“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”
เรื่องของ ปู่คออี้ อายุ 105ปี กลายเป็นโศกนาฏกรรมของเพื่อนมนุษย์อีกครั้งเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมได้อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ส. 58/2555 หมายเลขแดงที่ ส. 660 /2557 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 นายแจ พุกาด ผู้ฟ้องคดีที่ 3 นายหมี หรือกิตา ต้นน้ำเพชร ผู้ฟ้องคดีที่ 4 นายบุญชู พุกาด ผู้ฟ้องคดีที่ 5 นายกื๊อ พุกาด และ ผู้ฟ้องคดีที่ 6 นายดูอู้ จีโบ้ง กับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
กรณีที่ในเดือนพฤษภาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยาน เดินทางไปยังบ้านของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 และผู้ไม่ได้ฟ้องคดีอีกหลายหลัง แล้วจุดไฟเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากถือว่าบุกรุกอุทยาน โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 9,533,090 บาท และยินยอมให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
โดยศาลตัดสินว่า การรื้อถอนด้วยวิธีเผาทำลายเพิ่งพักและยุ้งฉาง เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีสภาพการณ์ เพราะหากรื้อถอนไปแล้วคงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้ ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่
แต่ในส่วนของเครื่องใช้ในครัวเรือน และสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวที่ถูกเผาไปด้วยนั้น ศาลเห็นว่า เจ้าหน้าที่นั้นอยู่ในวิสัยที่จะทำการเก็บรวบรวมทรัพย์สินหรือสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว แล้วนำออกมาเก็บรักษาไว้ เพื่อประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อขอรับคืนในภายหลัง หรือจัดเก็บแยกออกจากสิ่งก่อสร้างที่จะเผาทำลายได้แตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่กลับมิได้ดำเนินการดังกล่าว โดยปล่อยให้สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวของผู้บุกรุกแผ้วถางป่าที่อยู่ในเพิงพักหรือที่อยู่อาศัยถูกไฟเผาไหม้ไปพร้อมกับเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้าง เห็นได้จากหลักฐานภาพถ่ายว่ามีเศษซากสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และของใช้ประจำตัวบางอย่างที่ตกค้างเหลืออยู่ในกองขี้เถ้าอย่างชัดเจน ดังนั้น การกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่มีผลทำให้สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่อยู่ในเพิงพักหรือที่อยู่อาศัยต้องเสียหายไป เพราะถูกไฟไหม้ไปพร้อมกับเพิงพักหรือสิ่งก่อสร้างเช่นว่านั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ศาลได้กำหนดให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งหมดเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท และกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับของใช้ส่วนตัวของผู้ที่อาศัยอยู่ในเพิงพักแต่ละคนรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และของใช้ประจำตัวอื่นๆ อีก เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท รวมเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกแต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาท
ประเด็นสำคัญของคดีนี้คือ ศาลเห็นว่า สถานที่ผู้ฟ้องอยู่อาศัยนั้นไม่ได้เป็นชุมชนดั้งเดิม ดังนั้นทั้งหมดเป็นผู้บุกรุกเขตอุทยาน ที่อยู่อาศัยที่ถูกเผาศาลตีความว่าเป็นเพียงเพิงพัก ขณะที่ปู่คออี้และผู้ฟ้องคนอื่นยืนยันว่าเกิดและเติบโตมาบนแผ่นดินแห่งนี้ ก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน 2497 ใช้บังคับ และก่อนประกาศเขตอุทยานในปี 2524 ส่วนที่อยู่อาศัยที่ถูกเผานั้นคือบ้าน และเรียกแผ่นดินเกิดนี้ว่า ใจแผ่นดิน
