xs
xsm
sm
md
lg

สปท.ถกร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ชูเพื่อความสุจริต เสียงแตก มท.ช่วย กกต. ลงมติพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (แฟ้มภาพ)
สปท.ถกรายงานร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. กมธ.ยกมุ่งให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรม ยอมรับเสียงวิจารณ์ยันเจตนาดี กันไม่ให้เสียงของกลับไปเป็นแบบเดิม สมาชิกเสียงแตกทั้งหนุน-ค้าน มท.ช่วย กกต.จัดเลือกตั้ง “อำนวย” ติงห้ามผู้สมัคร-ส.ส.บริจาคเงินทำบุญ สุดโต่งทำไม่ได้จริง ค้านให้เงินนำจับโกงเลือกตั้ง ปธ.พิจารณา ชี้ถ้าข้อเสนอไม่เป็นผลเท่ากับยึดอำนาจล้มเหลว ย้ำไม่เคยมีเรื่องเซตซีโร่ นัดลงมติพรุ่งนี้

วันนี้ (12 ก.ย.) ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. เรื่องข้อเสนอการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน สปท.การเมือง กล่าวรายงานว่า เจตนารมณ์สำคัญของการร่างกฎหมายคือต้องการให้การปฏิรูปมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การเสนอให้การเลือกตั้งมีความสุจริตเที่ยงธรรมจึงเป็นหัวใจสำคัญ สิ่งที่ กมธ.เสนอ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เช่นการให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาช่วยงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่ง กกต.ยังคงมีหน้าที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังมีที่ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย เข้ามาช่วยสนับสนุน กกต.ในการจัดการเลือกตั้งก็เพื่อให้มีความชัดเจน ไม่ให้ถูกกล่าวอ้างภายหลังว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ควรต้องทำ ซึ่งแนวทางข้อเสนอดังกล่าวแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางที่สร้างความเข้าใจผิด แต่ขอเรียนว่าเป็นเจตนาอันดี ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้การเลือกตั้งไปกระทบพรรคใดพรรคหนึ่ง ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย แต่เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาเดิมที่ผ่านมาว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่ใช้จ่ายเงินมากเกินไป ไม่เป็นเรื่องของการลงทุนหรือธุรกิจการเมือง

“ข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวเราก็ยอมรับ แต่ข้อเสนอต่างๆ ก็มาจากสมาชิกที่มีประสบการณ์ เราก็จะชี้แจงถึงเหตุผลที่มาที่ไปว่าหากดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวจะมีผลดีอย่างไร ที่จะให้การเลือกตั้งดีขึ้นกว่าเดิม” นายเสรีกล่าว

ด้านนายวันชัย สอนศิริ กล่าวว่า ตนอยากให้สมาชิกทุกคนได้พูดและวิพากษ์วิจารณ์กันมากๆ เพราะเป็นประเด็นใหญ่ ถ้าอภิปรายกัน 4-5 คนแล้วเรื่องผ่าน นักการเมืองและประชาชนทั้งประเทศจะบอกว่าสิ่งที่เราผ่านไปนั้นไม่ได้พิจารณาให้รอบด้าน แม้ กมธ.จะพิจารณากันครบถ้วนและรอบด้านแล้วก็ตาม ยืนยันว่าความคิดนี้อยากให้เป็นความคิดของ สปท.ทั้งสภา เรื่องนี้เคยผ่านสภาไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญยังไม่ผ่านประชามติ เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว ทาง กมธ.จึงเอาเนื้อหามาปรับปรุงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาทาง กมธ.ถูกวิพากษ์วิจารณ์แต่ต่อไปนี้หากจะวิจารณ์ก็ต้องเป็นเรื่องของ สปท.ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย กมธ.ปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า พวกตนในฐานะ กมธ.การเมืองกำลังเสนอเรื่องที่เป็นหัวใจของ คสช.จะเสียของหรือไม่เสียของ ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้ากลับไปเป็นเหมือนเดิมบอกได้อย่างเดียวว่า คสช.เสียของ และคนที่ร่วมกันทำให้เสียของก็คือพวกเราทั้งหมด เพราะเรามีหน้าที่ในการขับเคลื่อน สปท. เมื่อรายงานของ กมธ.ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และถ้าสมาชิกไม่ช่วยกันติติงตกแต่งให้ดีก็ต้องรับผิดชอบเท่ากันหมด เพราะวันนี้หลุดออกจากมือ กมธ.การเมืองไปแล้ว กำลังโยนใส่ให้ประธานและสมาชิกทั้งหมด หลังจากวันนี้คนที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่นายเสรีกับนายวันชัย ดังนั้นหากสมาชิกไม่เข้าใจต้องซักให้เข้าใจ ถ้ารับไม่ได้ก็อย่ารับรายงานฉบับนี้ อย่าเกรงใจ เพราะรับแล้วมันคือทิศทางทางการเมืองที่จะกำหนดว่าเราแพ้หรือชนะหลังการปฏิวัติครั้งนี้ และการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน หากทำไม่ได้คนที่รับหนักคือ คสช. เพราะตนไม่ได้เชิญให้ คสช.มาคุมการเลือกตั้ง แต่เชิญให้คสช.มาร่วมกับคนอื่นทั้งหมดให้การเลือกตั้งเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น หากสมาชิกจะให้รายงานฉบับนี้ผ่านก็ต้องตอบสังคมให้ได้

