“อภิสิทธิ์” ย้ำ “นายกฯ คนนอก” เป็นทางเลือกสุดท้ายหากสภาล่างรวมกันไม่ถึง 250 เสียง เตือนฝืนเสียงข้างมากของประชาชนเกิดขัดแย้งรุนแรง ยันจุดยืนไม่ขัดแย้งกับคน กปปส. ลั่นไม่มีวันจับมือ “เพื่อไทย” ตั้งรัฐบาลหากยังเป็นเครื่องมือให้ครอบครัวชินวัตร โวประชาธิปัตย์เตรียมพร้อมรับใช้ประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทำเอาไว้หลายเรื่องแล้วพร้อมเดินหน้าต่อ
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “นิวส์วัน” ภายใต้หัวข้อ “อนาคตการเมืองไทย อนาคตประชาธิปัตย์ ในมุมมองอภิสิทธิ์” ดำเนินรายการโดยนายเติมศักดิ์ จารุปราณ
โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีมีสองขั้วความคิด สองแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แนวแรกคือพรรคการเมืองจับมือกันไม่เอานายกฯ คนนอก อีกแนวหนึ่งคือบางพรรคไปจับมือกับ 252 ส.ว.ชูมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าค่อนข้างเร็วเกินไปที่จะไปพูดสูตรสำเร็จแบบนี้เพราะยังไม่ได้เลือกตั้ง เท่ากับว่าเราไม่เคารพเจ้าของประเทศที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง จุดยืนของตนและของพรรคก็คือเคารพเสียงข้างมากของประชาชน เพราะฉะนั้นถ้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรรวบรวมเสียงได้ 250 เขาอาจจะเลือกตั้งก็ได้ เขาอาจจะได้จากการที่เขาเจรจา พูดคุยกับพรรคการเมืองก็ได้ แล้วเกิน 250 ตนเห็นว่าสมาชิกวุฒิสภาไม่ควรที่จะไปขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นใหม่ในสังคม พูดง่ายๆ ก็คือว่า คนเกินครึ่งเขาให้คะแนนเสียง คนกลุ่มนี้มาจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ไปฝืนความต้องการของประชาชนมีแต่จะสร้างปัญหามากขึ้นในอนาคต ส่วนพรรคการเมืองจะจับได้ถึง 250 เสียงหรือไม่ 1. ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนผลของการเลือกตั้ง 2. พรรคการเมืองที่จะจับมือกันเป็นรัฐบาล ก็ควรที่จะต้องมีอุดมการณ์ ความคิดที่นโยบายที่ไปด้วยกันได้ ไม่ใช่อยากจะเป็นรัฐบาลก็ไปรวมกันเพื่อจะเป็นโดยที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเชิงอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อที่ 1 ภารกิจเรา เราต้องพัฒนาตัวเอง เสนอตัวให้เป็นทางเลือก ให้เป็นที่พึ่งที่หวังของคน มุ่งหวังที่จะให้คะแนนเสียงให้ได้มากที่สุดเกิน 250 ยิ่งดี ถ้าได้ไม่ถึงก็จะไปดูมีพรรคการเมืองไหนที่คิดว่ามีแนวคิดนโยบาย อุดมการณ์ที่จะไปด้วยกันได้ ถ้าเราสามารถรวบรวมเสียงได้ เราคิดว่าเราควรที่จะตั้งรัฐบาล ถ้าคนอื่นเขาทำได้เขาควรได้จัดตั้งรัฐบาล
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยนี่ตัดออกไปเลยไหมสำหรับการร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ตราบเท่าที่พรรคเพื่อไทยยังเป็นเครื่องมือของครอบครัวชินวัตร แล้วก็มีวาระในการที่จะปกป้องประโยชน์ของครอบครัวชินวัตรคงจะร่วมงานไม่ได้ อันนั้นเป็นเงื่อนไขแบบชนิดที่เรียกว่าไม่ต้องพูดอย่างอื่นเลย แต่สมมติว่าเกิดหลุดจากตรงนั้นมาได้ก็ต้องมาดูต่อว่านโยบายไปด้วยกันได้ไหม เพราะว่าถ้านโยบายไปด้วยกันไม่ได้ ไปเป็นรัฐบาลก็เป็นปัญหาอีก เท่ากับว่าทรยศประชาชน สมมติเรานโยบายไปทางซ้าย เขาบอกนโยบายไปทางขวา ถึงเวลามาเป็นรัฐบาลด้วยกัน แล้วประชาชนที่เขาจะเลือกมาเพราะพรรคหนึ่งบอกว่าไปทางซ้าย ประชาชนที่เขาเลือกบอกไปทางขวา เขาจะคิดอย่างไร
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า 250 เสียงของวุฒิสภาควรที่จะมีบทบาทในเชิงของการไปเลือกก็ต่อเมื่อ 250 เสียงในสภาล่างมันไม่มี คือมันจับกันไม่ได้ ก็แปลว่าเหมือนกับปล่อยสภาผู้แทนราษฎรไป มันค้นหาไม่ได้ว่าใครควรที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ใครควรที่จะเป็นรัฐบาล อย่างนั้นคุณก็มาช่วยในฐานะสภาสูง แต่ถ้าพอ 250 แล้ว ส.ว.ไปตัดสินใจที่มันฝืนกับเสียงข้างมากของสังคม จะรับผิดชอบไหม ถ้ามีความขัดแย้งตามมา
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวด้วยว่า ตอนนี้ต้องยืนยันว่าไม่มี 2 ขั้วความคิดในพรรค ไม่มีขัดแย้งกับคนที่เคยไปทำงานกับ กปปส. วันนั้นทั้ง 8 ท่านมาที่พรรคเเล้วคุยกันอย่างนี้ แล้วไม่ใช่ตนพูดก่อน 1 ใน 8 พูดเองว่าวันนี้เมื่อเขามาทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ในพรรคประชาธิปัตย์ในระบบพรรคการเมือง เขาต้องสนับสนุนแนวทาง เพราะนั่นคือแนวทางของพรรคการเมืองและแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ คนที่พูดคือคุณถาวร เสนเนียม แล้วตนก็บอกคุณถาวรเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาก่อนตน 20 กว่าปี เพราะฉะนั้นทราบดีว่าพรรคประชาธิปัตย์คืออะไร
