ประธาน กรธ.ยังงงไม่รู้จะมีแนวทางแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วงอย่างไร แต่ต้องทำให้ตรงกับเจตนารมณ์ของประชามติ ยึดตัวอักษรเป็นหลัก และต้องให้ทุกฝ่ายดูก่อน ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการตีความคำถามพ่วงประชามติต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า กรธ.ต้องการที่จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้ตรงกับเจตนาของประชามติ โดยยึดตัวอักษรเป็นหลักตามระบอบการปกครองของประเทศที่ใช้เป็นระบบลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ตนเห็นว่ามีคนยังเข้าใจผิดอยู่ว่ามาตราที่ 272 นั้นเป็นบทถาวร ขอเรียนว่าจริงๆ แล้วเป็นบทเฉพาะกาล
นายมีชัยกล่าวว่า เมื่อยึดตัวบทอักษรก็ต้องดูที่คำถามพ่วงซึ่งระบุว่าวาระเริ่มแรกจนถึงเวลา 5 ปี รัฐสภา โดย 2 สภาจะเป็นผู้ร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะผูกพันกับระยะเวลามากกว่าจำนวนครั้ง แตกต่างจากในมาตรา 272 ที่มีความผูกพันแค่วาระเริ่มแรกของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ในมาตรา 272 นั้นระบุอีกว่าถ้าหากหลักจากการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกนั้นเกิดการยุบสภาขึ้น หลักการเสนอข้อยกเว้นเพื่อให้ ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ และร่วมกับ ส.ส.เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีนั้นไม่สามารถทำได้แล้วเพราะว่าพ้นจากวาระเริ่มแรกของรัฐสภาไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม กรธ.ในตอนนี้ยังมีความสับสนอยู่ว่าจะนับเรื่องวันแรกที่มีรัฐสภากันอย่างไร เพราะคำว่า 5 ปี ตั้งแต่มีรัฐสภาในคำถามพ่วงฯนั้นเป็นภาษาชาวบ้าน ถ้าดูภาษากฎหมายก็จะสงสัยแล้วจะดูวันที่รัฐสภากันอย่างไร ถ้าหากวันเลือกตั้งมี ส.ว.แล้ว จะหมายความว่าตอนนั้นมีรัฐสภาแล้วหรือยัง ตรงนี้ก็ยังสงสัยอยู่ ดังนั้น กรธ.ก็ได้มีแนวคิดว่าถ้าเขียนว่านับตั้งแต่มีการประชุมสภาเป็นครั้งแรกจะชัดเจนกว่าหรือไม่ แต่อย่างไรปัญหาก็มีอยู่ เนื่องจากการไปเปลี่ยนคำว่ารัฐสภา เป็นคำว่าการประชุมครั้งแรกอาจนำมาซึ่งปัญหาได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามเจตนาของคำถามพ่วงฯ จะนำไปสู่การเพิ่มมาตราใหม่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.ก็ยังกังวลอยู่ เพราะ กรธ.นำเสนอให้ประชาชนได้ทราบก่อนลงประชามติว่าร่างรัฐธรรมนูญมีอยู่ 279 มาตราดังนั้นถ้าไม่จำเป็น กรธ.ก็จะไม่เพิ่มมาตรา
ต่อข้อถามว่า ในตอนนี้มี สนช.บางคนมาอ้างว่า ส.ว.นั้นสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ด้วยนั้น นายมีชัยกล่าวว่า ตรงนี้ก็ต้องไปดูตามตัวอักษร ส่วนรายละเอียดตนขอให้ฟังหลังจากที่ กรธ.หารือกับตัวแทน สนช.เรียบร้อยแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าในข้อเสนอของ สนช.ระบุว่าถ้าหากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกมนตรีได้ และต้องใช้เสียงของรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง ควรให้ ส.ว.มาร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ควร แต่ต้องดูว่าที่เขียนไว้มันจะไปถึงตรงนี้หรือไม่ ก็เปรียบเสมือนว่าในวันนั้นเจอหน้าผู้หญิง ควรจะขอความรักจากเขาภายในครั้งเดียว แต่ปรากฏว่าตอนนั้นกลับไม่ได้ขอ
นายมีชัยกล่าวว่า ในตอนนี้ยังไม่รู้ว่า กรธ.จะมีความเห็นหรือแนวทางว่าจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างไร แต่คาดว่าภายในครึ่งเดือนหลังจากนี้ กรธ.น่าจะส่งร่างรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ซึ่ง กรธ.ก็จะต้องดำเนินการโดยละเอียดครอบคลุมครบถ้วน และส่งไปให้ทุกฝ่ายดูก่อนที่จะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเขียนไม่ถูก ไม่ตรงตามเจตนาของประชามติก็ให้เขาส่งความเห็นกลับมาว่าจะให้เขียนแก้ไขกันอย่างไร
นายมีชัยกล่าวต่อว่า ในตอนนี้ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงฯ นั้นผ่านประชามติไปแล้ว กรธ.คงไม่สามารถไปเพิ่มอำนาจหรือตัดทอนอะไรได้อีกแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าในขณะนี้ คำกล่าวว่าให้ที่ประชุมร่วมทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันพิจารณาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อาจจะถูกตีความหมายถึงว่าให้ ส.ว.ร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เวลาไปร่วมเป็นสักขีพยานตอนที่เขาจะแต่งงานกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ร่วมเป็นสักขีพยานจะไปแต่งงานด้วย