xs
xsm
sm
md
lg

มีชัยหักสนช. ไม่ให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ก๊อก1ก๊อก2มีสิทธิ์แค่โหวต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรธ.แก้ร่างรธน. เคาะ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นก๊อก1 ก๊อก 2 ให้ร่วมโหวตได้อย่างเดียว ระบุต้องยึดตามร่างรธน. ที่การแต่งตั้งนายกฯ ของประเทศที่ปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องมาจากการดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการสนับสนุนจากส.ส. เพื่อให้การดำเนินการบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ด้าน"วิษณุ" ยัน "ครม.-คสช."ไม่ติดใจใครเสนอชื่อนายกฯ แต่ย้ำคำพูด "บิ๊กตู่" ต้องมาอย่างสง่างาม แจง 3 ขั้นตอน ตามความเข้าใจรัฐบาล ย้ำ ส.ว. มีสิทธิโหวตตลอด 5 ปี

เมื่อวานนี้ (24 ส.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ที่ผ่านประชามติ หลังการประชุม นายนรชิต สิงหเสนี พร้อมด้วยนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ร่วมกันแถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการแก้ไขร่างรธน. ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ที่ระบุว่า ในช่วง 5 ปีให้ ส.ว.มีอำนาจในการพิจารณาเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น กรธ.ได้ยืนยันตามหลักการเดิม ของร่างรธน.ที่ผ่านประชามติ โดยให้ส.ส.มีสิทธิ์เสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯได้เท่านั้น เพราะส.ส.เป็นผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามา ดังนั้นส.ส.จึงต้องมีส่วนสำคัญที่จะทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร ในขณะที่ ส.ว. มีหน้าที่ร่วมลงมติบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ในระยะเวลา 5 ปี ตามคำถามพ่วง

ดังนั้น ในกรณีถ้ามีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯแล้ว จะต้องยืนยันตามผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชี ที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ ตามมาตรา 88 และ 159 ตามเดิม หลักการเดิม แต่หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกบุคคลได้ตามบัญชีของพรรคการเมือง ก็จะเป็นหน้าที่ของส.ส.เท่านั้น ที่จะปลดล็อกให้เลือกบุคคลนอกบัญชีรายชื่อนายกฯ ตามมาตรา 272 โดยต้องใช้เสียงส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 จาก 500 เสียงขึ้นไป เพื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เรียกประชุมเพื่อหาเสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่องดเว้นการเสนอชื่อนายกฯในบัญชี โดยยืนยันว่า ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนใน หรือคนนอก

ทั้งนี้ กรธ.ยืนยันว่า มีการแก้ไขร่างรธน.เพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 272 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล

นายอุดม กล่าวว่า สำหรับการจะนำบุคคลนอกบัญชีมาเป็นนายกฯ นั้น จะสามารถทำได้ครั้งเดียว ตามมาตรา 272 วรรคสอง ดังนั้นหากสภาชุดแรกหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ยุบสภา มาตรา 272 วรรคสอง ก็จะไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป โดยส.ว.จะมีสิทธิเห็นชอบบุคคลตามที่พรรคการเมืองเสนอตามบัญชีรายชื่อ ภายใน 5 ปีเท่านั้น นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทั้งนี้ ทั้งหมดหลักการเป็นสิ่งที่กรธ.สรุปแล้ว หลังจากนี้ กรธ.จะนัดประชุมเพื่อปรับถ้อยคำให้เหมาะสม ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ภายในสัปดาห์หน้า จากนี้จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ กรธ.ปรับแก้ ก็จะทำความเห็นเป็นข้อๆ ส่งมาให้ กรธ.ปรับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ เพื่อไม่ต้องกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีก หลังการปรับแก้

เมื่อถามว่า สาเหตุที่กรธ.ไม่สนองความต้องการของ สนช. ที่อยากให้ ส.ว.มีสิทธิ์ เสนอนายกฯได้เป็นเพราะอะไร นายนรชิต กล่าวว่า ตามหลักการสำคัญของมาตรา 159 บัญญัติขึ้นให้สอดคล้องกับหลักการแต่งตั้งนายกฯ ของประเทศที่ปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งจะต้องมาจากการดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. เพื่อให้การดำเนินการบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับ มาตรา 272 เป็นบทเฉพาะกาล ที่ใช้เป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศให้ประชาชนทราบ เพราะเมื่อได้รับการยกเว้นแล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปให้ส.ส.ดำเนินการต่อไป