เมื่อถามว่า ประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้จริงๆ ไหม เพราะบางคนอาจจะวิจารณ์ว่าดีแต่พูด ถึงเวลาทำ ทำไม่เป็น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นคำวิจารณ์ที่เราก็ต้องน้อมรับ แต่บางเรื่องเวลาที่เราได้มีเวลาได้พูดคุยกับคนที่วิจารณ์ บางคนก็พอทราบว่าเราทำอะไรไปเยอะ แต่ก็อาจจะไม่เคยทราบมาก่อน ก็เข้าใจเรามากขึ้น แต่นี่ก็เป็นความผิดเราที่ไม่อาจสื่อสารได้ บางเรื่องอยากจะทำยังไม่สำเร็จ บางเรื่องทำค้างไว้ โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ภาษีที่ดิน ความจริงเดินอยู่แล้ว แต่ว่าเปลี่ยนรัฐบาลเสียก่อนจึงไม่ได้ทำต่อ แต่ว่ากรอบความคิดพวกนี้มีหมดแล้ว เรื่องเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กเล็ก เรื่องปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากตัวกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางธุรกิจ ทำเอาไว้หมดแล้วแต่มันยังทำไม่เสร็จ และก็บางเรื่องเดินไปแล้วมันยังไม่ได้ผลอย่างที่เราต้องการ เช่น หลักการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการประกันรายได้ โดยหลักการส่วนใหญ่มันน่าจะพิสูจน์แล้ว เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการที่จะช่วยเกษตรกร แต่จุดอ่อนยังมีอยู่เรื่องการกำหนดราคาอ้างอิง แต่หากพ่อค้าไปกดราคาแล้วเราก็ต้องปรับปรุง ตนว่านี่เป็นเรื่องปกติธรรมดา ต้องไปว่ากันในช่วงการเลือกตั้ง เพราะว่าพวกตนก็มีหน้าที่ไปอธิบาย นี่คือความตั้งใจ และเที่ยวนี้ก็คือความแตกต่าง
จากคำถามว่า คำถามของนายกรัฐมนตรี 4 คำถามจะเป็นตัวสะท้อนหรือไม่ว่าประชาชนไว้วางใจใครมากกว่า ระหว่างพรรคการเมือง นักการเมือง กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องกลับมาตัวบุคคลอีกครั้งหนึ่ง จะสะท้อนอะไรหรือไม่
นายอภิสิทธิ์กล่าวตอบว่า อย่าว่าแต่ประเทศไทยเลย ขณะนี้แทบจะไม่มีประเทศไหนไว้ใจนักการเมือง แต่ตนกำลังจะบอกว่าความไม่ไว้ใจนักการเมืองแบบเหมารวมอันตราย เวลาคนที่เล่นกับกระแสความไม่พอใจนักการเมืองแล้วเหมารวมว่านักการเมืองพรรคการเมืองเลวร้ายหมด ชั่วหมด พานไปถึงว่าบางทีประชาธิปไตยกลายเป็นแหล่งฟูมฟักของคนชั่ว สิ่งที่จะได้มาแทนก็คือจะมีผู้นำที่เล่นกับอารมณ์คน ความกลัว ความเกลียดของประชาชน แต่สุดท้ายประสบการณ์ทั่วโลกก็บอกว่าท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้นำสิ่งที่ดีกว่าเข้ามา เพราะฉะนั้นอย่าไปพูดแบบนั้นเลย และตนก็เห็นว่านายกฯ บอกว่าที่ถามไม่ได้จะทำให้โรดแมป หรือเลือกตั้ง มันรวนเร เพียงแต่ว่าตนเสียดายวิธีถาม มันทำให้คนไปวิจารณ์ว่าไปชี้นำ แถมตอนนี้วิธีได้คำตอบมันไม่ใช่วิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ที่สำคัญคนที่จะแสดงความคิดเห็นต้องเดินไป มีชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน แล้วถ้าเขามีความรู้สึกว่าคำตอบเขามันไม่ถูกใจคนที่มีอำนาจ คิดว่าเขาจะไปไหม ต้องมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากตอบ หรือรู้คำตอบแต่ไม่ตอบดีกว่า คำถามที่น่าถามคือประชาชนคิดว่า คสช.และประชาชนจะต้องร่วมกันกันทำอะไรบ้างที่จะให้รัฐบาลของการเลือกตั้งมีธรรมาภิบาล ถ้าถามแบบนี้จะได้ไม่ต้องมีใครมากล่าวหาว่าที่ถามเพื่อที่จะสืบทอดอำนาจ ถามเพื่อที่จะเอานักการเมืองมาชนกับทหาร
นอกจากนั้น ตนอยากจำตำหนิคำถามที่ 3 ที่ถามว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มันจะไปตอบอย่างอื่นได้ไหม มันต้องไม่ถูกต้องอยู่แล้ว คำถามแบบนี้มันก็ถามได้ทั้งนั้น การคำนึงถึงความมั่นคงอย่างเดียวไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน ถูกต้องหรือไม่ มันก็มีคำตอบในคำถามอยู่แล้ว คือมันชี้นำ แล้วก็ยังไม่เคยได้ยินใครที่บอกว่าขอให้เลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงถึงอนาคตการปฏิรูปประเทศ แล้วถามทำไม สู้อย่างที่ตนบอกว่าหมุนคำถามกลับมาดีกว่า คสช.ควรทำอะไรบ้างที่จะทำให้การเลือกตั้งมันได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ถามอย่างนี้ดีกว่า
อดีตนายกฯ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าในที่สุดบ้านเมืองต้องกลับสู่ประชาธิปไตย คสช.เองก็ต้องยอมรับว่ามันก็ต้องมีการเลือกตั้ง อย่าทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในประชาธิปไตย ตรงกันข้ามหน้าที่ของ คสช.คือให้ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งมันเป็นที่มั่นใจของประชาชน เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นงานใหญ่ งานยาก ตนเอาใจช่วยให้ทำให้สำเร็จและยืนยันเลย ถ้าสมมติได้คำตอบแบบนี้ เช่นบอกว่ามันจำเป็นจะต้องปฏิรูปตำรวจปฏิรูปสื่อแล้วมันเดินไปแล้ว บังเอิญเวลามันไม่พอ ตนว่าถึงวันนั้นสังคมอาจบอกว่าไม่เป็นไร คุณทำอันนี้ให้เสร็จก่อน แต่ถ้าคุณพูดลอยๆ แค่เพียงว่าบ้านเมืองยังไม่ดี ยังมีระเบิดอยู่ แปลว่าเลือกตั้งไม่ได้ แล้วเราจะรู้ได้ไงว่ามันจะเลือกตั้งได้เมื่อไหร่ แล้วระเบิดมันจะหมดไปไหม
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่ออีกว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่วิจารณ์รัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งรัฐธรรมนูญมาจำกัดอำนาจหรือมาตีกรอบบางอย่างมากจนเกินไป ไม่น่าสอดคล้องกับทิศทางของโลกปัจจุบัน เช่น ยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่ตนยอมรับว่าที่มาของตรงนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคนมองว่านักการเมืองไว้ใจไม่ได้ นักการเมืองก็ควรมีการสรุปบทเรียนแบบนี้
เมื่อถามว่า ความขัดแย้งเดิมๆ เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี มันกลับมาหลังการเลือกตั้ง แล้วอาจจะมีรัฐประหารอีก เป็นไปได้ไหม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อันนี้แหละใครจะแก้ว่าตกลงทุกคนมีบทเรียนหรือยัง ถ้ามันเกิดอย่างนั้นก็แสดงว่าข้อ 1 นักการเมืองยังไม่เรียนรู้บทเรียนแบบในอดีตว่าเวลาแม้คุณจะได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งก็ตาม คุณก็ต้องใช้อำนาจนั้นอยู่ในขอบเขต ถ้าใช้อำนาจเกินเลยสุดท้ายแล้วกลไกการตรวจสอบสมดุล ทำงานไม่ได้ สุดท้ายประชาชนแสดงออกในรูปแบบ เช่น การประท้วง อะไรต่างๆ ก็จะเกิดปัญหาความวุ่นวายเสร็จแล้วฝ่ายความมั่นคงก็จะเข้ามา ก็แสดงว่านักการเมืองไม่เรียนรู้บทเรียน ทำนองเดียวกันถ้ามีการรัฐประหารอีก ทหารก็ยังไม่เรียนรู้ว่าเข้ามากี่ครั้งก็ไม่สามารถวางรากฐานตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้แทนที่จะมาชี้นิ้วว่านักการเมืองอย่างเดียว หรือบางคนไปชี้ คสช.เผด็จการอย่างเดียว มันไม่มีประโยชน์อะไร ทุกคนมีส่วนผิด มีส่วนถูกทั้งนั้น วันนี้ทำไมไม่เอาส่วนถูกของแต่ละฝ่ายมาช่วยกันทำให้บ้านเมืองดีขึ้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ประชาชนต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ทำอะไร ถ้าต้องการให้เดินหน้าปฏิรูปประเทศ แก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ คุณมาร่วมกับเรา เราจะทำ แต่ถ้าเราไม่อยู่ในฐานะที่ทำได้ แล้วมีคนอื่นมาทำได้ดีกว่า ตนก็ยืนยันว่าประชาธิปัตย์ไม่เป็นอุปสรรค
คำต่อคำ : รายการ “คนเคาะข่าว” วันที่ 8 มิ.ย. 60
เติมศักดิ์- สวัสดีครับ ขอต้อนรับเข้าสู่รายการ “คนเคาะข่าว” วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2560 คนเคาะข่าววันนี้ว่าด้วย อนาคตการเมืองไทย อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ ในมุมมองและจุดยืนของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี พบกับคุณอภิสิทธิ์ สวัสดีครับ
อภิสิทธิ์- สวัสดีครับคุณเติมศักดิ์
เติมศักดิ์- ดูเหมือนตอนนี้สองขั้วความคิด สองแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แนวแรกพรรคการเมืองจับมือกันให้ได้ ไม่เอานายกคนนอก พูดง่ายๆ ไม่เอาทหาร อีกแนวหนึ่งคือ บางพรรคไปจับมือกับ 252 ส.ว.ชูมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ พูดตรงๆ นะครับ คุณอภิสิทธิ์มีจุดยืนอย่างไรกับ สองขั้ว 2 แนวความคิดนี้ครับ
อภิสิทธิ์- ผมว่าที่จริงมันค่อนข้างที่จะเร็วเกินไปที่จะไปพูดสูตรสำเร็จอะไรแบบนี้ ที่ต้องพูดแบบนี้ก็เพราะว่าเรายังไม่ได้เลือกตั้ง แล้วก็ถ้าเราบอกว่าคุณจะเลือกตั้งมาอย่างไร รัฐบาลจะเป็นแบบนี้ ผมว่าเราก็เท่ากับไม่เคารพเจ้าของประเทศที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง จุดยืนของผมและของพรรคที่ผมได้พูดไปชัดเจนก็คือว่า เมื่อเราจะให้ประชาชนเลือกตั้ง เราควรจะเคารพเสียงข้างมากของประชาชน เราใช้ระบบรัฐสภา เสียงข้างมากของประชาชนก็คือ ไปสะท้อนอยู่ใน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร
เติมศักดิ์- ในสภาผู้แทนราษฎร
อภิสิทธิ์- เพราะฉะนั้นความเห็นของผม ถ้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร เขารวบรวมเสียงได้ 250 เขาอาจจะเลือกตั้งก็ได้ เขาอาจจะได้จากการที่เขาเจรจา พูดคุยกับพรรคการเมืองก็ได้ แล้วเกิน 250 ผมเห็นว่า สมาชิกวุฒิสภา ไม่ควรที่จะไปขัดขวาง การจัดตั้งรัฐบาล เพราะเท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นใหม่ในสังคม พูดง่ายๆ ก็คือว่า คนเกินครึ่งเขาให้คะแนนเสียง คนกลุ่มนี้มาจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ไปฝืนความต้องการของประชาชนตรงนั้น มีแต่จะสร้างปัญหามากขึ้นในอนาคตนะครับ ก็จะไม่สมประโยชน์กับความคิดที่พูดถึงเรื่องการปรองดอง พูดถึงเรื่องการปฏิรูปด้วยซ้ำนะครับ ส่วนพรรคการเมืองจะจับได้ถึง 250 หรือไม่ 1. ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนผลของการเลือกตั้ง 2. ผมเห็นว่าพรรคการเมืองที่จะจับมือกันเป็นรัฐบาล ก็ควรที่จะต้องมีอุดมการณ์ ความคิดที่นโยบายที่ไปด้วยกันได้นะครับ ไม่ใช่อยากจะเป็นรัฐบาลก็ไปรวมกันเพื่อจะเป็นนะครับ โดยที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเชิงอุดมการณ์ ในเชิงนโยบาย เพราะสำหรับผมการไปทำเช่นนั้น แม้ว่าจะอ้างว่าเพื่ออะไรแบบแสดงความเป็นใหญ่ของพรรคการเมือง แต่ถ้าเป็นการเข้าไปแล้วถูกมองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ในการเป็นรัฐบาล ก็จะกลายเป็นการทำลายศรัทธา ในระบบการเมืองในภาพรวม เพราะฉะนั้นสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อที่ 1 ภารกิจเรา เราต้องพัฒนาตัวเอง เสนอตัวให้เป็นทางเลือก ให้เป็นที่พึ่งที่หวังของคน มุ่งหวังที่จะให้คะแนนเสียงให้ได้มากที่สุดเกิน 250 ยิ่งดี ถ้าได้ไม่ถึง ก็จะไปดูมีพรรคการเมืองไหนที่คิดว่า มีแนวคิดนโยบาย อุดมการณ์ที่จะไปด้วยกันได้ ถ้าเราสามารถรวบรวมเสียงได้ เราคิดว่าเราควรที่จะตั้งรัฐบาล ถ้าคนอื่นเขาทำได้ เขาควรได้จัดตั้งรัฐบาล
เติมศักดิ์- อย่างพรรคเพื่อไทยนี่ตัดออกไปเลยไหมครับ สำหรับการร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์
อภิสิทธิ์- คือคำพูดที่ผมใช้ก็คือว่า ถ้าตราบเท่าที่พรรคเพื่อไทยยังเป็นเครื่องมือของครอบครัวชินวัตร พูดกันตรงๆ นะครับ ดำรงอยู่แล้วก็มีวาระในการที่จะปกป้องประโยชน์ของครอบครัว ก็คงจะร่วมงานไม่ได้
เติมศักดิ์- เป็นเงื่อนไขเดียว
อภิสิทธิ์- อันนั้นเป็นเงื่อนไขแบบชนิดที่เรียกว่า ไม่ต้องพูด
เติมศักดิ์- เงื่อนไขใหญ่
อภิสิทธิ์- ไม่ต้องพูดเป็นอย่างอื่นเลยนะครับ แต่สมมติว่าเกิดหลุดจากตรงนั้นมาได้ก็ต้องมาดูต่อว่านโยบายไปด้วยกันได้ไหมนะครับ เพราะว่าถ้านโยบายไปด้วยกันไม่ได้ ไปเป็นรัฐบาล ก็เป็นปัญหาอีก เพราะว่าเท่ากับว่าไม่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ พูดง่ายๆ ก็ต้องไปเหมือนกับทรยศประชาชนถูกไหมครับ ถ้าผมบอกว่านโยบายไปทางซ้าย เขาบอกนโยบายไปทางขวาถึงเวลาบอกอยากจะตั้งรัฐบาล มาเป็นรัฐบาลด้วยกัน แล้วประชาชนที่เขาจะเลือกมา เพราะพรรคหนึ่งบอกว่าไปทางซ้าย ประชาชนที่เขาเลือกบอกไปทางขวา เขาจะคิดอย่างไร
เติมศักดิ์- เขาว่ากันว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วในที่สุดตอนโหวตเรื่องนายกฯ อย่างไรนี่ 250 ส.ว.เป็นตัวแปรสำคัญแน่ๆ ถ้าดูจากคณิตศาสตร์การเมืองนะครับ
อภิสิทธิ์- คือคณิตศาสตร์แล้วก็ตามรัฐธรรมนูญ มันปฏิเสธไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมได้พูดไปเมื่อสักครู่นี้เป็นจุดยืนกำลังจะบอกว่าคุณจะใช้แค่ตัวเลข แล้วจะใช้แค่กฎหมายไม่ได้ คุณต้องดูความเป็นจริงของสังคม ผมเห็นว่า 250 เสียงของวุฒิสภา ควรที่จะมีบทบาทในเชิงของการไปเลือก ก็ต่อเมื่อ 250 เสียงในสภาล่างมันไม่มี คือมันจับกันไม่ได้นะครับ ก็แปลว่าเหมือนกับปล่อยสภาผู้แทนราษฎรไป มันค้นหาไม่ได้ว่าใครควรที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ใครควรที่จะเป็นรัฐบาล อย่างนั้นคุณก็มาช่วยในฐานะสภาสูง เข้ามาช่วยแต่ถ้าคุณคิดว่าพอคุณมีสิทธิ์ตามกฎหมาย แล้วคุณ 250 ถือว่าคุณเป็นส่วนใหญ่ แต่คุณกำลังไปตัดสินใจที่มันฝืนกับเสียงข้างมากของสังคม คุณจะรับผิดชอบไหม ถ้ามันมีความขัดแย้งที่ตามมา พูดก็พูดเรามีประสบการณ์ ผมเป็นนายกรัฐมนตรีขนาดผมได้เสียงข้างมากจากสภาที่มาจากการเลือกตั้งยังมีการปลุกระดมจนกระทั่งเกิดเหตุวุ่นวายในบ้านเมือง 2 ปีซ้อน นี่ถ้าเกิดรัฐสภาไปฝืนเจตนาหรือเสียงส่วนใหญ่ของคนที่มาจากการเลือกตั้ง เราคิดว่าความขัดแย้งมันจะไม่มีเหรอนะครับ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกคนมองยาว พรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งที่เราอยู่มาได้ คือเรามองว่าถามว่าอยากเป็นรัฐบาลไหม อยากเป็น อยากชนะเลือกตั้งไหม อยากชนะ แต่ว่าไม่ใช่ว่าต้องเป็นรัฐบาล ต้องชนะการเลือกตั้งโกงก็ได้ หรือทรยศต่อคำพูด หรือสัญญาที่ให้กับประชาชนก็ได้ หรือไปขัดแย้งกับประชาชนก็ได้ ไม่ได้หรอกครับ เราต้องอยู่ในกรอบตรงนี้การเมืองมันถึงจะไปได้
