xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กิ้งกือตกท่อ กรธ.พลาดง่ายๆ 2 ครั้งซ้อน ทำร่าง รธน.สะดุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 ผ่านการลงประชามติมา 3 สัปดาห์กว่าๆ แล้ว แต่กระบวนการที่จะนำไปสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ยังไม่คืบหน้า ตามกำหนดระยะเวลาที่วางไว้ ด้วยความผิดพลาดอย่างคาดไม่ถึงของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)นั่นเอง

ตามขั้นตอนเดิมนั้น หลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ กรธ.ก็จะไปแก้ไขบทบัญญัติร่างฯ ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านการลงประชามติเช่นกัน หลังจากนั้นก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติที่แก้ไขนั้นชอบด้วยกับผลออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 37/1

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา กรธ.ได้ประชุมเพื่อหารือถึงข้อสรุปต่อการปรับปรุงบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ มาตรา 272 ที่เพิ่มรายละเอียดให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง นั่นคือ ในช่วงระยะ 5 ปี นับแต่มีรัฐสภาชุดแรกให้นายกฯ มาจากการลงมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา นั่นหมายความว่าให้สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

หาก กรธ.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในวันที่ 29 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญก็จะได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ในวันที่ 31 สิงหาคม เพราะถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และศาลรัฐธรรมนูญได้เตรียมการเรื่องนี้เพื่อรองรับไว้อยู่แล้ว เนื่องจากมีกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 37/1 ว่า ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน หลังจากได้รับร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะได้นัดอภิปรายเพื่อประกอบการวินิจฉัย ส่วนจะต้องมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีประเด็นที่จะต้องไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 37/1 ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญส่งคำวินิจฉัยกลับไปให้ กรธ.ทั้งในกรณีที่เห็นว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับผลออกเสียงประชามติแล้ว หรือในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบทบัญญัติใดยังไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติให้ กรธ.ปรับปรุงแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน จากนั้นให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมสมบูรณ์แล้วทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไทต่อไป

หลังการประชุมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายนรชิต สิงหเสนี และนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้ลงนามในเอกสาร 3 ชิ้นซึ่งประกอบด้วย 1.มาตรา 272 ร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงซึ่งเป็นไปตามหลักการที่เคยเป็นมติการประชุม กรธ.ในวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ที่อำนาจการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นของ ส.ส.เท่านั้น ขณะที่ ส.ว.มีหน้าที่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วง 5 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ 2.แก้ไขคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ 3.เอกสารคำชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ไขรัธรรมนูญที่สอดคล้องกับคำถามพ่วง หลังจากนั้นได้ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญก่อนปิดเวลาราชการ

มีรายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของ กรธ.แล้ว ได้เตรียมนำเข้าสู่วาระการพิจารณาในวันพุธที่ 31 สิงหาคมว่าจะรับหรือไม่รับไว้พิจารณา โดยศาลรัฐธรรมนูญมีเวลาพิจารณา 30 วันนับแต่วันที่รับคำร้อง

อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 สิงหาคม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานประธานรัฐสภาฝ่ายเลขานุการ กรธ.ไปรับคำร้องคืนจากศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำกลับไปปรับปรุงและจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง

ต่อเรื่องนี้ นายอุดม รัฐอมฤต ชี้แจงว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม กรธ.ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปแต่เป็นช่วงเวลาเย็นมากแล้วจึงทำให้การเซ็นรับรองเอกสารบางฉบับยังไม่ถูกต้อง ดังนั้น กรธ.จึงต้องขอร่างรัฐธรรมนูญกลับเพื่อเซ็นรับรอง และจะดำเนินการในขั้นตอนให้ถูกต้องตามระบบราชการ ยืนยันว่า กรธ.ไม่ได้ขอร่างกลับมาเพื่อแก้ไขเนื้อหาใดๆ โดยในวันที่ 31 สิงหาคม กรธ.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาความถูกต้องของร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งก่อนส่งกลับไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป

ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่นายมีชัยส่งเจ้าหน้าที่ไปรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคืนเพราะเอกสารที่ยื่นไปไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบของคำร้อง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ที่ระบุเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดี ทางเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจึงประสานเป็นการภายในไปยังผู้ที่รับผิดชอบให้ไปปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ถือว่าเป็นปัญหาทางเทคนิคที่ต้องส่งคำร้องในรูปแบบที่ถูกต้องศาลรัฐธรรมนูญจึงจะรับไว้พิจารณาได้

สำหรับข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 หมวด 3 เรื่องการยื่น การถอน และการจำหน่ายคำร้องกำหนดไว้ว่า คดีที่จะขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นคำร้องโดยทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ คือ 1. ชื่อและที่อยู่ของผู้ถูกร้อง 2. ระบุมาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง 3. ระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง 4. คำขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใด พร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง และ 5. ลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่กรณีที่เป็นการทำและยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่นต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย

แต่ในเอกสารที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นมิได้มีการลงลายมือชื่อผู้ร้องซึ่งหมายถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดไว้ อีกทั้งไม่ได้มีการแนบใบมอบฉันทะกรณีให้ผู้อื่นกระทำการแทน จึงถือเป็นคำร้องที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนด ทำให้มีการประสานเป็นการภายในให้ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนำกลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ ในวันที่ 31 สิงหาคม เวลา 10.45 น. เจ้าหน้าที่รัฐสภาได้ไปยื่นคำร้องร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่แก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม และในวันนั้นก็มีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

ภายหลังการประชุม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว สรุปได้ว่า ยังไม่สามารถรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ กรธ.ส่งมาไว้พิจารณาได้ เนื่องจากข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้อ 18 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดให้ ในกรณีที่ทำและยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่นต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย ดังนั้น เมื่อคำร้องของ กรธ.ได้ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสภามายื่นแทน โดยไม่มีใบมอบฉันทะของผู้ร้อง ศาลจึงให้ผู้ร้องปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยจัดทำใบมอบฉันทะและส่งต่อศาลภายในวันจันทร์ที่ 5 กันยายนนี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กันยายน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ลงนามในหนังสือมอบฉันทะให้ ผบ.กลุ่มงานประธานรัฐสภา นำส่งร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับผลการลงประชามติและคำถามพ่วง ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 3 เรียบร้อยแล้ว คาดว่าศาลจะมีการพิจารณาในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันพุธที่ 7 กันยายนนี้ โดยจะพิจารณาว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ หากรับก็จะพิจารณาว่าจะต้องไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติของตุลาการทั้ง 9 คน

ก็เป็นอันว่า เพราะความผิดพลาดทางเทคนิคในการยื่นคำร้องของ กรธ.ทำให้การเริ่มพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต้องล่าช้าไปอีก 1 สัปดาห์


กำลังโหลดความคิดเห็น