xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.-สนช.เคาะร่าง รธน.วันนี้ “บิ๊กตู่”ชี้ส.ว.โหวตนายกฯก๊อก2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - “ประยุทธ์” เผยถกวาระพิเศษ “ครม.-คสช.” ทำความเข้าใจประเด็นคำถามพ่วง ย้ำช่วง 5 ปีแรก ส.ส.-ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯก๊อกแรกเลย แต่ต้องเลือกตามบัญชีพรรคการเมือง เล็งแก้ รธน. ชั่วคราวเพิ่ม สนช.เป็น 250 คนอ้างมี กม.ค้างเยอะ จับกระแส สนช.ยอมถอยให้ ส.ว.ชงนายกฯก๊อกสอง

วานนี้ (23 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุมวันนี้มีการประชุมวาระพิเศษของ ครม.และ คสช.บางส่วน มีการพูดถึงความเข้าใจในเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่ผ่านพ้นไป โดยขอย้ำว่า ในความเข้าใจของ ตน ครม.และ คสช.ทุกคนนั้น 5 ปีแรกในช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐสภาโดย ส.ส.500 คน และ ส.ว. 250 คน จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี จากเดิมให้ ส.ส.เลือกฝ่ายเดียว เปลี่ยนไปให้ ส.ส.และ ส.ว.รวม 750 คนเลือกตั้งแต่ต้น จากรอบแรกที่จำเป็นต้องเลือกจากรายชื่อในตะกร้าที่แต่ละพรรคเสนอมาพรรคละ 3 คน ซึ่งรอบแรกต้องเลือกจากรายชื่อนี้เท่านั้น ถ้าใครได้ถึงครึ่งคือ 376 คนจาก 750 คน ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้ายังไม่ได้ก็เลือกรอบสอง คือ แก้ปัญหาเดิมที่เคยบอกว่าไปไม่ได้ก็ใช้มาตรา7 ซึ่งแก้ตรงนี้ถ้าหากเลือกรอบแรกไม่ได้ก็เลือกใหม่ โดยคราวนี้จะสามารถเลือกจากนอกตะกร้าได้

“ส่วนใครเสนอชื่อ ผมไม่รู้ เป็นเรื่องที่กรรมกาาร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องไปพิจารณา หารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และต้องย้อนไปดูมติของ สนช.รวมไปถึงการชี้แจงคำถามพ่วงว่าทำมาเพื่ออะไรด้วย มาพูดกันไปมาอย่างนี้ไม่ได้ ต้องเป็นไปตามตัวบทอักษร ที่เขาเขียนคำถามพ่วง เพื่อต้องการแก้ปัญหาที่ทะเลาะกันแต่เดิมว่าทำอะไรไม่ได้ จะไปมาตรา7 เขาชี้แจงมาอย่างนี้ไม่ใช่หรือ จึงมีทางออกมีรู มาให้ตรงนี้ แต่ก็สุดแล้วแต่ว่าจะมาจะไปยังไง ใครจะเลือก เลือกจะจากสวรรค์ชั้นฟ้าที่ไหนก็ไปเลือกมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ยังหากรือถึงความจำเป็นในการแก้ไขมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เดิมมี สนช.ไม่เกิน 220 คน จะเพิ่มอีก 30 คน ซึ่งต้องไม่เกิน 250 คน ทั้งนี้เหตุผลไม่เกี่ยวเรื่องนายกฯ เพราะวันนี้ต้องเร่งรัดการทำกฎหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ยังเหลืออยู่กว่า 50 ฉบับ และมีเรื่องกฎหมายอื่นตามนโยบายของรัฐบาลอีกหลายสิบฉบับ โดยมอบให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเป็นผู้ดำเนินการ

** “ประวิตร” เชื่อ กรธ.รู้ว่าต้องทำอย่างไร

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวว่า หน้าที่ของ สนช.จบตั้งแต่เสนอคำถามพ่วงไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว เมื่อผลประชามติออกมาก็เป็นหน้าที่ของ กรธ.ในการปรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปถามผลของประชามติ ซึ่ง กรธ.รู้ว่าควรทำอย่างไร ก่อนที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกครั้ง คสช.ไม่จำเป็นต้องหารือกันในเรื่องนี้ เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจน ตัวหนังสือบ่งบอกทั้งหมด โดยไม่ต้องตีความ

ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ส่วนตนคิดว่าประชาชนเข้าใจคำถามพ่วงแบบที่ สนช.เข้าใจ ไม่เห็นใครจะต้องมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะไม่ใช่หน้าที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สนช.ควรตอบว่าต้องการอะไรในคำถามพ่วง ในเมื่อประชาชนเข้าใจรัฐธรรมนูญก็ต้องเข้าใจความหมายของคำถามพ่วง ส่วนจะเข้าใจอย่างไรให้ถาม สนช. ซึ่งสุดท้าย สนช.และกรธ.ต้องคุยกัน

