รองนายกฯ เข้าพบหารือ “ประยุทธ์” หลังกลับจากสหรัฐฯ ปฎิเสธคุยเรื่องข้าว ก่อนแจงเหตุผลเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” เพียง 3.5 หมื่นล้านบาท ย้ำไม่ได้ใช้ ม.44 เพื่อรวบรัดยึดทรัพย์ ยันทุกอย่างดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติ เว้นต้องยึดทรัพย์ให้กรมบังคับคดีเข้าดำเนินการ บอกอย่าเพิ่งพูดไปถึงขั้นฟ้องล้มละลาย เพราะมีผลเสียมากกว่าผลดี
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (26 ก.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี และหัวหน้า คสช. ภายหลังเดินทางกลับจากการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 71 ที่สหรัฐอเมริกา โดยเปิดเผยว่าไม่ได้มีการหารือในเรื่องข้าว แต่มีการปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งเรื่องที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้
นายวิษณุยืนยันด้วยว่า ไม่ได้มีการหารือถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณีของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชายที่พัวพันเกี่ยวกับการประมูลงานในกองทัพภาคที่ 3
นายวิษณุให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอนการดำเนินการหลังได้รับทราบข่าวจากคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รายงานตัวเลขสรุปเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวว่า กระบวนการหลังจากนี้ก็คงเป็นกรณีเดียวกับขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตร มว.พาณิชย์ ซึ่งคณะกรรมการจะต้องส่งเรื่องให้ รมว.คลังและนายกฯ รับทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมยอดเงินเรียกค่าเสียหายจากเดิม 2.8 แสนล้านบาทจึงเหลือ 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น นายวิษณุกล่าวว่า เป็นการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง เพราะตอนพิจารณาครั้งแรกมูลค่าความเสียหายจริงที่ประเมินไว้ประมาณ 5 แสนล้านบาท แต่หมายถึงมูลค่าทั้งหมดที่ไม่รู้ว่าใครจะต้องรับผิดชอบ ซึ่งคณะกรรมการชุดที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว เห็นว่าควรมีการรับผิดทั้งหมด 4 ฤดูกาลเป็นเงินประมาณ 2.7 แสนล้านบาท แต่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่งได้ให้ความเป็นธรรมว่าความผิดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการทุจริต แต่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หลังจากมีการแจ้งเตือน เพราะฉะนั้นฤดูการผลิตที่ 1 และ 2 ไม่มีการเตือน จากนั้นเมื่อมีการเตือนมาในฤดูการผลิตที่ 3 และ 4 คือ การผลิตในปี 2555-2556 และปี 2556-2557 รวมแล้ว 2 ฤดูกาลผลิต แต่ยังมีการปล่อยปะละเลยก็ถือว่ามีความผิดเฉพาะ 2 ฤดูกาลนี้ ดังนั้นมูลค่าความเสียหายจาก 2.7 แสนล้านบาท ก็ต้องลดลงมาเหลือ 1.7 แสนล้านบาท
“ในจำนวนเงิน 1.7 แสนล้านบาท การจะต้องพิจารณาว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลั งมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ปฏิบัติมา 4-5 ปีแล้วว่ากรณีที่เป็นความรับผิดแบบทำกันหลายคนจะต้องมีการแบ่งสัดส่วนการรับผิด ซึ่งมีการกำหนดไว้ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการละเลย ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ก็ไปเฉลี่ยกับผู้ที่มีส่วนทำความผิด ซึ่งในครั้งนี้มีการประเมินกันว่าควรจะเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ตัวเลขจึงออกมาอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาทจาก 1.7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ทั้งหมดมีหลักเกณฑ์และสามารถอธิบายได้ตามมาตรา 8 ของพ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ความหมายก็คือ ถ้ารับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม สมมติมีผู้รับผิด 10 คน 9 คนไม่มีจ่าย คนที่ 1 ที่มีจ่ายต้องจ่ายทั้งหมดแล้วค่อยไปเก็บจากคนที่เหลือเอาเอง หมายถึงการรับผิดแทนได้ทั้งหมด แต่ถ้ากฎหมายบัญญัติว่าไม่รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมก็คือ ส่วนของใครก็ของมันจะให้คนอื่นมารับหนี้แทนไม่ได้ กรณีนี้ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องรับผิดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงที่รับผิดชอบต้องไปหาบุคคลที่จะมารับผิดร่วมเอง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ จะต้องเซ็นคำสั่งหรือมีคำสั่งด้วยตัวเองอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า ก็แล้วแต่นายกฯเพราะสามารถที่จะมอบอำนาจต่อไปได้และการดำเนินการกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่องค์กรอิสระเลือกปฏิบัติ แต่เมื่อมีคนร้องก็ต้องดำเนินการสอบสวนและดำเนินการใน 3 ทาง คือ ส่งเรื่องถอดถอน ส่งฟ้องคดีอาญา และส่งให้ดำเนินการทางแพ่งซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ สำหรับการรับผิดในทางแพ่งเป็นเรื่องของกระทรวงซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่มีหน้าที่เรื่องของแพ่ง มีหน้าที่หากมีความผิดต้องดำเนินคดีทางอาญา
ส่วนที่พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 ในการยึดทรัพย์นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลไม่ได้มีการใช้คำสั่งมาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ เป็นเรื่องที่ต้องตั้งต้นหากมีการวินิจฉัยว่าผิดตาม พ.ร.บ.การละเมิดฯ และหากสรุปว่าผิดและต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่าใดก็จะดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 คือ การไปยึดทรัพย์ เว้นแต่มีการฟ้องศาลให้มีการคุ้มครองชั่วคราวซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่รับผิดชอบ แต่เมื่อมูลทรัพย์มีค่าจำนวนมาก กระทรวงที่รับผิดชอบไม่มีความเชี่ยวชาญในการเข้าไปยึดก็ควรจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลาง นั่นคือกรมบังคับคดี จึงมาเข้าส่วนที่ 3 ในคำสั่งมาตรา 44 ที่ให้กรมบังคับคดีเป็นผู้เข้าไปจัดการ ซึ่งในอดีตก่อนรัฐบาลชุดนี้ก็เคยมอบหมายให้กรมบังคับคดีเข้าไปดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ โดยจะยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาลและการเข้าไปดำเนินการยึดทรัพย์ กรมบังคับคดีนั้นจะมีการใช้อำนาจบางอย่าง เช่น การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินใดๆ ก่อนหน้านี้ถ้าเข้าข่ายลักษณะโอนหนีหนี้กรมบังคับคดีสามารถเพิกถอนได้ แต่ถ้าเป็นการทำสัญญาซื้อขายโดยสุจริตเป็นปกติถึงเวลาที่ต้องโอนทรัพย์ก็สามารถทำได้ไม่ถือว่าเป็นการโอนหนีหนี้
ต่อข้อถามว่า ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้จะมีการฟ้องล้มละลายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปถึงขั้นนั้น เพราะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี อย่าลืมว่าถ้าฟ้องล้มละลายจะไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ และขอยืนยันว่าคดีดังกล่าวไม่มีการลัดขั้นตอนทุกอย่างเดินไปตามขั้นตอนหรือเพิ่มด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม อายุความในการยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดมีอายุความถึง 10 ปี หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินออกมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนายวิษณุที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีแล้ว นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เข้าพบและหารือกับนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเวลา 13.30 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล