xs
xsm
sm
md
lg

กั๊กนั่งนายกฯต่อ-"บิ๊กตู่"ปัดไม่ถึงเวลา-ชัวร์เลือกตั้งปี60

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360 - ประชุมร่วม คสช.-ครม. หารือโรดแมปหลังรธน.ผ่าน "บิ๊กตู่" เตรียมชี้แจงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ หลัง 10 ส.ค. ถือเป็นรธน.ฉบับประชาชน ไม่ใช่ของทหาร ไม่สนต่างชาติท้วงประชามติ ลั่นเลือกตั้งปี 60 ชัวร์ เตรียมร่าง กม.ลูก เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับก่อน ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ไม่มีแนวคิด "เซตซีโร่" กั๊กยังไม่ถึงเวลาตอบ จะเป็นนายกฯ คนนอก หลังเลือกตั้งหรือไม่ บัวแก้วเตรียมแจงทูตต่างชาติ 11-12 ส.ค.นี้ ด้าน "มีชัย" เร่งถกองค์กรอิสระร่วมร่างกฎหมายเลือกตั้งก่อน หวั่นไม่ทันกรอบเวลา

เมื่อเช้าวานนี้ (9 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างครม. และคสช. ภายหลังทราบผลคะแนนประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมประชุมด้วย โดยวาระการประชุม จะมีรายงานสถานการณ์และผลประชามติอย่างไม่เป็นทางการ และหารือเตรียมกำหนดแนวทางการทำงานต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ทั้งการแก้ไขบทเฉพาะกาล ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงภายใน 30 วัน และจัดทำกฎหมายลูกอีก 10 ฉบับ

หลังการประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงผลการประชุมร่วมว่า โดยหลักการแล้ว เมื่อมีการดำเนินการเรื่องเกี่ยวข้องด้านการบริหารของรัฐบาล และคสช. จำเป็นจะต้องสร้างการรับรู้ทำความเข้าใจระหว่างกัน เพราะคสช. สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการชี้แจงให้ทราบ และสรุปสถานการณ์ทางด้านการข่าว เกี่ยวกับผลของการทำประชามติ พร้อมกันนี้ได้ถือโอกาสขอบคุณ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่กรุณาร่างรธน. ออกมา และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่งตนได้เรียนแล้วว่า คสช.และรัฐบาล ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องรายละเอียดภายใน ที่ผ่านมาถ้าจะให้ปรับปรุงเพิ่มเติมอะไร ก็จะทำเป็นเอกสารไปทั้งสิ้น ไม่อย่างนั้นก็สั่งได้แล้ว ซึ่งหลายอย่าง กรธ.ก็แก้ไขได้ แต่บางอย่างก็แก้ไขไม่ได้ สุดแล้วแต่กรธ.

"รธน.ฉบับนี้ ผมถือว่าเป็นรธน.ของประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการลงประชามติแล้ว และเป็นไปตามหลักการทุกอย่าง เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของคนมาใช้สิทธิ ซึ่งเป็นหลักการสากลในการทำประชามติอยู่แล้ว ฉะนั้นอย่าให้ใครมาบิดเบือนว่า เป็นการจัดทำโดยทหาร มันไม่ใช่ ทหารดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อย เป็นเรื่องของประชาชนที่ตัดสินเอง และต้องขอบคุณพี่น้องประชาชน ทั้งในกทม.และทุกจังหวัด ไม่ว่าจะลงคะแนนอย่างไรก็ตาม ผมก็รักท่านเสมอ เพราะท่านคือคนไทย ผมได้รับการสอนสั่งว่า ยังไงก็ตามคือคนไทย เราเกิดมาในแผ่นดินเดียวกัน ต้องรักและเผื่อแผ่ต่อกัน"

