ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลายวันก่อน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยนายประจักษ์ บุญยัง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีหนังสือด่วนถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดหาและควบคุมการใช้ยาของบุคลากรทางแพทย์ ในสังกัดของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.)กระทรวงมหาดไทย
ข้อความในหนังสือระบุว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดหาและควบคุมการใชยาของบุคลการทางแพทย์ ในโรงพยาบาลหลายแห่ง ในด้านการใช้ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆของโรงพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง เช่น
“การรับเงินสวัสดิการใต้โต๊ะ การล็อกสเปกยา การใช้ยาไม่สมเหตุผล หรือเกินความจำเป็น เป็นต้น”
สตง.เห็นว่ากรณีนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงเกินควร การบริโภคยาที่ไม่สมเหตุผล ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย และปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ง.ยังระบุในหนังสือว่า เพื่อให้การจัดหาและควบคุมการใช้ยาของบุคลากรทางการแพทย์เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส สมเหตุสมผล และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายภาครัฐ จึงมีข้อเสนอแนะให้“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”สั่งการ และติดตามให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบให้ “ผู้บริหารโรงพยาบาลและสถานพยาบาล”ที่อยู่ในการกำกับดูแลทุกแห่ง ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง“เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย พ.ศ.2559”และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
“เกณฑ์จริยธรรมฯ เน้นว่าผู้สั่งใช้ยา ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการคัดเลือกจัดซื้อ จัดหาและใช้ยา โดยยึดประโยชน์ของผู้ป่วยและส่วนรวมเป็นสำคัญ ส่วน“สถานพยาบาล สถานศึกษา สถานบริการเภสัชกรรม หรือหน่วยงาน พึงกำหนดแนวปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาเป็นลายลักษณ์อักษร และกำกับดูแลบุคลากรปฏิบัติตามกรอบจริยธรรม และพึงจัดให้มีระบบรองรับในการรับการสนับสนุนใดๆ จากบริษัทยา ให้เป็นไปอย่างเปิดเผยทุกคนในองค์กรรับรู้ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม”
ต่อมานายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือถึง “ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร”“อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น”และ“ผู้ว่าราชการจังหวัด”ทุกแห่ง เพื่อดำเนินการและรายงานให้มหาดไทยรับทราบทุกๆ 6 เดือน เพื่อรายงานให้ สตง.รับทราบต่อไป
ประเด็นข้างต้นนี้ สตง. ยังส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งให้ปลัดกระทรวงสาธาณสุข ตรวจสอบไปยังโรงพยาบาลในสังกัดด้วย โดยกำหนดต้องรายงานทุกๆ 6 เดือนเช่นกัน
ทีนี้มาดูสถานการณ์ของเรื่องนี้ ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) มี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์แพทย์แผนไทย สถานบริการสาธารณสุขชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชน เทศบาลตำบล เทศบาลเมืองคลินิกชุมชน สถานีอนามัย ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟู คลินิกอุ่นไอรัก ฯลฯ ส่วน “เมืองพัทยา” มี”สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา”อยู่ในกำกับ รวม 351 แห่งทั่วประเทศ
ขณะที่ กทม.มีหน่วยงานขึ้นตรงกับ “สำนักอนามัย”ประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการ กองควบคุมโรคติดต่อกองทันตสาธารณสุข กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ สำนักงานพัฒนาระบบสาธารณสุข สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม กองเภสัชกรรม สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักงานชันสูตรสาธารณสุข กองสร้างเสริมสุขภาพ กองสุขาภิบาลอาหาร กองการพยาบาลสาธารณสุข และมี “ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร”จำนวน 68 แห่ง
ส่วนกระทรวงสาธารณสุข “นพ.โสภณ เมฆธน”ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ส่งหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) 76 แห่ง เพื่อกำชับผู้บริหารโรงพยาบาลทุกแห่ง มีมาตรการควบคุมกำกับดูแล และตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จริยธรรมในการปฏิบัติงาน หากพบว่ามีการปฏิบัติงานมิชอบ ที่อาจทุจริต ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
“กระทรวงสาธารณสุขยังเดินหน้านโยบายการใช้ยาสมเหตุผล โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดดำเนินการนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะมีเกณฑ์ในการใช้ยาสมเหตุผล ลดปัญหาการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาดื้อยาอีกด้วย”
ย้อนกลับไปดูว่าทำไม สตง. ถึงต้องมีหนังสือแจ้ง ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เดิมทีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เคยตรวจสอบพบว่า “มีการเบิกจ่ายยามากเกินความจำเป็น”ในลักษณะของ “การชอปปิงยา”ดังนั้นการที่ สตง. ส่งหนังสือมาก็เกรงว่า บุคลากรทางการแพทย์อาจทำผิดเกณฑ์จริยธรรมในการส่งเสริมการขาย โดยอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐได้