จากนั้นสมาชิก สปท.อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเด็นที่ให้มหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของ กกต. โดยมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน โดยฝ่ายสนับสนุนให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง เช่น นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ เห็นว่า ปัจจุบัน กกต.ไม่ได้เป็นผู้จัดการเลือกตั้งเองอยู่แล้ว เป็นเพียงแค่คนคุมนโยบาย จึงควรให้กระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งเพื่อลดภาระงานของ กกต. แต่ควรให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงต่างๆ ตัวแทนพรรคการเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมจัดการเลือกตั้งด้วย เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการทำงาน ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยอย่างเดียว

ด้านนายนิกร จำนง อภิปรายว่า อาจจะสุ่มเสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และข้อความที่ระบุให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของ กกต. เป็นการเขียนแบบกว้างๆ ยังมีความคลุมเครือ เชื่อว่า แม้เสนอไป กรธ.คงไม่ทำตาม เนื้อหาของ สปท.การเมืองมีหลายส่วนดี และหลายส่วนไม่ดี ดังนั้นส่วนตัวขอใช้สิทธิงดออกเสียง ขณะที่ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อภิปรายว่า การให้มหาดไทยเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง จะนำไปสู่ความเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก และสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญ กกต.มีอำนาจบริหารสั่งการหน่วยงานต่างๆ ได้อยู่แล้ว การจัดการเลือกตั้งจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการมากกว่า

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน สปท.อภิปรายว่า ข้อเสนอหลายเรื่องของ สปท.การเมืองมีความหมิ่นเหม่ อาทิ การห้ามผู้สมัคร และ ส.ส.บริจาคเงินทำบุญตามประเพณีในงานแต่งงาน งานศพ งานบวช เป็นการหลับหูหลับตาออกกฎหมาย ถามว่าออกมาแล้วสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ ทำให้ขาดความศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่เริ่มคิด เป็นแนวทางที่เป็นไปไม่ได้ หากเป็นเช่นนี้ ส.ส.ตกนรกกันหมดที่ไปร่วมงานบุญแล้ว บริจาคเงินช่วยเหลืออะไรไม่ได้ ควรกำหนดวงเงินขั้นต่ำที่สามารถบริจาคได้ เช่น 500-1,000 บาท จะมีความเป็นไปได้มากกว่า ไม่ใช่เสนอแบบเอามันหรือสุดโต่ง ส่วนการเสนอให้สินบนนำจับแก่ประชาชนที่ชี้เบาะแสทุจริตเลือกตั้งนั้น อยากให้ยกเลิก เกรงว่าจะเกิดการสร้างเรื่องเพื่อหวังเงินรางวัล ถือเป็นเรื่องอันตราย

จากนั้นเป็นการรับทราบรายงานข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยนายสมพงษ์ สระกวี ประธานคณะทำงานพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง กล่าวรายงานว่า การปฏิรูปพรรคการเมืองเป็นเจตจำนงร่วมกันของ คสช. และแม่น้ำ 5 สายที่อยากเห็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม พรรคการเมืองไม่ถูกครอบงำโดยนายทุนและเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริง ส่วนตัวคิดว่า กมธ.ปฏิรูปประเทศด้านเมือง สปท.มาถึงโค้งสำคัญ ถ้าการเสนอล้มเหลวไม่เป็นผลก็เท่ากับการยึดอำนาจในเดือน พ.ค. 2557 ล้มเหลว และการยึดอำนาจครั้งนั้นให้เหตุผลสำคัญว่าการยึดอำนาจครั้งนั้นเป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้ายเพื่อเข้ามาจัดสรรปฏิรูปการใช้อำนาจและตรวจสอบการใช้อำนาจ ทั้งนี้ ข้อเสนอ กมธ.ปฏิรูปประเทศด้านเมือง สปท.ไม่เคยมีการเสนอให้มีการเซตซีโร่พรรคการเมือง แล้วตั้งพรรคการเมืองใหม่ เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองมโนไปเองว่า คสช.จะตั้งพรรคการเมืองเองขึ้นใหม่ เพื่อให้นักการเมืองไหลเข้ามา กมธ.ไม่ได้มุ่งหวังทำลายพรรคการเมืองหรือนักการเมือง หรือต้องการทำลายระบอบประชาธิปไตย แท้ที่จริงเราอยากเห็นการดำเนินการของพรรคการเมืองเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์เที่ยงธรรม และเชื่อโดยบริสุทธิ์ว่าการยึดอำนาจครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย หากเราไม่ร่วมมือกันการเมืองเดิมๆ ก็จะกลับมา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ยุติการอภิปราย โดยนัดอภิปรายและลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรายงานทั้ง 2 ฉบับในวันที่ 13 ก.ย.


กำลังโหลดความคิดเห็น