xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” แจงครู ก.คำถามพ่วงประชามติ มี ส.ว.สรรหา ไว้เร่งรัดรัฐบาลปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
รองประธาน สนช. ชี้แจงครู ก. คำถามพ่วงท้ายการทำประชามติ ระบุเหตุผลให้ ส.ว. สรรหา ร่วมโหวตนายกฯ เพื่อติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศในระยะเวลา 5 ปี จากนั้นก็กลับไปสู่ภาวะปกติ ย้ำไม่แย้งต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่านก็แค่ปรับแก้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272

วันนี้ (18 พ.ค.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้บรรยายถึงที่มาที่ไปของคำถามพ่วงท้ายการทำประชามติ ต่อบรรดาครู ก. เพื่อลงไปทำหน้าที่ในการบรรยายให้กับครู ข. ครู ค. เพื่อสามารถชี้แจงได้หากมีคำถามบิดเบือน โดยเหตุที่ต้องมีคำถามเพิ่มเติม เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้พิเศษกว่าฉบับอื่น คือ ถูกตีกรอบในการออกแบบจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในมาตรา 35 ว่า จะต้องมีกลไกที่จะมาควบคุมการขับเคลื่อนประเทศชาติในเรื่องต่าง ๆ 10 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ กลไกพิเศษ ควบคุมการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่องและสมบูรณ์ กรธ. จึงได้บรรจุไว้ในหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ เมื่อเรายอมรับว่าต้องมีการปฏิรูปประเทศ โดยบางเรื่องทำไปแล้ว แต่หลายเรื่องไม่สามารถทำเสร็จได้ก่อนการเลือกตั้ง ที่ต้องมีคำถามเพิ่ม เพราะนายกรัฐมนตรีคือหัวหน้าทีมที่ทำให้การปฏิรูปประเทศประสบผลสำเร็จ ขณะที่ ส.ว. ใหม่จะมีบทบาทหน้าที่ต่างจากปี 40 และ 50 คือ เร่งรัดปฏิรูปประเทศ โดยให้รัฐบาลมีหน้าที่รายงานความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภา ทุก 3 เดือน ถ้าไม่มีความคืบหน้า ส.ว. มีหน้าที่ติดตามเร่งรัด

เมื่อมีประเด็นคำถามจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอมาว่า สมควรให้รัฐสภาร่วมคัดเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เราพิจารณาแล้วว่า เมื่อตัวละครประกอบด้วย รัฐบาล สภา และรัฐสภา เพื่อให้การขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง ควรให้ตัวละครมีสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพราะยุทธศาสตร์ชาติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงจะวางรากฐานการปฏิรูปได้ จึงสมควรให้ ส.ว. ร่วมให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ด้วย จากนั้นก็กลับไปสู่ภาวะปกติ คือการมีนายกรัฐมนตรีมาจากเลือกตั้ง ส่วนระยะเวลา 5 ปี ก็ยึดตามร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดอายุ ส.ว. ไว้ 5 ปี

“พวกท่านต้องช่วยกันไปเผยแพร่ทำความข้าใจให้กับ ครู ข. ครู ค. ก่อนที่จะมีการทำประชามติวันที่ 7 ส.ค. โดยต้องไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจสองอย่างคือ หนึ่ง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีสาระจำนวนมาก จึงควรแบ่งหัวข้อกันจำ และสอง ภารกิจการถ่ายทอดประเด็นคำถามพ่วงว่าทำไมต้องมี อะไรคือเหตุผลความคิดของ สนช. ในการเสนอคำถามพ่วงให้ประชาชน และเป้าหมายวัตถุประสงค์คืออะไร” นายสุรชัย กล่าว

นายสุรชัย กล่าวว่า หลายคนเคยมีข้อสงสัยว่า คำถามพ่วงนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนตอบว่าไม่ใช่ ตรงกันข้ามเป็นการรับเอากฎกติกาที่ถูกออกแบบไว้ในร่างมาทั้งหมด แล้วคิดต่อว่าทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้กฎเกณฑ์เหล่านั้นสามารถขับเคลื่อนได้จริง โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องการให้เป็นรูปธรรมให้ได้ นายกฯคนนี้ไม่ได้ทำงานภายใต้สภาอย่างเดียวแ ต่ต้องภายใต้รัฐสภาด้วย จะคิดถูกหรือผิดต้องส่งให้ประชนเป็นคนตัดสินใจ โดนจะไม่ชี้นำ แต่ทุกคนมีหน้าที่ไปอธิบายความให้เข้าใจ ท้ายที่สุดการตัดสินใจเป็นอิสระของประชาชน จะเป็นหนึ่งในความสำคัญที่ทุกคนต้องไปแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบทางการเมือง

“สมมติหากร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงนี้ผ่านประชามติ ก็แค่ปรับแก้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน เท่านั้น โดยศาลรัฐธรรมนูญจะเอาไปตรวจสอบว่าเนื้อที่ปรับแก้ตรงกับมติประชาชนหรือไม่ ที่มีบางกระแสบอกว่า ถ้าผ่านแล้วจะทำให้ล่าช้าต้องรื้อใหม่ทั้งหมดนั้นไม่จริง อะไรที่ไม่เกี่ยวกับคำถามพ่วงก็ใช้ของเดิมทั้งหมด ไม่มีอะไรกระทบ” นายสุรชัย ย้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น