ส่วนการดำเนินการต่อจากนี้ไป ในวันนี้ยังพูดอะไรมากไม่ได้ จนกว่า กกต. จะสรุปรายงานผลมาอย่างเป็นทางการ จากเดิมที่คิดว่าจะสรุปวันนี้ แต่ปรากฏว่า กกต.สรุปในวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งหลังจากนั้น ตนจะแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ชี้แจงว่า รัฐบาลจะดำเนินการอะไร อย่างไร ซึ่งจะหาวันเวลาชี้แจงทั้งในและต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะสื่อมวลชนต่างประเทศ และทูตานุทูตประเทศต่างๆ ให้เข้าใจว่า เราจะเดินหน้าประเทศอย่างไร แต่ยังยืนยันว่า เราจะเดินหน้าไปตามโรดแมปที่วางไว้ และจัดการเลือกตั้งปี 2560 ให้ได้ นั่นคือ หลักการสำคัญไม่มีเปลี่ยนแปลง

นายกฯ กล่าวด้วยว่า หลังจากการทำประชามติ ทุกคนเห็นแล้วว่า หลายๆ อย่างดีขึ้น ภาคเศรษฐกิจขานรับ การค้าการลงทุน นี่คือสิ่งที่ดีขึ้น ฉะนั้นอย่าเอาเรื่องที่เป็นความเห็นต่างมาขยายความ เพราะจะทำให้สิ่งที่ดีหายไป ขณะที่เราจะไม่เหลืออะไร และไม่ได้อะไรกลับมาสักอย่าง ขอให้เห็นความตั้งใจของประชาชนด้วย ที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยอยู่ในกระบวนการประชาธิปไตย

เมื่อถามว่า การอธิบายถึงความชอบธรรมต่อต่างชาติ ในการทำประชามติจะทำอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตนขอถามว่า คนไทยเห็นว่าชอบธรรมหรือไม่ ถ้าคนไทยเห็นว่าชอบธรรม ก็จบ และตนไม่จำเป็นต้องอธิบาย เพราะเดี๋ยวกระทรวงการต่างประเทศ อธิบายเอง เมื่อถามว่าล่าสุดทางสหรัฐอเมริกา และอียู ออกมาตั้งคำถามตรงนี้ จะไม่มีการชี้แจงกลับ ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวย้ำว่า เดี๋ยวกระทรวงการต่างประเทศเขาชี้แจง ตนไม่ชี้แจงตรงนี้ เพราะไม่ไปทะเลาะขัดแย้งกับใคร

เมื่อถามว่า การลงประชามติครั้งนี้ มีคนที่ไม่รับและคนไม่ออกมาใช้สิทธิ คะแนนรวมกันมากกว่าผู้ออกมาลงเสียงรับ จะถือเป็นความเห็นชอบอย่างแท้จริงของเสียงส่วนใหญ่ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไปดูการลงประชามติ ปี 2550 ออกมาเท่าไร ชนะกันเท่าไร อย่ามาถามแบบนี้ เมื่อถามว่า คิดว่าผู้ออกมาใช้สิทธิรับร่าง เพราะอะไร นายกฯ กล่าวว่า เขาอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ปลอดภัย เรียบร้อย ส่วนแนวทางของพรรคการเมืองจากนี้ไป ให้ไปถามพรรคการเมืองเอง เขาต้องเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง

** ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง

เมื่อถามว่าจะมีการปลดล็อคพรรคการเมือง หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนได้ไปตกลงอะไรกับเขาหรือไง ให้มันรู้บ้างว่าใครเป็นคนทำกติกาในตอนนี้ เมื่อถึงเวลากติกาเสร็จ ก็มาจัดการ มาคุยกัน ให้มันรู้บ้างว่าขั้นตอนไหน ของใคร โดยการปลดล็อกปลดล็อกพรรคการเมืองต้องรอเวลาที่เหมาะสม ดูสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย และโรดแมปก่อน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดที่จะให้พรรคการเมืองจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ หรือ เซตซีโร่ หากสื่อต้องการเซตซีโร่ ก็ขอให้เสนอมา แต่รัฐบาลยังไม่มีแนวคิด

**"บิ๊กตู่"ย้ำเลือกตั้งปลายปี 60

"จะมีการเลือกตั้งในปลายปี 60 ทุกอย่างเหมือนเดิม การเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนดในร่างรธน. ซึ่งมีหลายขั้นตอนในการพิจารณา และต้องรับฟังความคิดเห็นในการทำกฎหมาย โดยมีเวลาที่กำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจน หากทำตามเวลาที่กำหนดนี้ ขั้นตอนทุกอย่างจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ย. หรือ ธ.ค. 60 และจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง และใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่"

