไม่ทันไร สตง.ก็ได้ทำหนังสือถึง “นายกฯตู่” ในเชิงไม่เห็นด้วยกับการเรียกค่าสินไหมจาก “ยิ่งลักษณ์” ที่ปล่อยให้มีการทุจริต และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ ในโครงการรับจำนำข้าวเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตัวเลขของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 ระบุว่าโครงการนี้มีผลขาดทุนสุทธิเป็นจำนวนเงินถึง 536,908 ล้านบาท
ปล่อยให้งงเป็นไก่ตาแตกอยู่พักหนึ่ง “มือกฎหมายประเทศไทย” อย่าง วิษณุ เครืองาม รองนากยกรัฐมนตรี ก็ออกมาเฉลย “สูตรลับ” ที่มาของการคำนวณ 20 : 80 ว่า มาจากการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ของกระทรวงการคลัง ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2550 ซึ่งได้กำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กรณีทุจริตทางการเงินหรือทรัพย์สิน โดยให้ “ผู้บังคับบัญชาขั้นสูง - ผู้อนุมัติ” จะต้องรับผิด 20 เปอร์เซ็นต์ของค่าเสียหายทั้งหมด
แต่เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของสูตรนี้ “รองฯวิษณุ” ก็ตอบสไตล์ “เนติบริกร” เพียงว่าเคยทำมาแบบนี้
แล้วเมื่อถามว่าเหตุใดจึงเรียกเก็บ “ยิ่งลักษณ์” ในส่วนของ 20 เปอร์เซ็นต์คนเดียว แล้วจึงไม่มีการเรียกเก็บในส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ไปด้วย คำตอบที่ได้รับคือ เพราะ ป.ป.ช.ชี้มูล “ยิ่งลักษณ์” มาคนเดียว
เป็นที่มาของคำถามที่ว่า แล้วเหตุใดจึงไม่ตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาพิจารณาตั้งแต่แรกในเมื่อรู้ว่า มีผู้ที่กระทำให้เกิดความเสียหายอีกจำนวนมาก หรืออีกร่วม 800 คดี ทำไมจึงมาทำภายหลังเคาะตัวเลขของ “ยิ่งลักษณ์” แล้ว
ความลักลั่นสับสนกันเองในหน่วยงานของรัฐนี่เอง ทำให้บางคนเริ่มชิงตั้งข้อสังเกตแล้วว่า หรือนี่จะเป็นความจงใจของ “รัฐ” ที่เลือกจะถนอมน้ำใจ “ฝ่ายยิ่งลักษณ์” โดยการลดกระหน่ำแบบซัมเมอร์เซลล์ยังอายถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังเปิดช่องให้ “รัฐ” มีโอกาสเสียเปรียบฝ่าย “ยิ่งลักษณ์” เมื่อเรื่องถูกนำไปร้องศาลปกครองในบั้นปลาย
กลายเป็น “มวยล้มต้มคนดู” หรือง่ายๆ ก็คือ “เกี้ยะเซี้ยะ” ต่อรองอะไรกันหรือไม่
น่าคิดหรือไม่น่าคิด ถอดรหัสจากคำพูด “ทนายประเทศไทย” อย่าง “วิษณุ” ที่นำข้อสรุปของคณะกรรมการฯชุด “มนัส” มาขยี้ต่อว่า “ตอนพิจารณาครั้งแรก มูลค่าความเสียหายจริงประเมินไว้ประมาณ 5 แสนล้านบาท หมายถึงมูลค่าทั้งหมดที่ไม่รู้ว่าใครจะต้องรับผิดชอบ นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าวเห็นว่าควรมีการรับผิดทั้งหมด 4 ฤดูกาลผลิต เป็นเงินประมาณ 2.7 แสนล้านบาท แต่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่งให้ความเป็นธรรมว่า ความผิดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการทุจริต แต่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หลังจากมีการแจ้งเตือน เพราะฉะนั้นฤดูการผลิตที่ 1 และ 2 ไม่มีการเตือน จากนั้นเมื่อมีการเตือนมาในฤดูการผลิตที่ 3 และ 4 คือ การผลิตในปี 2555-2556 และปี 2556-2557 รวมแล้ว 2 ฤดูกาลผลิต แต่ยังมีการปล่อยปละละเลยถือว่ามีความผิดเฉพาะ 2 ฤดูการผลิตนี้ มูลค่าความเสียหายจาก 2.8 แสนล้านบาท ต้องลดลงมาเหลือ 1.7 แสนล้านบาท"
โดยเฉพาะท่อนที่ว่า เมื่อคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่ง “ให้ความเป็นธรรม” ว่า ความผิดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการทุจริต แต่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
พิพากษาเรียบร้อยว่า “คูณหนูปู” ไม่ทุจริต แต่ที่โดนเรียกค่าเสียหายเพราะละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนก่อให้เกิดความเสียหายแค่นั้น
