“กรมทรัพย์สินทางปัญญา” เผย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฉบับปรับปรุงใหม่บังคับใช้แล้ว เพิ่มโทษการปลอมสินค้าโดยใช้ภาชนะบรรจุของจริง หวังช่วยปกป้องผู้บริโภค โดยหากจับได้มีโทษปรับ 4 แสนบาท คุก 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ เผยสินค้าที่พบมากมีทั้งสุรา น้ำมันเครื่อง และยาสระผม ระบุยังได้ขยายการคุ้มครองถึงเครื่องหมายเสียงด้วย
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ที่กรมฯ ทำการปรับปรุงใหม่ ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมา โดยได้เพิ่มเติมสาระสำคัญของกฎหมายให้มีบทลงโทษสำหรับการทำสินค้าปลอมที่มีการนำหีบห่อหรือภาชนะที่แสดงเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้มาใช้บรรจุสินค้าที่ทำเองเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของจริง ซึ่งผู้ทำผิดจะมีโทษปรับ 4 แสนบาท จำคุก 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ กฎหมายเดิมไม่ได้มีโทษในการทำสินค้าปลอม แต่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อเป็นของจริง ที่ผ่านมา ได้ใช้กฎหมายอาญา มาตรา 272 และ 275 จัดการ และมีโทษเบา คือ ปรับ 2 พันบาท จำคุก 1 ปี แต่กฎหมายใหม่ได้กำหนดความผิดเอาไว้เลยและเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการซื้อหรือใช้สินค้าปลอม
“ที่ผ่านมาพบว่ามีพ่อค้าแม่ค้ำนำภาชนะบรรจุที่เป็นของแท้ไปใส่ของปลอม เช่น สุรา น้ำมันเครื่อง ยาสระผม โดยเป็นการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นของแท้ โดยล่าสุดได้มีการจับกุมแหล่งผลิตเหล้าปลอมได้กว่า 2,000 ขวด ยี่ห้อที่ถูกปลอม คือ แบล็กเลเบิล และเรด เลเบิล โดยเอาวิสกี้ราคาถูกหรือเอาแอลกอฮอล์มาใส่แทน ส่วนไวน์ก็มี โดยนำ Bin 2 มาติดฉลากใหม่เป็น Bin 389 เพื่อให้ขายได้แพงขึ้น และยังมีน้ำมันเครื่องอีก ที่พบว่ามีการปลอมมาก ซึ่งผู้บริโภคต้องระวังหากพบว่าสินค้าถูกกว่าปกติ” นางนันทวัลย์กล่าว
นางนันทวัลย์กล่าวว่า พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้ายังได้ขยายการให้ความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายเสียง เพื่อให้สามารถรับจดทะเบียนเสียงเป็นเครื่องหมายการค้าได้ นอกเหนือจากเครื่องหมายการค้าที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาที่มีการจดทะเบียนอยู่ในปัจจุบัน เช่น เสียงดนตรีจาการขายไอศกรีม เสียงเริ่มต้นรายการโทรทัศน์ เสียงเริ่มต้นรายการข่าว เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถใช้เครื่องหมายเสียงในการส่งเสริมการตลาดและเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันทางการค้า
นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้มีความชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งการลดขั้นตอน การวินิจฉัยอุทธรณ์จาก 90 วัน เหลือ 60 วัน และการปรับปรุงค่าธรรมเนียมท้ายกฎหมายให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวทุกรายการ เช่น ค่าธรรมเนียมคำคัดค้านเดิมฉบับละ 1,000 บาท เป็นฉบับละ 2,000 บาท
ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกไทยในการยื่นจดเครื่องหมายการค้า ไปยังสมาชิกอีก 97 ประเทศได้โดยง่ายและรวดเร็วขึ้น เพราะสามารถยื่นจดที่ไทย แต่สามารถระบุประเทศที่ต้องการขอรับการคุ้มครองได้เลย