“อยากให้ถามประธาน สนช.ว่าได้คืบเอาศอกจริงหรือไม่อย่างที่แต่ละคนเข้าใจ เพราะเป็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้บ้านเมืองถึงวุ่นวาย ศรีธนญชัยบ้าง รังแต่จะเอาประโยชน์ตัวเองทั้งหมด ขอให้เคารพเสียงประชาชนบ้าง” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

** “เจษฎ์” เตือนระวังสังคมรับไม่ได้

อีกด้าน นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กรธ.ในวันที่ 24 ส.ค.ที่จะพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงในการลงประชามติ โดย สนช.ที่ต้องการให้ส.ว.ที่มาจากการสรรหา มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯในช่วง 5 ปีแรกว่า ทุกฝ่ายที่เสนอความเห็นต่างก็คิดถึงบ้านเมือง แต่ก็เป็นหน้าที่ของ กรธ.ที่ดูว่าคำถามพ่วงนั้นควรจะมีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน ขอยืนยันว่า กรธ.ไม่ได้คิดเหมือน สนช.อยู่แล้ว มิฉะนั้นคงไม่มีคำถามพ่วง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคำถามพ่วงผ่านประชามติ กรธ.ก็ต้องมาดูว่าจะแก้ไขอย่างไร ให้มีความสอดคล้อง และขอยืนยันว่า กรธ.ต้องการให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดยเร็วที่สุด

ขณะที่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษา กรธ.กล่าวว่า การแก้ไขในมาตรา 272 ก็ต้องแก้ไขแบบตรงไปตรงมาโดยยึดโยงกับมาตรา 159 จากเดิมสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เห็นชอบนายกฯเปลี่ยนเป็นรัฐสภาเป็นผู้เห็นชอบนายกฯ โดยสภาผู้แทนราษฎรเพียงผู้เดียว จะเป็นผู้เลือกบุคคลที่จะเป็นนายกฯจะเป็นคนนอกหรือคนในก็ได้ แต่หาก กรธ.ไปแก้ไขตามความเห็นของ สนช.ที่ต้องการให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ได้ไม่ว่าจะเป็นรอบแรกหรือในรอบข้อยกเว้น ทั้งที่ยังไม่มีปัญหาอะไรก็เชื่อได้สังคมจะรับไม่ได้ และเกิดปัญหา เพราะไม่ใช่สิ่งที่รับรู้ก่อนการทำประชามติ

** สนช.ถอยให้ ส.ว.ชงนายกฯก๊อกสอง

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า เรื่องคำถามพ่วงของ สนช.ถือว่านิ่งแล้วคือ การพิจารณาเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกให้ ส.ส. และส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา แต่หากไม่สามารถดำเนินการเลือกนายกฯตามบัญชีพรรคการเมืองได้ จะเข้าสู่ก๊อกสองคือ ให้สมาชิกรัฐสภา ซึ่งหมายความรวมถึง ส.ว.มีสิทธิเสนอรายชื่อบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ หมายถึงมีสิทธิเสนอชื่อคนนอกเป็นนายกฯได้ ทั้งนี้ภายใน 5 ปีแรก ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กรธ.ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของสนช.หรือไม่ ถ้า กรธ.จะตีความแบบแคบ ตามลายลักษณ์อักษรก็ไม่เป็นไร แต่ สนช.ตีความแบบกว้าง ทั้งนี้หลังจากที่ กรธ.แก้ไขปรับปรุงบทเฉพาะกาลเรียบร้อยแล้ว ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งว่า มีความสอดคล้องกับคำถามพ่วงหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญเรียก สนช.ไปชี้แจง ก็พร้อมไปให้ข้อมูล.
มีชัยหักสนช. ไม่ให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ก๊อก1ก๊อก2มีสิทธิ์แค่โหวต
มีชัยหักสนช. ไม่ให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ก๊อก1ก๊อก2มีสิทธิ์แค่โหวต
กรธ.แก้ร่างรธน. เคาะ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นก๊อก1 ก๊อก 2 ให้ร่วมโหวตได้อย่างเดียว ระบุต้องยึดตามร่างรธน. ที่การแต่งตั้งนายกฯ ของประเทศที่ปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องมาจากการดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการสนับสนุนจากส.ส. เพื่อให้การดำเนินการบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ด้านวิษณุ ยัน ครม.-คสช.ไม่ติดใจใครเสนอชื่อนายกฯ แต่ย้ำคำพูด บิ๊กตู่ ต้องมาอย่างสง่างาม แจง 3 ขั้นตอน ตามความเข้าใจรัฐบาล ย้ำ ส.ว. มีสิทธิโหวตตลอด 5 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น