xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางของนายกฯ คนนอก

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญพร้อมคำถามพ่วงจบลงด้วยเสียงข้างมากประมาณ 60 ต่อ 40 ตอบ “รับ” ทั้งสองประเด็น นับจากนี้ไปก็จะนำคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ และนำไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อนนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ หลังจากนั้นก็จะทำกฎหมายลูก 4 ฉบับ สรุปว่าจะเลือกตั้งกันประมาณปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 เป็นอย่างช้า

แม้ผมจะไม่เห็นด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนให้มีการสืบทอดอำนาจ แต่เมื่อประชาชนมีมติแล้วก็เคารพต่อเสียงข้างมาก และหวังว่าประชาชนจะสมประสงค์กับสิ่งที่คาดหวังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

มีการวิเคราะห์มากมายว่าทำไมประชาชนออกมา “รับ” ชนะเสียง “ไม่รับ” อย่างท่วมท้นเหนือความคาดหมายก่อนหน้านี้ที่ประเมินกันว่า เสียง “รับ” น่าจะชนะไปอย่างสูสี

แต่ประเด็นที่ผมไม่ค่อยเชื่อและได้ยินนักการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยพูดหลังจากทราบผลก็คือ บอกว่าประชาชนต้องการการเลือกตั้ง แน่นอนละว่า หลังจากนี้กระบวนการต่างๆ จะต้องเดินไปสู่การเลือกตั้ง แต่ผมกลับคิดว่าการลงประชามติครั้งนี้ แท้จริงแล้วเป็นการลงมติยอมรับรัฐบาลเผด็จการนั่นเอง เพราะประชาชนแทบไม่ได้สนใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเลย

ถ้าถามความเห็นของผมว่าอะไรน่าจะเป็นปัจจัยหลักทำให้คนออกมารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สิ่งที่ผมตอบได้ทันทีก็คือ ความเชื่อมั่นต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความเบื่อหน่ายต่อความขัดแย้งในรอบสิบปี ความชิงชังต่อนักการเมือง ความคาดหวังต่อการปฏิรูป และวาทกรรมที่ได้ผลมากก็คือ คำว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง

แต่ผลพวงหลังจากนี้จะเป็นสิ่งที่เราคาดหวังหรือไม่นั้นก็ต้องจับตากันตั้งแต่การร่างกฎหมายลูก และการวางกลไกก่อนการเลือกตั้งของรัฐบาลชุดนี้ที่ยังจะมีอำนาจอยู่ 1 ปีกว่าหรือเกือบ 2 ปีจนกว่าจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะวางรากฐานและโครงสร้างเพื่อปูทางไปสู่การปฏิรูปประเทศซึ่งมาตรา 259กำหนดให้เริ่มต้นภายใน 1 ปีตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ซึ่งคงจะคาบเกี่ยวกับช่วงปลายของรัฐบาลนี้ก่อนการเลือกตั้ง

สิ่งที่ต้องมองต่อไปก็คือ รัฐบาลหลังเลือกตั้งที่จะสานต่อรัฐบาล คสช.นั้นจะเป็นใคร ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

อย่าลืมนะครับว่า จากประชามติของคำถามพ่วงเท่ากับประชาชนอนุมัติให้ คสช.สืบทอดอำนาจได้ผ่าน 250 ส.ว.ที่จะมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ซึ่ง 6 คนในนั้นจะมาจากปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ผบ. 3 เหล่าทัพ และผบ.ตร. แล้ว ส.ว. 250 คนนี้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ได้ 5 ปีนับจากวันที่มีรัฐสภาชุดแรก นั่นเท่ากับว่า ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนจะสามารถเลือกรัฐบาลได้อย่างน้อย 2 ชุด 2 สมัยใน 8 ปี

เมื่อรวมสภาผู้แทนราษฎร 500 คนที่มาจากการเลือกตั้งกับ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งประกอบกันเป็นรัฐสภา นั่นแสดงว่าเสียงกึ่งหนึ่งของคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงข้างมากถึง 376 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคการเมืองพรรคไหนจะได้เสียงขนาดนั้น เว้นเสียแต่ว่าพรรคใหญ่ 2 พรรคอย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จะจับมือกัน หรือพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งสามารถรวบรวมเสียงในสภา จากพรรคการเมืองอื่นได้ถึง 376 เสียงจึงจะพ้นจากบงการของ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ได้