เติมศักดิ์- ครับ พูดๆ กันว่าแนวให้ประชาธิปัตย์ไปจับมือกับบางพรรคบวก 250 ส.ว.ชูนายกฯ คนนอก เป็นไปไม่ได้เลยถ้าหัวหน้าพรรคยังชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จริงไหมครับ
อภิสิทธิ์- ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหรือไม่นะ ผมคิดว่าความเป็นสถาบันของพรรคประชาธิปัตย์ ใครจะเป็นหัวหน้าก็ตาม เมื่อเสนอตัวเข้าสู่การเลือกตั้งนะครับ มีแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของประเทศ มีนโยบาย แล้วไม่เชื่อว่าเป็นคนของตัวเอง จะเอาสิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนได้ดีที่สุด คงจะเป็นประชาธิปัตย์ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ต้องสนับสนุนผู้บริหาร หัวหน้าพรรค ผู้นำของพรรค เข้าไปเอาอุดมการณ์และนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไปปฏิบัตินะครับ นั่นคือสิ่งที่มันจะต้องเป็นนะครับ แต่ถ้าสมมุติเลือกตั้งมาแล้ว ใช่ไหมครับ ประชาชนให้คะแนนเสียงมาประชาธิปัตย์จะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้นะครับ ไปรวบรวมเสียงก็รวบรวมไม่ได้ เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ จับกันไม่ติด อย่างนี้ค่อยว่ากันอีกทีว่าทางเลือกของสังคมคืออะไรนะครับ แต่จากวันนี้ไปสู่วันเลือกตั้งประชาธิปัตย์ต้องเสนอตัวเป็นทางเลือก เรามีความพร้อมที่จะแก้ปัญหาของประเทศ ไม่อย่างนั้นก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในฐานะที่จะเป็นพรรคการเมือง
เติมศักดิ์- ครับ ก่อนวันเลือกตั้ง การเลือกกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ครั้งหน้าจะกลายเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้วความคิดที่ว่านี่นะครับ ระหว่างแนวที่ชูกับเสียงนายกฯ
อภิสิทธิ์- ตอนนี้ผมต้องยืนยันว่าไม่มี 2 ขั้วความคิด สิ่งที่ผมพูดกับคุณเติมศักดิ์เมื่อสักครู่นี่หลายคนจะบอกว่า อ้าวไปขัดแย้งกับคนที่เคยไปทำงานกับ กปปส.ไหม วันนั้น 8 ท่านที่มาที่พรรคเเล้วคุยกันอย่างนี้ แล้วไม่ใช่ผมพูดก่อนด้วยนะครับ 1 ใน 8 พูดเอง ว่าวันนี้เมื่อเขามาทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ในพรรคประชาธิปัตย์ในระบบพรรคการเมือง เขาต้องสนับสนุนแนวทาง เมื่อตะกี้ที่ผมเพิ่งพูด เพราะนั้นคือแนวทางของพรรคการเมืองและแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์นะครับ คนที่พูดคือคุณถาวร เสนเนียม นะครับ แล้วผมก็บอกคุณถาวร เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาก่อนผม 20 กว่าปี เพราะฉะนั้นทราบดีว่าพรรคประชาธิปัตย์คืออะไร
เติมศักดิ์- ครับเป็นไปได้ไหมว่าวันนี้ก็ยังตกลงกันได้ แต่ว่าถึงวันเลือกกรรมการบริหารพรรคแล้ว อาจจะไม่แน่เเล้วก็ได้
อภิสิทธิ์- ผมยังไม่ได้ยิน ใครที่เสนอแนวทางเป็นอย่างอื่นนะครับ แล้วก็ผมถือว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประชาธิปไตย ผมจะไปบอกว่าห้ามไม่ให้ใครมาเสนอตัวแข่งขันมันไม่ได้นะครับ ไม่ใช่พรรคของผม เป็นพรรคของสมาชิกเป็นพรรคของประชาชนนะครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องรอดูกันต่อไป แต่ ณ ขณะนี้เท่าที่ผมสัมผัสและทำงานอยู่กับทุกๆคน ที่ไม่ว่าจะอยู่ เคยไปอยู่ทำงานกับ กปปส.หรือไม่นี่ ผมยังไม่ได้ยินใครพูดเป็นอย่างอื่น ทุกคนมองแต่ว่าขณะนี้ เราต้องมองที่ปัญหาของประเทศเป็นหลักนะครับ จริงๆ แล้วเรื่องที่ถามกันอยู่แบบนี้ มีความหมายน้อยมากสำหรับประชาชน สิ่งที่ประชาชนกำลังกังวลในขณะนี้ก็คือว่า หลังการเลือกตั้งเศรษฐกิจมันจะดีขึ้นไหม หลังการเลือกตั้งปัญหาเดิมๆจะกลับมาไหมนะครับ ประชาธิปัตย์ต้องค้นหาคำตอบตรงนี้ต่างหาก มากกว่าที่จะมานั่งถกกันอยู่อย่างนี้ว่าจะไปจับมือคนนั้นคนนี้นะครับ ประชาธิปัตย์ควรจะต้องหาคำตอบและผมตั้งเป็นโจทย์สำคัญแล้ว คำตอบที่ประชาธิปัตย์ต้องให้กับสังคม 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องเศรษฐกิจ เศรษฐกิจต้องตอบ 3 คำถามเลยนะ คำถามที่ 1 สภาวะเศรษฐกิจที่มันย่ำแย่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในชนบท จะทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร คำถามที่ 2 เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปโครงสร้างหลายอย่าง เทคโนโลยี พฤติกรรมของหลายๆฝ่ายเปลี่ยนแปลงไป แล้วประเทศไทยต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อให้อยู่ได้ แข่งขันได้จะทำอย่างไร คำถามที่ 3 นะครับ สำคัญไม่แพ้ 