กมธ.การเมือง สปท.ชงข้อเสนอร่าง กม.พรรคการเมือง เปิดช่องสมาชิกแค่ 50 คนเข้าชื่อสอบ กก.บห.-ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานผิดจริยธรรมหรือวินัย หามติขับออกจากพรรค แนะไพรมารีโหวต ก่อนลงสนามจริง คุมเข้มทุนอุดหนุนพรรคเกินกำหนด ใส่ยาแรงให้ ปปง.บี้สอบเงินหมุนเวียนนิติบุคคล ลูกพรรคทำผิด กม.เลือกตั้งเจอตัดสิทธิตลอดชีวิต กก.บห.พรรคซวยด้วย
วันนี้ (7 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง ข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง ทั้งสิ้น 22 หน้า แบ่งเป็น 6 หมวด มีสาระสำคัญ ดังนี้ หมวด 1 การจัดตั้งพรรคการเมือง กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ต้องประกอบด้วยตัวแทนที่สามาชิกแต่ละภาคเลือก ภาคละไม่นอยกว่า 5 คน หมวด 2 การดำเนินกิจการของพรรคการเมือง เสนอให้พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบการเสนอนโยบายที่จะต้องได้รับการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ตลอดจนจะต้องไม่สร้างปัญหาต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ ให้มีการแยกตำแหน่งผู้บริหารพรรคการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานไม่ซับซ้อนและเป็นอิสระ
สมาชิกพรรคและผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกัน 50 คน เสนอให้มีการตรวจสอบความบกพร่องด้านจริยธรรมคุณธรรมหรือความผิดวินัย ต่อสมาชิกที่เป็นผู้บริหารพรรค และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากพบว่าผิดจริงให้ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออกจากพรรคการเมือง ส่วนการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องแสดงแบบรายการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี แสดงตนประกาศให้สมาชิกและประชาชนรู้ล่วงหน้าก่อนลงเลือกตั้ง 1 ปี ขณะเดียวกันก็ให้สมาชิกในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครเลือกตั้ง ด้วยวิธีการเลือกตั้งขั้นต้น (primary vote) ส่วนพรรคการเมืองที่จะส่งคนลงเลือกตั้ง จะต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น
หมวด 3 การเงินและการสนับสนุนพรรคการเมือง ห้ามผู้ใดหรือนิติบุคคล สนับสนุนเงินลงทุนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกกรณี เว้นแต่บริจาคตามที่กฎหมายกำหนด ห้าม ผู้สมัครรับเลือกตั้งนำเงินของบุคคลหรือนิติบุคคลใดมาใช้จ่ายหรือสนับสนุนการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และห้ามพรรคการเมือง ห้วหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือตัวแทน รับเงินบริจาคที่ผิดกฎหมาย พร้อมกันนี้เสนอให้รัฐมีมาตราการสร้างแรงจูงใจ ให้มีการบริจาคและจ่ายค่าธรรมเนียมจากสมาชิกพรรครายปี รายละไม่เกิน 200 บาทต่อปี แล้วให้มีการอุดหนุนเงินเพิ่มเติมแก่พรรคการเมืองอีกหนุ่งเท่าของค่าธรรมเนียม ส่วนพรรคการเมืองเองก็ต้องมีระบบการตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกับบริษัทมหาชน
หมวด 4 การสิ้นสภา การเลิก และการยุบพรรคการเมือง ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่พรรคการเมืองกระทำผิดอันเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และทำลายความมั่นคงของชาติ และหมวด 6 บทกำหนดโทษ ต้องมีมาตรการรุนแรงเพื่อลงโทษนายทุน กลุ่มทุน ที่นำเงินมาลงทุนในพรรคการเมืองเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ตลอดจน ส.ส.และ ส.ว. โดยให้มีโทษจำคุก 5-10 ปี ไม่รอลงอาญา โทษปรับ 20 ล้านบาท หากนิติบุคคลกระทำความผิด ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าตรวจสอบกระแสเงินหมุนเวียนด้วย ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ทำผิดฐานความผิดดังกล่าวให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเงิน 20 ล้านบาท พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต
กรณีมีหลักฐานเชื่อได้ว่าผู้สมัครรายใดกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ระเบียบ หรือประกาศ กกต. หาก กกต.เห็นว่าจะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้ กกต.วินิจฉัยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอเพิกสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต แล้วถ้าปรากฏหลักฐานอันเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค มีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลยแต่ไม่ได้ระงับยับยั้ง ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคถือว่า มีความผิด มีโทษต้องถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านความเห็นชอบจาก กมธ.ปฏิรูปด้านการเมืองแล้ว จะถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สปท.เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้ง ก่อนมอบให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำไปพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายลูกต่อไป