เมื่อถามว่าที่ ระบุว่ากระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 60 หมายความว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2561 หรือไม่ "มันเป็นกระบวนการ หรือเปล่า การทำตามขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลาเท่าไร ขอให้ไปนับวันว่า จากวันนี้ คือวันที่ 10 ส.ค. แล้วจะไปสิ้นสุดที่วันไหน จะไปจบในเดือนพ.ย.ปี 60 ซึ่งจะมีขั้นตอนอื่นอีก เช่น การจัดการเลือกตั้ง ไม่ใช่เสร็จปุ๊บ พรุ่งนี้จะเลือกตั้งเลย ไม่ได้ที่ไหน ทำกับข้าวแล้วไม่ใส่เครื่องปรุงเลยได้อย่างไร"

**ยังไม่ตอบเป็นนายกฯต่อหรือไม่

เมื่อถามว่า หลังทราบผลประชมติ ทำให้หัวใจนายกฯพองโตหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่สิ่งนี้สิ่งเดียวที่ทำให้สามารถยังทำงานได้ แต่ที่สำคัญคือ ความร่วมมือของข้าราชการ การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการทำงานของ ครม. และแม่น้ำ 5 สาย ทุกอย่างสอดคล้องกับสิ่งที่วางไว้ทั้งหมด และจากนี้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน โดยจะทำให้ประชาธิปไตยไทยมีความเข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งกว่าจะไปถึงตรงนั้น จะต้องสร้างบันไดไปสู่การปรับฐาน นี่คือบันไดขั้นที่ 1 ซึ่งยังปัญหาอีกมากที่จะต้องแก้ไข

เมื่อถามว่า รธน.เปิดช่องให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากที่ประชุมรัฐสภา เชิญให้ไปเป็นนายกฯอีก จะรับหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ยังไม่ตอบและขอไม่ตอบตรงนี้ เพราะมันไม่เกี่ยวกับผมเลย แต่เป็นเรื่องของการเมือง ก็ว่าไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ เขาจะมามุ่งหวังให้ผมเป็นนายกฯ แต่เขามุ่งหวังว่า หากจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคการเมืองแล้วมีปัญหาไม่ยอมกัน จึงจะเอาคนนอก แล้วท่านเชื่อหรือไม่ ว่าจะตั้งไม่ได้"

เมื่อถามต่อว่า ถ้ามีการเชิญจริงๆ จะรับหรือไม่ นายกฯกล่าวย้ำว่า “ไม่มีถ้า ยังไม่มีอะไรทั้งสิ้น อย่าเพิ่งไปเปิดประเด็นใหม่ ขี้เกียจตอบ บอกแล้วว่า อย่ากลัวผีที่มองไม่เห็น วันนี้ก็หลอกหลอนอยู่แล้ว ผมกำลังทำยันต์กันผีอยู่ คิดง่ายๆ แค่นี้จะไปยากอะไร ทำอะไรสักอย่างต้องมี กฎของเมอร์ฟี่ (Murphy's Law)ที่ทำอะไรก็ต้องเกิดผลกระทบ ถ้าไม่ทำ นั่งเฉยๆ ก็คงไม่มีเรื่อง ถ้าผมไม่ต้องบริหารราชการแผ่นดิน ปล่อยไปปีหนึ่งให้มีเลือกตั้งทุกอย่างจบ แต่ เมอร์ฟี่ เขียนไว้ว่า ทำแล้วจะเกิดอะไรสักอย่าง แล้วทำไมผมยังทำอยู่ ทำไมไม่เลือกนั่งเฉยๆ เมอร์ฟี บอกว่านั่งเฉยๆ แล้วจะไม่เกิดเรื่อง คิดสิ ถ้าต้องการอนาคต ก็คิดใหม่ ประเทศชาติอยู่ไม่ได้ แต่สื่ออยู่ได้ ก็แล้วแต่ อย่างไรสื่อก็อยู่ได้อยู่แล้ว หากินได้อยู่แล้ว แต่ประเทศชาติย่อยยับ ก็ไม่รู้นะ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