เชื่อว่าทั้ง 2 กระทรวงจะได้กำชับให้“โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข”ในสังกัดจัดทำรายงานผลการปฏิบัติเรื่องเกณฑ์จริยธรรม เรื่องจากจัดซื้อจัดหา และแนวทางปฏิบัติเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เพื่อรวบรวมผู้บริหารต่อไป
กรณีของ“การชอปปิงยา”หรือ การรับเงินสวัสดิการใต้โต๊ะ การล็อกสเปกยา การใช้ยาไม่สมเหตุผลหรือเกินความจำเป็น ที่สตง.ระบุข้างต้น หากข้อดูข้อมูลในอดีตเมื่อปี 2554 ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ กรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงการตรวจสอบการใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว
จากข้อมูลของ“กรมบัญชีกลาง” พบว่าปัจจัยที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นมีที่มาจาก 1. กลุ่มข้าราชการสูงอายุเพิ่มมากขึ้น 2. ราคายาสูงขึ้น 3. ยาที่เป็นต้นแบบมีราคาสูงขึ้น 4. มีปัญหาโรงเรื้อรังสูง และ 5. ทุจริต
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในระบบสาธารณสุขระหว่าง“กรมบัญชีกลางกับดีเอสไอ “ พบความผิดปกติดังนี้ 1. หลักฐานทางการเงินที่โรงพยาบาลขอเบิกกรมบัญชีกลางไม่ตรงกับข้อมูลค่ารักษาที่ส่งเบิกในระบบจ่ายตรง 2. ลายมือชื่อแพทย์ในเวชระเบียน ไม่ตรงกับลายมือชื่อแพทย์ในใบสั่งยา 3. ตามหลักฐานเวชระเบียนพบว่ามีข้อมูลเข้ารับการรักษา จำนวน 6 ครั้ง แต่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจริงเพียง 2 ครั้ง 4. การสั่งจ่ายยาเพื่อการรักษาไม่สัมพันธ์กับอาการป่วยของผู้ป่วย แพทย์สั่งจ่ายยาให้กับญาติผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการ 5. มีการสั่งจ่ายยาในปริมาณมากเกินกว่าที่ผู้ป่วยจะใช้ได้หมด
สำหรับรูปแบบการทำผิดแยกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. การสวมสิทธิ์ ผู้ป่วยหรือไม่มีอาการป่วย ซึ่งไม่มีสิทธิ์ตามสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวเข้าสวมสิทธิ์รักษาพยาบาลของบุคคลที่มีสิทธิ์ ซึ่งดีเอสไออยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อหาตัวบุคคลที่สวมสิทธิ์ผู้อื่น
2. การยิงยา พบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายยา มีการสั่งจ่ายยาที่ไม่จำเป็นและเหมาะสมสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย หรือจ่ายยาในลักษณะสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เน้นการจ่ายยานอกบัญชีหลัก ซึ่งมีราคาแพง โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทผู้ผลิตยา หรือตัวแทนจำหน่ายยาในลักษณะของผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินตอบแทน ของกำนัล คอมมิชชั่น ตั๋วเครื่องบินให้เดินทางไปต่างประเทศ
กรณีนี้ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก และจากการตรวจสอบของดีเอสไอ พบบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการปฏิบัติหน้าที่ “ในลักษณะยิงยา” จำนวนหลายครั้งเกินปกติ จากบริษัทยาที่มียอดการสั่งจ่ายสูง โดยพบว่าแพทย์ผู้นั้นได้รับผลประโยชน์จากบริษัทยาโดยได้รับสิทธิในการเดินทางไปต่างประเทศ กรณีนี้ ดีเอสไอได้ส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ
3. การชอปปิ้งยา คือ ผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวจะเบิกค่ารักษาพยาบาล ในลักษณะเดินสายขอตรวจรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆในช่วงวันเดียวกัน หรือระยะเวลาใกล้เคียงกัน และมักเดินทางไปพบแพทย์เกินกำหนดนัด เป็นเหตุให้ได้รับยาจำนวนมากยิ่งขึ้น มีการดำเนินการลักษณะเป็นขบวนการ มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วย บุคคลากรทางการแพทย์ ร้านขายยา บริษัทยา โดยปริมาณยาที่ได้รับไปหากบริโภคยาที่ได้รับไปทั้งหมด จะมีผลให้เป็นอันตรายแก่ร่างกายมากกว่าจะมีผลในการรักษาพยาบาล และมีการนำไปจำหน่ายในร้านขายยา หรือส่งมอบให้บุคคลอื่นต่อ โดยดีเอสไอ กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอเป็นคดีพิเศษเนื่องจากไม่ใช่คดีเกี่ยวเนื่องกับการลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรผสมซูโอเอเฟรดีน ออกจากระบบ
ตอนนั้นกรมบัญชีกลางให้ข้อมูลว่า จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำให้สถิติค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ในปี 2554 ลดลงจากเดิม 62,200 ล้านบาท เป็น 61,500 ล้านบาท มีการเข้มงวดว่า หากพบข้าราชการมีพฤติกรรมชอปปิงยา จะถูกเรียกเงินคืน ลงโทษทางวินัย และดำเนินคดีอาญา ส่วนบุคคลในครอบครัวจะถูกเรียกเงินคืน ดำเนินคดีอาญา และถอนสิทธิการรักษาพยาบาล
ครั้งนั้น “กระทรวงการคลัง”ได้ออกหนังสือเวียนถึงผู้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลให้ทราบว่าหากมีการกระทำความผิดจะถูกเพิกถอนสิทธิรักษาให้กลับไปใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน รวมถึงออกระเบียบใหม่กำหนดให้ผู้ป่วยรักษาพยาบาล 1 โรงพยาบาล ต่อ 1 โรค โดยอยู่ระหว่างรอการทำระบบของโรงพยาบาล
กระทรวงการคลัง ยังได้เสนอ “นายกรัฐมนตรี”(ขณะนั้น) เพื่อให้มีการกำหนดรหัสยา ให้ยาชนิดเดียวกันใช้รหัสเดียวกันในทุกโรงพยาบาล เพื่อความสะดวกในการควบคุมและสั่งจ่ายยา และสามารถนำมาประเมินให้เห็นภาพสถิติการใช้ยาทั้งระบบได้
ผ่านมา 5 ปี วันนี้ สตง.ยังได้รับการร้องเรียนว่า ยังมีการ“ชอปปิงยา” “รับเงินสวัสดิการใต้โต๊ะ”“ล็อกสเปกยา” ในวงการสาธารณสุขเหมือนเดิม