ผมคิดว่าที่พรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็เพราะเห็นสมการนี้นั่นเอง คือ พรรค ส.ว.จะเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา ถ้า ส.ส.จับมือกันได้ไม่ถึง 376 คน ก็ต้องพึ่งเสียงของ ส.ว.เป็นตัวกำหนดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่แม้ว่าความเป็นไปได้ในทางคณิตศาสตร์การเมืองที่ ส.ส.จะปลดแอกจากพรรค ส.ว.จะมีอยู่ แต่ในความเป็นจริงการรวมกันจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะนั่นเท่ากับทั้งสองพรรคต้องทำลายศรัทธา และความเชื่อมั่นต่อฐานเสียงของตัวเอง แม้การเมืองจะไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร แต่ผมไม่คิดหรอกว่าทั้งสองพรรคจะกล้าทรยศต่อมวลชนของตัวเอง ผมจึงเพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า การหลุดพ้นจากอำนาจของพรรค ส.ว.มีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีเท่านั้นเอง

ดังนั้น ฟันธงตรงนี้ว่า พรรคที่จะกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีก็คือ พรรค ส.ว.ที่มี 250 เสียงในมือโดยไม่ต้องลงเลือกตั้งนั่นเอง

แล้วใครล่ะจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคละไม่เกิน 3 คน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคนที่ถูกเสนอชื่อด้วยตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้ง แล้วในขั้นแรกให้สภาเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่แต่ละพรรคเสนอขึ้นมาเท่านั้น แต่ต้องเป็นพรรคที่มีเสียงตั้งแต่ 25 เสียงเป็นต้นไปจึงจะมีสิทธิ

ผมคาดเอาว่ามีพรรคที่มีเสียงเกิน 25 เสียงไม่น่าจะเกิน 5-6 พรรค สมมติว่ามี 5 พรรค เราก็จะมีตัวเลือกนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอไม่เกิน 15 คน

ถ้าเลือกจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้คือไม่มีคนที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียงจากทั้งสองสภา ร่างรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ว่า กรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ร่างรัฐธรรมนูญจึงจะเปิดช่องให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามาได้

แต่การเสนอนายกฯ คนนอกโดยไม่เอาชื่อที่พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ระบุว่า ส.ส.จำนวน 500 คนต้องเข้าชื่อกันเกินกึ่งหนึ่งคือ 251 คนขึ้นไปเสนอขอยกเว้นไม่ต้องเสนอตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ แล้วเมื่อ ส.ส.เข้าชื่อกันเกิน 251 คนแล้ว ประธานรัฐสภาก็จะเรียกประชุมร่วมให้รัฐบาลมีเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 คือ 500 คน (ของ 750 คน ส.ว. 250+ส.ส. 500) ขอให้ยกเว้นให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้

เส้นทางของคนนอกถูกผูกไว้ 2 ขั้นตอนหลังเลือกจากรายชื่อไม่ได้คือ ขอมติกึ่งหนึ่งของ ส.ส.จากนั้นขอมติ 2 ใน 3 ของสองสภา

แต่หลังจากคำถามพ่วงผ่านให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ด้วยก็เกิดคำถามว่าจะต้องแก้มาตรา 272 ด้วยหรือไม่ ในประเด็นที่ว่า ส.ส.ต้องเข้าชื่อกันเกินกึ่งหนึ่งคือ 251 คนเพื่อยกเว้นรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอนั้น จะต้องเปลี่ยนเป็นสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันเกินกึ่งหนึ่ง 376 เสียงเพื่อขอยกเว้นหรือไม่ หรือแก้ไขให้ข้ามขั้นตอนนี้ไปเลย เพราะถ้าไม่แก้ก็อาจจะเกิดทางตันถ้าไม่สามารถได้เสียง ส.ส.ถึง 251 เสียงในการยกเว้นเอาคนนอกก็ไปต่อไม่ได้ หากเลือกนายกฯ จากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอยังไงก็ไม่มีใครได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากสองสภา คือ 376 เสียง

ดังนั้น การเอาคำถามพ่วงไปใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบนั้น จะต้องโฟกัสไปที่การแก้มาตรา 272 ซึ่งจะเป็นประตูให้นายกรัฐมนตรีคนนอกด้วย

ใครจะเป็นนายกฯ ที่จะควบต่อโรดแมปของ คสช.แต่หลายคนคงภาวนาว่าอย่าให้เป็นคนอ้วนๆ เตี้ยๆ คนนั้นเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น