xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ดิ้นสู้มีชัย ยื่นตีความศาลรธน. ปมส.ว.เสนอชื่อนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนช.ดิ้นอีกเฮือก หวังยืมมือศาลรธน. ดันส.ว.ร่วมเสนอชื่อนายกฯ สั่งรวบรวมเอกสารการพิจารณาคำถามพ่วงเตรียมชี้แจง ด้านกรธ. คาดส่งร่างแก้ไขรธน.ให้ศาลรธน.ได้ในวันนี้ "ไพบูลย์" อ้างผลประชามติ บ่งบอกคนไทยยังหนุน "บิ๊กตู่" ท้าพรรคการเมืองชูนโยบายหาเสียง "ไม่เอาบิ๊กตู่เป็นนายกฯ" ดูว่าประชาชนจะเลือกใคร "สุริยะใส" เตือน"บิ๊กตู่"อย่าหลงกลนักการเมือง แนะเร่งทำผลงานพิสูจน์ตัวเองว่าเหมาะสมที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ "ป.ป.ช."เตรียมเชือด 4 อดีตส.ส. "เพื่อไทย" กรณี "สลับร่างรธน.-เสียบบัตรแทนกัน"

แหล่งข่าวจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเเผยว่า ขณะนี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของคณะกมธ. รวบรวมเอกสารเกี่ยวกับบันทึกการประชุมของสนช. เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ สนช.มีมติตั้งคำถามพ่วง รวมไปถึงคำชี้แจงของสมาชิกสนช. ที่ไปลงพื้นที่ตามต่างจังหวัด ระหว่างการรณรงค์ออกเสียงประชามติ เพื่อเป็นข้อมูลที่จะส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา

แหล่งข่าวระบุว่า คณะกมธ.ส่วนใหญ่ได้ดูหลักการเกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กำหนดออกมาแล้ว โดยเห็นว่ามีบางประเด็นที่อาจทำให้ไม่สอดคล้องกับผลประชามติตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 บัญญัติ คือ การกำหนดให้ส.ว. มีหน้าที่แค่การลงมติให้ความเห็นชอบเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาจากถ้อยคำในคำถามพ่วงที่ว่า "ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ" ย่อมแสดงให้เห็นว่า คำถามพ่วงมีความมุ่งหมายที่ต้องการให้ส.ว.ทำหน้าที่ 2 ประการ ได้แก่ การพิจารณา และ การให้ความเห็นชอบ กล่าวคือ การพิจารณาย่อมหมายถึง การมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อบุคคล ส่วนการให้ความเห็นชอบ หมายถึง การลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบบุคคลนั้นเป็นนายกฯ หรือไม่

"ถ้าตีความตามนี้ อย่างน้อยที่สุด ส.ว.ควรมีสิทธิร่วมลงมติว่า จะให้การรับรองรายชื่อผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ ที่ส.ส.เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา หรือไม่ ไม่ใช่แค่ให้ส.ว.รอโหวตในขั้นตอนสุดท้ายอย่างเดียว เพราะจะทำให้ส.ว. มีจุดยึดโยงกับคำถามพ่วงที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งประเด็นนี้ จะเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป" แหล่งจาก สนช.กล่าว

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช.และ กมธ.สามัญฯ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกมธ.ได้มีการหารือกัน โดยเคารพความคิดเห็นของ กรธ. แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งคณะกมธ.คาดว่า สนช.จะต้องมีหน้าที่ไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะผู้คำถามพ่วง แต่คงต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือแจ้งมาก่อน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กรธ.กับ สนช.ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน เพราะถือเป็นเพียงความแตกต่างในข้อกฎหมาย และยังสามารถทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติได้

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า กรธ.ได้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับคำถามพ่วงพอสมควร เช่น การให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบ และการให้ส.ส.เสนอชื่อนายกฯ รอบแรก แต่มีบางเรื่องที่ยังไม่เห็นตรงกัน คือ การเลือกนายกฯในรอบสอง หลังจากที่รอบแรกไม่สามารถเลือกกัน เพราะเห็นว่าในรอบสองควรให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯด้วย

**ส่งร่างแก้ไขรธน.ให้ศาลรธน.วันนี้

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ ( 29 ส.ค.) กรธ. ได้นัดประชุมเพื่อหารือถึงข้อสรุปต่อการปรับปรุงบทบัญญัติของร่างรธน. ฉบับผ่านประชาติ มาตรา 272 ที่เพิ่มรายละเอียดให้ในช่วงระยะ 5 ปีนับแต่มีรัฐสภาชุดแรกให้นายกฯ มาจากการลงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามประกอบการออกเสียงประชามติฯ ซึ่ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้ฝากการบ้านให้กรธ. แต่ละคนได้สำรวจและพิจารณาความเห็นของบุคคลต่างๆ ที่มีต่อการปรับปรุงบทบัญญัติมาตราดังกล่าวทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ว่ามีประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ พร้อมกับให้นำเนื้อหาไปตรวจทาน โดยหากมีประเด็นข้อความเห็นอื่นๆ และพบความบกพร่องของถ้อยคำ ให้นำมาพิจารณาและแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ซึ่งหากทำได้แล้วเสร็จน่าจะสามารถส่งบทบัญญัติที่ปรับปรุง พร้อมเอกสารซึ่งประกอบด้วยเหตุผล คำอธิบายของกรธ. ต่อประเด็นการเขียนบทบัญญัติ มาตรา 272 ไปยังศาลรธน. ให้พิจารณาได้