**"วิษณุ"ย้ำมีการเลือกตั้งปี 60 ชัวร์

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมร่วม ครม. - คสช. ว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ได้ยืนยันกับที่ประชุมว่า จะสามารถร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ ให้เสร็จภายใน 8 เดือนได้ โดยมีฉบับที่สำคัญ 4 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำ 4 ฉบับดังกล่าวให้เสร็จก่อน คาดว่าหาก 4 ฉบับนี้เสร็จก่อนจะไม่ยาวถึง 8 เดือน เพราะถ้าทำยาวถึง 8 เดือน อีก 6 ฉบับที่เหลือ จะไม่ได้ทำ ดังนั้น 4 ฉบับสำคัญ อาจจะเสร็จภายใน 4 เดือน หลังจากนั้น จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งไม่สามารถไปเพิ่ม หรือไปลดได้

"เมื่อร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จ และลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ จึงถือว่านับหนึ่งที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง และในที่ประชุมนายกฯ ให้พูดอย่างเดียวว่า อย่างไรก็เลือกตั้งในปี 60 วันนี้ผู้สื่อข่าวไปไกลถึงขั้นตั้งรัฐบาล ขั้นตอนมันยาว วันนี้เราพูดถึงว่า มีวันเลือกตั้งในปี 60" นายวิษณุ กล่าว

***"มีชัย"กังวลร่างกม.ไม่ทันกรอบเวลา

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) การทำงานหลังจากนี้จะได้ประสานไปยังองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการพิจารณาทำเนื้อหาไปพลางก่อน เนื่องจากกังวลว่า หากเริ่มทำหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้จะไม่ทันกรอบเวลา ส่วนการยกร่างบทบัญญัติกฎหมายลูกนั้น กรธ.จะเริ่มหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ไม่อย่างนั้นจะมีผู้นำไปฟ้องร้องให้การจัดทำเป็นโมฆะได้ภายหลัง

ทั้งนี้ การประชุม กรธ.ในวันที่ 10 ส.ค.เป็นการหารือเพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน อาทิ ขั้นตอนการจัดทำกฎหมายลูก รวมถึงการปรับปรุงเนื้อหาในบทเฉพาะการให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ซึ่งแนวทางการปรับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงนั้น ได้กำหนดไว้แล้วในบทเฉพาะกาล จากนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาใน 30 วันเมื่อขั้นตอนทุกอย่างเรียบร้อย ไม่มีการทักท้วง ส่งให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 90 วัน ซึ่งในช่วงปลายเดือนต.ค.หรือต้นพ.ย.จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใช้บังคับ สำหรับแนวทางการจัดทำกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง จะมีเนื้อหาทำให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือไม่นั้น นายมีชัย กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวยังไม่มีการพิจารณา กรธ.ยังไม่มีแนวความคิด ซึ่งการทำกฎหมายพรรคการเมือ ง อาจต้องคุยกับตัวนักการเมืองเป็นการภายในเพื่อขอข้อมูล เพราะถ้าทำเป็นทางการจะเกิดความไม่สบายใจกันได้

** แจงทูตทุกประเทศ11-12 ส.ค.นี้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การทำประชามติร่างรธน.ของเรา เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีประชาชนออกมาใช้สิทธิกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีอะไรสร้างความลำบากใจให้ประชาชนในวันลงประชามติ เรื่องเหล่านี้นานาชาติไม่ค่อยคิดถึง เพราะมัวแต่คิดถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านมา จึงอยากขอให้นานาประเทศ เคารพเสียงของคนไทยเหมือนที่เขาเคารพเสียงประชาชนในประเทศต่างๆ ที่มีการทำประชามติ เพราะเสียงของคนไทยไม่แตกต่างกับมาตรฐานของประเทศอื่น

