xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.สั่ง กรธ.แก้ร่าง ให้ ส.ว.ร่วม ยกเว้นบัญชีนายกฯ จากพรรคได้ แต่เสนอชื่อไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ เผย ศาล รธน. มีมติให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปรับแก้เนื้อหาร่าง รธน. ให้สอดคล้องผลประชามติ 2 ประเด็น ปม ม.272 ชี้ ยกเว้นชงชื่อนายกฯ ตามบัญชีพรรคเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมด แต่ไม่ใช่เป็นการเสนอชื่อนายกฯ และเริ่มนับเวลาตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ กรธ. ไปปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ โดย 1. ในประเด็นที่ กรธ. กำหนดเป็นมาตรา 272 วรรคสองของร่างรัฐธรรมนูญว่า “กรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอให้ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อยกเว้นได้” นั้น เห็นว่าควรเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปด้วย สมตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติ ดังนั้น กรธ. แก้ไขให้ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองคือสมาชิกรัฐสภา จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

2. ในประเด็นที่ กรธ. กำหนดเป็นมาตรา 272 วรรคหนึ่งว่า “ในระยะ 5 ปีแรก” นับแต่วันที่มีรัฐสภา ภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 268 และวรรคสองบัญญัติว่า “ในวาระเริ่มแรก” เมื่อมีการเลือก ส.ส. ตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่แจ้งไว้ ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา มีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง เห็นว่า การกำหนดระยะเวลาวันเริ่มนับกำหนดเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องสอดคล้องกัน จึงได้กำหนดให้ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ เพื่อให้ได้นายกฯเข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการในช่วงเวลาเดียวกัน และสามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ สำเร็จบรรลุผลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและเจตนารมณ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาจะต้องประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. ดังนั้น กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรค 2 คือ ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น กรธ. ต้องไปดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมทั้งปรับแก้ถ้อยคำในคำปรารภให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง มีทั้งสิ้น 19 หน้า ซึ่งในคำวินิจฉัยกลางได้ระบุถึงผู้มีสิทธิที่จะเสนอชื่อนายกฯ และผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติแล้วเห็นว่าการได้มาซึ่งนายกฯ ได้แบ่งขั้นตอนการเสนอชื่อและการให้ความเห็นชอบออกจากกัน เนื่องจากต้องการให้การเสนอชื่อบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของประชาชน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ จึงได้กำหนดไว้ในมาตรา 88 ให้พรรคการเมือง ต้องคัดเลือกบุคคลที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ขณะที่ในประเด็นคำถามพ่วงที่ให้ประชาชนลงมตินั้น เขียนเพียงว่า “ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ” ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าคำถามพ่วงประสงค์เฉพาะให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ไม่รวมถึงการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ด้วย ดังนั้น การร่างฯ 272 วรรคหนึ่งไว้ในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. จึงสอดคล้องและชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติแล้ว

ส่วนการเสนอขอยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีของพรรคการเมือง แม้ไม่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบตัวบุคคล ผู้จะเป็นนายกฯ ตามถ้อยคำในประเด็นคำถามพ่วงก็ตาม แต่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญผลการออกเสียงประชามติ จำต้องแก้ไขให้สอดคล้องกันทุกส่วนทุกขั้นตอน รวมถึงขั้นตอนการเสนอขอยกเว้นดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการกำหนดให้ ส.ส. เป็นองค์กรมีสิทธิเสนอขอยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรคการเมือง โดยอาศัยเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเท่าที่มีอยู่ หากการดำเนินการในขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้ถึงจำนวนดังกล่าวเกิดข้อขัดข้อง เป็นเหตุให้กระบวนการทั้งหมดต้องล่าช้า หรือไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมส่งผลกระทบต่อความราบรื่นในกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ ที่ต้องดำเนินการภายใต้การตัดสินใจ ร่วมกันของที่ประชุมรัฐสภา ดังนั้น เพื่อให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติในประเด็นคำถามพ่วงร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสองที่มุ่งหมายให้เป็นทางออกกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ ได้ จึงจำเป็นให้ ส.ว. ร่วมเป็นผู้เสนอขอยกเว้นดังกล่าวไว้ด้วย ประกอบกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นคำถามพ่วงมีผลให้การได้มาซึ่งนายกฯ เปลี่ยนจากการยึดหลักการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของแต่ละสภาตามระบบสองสภา มาเป็นการแสดงบทบาทหน้าที่ร่วมกันของทั้งสองสภา ในฐานะเทียบเท่าการทำงานในระบบสภาเดียวซึ่งจะทำหน้าที่เฉพาะในกระบวนการแต่งตั้งนายกฯ ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่มีรัฐสภาชุดแรกเท่านั้น จึงมีผลทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นองค์กรที่มีบทบาทร่วมกันในกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ โดยการดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ต้องกระทำในที่ประชุมร่วมรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในขั้นตอนของการขอยกเว้นตามความในมาตรา 272 วรรคสอง แต่ไม่ใช่เป็นการเสนอชื่อนายกฯ แต่เป็นขั้นตอนหลังจากการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ จาก ส.ว. แล้ว

ส่วนกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลา ตามร่างรัฐธรรมนูญ 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้มีการแก้ไขนั้น ในคำวินิจฉัยกลางระบุเหตุผลเพิ่มเติมไว้ว่า การเขียนบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวของ กรธ. อาจทำให้เกิดข้อขัดแย้ง ได้ว่าหมายถึงรัฐสภาชุดใดแน่ อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเริ่มนับเวลาของรัฐสภาจากการเริ่มจากความเป็น ส.ส. เท่านั้น โดยไม่ได้ยึดโยงความเป็นรัฐสภา ดังนั้น ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จึงหมายถึงวันที่มี ส.ส. และ ส.ว. ครบองค์กรประกอบที่จะเป็นรัฐสภาโดยสมบูรณ์ สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐสภาได้

ส่วนการที่ กรธ. บัญญัติ คำว่า “ในวาระเริ่มแรก” เมื่อมีการเลือก ส.ส. ตามมาตรา 268 แล้ว อาจทำให้เข้าใจว่าหมายถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกเท่านั้น ที่ต้องทำภายใน 150 วัน นับแต่ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลใช้บังคับเท่านั้น โดยไม่สามารถนำการเสนอขอยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองมาใช้ได้อีก หากเกิดกรณีนายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ แล้วต้องให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกฯ ใหม่ในระหว่าง 5 ปีแรก ตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 1

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติ ในประเด็นคำถามพ่วงที่ประชาชนได้ให้ความเห็นชอบถึงร้อยละ 58.07 การกำหนดเวลาและวันเริ่มนับกำหนดเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จึงถือเป็นสาระสำคัญของผลการออกเสียงประชามติจึงจำเป็นต้องแก้ไขให้สอดคล้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น