2 คำถามเลย มาถึงวันนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเศรษฐกิจ มันไม่สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายลดแลกแจกแถมอีกต่อไป มันกลายเป็นเรื่องโครงสร้าง สะท้อนออกมาได้หลายภาค ภาคพลังงาน รัฐวิสาหกิจนี่เป็นตัวหนึ่งที่ชัดเจน เราจะแก้อย่างไร นี่เรื่องเศรษฐกิจ คำถามที่ 2 ก็คือว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังมีปัญหาทุจริตคอรัปชันอยู่อย่างนี้ การเมืองก็จะไม่หลุดพ้น ความขัดแย้งเดิมๆ เศรษฐกิจ ความยากจนนะครับ ปัญหาเหล่านี้แก้ไม่ได้ สังคมก็จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ จะมีวิธีการอย่างไร ที่จะจัดการกับปัญหากับการทุจริตคอร์รัปชันให้มันชัดเจน ผมว่าเศรษฐกิจกับการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งผูกกันด้วย ตรงนี้ต่างหากคือสิ่งที่เราจะใช้เวลาในช่วงนี้ เพื่อที่จะทำคำตอบให้ดีที่สุดสำหรับประชาชน ในวันเลือกตั้ง
เติมศักดิ์- แต่ก็อาจจะนำไปสู่คำถามต่อไปว่า ประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นทางเลือกให้ประชาชน ได้จริงๆ ไหม เพราะบางคนอาจจะวิจารณ์ว่าประชาธิปัตย์ดีแต่พูด ถึงเวลาทำ ทำไม่เป็น จุดยืนตอนเป็นฝ่ายค้านดี ตอนหาเสียงมีหลักการ พอเป็นรัฐบาลไม่ได้เรื่อง นี่เป็นคำวิจารณ์ที่อาจจะมี อาจจะปฏิเสธไม่ได้
อภิสิทธิ์- เป็นคำวิจารณ์ที่เราก็ต้องน้อมรับ เราเป็นนักประชาธิปไตย แต่ว่าบางเรื่องเวลาที่เราได้มีเวลาได้พูดคุย กับคนที่วิจารณ์ บางคนก็พอทราบว่า เราทำอะไรไปเยอะ แต่ก็อาจจะไม่เคยทราบมาก่อน ก็เข้าใจเรามากขึ้น แต่นี่ก็เป็นความผิดเราที่ไม่อาจสื่อสารได้ บางเรื่องอยากจะทำยังไม่สำเร็จ บางเรื่องที่ผมทำค้างไว้ โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ภาษีที่ดิน ความจริงเดินอยู่แล้ว แต่ว่ามันเปลี่ยนรัฐบาลเสียก่อน มันจึงไม่ได้ทำต่อ แต่ว่ากรอบความคิดพวกนี้ มีหมดแล้ว เรื่องเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กเล็ก เรื่อง ปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจาก ตัวกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางธุรกิจ ทำเอาไว้หมดแล้ว แต่มันยังทำไม่เสร็จ และก็บางเรื่องเดินไปแล้ว มันยังไม่ได้ผลอย่างที่เราต้องการ เช่น หลักการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการประกันรายได้ ผมว่าโดยหลักการส่วนใหญ่มันน่าจะพิสูจน์แล้ว เป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการที่จะช่วยเกษตรกร แต่จุดอ่อนมันมีไหม ยังมีอยู่เรื่องการกำหนดราคาอ้างอิง แต่ถ้าเกิดพ่อค้าไปกดราคาแล้ว เราก็ต้องปรับปรุง ผมว่านี่เป็นเรื่องปกติธรรมดา ก็จะต้องไปว่ากันในช่วงการเลือกตั้ง เพราะว่า พวกผมก็มีหน้าที่ไปอธิบาย นี่คือความตั้งใจ และเที่ยวนี่ก็คือความแตกต่าง ก็คือว่า บังเอิญ 3 ปี มันเป็น 3 ปี ที่มีเวลา ไปทำบางอย่างที่เราไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ทำ อย่างเช่นผมใช้เวลา 3 ปี พบปะกับกลุ่มเกษตรกร อย่างศุกร์นี้ ผมจะพบกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มสมาคมธุรกิจต่างๆ ผมก็ได้เรียนรู้ มุมมองของปัญหา จากภาคเอกชน จากภาคประชาชน มากขึ้น 2. คนของเราบางทีก็จะไปทำโครงการที่จะไปเชื่อมโยงกับนโยบาย อย่างเช่นเรื่องการศึกษา เราก็จะไปทำเรื่อง English for All หมอวรงค์ คุณกรณ์ ไปลองทำดู ภาคการเกษตรมีคนไปทดลองทำระบบชลประทาน น้ำหยด ทำโดมเพื่อปลูกผัก เกษตรอินทรีย์ เราจะมีความเป็นรูปธรรมเพื่อที่คนที่ยังกลัวว่าไหนว่าพูดได้แล้วทำไม่ได้ แต่ว่าเราได้ใช้เวลาในช่วงนี้ไปทำบ้างแล้ว ให้เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้จริง
เติมศักดิ์- เรื่องพลังงาน จุดยืนเรื่องพลังงานจะเหมือนตอนที่เป็นฝ่ายค้านหรือว่าตอนที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลไหมครับ คุณอภิสิทธิ์
อภิสิทธิ์- ที่จริงต้องเข้าใจอย่างนี้ เรื่องพลังงานที่มีการต่อสู้ในขณะนี้ค่อนข้างมาก เป็นเรื่องที่ไม่ว่าผมจะเป็นฝ่ายค้านหรือว่าเป็นรัฐบาล ผมปฏิบัติ เช่น เรื่องแก๊ส ผมยืนยันว่าก๊าซที่ใช่ในการหุงต้มเป็นสินค้าที่สำคัญในการดำรงชีพและก๊าซในอ่าวไทยมีเพียงพอที่จะให้คนไทยทั้งประเทศหุงต้ม คนไทยควรที่จะได้ใช้ก๊าซนี้ในราคาต้นทุน ไม่จำเป็นต้องจ่ายในราคาเดียวกับอัตราตลาดหรือที่ขายให้กับภาคอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งปิโตรเคมี และผมได้ปฏิบัติเช่นนั้น นโยบายนี้ แนวคิดนี้ หลักคิดนี้ยังอยู่ ขณะที่รัฐวิสาหกิจได้ผูกขาด วันนี้จุดยืนผมก็สม่ำเสมอ ส่วนที่เป็นการผูกขาดมันไม่ควรที่จะอยู่ในมือของเอกชน แผนรัฐวิสาหกิจ ผมได้ไว้ตั้งแต่ท่านนายกฯ ชวน เป็นรัฐบาลก็บอกชัดเจนว่าถ้าจะแปรรูป ปตท.