สำหรับการเขียนคำปรารภเพื่อใช้สำหรับรธน. ฉบับใหม่นั้น นายมีชัย ได้ฝากให้ฝ่ายเลขานุการกรธ. ไปพิจารณาทำเนื้อหาว่าจะเติมข้อความอย่างไร ซึ่งรายละเอียดนั้น จะเป็นการเติมข้อความที่เกี่ยวเนื่องกับผลการออกเสียงประชามติร่างรธน.ใหม่ และเนื้อหาที่ประชาชนให้การยอมรับคำถามประกอบฯ ทำให้ต้องปรับแก้ในบทเฉพาะกาลไปจากเนื้อหาเดิมที่ กรธ.ได้ทำมา

รายงานข่าวจากศาลรธน.แจ้งว่า หาก กรธ.ส่งเรื่องให้ศาลรธน.ได้ในวันนี้ ( 29 ส.ค.) จริง ศาลรธน. น่าจะได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 31 ส.ค. เพราะถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และศาลรธน. ได้เตรียมการเรื่องนี้เพื่อรองรับไว้อยู่แล้ว เนื่องจากมีกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรธน.ชั่วคราว มาตรา 37/1 ว่าต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน หลังจากได้รับร่างรธน. จากนั้นตุลาการศาลรธน. จะได้นัดอภิปรายเพื่อประกอบการวินิจฉัย ส่วนจะต้องมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรธน. ว่ามีประเด็นที่จะต้องไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งนี้ ตามรธน.ชั่วคราว มาตรา 37/1 ระบุให้ศาลรธน. ส่งคำวินิจฉัยกลับไปให้ กรธ.ทั้งในกรณีที่เห็นว่าเนื้อหาร่างรธน.สอดคล้องกับผลออกเสียงประชามติแล้ว หรือในกรณีที่ศาลรธน. เห็นว่าบทบัญญัติใดยังไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติให้ กรธ.ปรับปรุงแก้ไขตามที่ศาล รธน.วินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน จากนั้นให้นายกรัฐมนตรี นำร่างรธน. ที่แก้ไขเพิ่มเติมสมบูรณ์แล้วทูลเกล้าฯ ต่อไป

**ท้าพรรคการเมืองหาเสียงไม่เอา"บิ๊กตู่"

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกลุ่ม 40 ส.ว.และผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวถึง กรณีที่นักการเมืองได้ออกมาท้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ให้ตั้งพรรคการเมือง และลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อไปเป็นนายกฯอีกสมัย จะสง่างามมากกว่าการให้ส.ว. แต่งตั้งโหวตเลือก ว่า เป็นปกติของนักการเมือง และพรรคการเมืองเหล่านั้น ที่วันนี้คงยังทำใจไม่ได้ หลังจากถูกประชาชนสั่งสอนไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา จากผลประชามติ ทั้งที่ประชาชนมอบฉันทามติให้มี ส.ว. 250 คน สามารถโหวตเลือกนายกฯได้ แปลเป็นภาษาชาวบ้านคือ พล.อ.ประยุทธ์ มีเสียงสนับสนุนแล้ว 250 เสียง ดังนั้นเมื่อถึงการเลือกตั้งส.ส. ตนขอท้าให้พรรคการเมืองเหล่านี้ กล้าประกาศหาเสียงเลือกตั้งกับประชาชนทั้งประเทศ ว่า จะไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญขอให้พรรคเหล่านี้ รณรงค์หาเสียงให้ได้ ส.ส. มากกว่า 375 เสียง จาก 500 ที่นั่ง แล้วจึงค่อยมาอ้างว่าประชาชนไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ ข้อย้ำว่าตอนหาเสียงเลือกตั้ง ขอให้แต่ละพรรค ชูหัวหน้าพรรคของตัวเอง และประกาศให้ชัดว่า พรรคนั้นๆไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ดังนั้นตนจึงเชื่อว่า พรรคการเมืองตกยุคเหล่านี้ จะถูกประชาชนตบหน้าสั่งสอนอีกครั้ง ในปลายปี 2560