ไม่รู้ว่า ตั้งใจหรือเปล่า แต่มันมีผลแน่ๆ โดยเฉพาะกับคดีความอาญาของ “ยิ่งลักษณ์” ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะย้อนกลับไปตอนที่อัยการสูงสุด (อสส.) ส่งฟ้อง นอกจากข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้ว ยังมีข้อหาเรื่องทุจริต ที่ “ยิ่งลักษณ์” ท้วงติงว่า มาโผล่ในชั้น อสส.ได้อย่างไร
พอ “ทนายความ คสช.” พูดแบบนี้ ต้องบอกว่า เข้าบาทา “ยิ่งลักษณ์” เต็มๆ เพราะเหมือนเป็นการ “ฟอกความผิด” ให้เธอได้เอาไปต่อสู้ในชั้นศาล จนสุดท้ายหลุดข้อหา “ทุจริต” ตามคำสั่งฟ้องของ อสส. เหลือเพียงแต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อย่างเดียว
พอเหลือข้อหาเดียว “ยิ่งลักษณ์” ก็สบายตัว
เพราะความผิดฐาน “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ”
ตามกฎหมายคือโทษไม่เกิน 10 ปี แต่ที่ผ่านๆมาส่วนใหญ่จะตัดสินจำคุก 2-3 ปีเท่านั้น แถมยังมีสิทธิ์ได้รับการ “รอลงอาญา” สูงมาก
ในขณะที่ “คดีแพ่ง” ที่ต้องไปบู๊กันต่อชั้นศาลปกครอง ก็ลากกันไปได้อีกยาว ไปๆ มาๆ “รัฐ” มีโอกาสจะพลาดท่าให้กับ “ฝ่ายจำเลย” สูง จากการดำเนินการที่ “ลักลั่น” กันราวกับตั้งใจ สุดท้าย “ยิ่งลักษณ์” อาจรอดหวุดหวิด เหมือนมี “คนลิขิต” ให้เป็นแบบนี้
มี “หนังตัวอย่าง” ให้เห็นแล้วกับกรณีล่าสุดที่ “ศาลปกครองกลาง” มีคำพิพากษา “เพิกถอน” คำสั่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อปี 2557 ที่เรียกให้ โภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,434 ล้านบาท จากกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าเป็น ผู้กระทำทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ในการจัดซื้อ “รถ-เรือดับเพลิง” ในราคาที่สูงเกินความเป็นจริงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ โดยชี้ว่า “โภคิน” ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อ กทม.โดยผิดกฎหมาย หรือทำให้ กทม.ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สิน
หรือหากเลวร้ายสุดๆต่อ “ยิ่งลักษณ์” ในคดีแพ่ง ก็คงต้องถูกสั่งให้ชดใช้ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 35,717 ล้านบาทที่ว่าจริงๆ คงไม่เหนื่อยไปหาเงินมาชดใช้ให้กับรัฐจริงๆหรอก เต็มที่ก็แค่เปลี่ยนสถานะเป็น “บุคคลล้มละลาย” ครั้นจะไปไล่เบี้ยยึดทรัพย์ ตามบัญชีแสดงทรัพย์สินล่าสุดที่พ้นจากตำแหน่งนายกฯ 1 ปี ก็แจ้งว่า “ยิ่งลักษณ์” ที่แม้จะเป็นระดับเศรษฐีนี แต่ก็มีทรัพย์สิน “อย่างเป็นทางการ” เบ็ดเสร็จแค่ 500 กว่าล้านบาทเท่านั้น ห่างไกลยอดหนี้ที่ต้องชดใช้เหลือเกิน
ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ที่จะไปไล่เช็กบิลกับเกี่ยวข้อง 800 กว่าคดีนั้น ก็ไม่รู้ว่าชาติไหนคดีความจะเรียบร้อย แต่ละรายที่เข้าข่ายส่วนใหญ่ก็เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เหลือก็เป็นบรรดาเอกชนโดยเฉพาะโรงสี กับโกดังเก็บข้าว
ฟันธงอย่างไม่กลัวหน้าแหกเลยว่า ยังไงก็ไปเอา 1.4 แสนล้านบาทคืนมาไม่ได้
เหนือสิ่งอื่นใดก็รู้กันดีว่า เงินทองของรัฐที่รั่วไหลไปก็ไม่ได้เข้ากระเป๋าข้าราชการ หรือกระทั่ง “นายกฯปู” แต่คงไปกองพะเนินเทินทึกอยู่ที่ “เจ๊ ด.” ผู้อยู่เบื้องหลังมากกว่าใคร
เรื่องราวดำเนินมาถึงฉากนี้ ก็ยิ่งทำให้เห็นตอนจบที่ไม่หักมุมในกระบวนการเช็คบิลจำนำข้าวของ “รัฐบาล คสช.” ว่า อาจเป็นเพียง “มวยล้มต้มคนดู” ฉากใหญ่ คล้ายกับขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาออกกลายเป็นบ้องกัญชาซะอย่างงั้น
อะๆ แต่ถึง “คุณหนูปู” จะลอยนวล ก็ใช่ว่าคนอื่นจะลอยตัวด้วย เรื่องใหญ่แบบนี้ต้องมี “ผีตายแทน - แพะรับบาป” เซ่นความพินาศของโครงการรับจำนำข้าว
ดูแล้วคงไม่พ้น “บุญทรง” กับเจ้าหน้าที่ปลาซิวปลาสร้อยที่ต้องพลีชีพให้ละครเรื่องนี้มันสมจริงเสียหน่อย