เมื่อถามว่าหาก สนช.ไม่เห็นด้วยกับสี่งที่กรธ.ปรับแก้ จะขอยื่นเรื่องเพื่อคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายนรชิต กล่าวว่า กรธ.ไม่ได้พิจารณาช่องทางนี้ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบกับสิ่งที่ กรธ.ปรับแก้ ก็พร้อมปฏิบัติตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาในการปรับแก้ไขร่าง รธน. ตามคำถามพ่วงของสนช. นั้น เบื้องต้นจะมีการแก้ไขเพียง มาตรา 272 เพียงมาตราเดียว โดยเพิ่มวรรคที่ 1 โดยระบุว่า “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

ส่วนในวรรคสอง มีการปรับแก้ไขเป็น “ในวาระเริ่มแรกเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สองในสาม ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

**นายกฯต้องมาอย่างสง่างาม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การแก้ไขร่างรธน. ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติ ว่า แต่เดิมนั้น เป็นข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก่อนที่จะเสนอให้ สนช.พิจารณา โดยข้อเสนอของ สปท. ตอนแรกอ่านแล้วเข้าใจว่า เป็นการแก้ไขรธน.ในบทถาวร ทางสนช.จึงขอปรับเปลี่ยนให้แก้ไขในบทเฉพาะกาล คือ วาระ 5 ปีตามที่เกิดขึ้น ส่วนเรื่องของการโหวตเลือกนายกฯนั้น ได้มีการพูดถึงในที่ประชุมสปท. ว่า จะสามารถเลือกนายกฯ นอกเหนือจากบัญชีที่พรรคการเมืองใส่ในตะกร้ามาได้หรือไม่ ซึ่งถูกทักท้วงโดย นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ว่าให้เคารพเจตนารมณ์ของรธน. โดยรอบแรก ต้องเลือกนายกฯในตะกร้าเป็นหลัก ใครจะได้เป็นนายกฯ ต้องผ่านการเห็นชอบ 376 เสียง

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แต่ถ้าเลือกไม่ได้ จะเข้าสู่กระบวนการรอบที่สอง ให้ส.ส. และส.ว. ร่วมกันโหวตด้วยคะแนน 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง เพื่อยอมให้เอาคนนอกตะกร้า หากไม่ได้ ต้องกลับมาเลือกในตะกร้ากันต่อไป ส่วนในรอบที่สาม ให้เอาชื่อคนที่ถูกเสนอทั้งใน และนอกตะกร้า มาแข่งกัน ถ้าใครได้รับการโหวต 376 เสียง จะได้เป็นนายกฯ ส่วนที่ว่าใครจะเป็นคนเสนอชื่อคนนอกตะกร้านั้น ก็ไปว่ากัน โดยสนช.ไม่ควรทำ แต่เป็นเรื่องของกรธ.ที่ต้องทำ แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่าส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกฯ กี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปี

เมื่อถามถึงกรณี สนช. เสนอให้ ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกฯได้ รองนายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ครม.และคสช. ไม่เคยพูดเรื่องนี้ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ไม่ได้สนใจว่า ใครจะเป็นคนเสนอ และไม่เข้าใจว่า สังคมต้องสนใจเรื่องนี้ มันจะมีอะไรแตกต่างกันกับเรื่องที่ใครเป็นคนเสนอ คิดกันหรือว่า ถ้าส.ว.ไม่เสนอแล้ว ส.ส.จะไม่เสนอ หรืออย่างไร ตนไม่เห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหา เพราะเป็นไปได้อย่างไรว่า คนที่จะเป็นนายกฯ ไม่มีส.ส.คบ และไม่ยอมเสนอชื่อ จึงต้องให้ ส.ว.เป็นผู้เสนอ

รองนายกฯ กล่าวว่า ที่เราพูดกันว่า คนนอก คนใน ก่อนหน้านี้คือ คนนอกพรรค คนในพรรค แต่วันนี้คำว่า คนนอก กับคนในคือ คนนอกตะกร้า กับคนในตะกร้า เมื่ออยู่ในตะกร้า ไม่ว่ามาจากไหน ถือว่าเป็นคนที่พรรคนั้นเสนอ และประกาศให้ประชาชนรู้แต่แรก ไม่ใช่พูดกลางสภาวันที่จะเลือก และหากพรรคใดได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 คน จะไม่มีสิทธิเสนอรายชื่อในบัญชีเป็นนายกฯ มีสิทธิเพียงเลือกนายกฯในบัญชีของพรรคอื่นเท่านั้น ใครจะเสนอรายชื่อนายกฯ เราไม่ติดใจ แต่สิ่งสำคัญที่นายกฯพูด เมื่อวันที่ 23 ส.ค. คือ คนจะมาเป็นนายกฯ ต้องมาอย่างสง่างาม เพราะคนเราไม่มีอะไรสำคัญกว่าความสง่างาม
กำลังโหลดความคิดเห็น