" พรรคไหนที่ฝันอะไรไว้ วาดฝันไว้อย่างไร หรือแม้แต่นักการเมืองที่ออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ ผมอยากบอกว่า ควรเอาตัวเองให้รอดเข้าสภามาให้ได้ก่อนก็แล้วกัน โดยเฉพาะพวกที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรค และลงสมัครเลือกตั้งนั้น ปิดหู ปิดตา ตัวเองหรืออย่างไร จึงไม่รู้ว่าท่านนายกฯ ประกาศแต่ตนแล้วว่า จะเข้ามาแก้ไขปัญหาหมักหมมของประเทศนี้ ที่นักการเมืองบางส่วนสร้างไว้ ท่านไม่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคใด เพราะไม่ต้องการยึดการเมืองเป็นอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ที่เป็นรัฐบาลบริหารมา 8 ปี ก็สามารถดูแล พรรคร่วมรัฐบาลในยุคนั้น พัฒนาประเทศ ไม่ทุจริตคดโกง คอร์รัปชัน โดยที่ท่านเองก็ไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง หรือเป็นสมาชิกพรรคใด ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรค เพราะประกาศชัดแต่ต้นแล้วว่า จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อการปฏิรูปประเทศทุกด้านเท่านั้น" นายไพบูลย์ กล่าว

** "บิ๊กตู่"ต้องใช้ผลงานพิสูจน์ตัวเอง

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ข้อเสนอที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งพรรค และลงเลือกตั้งนั้น เป็นข้อเสนอหลงโลก ไม่เป็นประโยชน์ และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เป็นเพียงโวหารเก่าๆ จากการเมืองเก่าๆ ที่ติดอยู่กับลัทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่ล้มเหลว

ทั้งนี้ หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ลุ่มหลงกับโวหารเช่นนี้ เพราะเป็นกับดักทางการเมืองที่ฆ่านายพลมาแล้วหลายคน สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ควรตระหนักที่สุดในขณะนี้คือ ต้องกล้าวิจารณ์ตนเอง และทบทวนว่า 2 ปีกว่าที่ผ่านมาและอีกปีกว่าก่อนเลือกตั้ง คสช.ได้ทำให้สังคมการเมืองเข้าสู่การปฏิรูปได้จริงหรือไม่ และมีหลักประกันได้หรือไม่ว่าการเมืองไทยจะไม่วนกลับไปสู่ความแตกแยกขัดแย้งอีก ยิ่งในขณะนี้เริ่มเห็นบรรดานักการเมืองเคลื่อนไหวแสดงตนกันมากขึ้น โดยที่ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดปฏิรูปตัวเองเลย ยังเถียงกันอยู่ในประเด็นนายกฯคนในหรือคนนอก ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าการเมืองไทยจะก้าวไม่พ้นความแตกแยก ซึ่งการออกแบบกฎหมายพรรคการเมืองต้องวางกลไกปฏิรูปพรรคการเมืองให้ชัดเจนด้วย

นายสุริยะใสกล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังถูกกลุ่มก้อนการเมืองหลายกลุ่มรุมล้อมและอาจถูกฉุดกระชากไปอยู่ในวงโคจรของการเมือง ทีไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ จนทำให้ความคาดหวังของประชาชนหดหายและไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องระวังและควรใช้ต้นทุนที่มีในขณะนี้ เป็นผู้นำในการปฏิรูปในเรื่องใหญ่ๆ ให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่านักการเมืองในขณะนี้ เป็นเพียงกระแสฉาบฉวยมาแล้วก็หาย และไม่มีใครอยู่ยั่งยืนได้ด้วยกระแส แต่ผลงานที่เป็นวีรกรรมต่างหากที่ทำให้คนกลายเป็นรัฐบุรุษและถูกบันทึกในประวัติศาสตร์

**ป.ป.ช.จ่อเชือด4อดีตส.ส.เพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ว่า ในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ช่วงต้นเดือนก.ย.นี้ จะมีวาระการพิจารณาสำคัญคือ การลงมติกรณีกล่าวหาอดีต ส.ส.เพื่อไทย 4 คน ได้แก่ นายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม และ นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี กระทำความผิดทางอาญาในระหว่างการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นเรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงการกระทำผิดทางอาญาของบุคคลทั้งสี่ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว และเตรียมสรุปสำนวนส่งให้ที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ ลงมติ

นอกจากนั้นในส่วนของ นายคมเดช นายนริศร และ นายยุทธพงศ์ พบว่า มีพฤติการณ์เสียบบัตร และกดคะแนนออกเสียงแทนกันในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. ขณะที่ นายอุดมเดช พบว่า มีพฤติการณ์สลับร่าง แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาไม่ตรงกับฉบับที่มีการเข้าชื่อเสนอขอแก้ไขไปเปลี่ยนใช้ในวาระรับหลักการ ถือว่าเข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น หากที่ประชุมกรรมการป.ป.ช. ชุดใหญ่ได้พิจารณาสำนวนแล้ว หากเห็นว่า มีพยานหลักฐานครบถ้วน ก็สามารถลงมติตัดสินได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น