โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผย สรุปสาระสำคัญเสร็จก่อนสงกรานต์ ส่วนแผนประชาสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ ชะลอไว้ก่อน รอกฎหมายออกเสียงประชามติบังคับใช้ ย้ำไม่ได้ห้ามวิจารณ์ แต่ให้พิจารณาตามความเป็นจริง ปฏิเสธร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ คาดให้ กกต. ชงร่างตุ๊กตาพิจารณา หลังประชามติผ่าน คาด กม. คลอดเร็วขึ้น ระบุมาตรา 272 นายกฯ นอกบัญชีเลือกได้ตลอด 5 ปี ไม่จำกัดวาระเริ่มแรก
วันนี้ (1 เม.ย.) นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงความคืบหน้าการจัดทำสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ โดยมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 13 เม.ย. ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นการอธิบายสาระสำคัญโดยย่อ ส่วนอีกฉบับเป็นการอธิบายภาพประกอบสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้เข้าใจสาระสำคัญได้มากขึ้น และจะส่งทั้งสองฉบับต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยแนบไปกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์
ส่วนแผนประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญรูปแบบอื่น ๆ ขณะนี้ได้ชะลอไว้ก่อน เนื่องจากต้องรอร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ที่ขณะนี้ สนช. อยู่ระหว่างการพิจารณาให้แล้วเสร็จมีผลประกาศใช้ เพื่อที่ กรธ. จะได้ทราบบทบาทหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ภายใต้กฎหมายดังกล่าวนี้ นอกจากนี้ทาง กรธ. ยังได้ปฏิเสธ ไม่ได้เป็นองค์กรที่ห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และอยากเรียกร้องให้สังคมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตามความเป็นจริง ส่วนจะมีข้อดีข้อเสียถือเป็นสิทธิที่แสดงความคิดเห็นได้
นายอุดม กล่าวต่อว่า ในส่วนของมาตรา 54 ในประเด็นหน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษาให้เด็กทุกคน ขอยืนยันว่า กรธ. ได้กำหนดให้รัฐให้การศึกษาก่อนวัยเรียนจนจบภาคบังคับ หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนระดับมัธยมศึกษาปลาย และสายอาชีวะ หรือสายอาชีพ หากรัฐจะส่งเสริมการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็สามารถทำได้โดยไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ยืนยันว่า สาเหตุที่บัญญัติเช่นนี้ เพราะต้องการสร้างพื้นฐานในการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ และปลูกฝังทัศนคติ การอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่นในสังคมได้ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน และเป็นการช่วยเหลือเด็กก่อนวัยเรียนประมาณ 3 ล้านคนที่มักเป็นผู้ด้อยโอกาสการศึกษา
เมื่อถามว่า กรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะมีเซอร์ไพรส์กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง หมายความว่าอย่างไร นายอุดม กล่าวว่า นายวิษณุ คงหมายความว่า ในช่วงที่รอการทำประชามติ อาจมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดเลือกตั้ง เช่น กกต. จัดทำร่างกฎหมายตุ๊กตาเตรียมพร้อมไว้ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กรธ. ก็สามารถหยิบมาปรับปรุงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาพิจารรารวดเร็วยิ่งขึ้น และยืนยันว่า กรธ. ไม่มีเตรียมการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับเอาไว้
เมื่อถามถึงกรณีที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ระบุว่า มาตรา 272 อาจเกิดปัญหาการตีความในวาระเริ่มแรกของการเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีภายในระยะเวลา 5 ปี อาจเลือกได้แค่ครั้งเดียว และหากเกิดวิกฤตทางการเมืองอาจไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ นายอุดม กล่าวว่า คำว่า วาระเริ่มแรก ในมาตรา 272 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล หมายถึงระยะเวลา 5 ปี โดย กรธ. ไม่ได้มีการพิจารณาว่าวาระเริ่มแรกจะเลือกตั้งนายกฯ นอกบัญชีได้กี่ครั้ง ดังนั้นหากถึงเวลาจริงและเกิดปัญหา ก็อาจจะต้องเข้ามาตรา 5 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมร่วมประธาน 12 ฝ่ายเพื่อวินิจฉัยหาทางออก