xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.ชง ครม.เว้นภาษีนำเข้า เร่งประมูลรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.ระดมความเห็นส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า วงสัมมนาตั้งข้อสังเกตมาตรการกำจัดซากแบตเตอรี่ ติง TOR ซื้อรถเมล์ไฟฟ้าไม่สนับสนุนอุตฯ ในประเทศ ด้าน ผอ.ขสมก.เตรียมประกาศ TOR รถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน วงเงิน 2.3 พันล้านใน ก.ย.นี้ เร่งเคาะราคา ต.ค.-พ.ย.นี้ โดยขอ ครม.อนุมัติโครงการพร้อมขอยกเว้นภาษี ล็อตแรก 200 คัน เหตุต้องนำเข้า 100% เพื่อเร่งจัดหา

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้สัมมนา “การส่งเสริมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งสาธารณะ” ซึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลต้องการส่งเสริมการใช้รถเพื่อประหยัดพลังงาน หรือยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรม โดยขณะนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ระหว่างการจัดหารถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 200 คัน เพื่อลดการใช้พลังงานและส่งเสริมการใช้รถโดยสารสาธารณะ

โดยในที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงถึงมาตรการกำจัดซากแบตเตอรี่ รวมถึงการกำหนดระยะเวลา ส่งมอบรถ 200 คัน ภายใน 6 เดือน ผู้ประกอบการในประเทศเตรียมไม่ทัน ซึ่งการซื้อรถใหม่จะเป็นส่วนหนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งอุตฯ พื้นฐานด้านการต่อตัวถังทำได้ ส่วนเทคโนโลยี เช่น มอเตอร์ แบตเตอรี่ ต้องนำเข้าช่วงแรก อย่างไรก็ตาม การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะภาคการขนส่งสาธารณะจะมีส่วนสนับสนุนกับ การลดก๊าซเรือนกระจกจากการใช้รถสาธารณะไฟฟ้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป้าหมายในการลงนามต่อความตกลงปารีส ว่าภายในปี 2030 (2573) ไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกลง 20%

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า การจัดหารถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 200 คัน คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้ ร่างขอบเขตงานประกวดราคา (TOR) จะแล้วเสร็จและเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดหาตามขั้นตอนด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-อ็อกชัน) โดยจะประกาศร่างTOR ลงไซด์ ขสมก.ได้ในเดือน ก.ย.นี้ และเคาะราคาในเดือนต.ค.-พ.ย.และกำหนดระยะเวลาส่งมอบรถภายใน 4-6 เดือนภายหลังลงนามสัญญา คาดว่ารถโดยสารไฟฟ้าจะทยอยเข้ามาภายในต้นปี 2560 โดยขณะนี้ ขสมก.กำลังสำรวจเพื่อเลือกอู่จอดรถที่เหมาะสมรวม 4-5 แห่ง เพื่อก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้า ได้แก่ อู่พระราม 9, อู่รังสิต, อู่บางเขน, อู่ใต้ทางด่วนวัชรพล, อู่ใต้ทางด่วนสาธุประดิษฐ์ วงเงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท ศึ่งระยะเวลาในการประมูลจัดซื้อ กับการสร้างสถานีประจุไฟฟ้าจะพอดีกัน

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ต้นทุนด้านเชื้อเพลิงของรถเมล์ไฟฟ้า จะต่ำกว่า รถเมล์ NGV ประมาน 3 เท่า แต่ราคาต้นทุนตัวรถสูงกว่า 3 เท่า เป็นการตอบโจทย์ในเรื่องประหยัดพลังงาน และจากที่มีการนำรถเมล์ไฟฟ้ามาทดลองวิ่ง ระยะเวลา 3 เดือน กับรถดีเซล สาย A1 (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-สถานีขนส่งจตุจักร) ตั้งแต่เวลา 06.00-19.00 น. รวม 13 ชม.เดินรถได้ 13 เที่ยว เฉลี่ย 290 กม. ใช้ไฟฟ้าประมาณ 280 กิโลวัตต์ คิดเป็นค่าเชื้อเพลิง 1,006.32 บาท ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง 3.47 บาทต่อ กม. ขณะที่รถดีเซลมีค่าเชื้อเพลิงประมาณ 3,892 บาท ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง 10.58 บาทต่อ กม. พบว่า คุณสมบัติรถเมล์ไฟฟ้าควรวิ่ง ประมาณ 250 กม.ต่อวัน และระยะเวลาในการเดินรถควรอยู่ที่ 18-20 ชม.ต่อวัน จึงจะทำให้คุ้มค่ากับต้นทุนของรถ นอกจากนี้ ควรชาร์จไฟฟ้ามาเน้นช่วงเวลา 23.00-05.00 น. เพื่อแยกโหลดการใช้ไฟฟ้าออกจากประชาชนโดยมีระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้าประมาณ 5 ชม.ต่อคัน

สำหรับเงื่อนไข ในTOR จะกำหนดการซื้อรถ พร้อมรับดูแลซ่อมบำรุง ระยะเวลา 10 ปี ด้วย เนื่องจากรถเมล์ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่ ขสมก.ไม่มีประสบการณ์ นอกจากนี้ ราคารถเมล์ไฟฟ้า กรณีที่นำเข้าทั้งคันประมาณ 15-16 ล้านบาทต่อคัน แต่หากไม่มีภาษีเหลือประมาณ 12 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งขณะนี้ ขสมก.ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการแล้ว วงเงินประมาณ 2,300 ล้านบาทโดยได้เสนอขอยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดต้นทุนโครงการ

“หลักๆ ของTOR จัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้าจะมีรูปแบบคล้ายๆ กับการจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน ที่มีการปรับปรุงในหลายประเด็น เพื่อความรอบคอบ และไม่ให้เกิดปัญหาร้องเรียนและล้มประมูล ขสมก.ดำเนินการร่าง TOR และเคาะราคา คู่ขนานระหว่างรอ ครม.อนุมัติ เพื่อไม่ให้ล่าช้าและเป็นไปตามนโยบายที่เร่งรัดการจัดหารถเมล์ไฟฟ้า” ผอ.ขสมก.กล่าว

ส่วนการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คันนั้น คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ขสมก.อนุมัติแล้ว โดยอยู่ระหว่างรออัยการตรวจร่างสัญญา คาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายในเดือน ก.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น