ต้องแยกท่อก๊าซออกมาแล้วไม่ใช่เอาท่อก๊าซไปแปรรูปเป็นของเอกชนด้วย เช่นเดียวกับโครงข่ายสายไฟฟ้าหรืออะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นนโยบายเหล่านนี้ยังดำรงอยู่ ขณะนี้ก็ต้องจับตาดูว่าเมื่อรัฐบาล กำลังจะต้องประมูล เปิดประมูล สัมปทาน หรือจะเกิดการแบ่งปันผลผลิตหรือไม่ เราก็ติดตามดูอยู่อย่างชัดเจน วันที่ผมเป็นรัฐบาล ปตท.ขอซื้อว่าไปลงทุนค้าปลีกขนาดใหญ่ ผมไม่ให้ เพราะว่าผมเห็นว่านั่นไม่ภารกิจที่ ปตท.ตั้งขึ้นมา แล้วถ้าเกิด ปตท.เริ่มไปทำธุรกิจอื่นโดยอาศัยอำนาจทางการตลาดของตัวเอง มันไม่เป็นธรรมกับคนอื่น เพราะฉะนั้นอย่าว่าเป็นฝ่ายค้านเลย ตอนเป็นรัฐบาลผมก็ปฏิบัติ เพียงแต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่รับรู้กันทั่วไป เพราะบางเรื่องก็คือการไม่อนุมัติ เขาขอขึ้นค่าก๊าซ ผมไม่อนุมัติ เขาขอไปซื้อค้าปลีก ผมไม่อนุมัติ อย่างนี้เป็นต้น
เติมศักดิ์- เรื่องบรรษัทพลังงานควรมีหรือไม่ บรรษัทน้ำมันเห่งชาติ
อภิสิทธิ์- คือเรื่องนี้ผมได้ให้ความเห็นไปแล้ว ต้องดูว่าตัวภารกิจของบรรษัทคืออะไร สิ่งที่ผมเห็นว่าจำเป็นก็คือว่า ถ้าเรามีผลแบ่งปันการผลิตหรือจ้างการผลิต ต้องยอมรับว่า เราต้องมีหน่วยงานที่มารองรับตรงนี้ แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ต้องการไปสร้างบรรษัทที่เป็นลักษณะของธุรกิจที่มีความสุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล ที่การเมืองเข้าไปแทรกแซงได้ ดังนั้น รูปแบบที่ผมจะสนับสนุนก็ต้องมีความเหมาะสม ซึ่งบังเอิญข้อเสนอตรงนี้เนื่องจากในกฎหมายที่ ทำกันมามันยังไม่มีอะไรเลย นอกจากเขียนแต่ว่าให้มี ผมก็เลยต้องบอกว่าไปดูรายละเอียดตรงนั้นด้วย แต่หลักการผมคือ เมื่อเราควรจะมีและตามหลักก็คือเปิดทางเลือกว่าไม่ใช่แค่สัมปทาน มีแบ่งปันผลผลิตด้วย มีจ้างการผลิตได้ด้วย เราก็ควรจะต้องมีหน่วยงานที่จะมาปฏิบัติ รองรับภารกิจนี้ได้ แต่ผมไม่ต้องการสร้างรัฐวิสาหกิจที่เป็นปัญหาตัวใหม่ ขึ้นมาเพราะฉะนั้น รูปแบบตรงนี้ต้องเหมาะสม
เติมศักดิ์- ย้อนกลับมาที่การตั้งรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ต้องยอมรับครับว่ากลุ่มฐานที่ต้านระบอบทักษิณ พูดง่ายๆ เขาก็อาจจะไม่มีทางเลือกอื่น ต้องหย่อนบัตรก็เลือกประชาธิปัตย์ แต่ตอนเลือกนายกฯ เขาอยากได้ลุงตู่เป็นนายกฯ จะจัดการความรู้สึกนี้ยังไง
อภิสิทธิ์- เราไม่ทราบนะว่าเขาจะมีทางเลือกอะไรไหม อาจจะมีพรรคการเมืองใหม่ก็ได้ ซึ่งผมก็บอกได้ว่ามันมีการเคลื่อนไหวอยู่ ในการที่จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งจะสนับสนุน อาจจะสนับสนุน คสช. หรือทหารหรือใครก็แล้วแต่
เติมศักดิ์- เรียกว่าพรรคทหาร ได้ไหมครับ
อภิสิทธิ์- ได้ครับ ผมว่ามีความพยายามที่จะทำตัวนี้อยู่นะครับ แต่ที่นี้บังเอิญคุณมีชัย ผู้เขียนรัฐธรรมนูญ เกิดไปเขียนเอาไว้ว่า พรรคการเมืองเวลาลงสนามมีสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อนายกฯ แล้วก็เมื่อเสนอชื่อเจ้าตัวต้องยินยอม และเจ้าตัวยินยอมได้แค่พรรคเดียว ถูกไหมครับ ปัญหาก็จะเกิดขึ้นว่า ถ้าสมมติมีแนวคิดที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมไหม ที่จะเอาชื่อของตัวเองมาแปะอยู่ กับพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ถ้าพร้อมปัญหาที่ คุณเติมศักดิ์ ถามก็ไม่เกิดขึ้น ใครอยากจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ชัดเจนแล้ว มีพรรคการเมืองที่ประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ พูดง่ายๆ ก็คือจะลงเป็น ส.ส. หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ชัดเจนแล้วว่าอยู่กับพรรคนี้ ทีนี้ถ้ามีพรรคแบบนี้ แต่ไม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผมก็ไม่รู้เขาจะเสนอชื่อใคร ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ ถ้าประสงค์จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมาในช่องทางที่ให้รัฐสภาไปยกเว้น อะไรต่างๆ ซึ่งผมก็บอกแล้ว สิ่งที่ผมทำได้ก็คือว่า พรรคประชาธิปัตย์ เราเสนอตัว การเสนอตัวของเรา เราต้องยืนยันว่าแนวคิดคนของเรา เข้าใจดีที่สุด ที่ต้องพูดอย่านี้เพราะอะไรหรือครับ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยืนอยู่กับมวลชนที่ต่อต้านทักษิณ มาตลอด 1. การต่อต้านคอร์รัปชัน 2. การต่อต้านปฏิรูป ว่าจำเป็น ว่าปฏิรูปที่จำเป็น เราพูดหมดเลย ใช่ไหม กระจายอำนาจ ตำรวจ สื่อสารมวลชน มี 3-4 ข้อ พูดกันเป็นประจำ แต่ผมยังยึดถือตรงนี้นะ ผมไม่ได้ยึดถือตัวบุคคล เพราะฉะนั้นถามว่าผมกับ พล.อ.ประยุทธ์ รู้จักกันไหม รู้จักกัน ท่านก็ทำงานให้กับผมมาก่อน ผมก็เห็นว่าท่าน มีความตั้งใจดี ต่อบ้านต่อเมือง แต่ว่า 3 ปี ที่ท่านมีอำนาจ วาระการปฏิรูป มันตรงกับที่เราเคยพูดกันไหม ผมเอาแค่ 3 ตัวอย่างที่ยกมาเมื่อสักครู่ 1. กระจายอำนาจ ผมจำไปกระทั่งว่าทุกคนพูดว่าอยากจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกันแล้ว แต่ว่าข้อเสนอที่ปฏิรูปแม่น้ำ 5 สายที่โผล่ออกมา มันจะไปยุบท้องถิ่นขนาดเล็ก
