ประธาน กรธ.เผย กกต.ส่งร่างกฎหมายลูกพรรคการเมืองถึงมือแล้ว ขอดูรายละเอียดก่อน เตรียมจัดสัมมนารับฟังความเห็นภาคส่วนต่างๆ ถึงกฎหมายลูกเลือกตั้ง 4 ฉบับ ยันไม่ได้รวมอำนาจทั้งหมดไว้ที่ กกต. ส่วนข้อเสนอทดลองเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนให้เสนอรัฐบาล-คสช.ตัดสินใจ
วันนี้ (7 ก.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้ กกต.ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาแล้วซึ่งจะนำมาศึกษากันในที่ประชุมวันนี้ และอาจเรียกตัวแทนจาก กกต.มาชี้แจงในวันหลัง ส่วนหลักการที่ กกต.ระบุถึงกฎหมายพรรคการเมืองว่า “ตั้งยาก อยู่ยาก ยุบยาก” นายมีชัยกล่าวว่า ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ ต้องดูรายละเอียดก่อน ส่วนจะเอาร่างของ กกต.มาเป็นฐานการพิจารณาหรือไม่นั้นก็ต้องดูเนื้อหาประกอบเหตุผล เรื่องใดที่ส่งผลกระทบก็ต้องดูข้อดีข้อเสียก่อน
ประธาน กรธ.เปิดเผยด้วยว่าจะมีการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ โดยจะมีการเผยแพร่ร่างกฎหมายที่ กกต.ส่งมาให้ฝ่ายต่างๆ แสดงความเห็นในรูปแบบเวทีสัมมนา อาจจัดพร้อมกันคราวเดียวหาก กกต.ส่งตัวร่างมาครบทั้ง 4 ฉบับในเร็วๆ นี้ แต่หากล่าช้าก็อาจจัดสัมมนาแยกเป็นเรื่องไป ขณะนี้กำลังมอบหมายให้นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์วางแผนเรื่องนี้ ส่วนการแสดงความเห็นของพรรคการเมืองจะมีอุปสรรคเรื่องไม่สามารถประชุมพรรคได้นั้น นายมีชัยกล่าวว่า พรรคการเมืองแสดงความเห็นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นมติพรรค
นายมีชัยอธิบายถึงหลักการในการจัดการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ทั้งเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีการเสนอให้ กกต.มีสิทธิ์ขาดตัดสินว่าจะสามารถตั้งพรรคการเมืองได้หรือไม่นั้น สามารถร้องต่อศาลได้อีก ไม่ได้รวมอำนาจทั้งหมดที่ กกต. และยืนยันถึงหลักการในร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องทางไว้ว่าการจัดการเลือกตั้ง กกต.จะดำเนินการเองหรือไม่ก็ได้ อย่างที่ผ่านมาแม้จะเป็นเรื่องของ กกต.จังหวัด แต่ก็มีการใช้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการมาช่วยงานด้วย
ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่เสนอให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน เพื่อเป็นการทดลองระบบการจัดการเลือกตั้งว่า เป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องกับรัฐบาลและ คสช. เนื่องจากเป็นฝ่ายที่ออกคำสั่งระงับการเลือกตั้งท้องถิ่น กรธ. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องนี้
ขณะที่นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ.ฐานะผู้ดำเนินการเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายลูกนั้น ในกระบวนการรับฟังความเห็นของฝ่ายต่างๆ เบื้องต้นจะนำเนื้อหาของร่างกฎหมายลูกที่ภาคส่วนต่างส่งมายัง กรธ.ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะร่างกฎหมายของ กกต. หรือองค์กรอิสระเท่านั้น และอาจกำหนดประเด็นสำคัญเพื่อรับฟังความเห็นเป็นการเฉพาะในเวทีสัมมนา เช่น กลไกการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองต่อการทำนโยบายหรือกิจการภายในพรรคการเมือง เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วจะนำประเด็นสำคัญมาสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในวงกว้างผ่านการทำโพลด้วย ขณะที่ประเด็นของร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่มีหลักเกณฑ์ห้ามดำเนินการกระทบความมั่นคง ขัดศีลธรรมหรือความสงบเรียบร้อยซึ่งยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนนั้น ส่วนตัวมองว่าต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ถูกมองว่ากระทำขัดข้อห้ามมีสิทธิอุทธรณ์หรือชี้แจงประเด็นก่อนที่จะถูกตัดสินชี้ขาดได้