สนง.กกต.ยังไม่ส่งหนังสือถกเรื่องการเปลี่ยนประธานถึง คสช. ด้าน 3 กกต.เสียงข้างมากหารือหนักหลัง “วิษณุ” ส่งสัญญาณว่าไม่เหมาะ เตรียมถกร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองพรุ่งนี้ กำหนดตั้งพรรคยาก ตัดสิทธิหัวหน้า-กก.บห.ปล่อยคนนอกครอบงำ-ชี้นำลูกพรรค ให้สมาชิกพรรคเคาะผู้สมัครเอง ไม่ทำตามหมดสิทธิ์ส่งเขตนั้นๆ แก้ปัญหาพรรคการเมืองบอยคอตเลือกตั้ง ไม่ส่งหมดสภาพทันที
วันนี้ (5 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า หลังปรากฏข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3 คน เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวประธาน กกต.ในวันนี้ (5 ก.ย.) ที่สำนักงาน กกต. ทาง กกต.3 เสียงได้เฝ้าติดตามท่าทีของนายศุภชัย สมเจริญ และ พนักงาน กกต.ว่าจะรู้สึกอย่างไร ขณะที่ในส่วนของสำนักงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการทำหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสอบถามว่าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวประธาน กกต.จะขัดคำสั่ง คสช.ที่ 40/2559 หรือไม่ แต่จากการตรวจสอบล่าสุดยังไม่พบว่ามีการส่งหนังสือดังกล่าวออกไปจากสำนักงาน ท่ามกลางกระแสข่าวว่าทาง กกต.3 เสียงอาจจะให้มีการทบทวนการส่งหนังสือดังกล่าว หลังนายวิษณุ เครืองาม ได้ให้สัมภาษณ์เป็นการส่งสัญญาณมายัง กกต.ว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้อาจไม่เหมาะสม โดยช่วงเย็นวันเดียวกันทั้ง 3 คนได้ร่วมกันหารือที่ห้อง กกต.คนหนึ่ง ขณะที่ในส่วนของนายศุภชัยมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้นแม้จะเป็นเสียงเดียว แต่พนักงานต่างแสดงความเห็นใจ ซึ่งมีรายงานว่าประธาน กกต.จะยังไม่ตัดสินใจอะไร โดยจะรอหนังสือตอบกลับของ คสช.ก่อน
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 ก.ย. กกต.ซึ่งมีนัดประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง เป็นที่น่าจับตามองว่าก่อนการประชุม กกต.จะมีการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอีกหรือไม่ และท่าทีของแต่ละฝ่ายจะเป็นอย่างไร หลังมีข่าวความขัดแย้ง รวมทั้งต้องจับตาดูว่า กกต.1 ใน 3 ที่เรียกร้องให้ประธานลาออกและระบุก่อนหน้านี้ว่าหากนายศุภชัยยังคงปฏิบัติหน้าที่ประธานต่อไปก็ตะขิดตะขวงใจที่จะมานั่งร่วมประชุมด้วยจะมาร่วมประชุมด้วยหรือไม่
ส่วนร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ กกต.จะมีการพิจารณาเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 15 ก.ย.นั้น มีทั้งสิ้น 6 หมวด มีสาระสำคัญที่งแตกต่างไปจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2550 คือ ให้ กกต.คนหนึ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเลือกทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนพรรคเมือง ไม่ใช่ประธาน กกต. เป็นนายทะเบียนเหมือนในอดีต การจัดตั้งพรรคการเมืองทำเป็น 2 ขั้นตอน คือต้องมีคณะผู้ริเริ่ม 15 คนยื่นขอจัดตั้งพรรคการเมืองก่อน จากนั้นจึงมีการไปหาสมาชิกจากภาคต่างๆ ให้ครบ 5 พันคน แล้วจึงประชุมคัดเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ก่อนมาจดทะเบียนเป็นพรรคเมืองและส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้
การดำเนินกิจการของพรรคคณะกรรมการบริหารพรรคอาจถูกนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นของของ กกต.สั่งให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะและห้ามดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองนั้นเป็นเวลาห้าปีได้ หาก 1. มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว พรรคปล่อยให้ผู้สมัคร สมาชิกพรรคฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2. ยินยอมให้บุคคล ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ หรือชี้นำการดำเนินกิจการโดยอิสระของพรรคไม่ว่าโดยทางตรงหรืออ้อม 3. เสนอนโยบายหาเสียงของพรรคโดยไม่ส่งข้อมูลการวิเคราะห์นโยบายต่อ กกต.
การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ให้ความสำคัญกับสาขาพรรคเป็นผู้ส่งรายชื่อสมาชิกในจังหวัดนั้นเป็นผู้สมควรได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต แบบบัญชีรายชื่อ กรณีจังหวัดใดไม่มีสาขาพรรค แต่มีสมาชิกพรรคตั้งแต่ 200 คนขึ้นไปเป็นผู้เสนอ ถ้าพรรคการเมืองไม่ดำเนินการตามนี้ในเขตเลือกตั้งใดก็ไม่มีสิทธิที่จะส่งผู้สมัครในเขตนั้น ซึ่งกรณีนี้บทเฉพาะกาลกำหนดยังไม่ให้นำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะใช้ในอีก 2 ปีหลังกฎหมายใช้บังคับ
ส่วนนโยบายหาเสียงก่อนนำไปใช้พรรคต้องจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า ความเสี่ยงอย่างรอบด้านของนโยบายนั้นตามหลักวิชาการ และส่งข้อมูลการวิเคราะห์นโยบายต่อ กกต. โดยอย่างน้อยต้องมีที่มาของงบประมาณ ระยะเวลา ความคุ้มค่า ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย การคัดเลือกบุคคลผู้สมควรเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามชื่อในการเลือกตั้งต้องทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรค
การบริจาคแก่พรรคการเมือง ก็ให้พรรคการเมืองสามารถตั้งตู้รับบริจาคได้ มีการเพิ่มจำนวนเงินภาษีที่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรดาประจำปีประสงค์บริจาคให้พรรคจากปีละ 100 บาท เป็นปีละ 500 บาท และเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีให้กับบุคคลและนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองจากเดิมที่บุคคลธรรมดาลดหย่อนไม่เกินปีละ 5 พันบาท นิติบุคคลไม่เกินปีละ 2 หมื่นบาท ก็กลายเป็นบุคคลธรรมดาไม่เกิน 2 เท่าของเงินบริจาคแต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท และนิติบุคคลไม่เกิน 2 แสนบาท
การจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองก็กำหนดเกณฑ์จัดสรรใหม่ โดยให้คิดจากจำนวนคะแนนเสียงแบบแบ่งเขตร้อยละ 60 สาขาพรรค ร้อยละ 30 จำนวนสมาชิกร้อยละ 10 จากเดิมที่คิดจากจำนวนคะแนนเสียงแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีประเภทร้อยละ 40 สาขาพรรคและสมาชิกพรรคประเภทร้อยละ 10
สำหรับเหตุแห่งการสิ้นสภาพพรรคเมืองนั้น จากเดิมที่กำหนดว่าถ้าไม่ส่ง 2 ครั้งติดต่อกันหรือเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกันสุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากันจึงจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพพรรคการเมือง มาเป็นถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วพรรคการเมืองไม่ส่งก็สิ้นสภาพเลย
ส่วนการสั่งยุบพรรค และศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งเพิกถอนสิทธิหัวหน้า กรรมการบริหารพรรคนั้น เหลือเพียงกรณีพรรคกระทำการล้มล้าง หรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ การปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่มิได้เป็นตามที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญเท่านั้นส่วนเหตุอื่นเช่นไม่ใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด หรือไม่รายงานการดำเนินกิจการของพรรค มีโทษเพียงนายทะเบียนพรรคการเมืองสั่งหัวหน้าพรรคพ้นจากตำแหน่ง ตัดสิทธิเป็นกรรมการบริหารพรรค 5 ปี