เมื่อถูกมองว่าเป็นแค่เพิงที่บุกรุกเขตอุทยานศาลจึงมองว่า ในนามของกฎหมายเจ้าหน้าที่ชอบที่จะเผาทำลาย
มันเกิดคำถามเหมือนกันนะครับว่า ถ้าศาลมองว่านั่นคือ “บ้าน” อย่างที่ปู่คออี้และผู้ฟ้องคนอื่นเรียกมันว่าบ้านไม่ใช่เพิงพัก ศาลจะมองว่า เจ้าหน้าที่ชอบที่จะเผาทำลายหรือไม่แม้จะอยู่ในเขตอุทยานก็ตาม เคยมีวิธีปฏิบัติแบบเดียวกันคือ “เผา” หรือไม่เมื่อมีสิ่งปลุกสร้างอื่นรุกล้ำพื้นที่อุทยาน อย่างที่ศาลอ้างว่า เพื่อ ไม่ให้ผู้กระทำผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้
ที่ศาลบอกว่า “ได้สัดส่วน” ด้วยการเผานั้นเพราะมองว่านั่นไม่ใช่บ้านใช่หรือไม่ แล้วนิยามว่าคำว่า “บ้าน” ในความหมายทางกฎหมายคืออะไร
ที่สำคัญกระบวนการไต่สวนเพื่อพิสูจน์เรื่องการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านนั้น ได้กระทำอย่างจริงจังหรือไม่ หรือเชื่อหลักฐานทางราชการอย่างเดียว เพราะดูเหมือนศาลจะอ้างว่า ผู้ฟ้องไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ฟ้องเข้าไปแผ้วถางใหม่ไม่ใช่ชุมชนดั้งเดิม
ที่ศาลปกครองบอกว่า การกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่มีผลทำให้สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่อยู่ในเพิงพักหรือที่อยู่อาศัยต้องเสียหายไป เพราะถูกไฟไหม้ไปพร้อมกับเพิงพักหรือสิ่งก่อสร้างเช่นว่านั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายนั้น จะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่
เรื่องน่าเศร้าของกรณีนี้ยังเกี่ยวพันกับกรณี “บิลลี่” ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
“บิลลี่” หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ วัย 30 ปี เป็นหลานชายของปู่คออี้ เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล( อบต.) ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถือเป็นบุคคลสำคัญในพยานปากสำคัญในคดีนี้
วันที่ 18 พ.ค.2557 ศาลปกครองกลางจะมีการสืบพยานเพิ่มเติม “บิลลี่” ซึ่งเป็นพยานปากเอกคนสำคัญก็จะต้องไปให้ปากคำต่อศาลปกครอง พร้อมกับชาวบ้านในวันดังกล่าวด้วย แต่แล้วในช่วงเย็นวันที่ 17 เม.ย.57 ที่ผ่านมาซึ่งเหลือเวลาเพียงอีกแค่ 1 เดือน “บิลลี่” ก็ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
โดยนายชัยวัฒน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยอมรับว่าในวันก่อนที่บิลลี่จะหายไปได้ควบคุมตัวบิลลี่ ไปเพื่อสอบสวนจริง เนื่องจากค้นตัวแล้วเจอรังผึ้งและน้ำผึ้ง 5 ขวดแต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว โดยมีพยานรู้เห็นในการปล่อยตัวเป็นนักศึกษาฝึกงาน 2 คน และปฏิเสธว่า “ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการหายตัวไปของบิลลี่”
นายชัยวัฒน์บอกด้วยว่า “ผมอยากให้สื่อทุกคนได้เปิดมุมมองว่าบ้านโป่งลึก-บางกลอยทุกวันนี้เป็นชุมชนแบบไหน เจ้าหน้าที่อุทยานฯไปทำเพิงพักอย่างไร มีการทำไร่หมุนเวียนแบบไหน ถ้ารับได้ผมจะย้ายออกทันที ส่วนตัวเชื่อว่าบิลลี่ ยังมีชีวิตอยู่และอยู่ในเขตป่าของผม และยังอยู่ในกลุ่มขบวนการนี้”
แต่จากวันที่นายชัยวัฒน์อ้างว่า จับกุมตัวบิลลี่และปล่อยตัวมาแล้ว ยังไม่มีใครเห็นบิลลี่อีกเลย
ผมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นยิ่งกว่าโศกนาฏกรรม แล้วในฐานะเพื่อนมนุษย์เราจะนิ่งดูดายต่อชะตากรรมของปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงแห่งใจแผ่นดินเช่นนั้นหรือ