ทั้งนี้ หลังการประชุมร่วม ครม.-คสช. คาดว่า วันที่ 11-12 ส.ค.นี้ จะมีการชี้แจงผลประชามติกับทูตต่างชาติทุกประเทศ ส่วนสาเหตุที่ต้องรอชี้แจงในวันที่วันที่ 11-12 ส.ค. เพื่อให้ทุกอย่างมีความชัดเจน ทั้งเรื่องของโรดแมป และกำหนดเวลาของขั้นตอนต่างๆ เมื่อชี้แจงเสร็จแล้วจะเปิดโอกาสให้มีการสอบถาม ซึ่งจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงอาทิ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เขารับรู้ว่า สถานการณ์บ้านเราเป็นอย่างไร

เมื่อถามถึงท่าทีของสหรัฐฯ ต่อการทำประชามติ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า จากนี้เขาคงต้องติดตามต่อไป เพราะเสียงของประชาชนชัดเจนเป็นล้าน ถ้าตัวเลขลักษณะนี้เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ในการทำประชามติ คงไม่มีอะไร เพราะนี่เป็นการโหวตที่โปร่งใส สงบเรียบร้อยทุกอย่าง ข้อสำคัญคือ เมืองไทยเราต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเราเสียเวลามามากแล้ว และทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเรื่องของอนาคต

**นับคะแนนไม่โชว์บัตรอาจต้องนับใหม่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่คลิปการนับคะแนนของกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติ ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของกกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ผ่านโซเชียลมีเดียว่า รับทราบแล้ว เป็นหน่วยออกเสียงที่ 16 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมืองฯ จ.พิษณุโลก เป็น 1 ใน 15 หน่วยที่อยู่ติดกันภายในบริเวณ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้สั่งการให้ผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการตรวจสอบอยู่ เพราะหากเป็นจริงตามคลิป น่าจะขัดระเบียบและผิดจากที่อบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไว้

ส่วนจะกระทบการประกาศผลทางการต้องล่าช้าออกไปหรือไม่ จะนำเข้าที่ประชุม เพื่อขอมติจากคณะกรรมการกกต. ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า ควรจะดำเนินการนับใหม่ในหน่วยดังกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชน และจะไปกำกับดูแลการนับใหม่ด้วยตนเอง แต่หากยอดคะแนนไม่มีนัยยะสำคัญจนเปลี่ยนแปลงต่อผลรวม ก็ควรส่งผลอย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลได้ ในวันที่ 10 ส.ค.เนื่องจากขณะนี้ครบเงื่อนเวลา 24 ชั่วโมง ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว พบว่ายังไม่มีผู้มีสิทธิ์ได้เข้าชื่อ 50 ชื่อ เพื่อร้องคัดค้านแม้แต่หน่วยเดียว

** ชี้การลงทุนจากตปท.หายไปแล้ว90%

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า เมื่อกระบวนการประชามติผ่านพ้นไปแล้ว ก็อยากฝากรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่ลดลงอย่างมาก จนเกือบหายหมด ในอดีตประเทศไทยมีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศปีละกว่าล้านล้านบาท แต่ปีที่แล้ว เหลือเพียงแสนกว่าล้านบาท หรือลดลงถึง 90% และปีนี้ 6 เดือนแรก เหลือเพียง 1.21 หมื่นล้านเท่านั้น

"ปล่อยไว้แบบนี้ แนวทางไทยแลนด์ 4.0 ก็จะล้มเหลว จึงอยากขอฝากให้เร่งแก้ไขโดยด่วน ก่อนเศรษฐกิจไทยจะทรุดลงอีกในอนาคต โดยต้องเร่งฟื้นฟูความมั่นใจของต่างประเทศ และอย่าดีใจเฉพาะกับเงินที่เข้า ตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น เพราะจะไม่เกิดการผลิต และอาจจะไหลเข้า และไหลออกเร็ว และขอให้กำลังใจให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้" นาย พิชัย กล่าว

*** “นิพิฏฐ์”เตือนอย่าหักเจตนาปชช.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีของสว. จะต้องคำนึงถึงเสียงของ ส.ส. ด้วย มิฉะนั้นนายกรัฐมนตรีจะอยู่ได้ไม่นานเนื่องจากขาดเสียงสนับสนุนของ ส.ส.ส่วนมาก ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามคำถามพ่วงประกอบประชามติ ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น