เติมศักดิ์- อันนี้ไม่ตรงกันแล้ว
อภิสิทธิ์- ผมไม่เห็นด้วย และผมก็บอกว่าประชาธิปัตย์ไม่มีทางเห็นด้วยกับแนวคิดแบบนี้ เพราะฉะนั้นถามว่า ถ้าเราจะต่อสู้กับระบบ ระบอบทักษิณ และเราเชื่อว่าจะปฏิรูป เราจะยึดตัววาระการปฏิรูป หรือว่าเรายึดตัวบุคคล ก็ต้องตั้งคำถาม แต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีเวลาอีกปีครึ่ง อาจจะสองปีก็เป็นไปได้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มาสนับสนุนตรงนี้ ผมอาจจะสบายใจขึ้นก็ได้ แต่ ณ วันนี้ผมต้องบอกว่าผมไม่สบายใจเพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้สนับสนุนการกระจายอำนาจ นี่ตัวอย่างที่หนึ่ง ตัวอย่างที่ 2 เราต้องการให้สื่อสารมวลชนมีความเข้มแข็ง เป็นอิสระจากทุนจากการเมืองและเราก็เชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือว่าสื่อต้องกำกับดูแลกันเอง แต่รัฐต้องยื่นดาบให้ เพราะที่ผ่านมาสื่อจะดูแลกันเองไม่เคยสำเร็จ ไม่มีดาบอาญาศักดิ์สิทธิ์ นึกออกไหม สมาคมจะไปลงโทษ ลาออกจากสมาคมก็ได้ หนีไปแล้วก็มี เครือ ไม่ต้องเอ่ยชื่อก็ได้ แต่ว่าข้อเสนอแม่น้ำ 5 สายขณะนี้บอกว่าจะเอาปลัดกระทรวงไปนั่งอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อ อันนี้เรารับไม่ได้ เพราะอันนี้เปิดการแทรกแซงทางการเมืองกับสื่อมวลชนง่ายขึ้น ลองนึกภาพสิครับ สมมติเอารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถ้าเอาปลัดกระทรวงดูแลสื่อได้ด้วย ไม่ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ผมก็บอกแนวทางเหล่านี้มันไม่ตรงกับประชาธิปัตย์ ตัวอย่างที่ 3 ตำรวจ ล่าสุดดีขึ้นหน่อย เพราะท่านายกฯ มาพูดเรื่องการกระจายอำนาจ แต่สิ่งที่ทำมาแล้วคืออะไร ระบบการโยกย้ายเป็นอย่างไร และที่สำคัญก็คือว่า งานที่เรามองว่าเป็นงานหัวใจ ที่จะปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ก็คือดูแลวิชาชีพของการสอบสวน พนักงานสอบสวน รัฐบาลผม ส่งเสริมให้มีการแยกแท่ง พนักงานสอบสวน มีความก้าวหน้า ในทางอาชีพมากขึ้น และกำลังพิจารณาต่อไปว่า ทำอย่างไร ให้มีความมั่นใจในอิสระมากขึ้นแค่ไหน แต่ คสช.มายุบตำแหน่งเหล่านี้เข้าไปเหมือนเดิม ผมก็มองว่านี่สวนทาง ไม่ใช่ไม่ทำอย่างเดียวนะ
อภิสิทธิ์- นี้สวนทางกับการปฏิรูปตำรวจ เพราะฉะนั้นผมก็บอกว่าวันนี้ผมต้องยืนยันว่านี้คือสิ่งที่เราสนับสนุนให้เกิดขึ้นในบ้านในเมือง วันนี้ประชาธิปัตย์ยังเชื่อในวาระแบบนี้ และเชื่อจะเอามาเป็นธงในการทำนโยบาย ทำไมผมถึงต้องไปประกาศสนับสนุนคนที่ผมไม่ทราบว่าจะเอากับแนวทางนี้หรือไหม
เติมศักดิ์- หมายความว่าถ้าในที่สุดประชาธิปัตย์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จูนกันได้เรื่องแนวทางปฏิรูปตรงกัน
อภิสิทธิ์- ตอนนี้มันก็เริ่มหลายถ้าไปเรื่อยๆ นะ ผมก็พูดแต่เพียงอย่างนี้นะครับว่า อย่างที่ผมพูดชัดเจนแล้วประชาธิปัตย์จะเดินหน้าเสนอวาระการปฏิรูปแก้ปัญหาคอร์รัปชันซึ่งความเหลื่อมล้ำเป็นธงนำ และเราบอกว่าเรานี้ละจะเป็นคนทำ ประชาชนถ้าเขาให้เราทำหรือถ้าประชนและพรรคการเมืองอื่นๆ บอกให้เราทำเราเดินหน้าทำแต่ถ้าประชาชนไม่ให้เราทำเพราะว่าคะแนนเสียงเราน้อย เราจับมือกับใครก็ไม่มีใครสามารถจะสนับสนุนให้เราเป็นรัฐบาลได้ ถึงวันนั้นถามต่อว่าวันนั้นประชาธิปัตย์จะไปสนันสนุนคนอื่นไหม ประชาธิปัตย์จะไปสนันสนุนคนอื่นก็ต่อเมื่อคนนั้นพร้อมจะรับวาระที่ประชาธิปัตย์ไปหาเสียงกับประชาชนไว้ มากน้อยต้องมาคุยกันอีก นี้คือมาตรฐานของพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน นี่คือมาตรฐานของพรรคการเมืองที่เป็นวิถีทางของประชาธิปไตยที่ต้องเคารพประชาชน
เติมศักดิ์- แปลว่านายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นคนในพรรค คนนอกพรรค ไม่สำคัญเท่ากับแนวทางปฏิรูปตรงกันไหม
อภิสิทธิ์- แปลว่ามันต้องเริ่มจากข้างในก่อนไง อันนี้คือหัวใจ คือผมจะบอกว่าผมต้องการให้การเมืองไทยเดินไปสู่เรื่องของทิศทางและสาระนะครับ การมาพูดถึงบุคคลๆ ไปเรื่อยๆ ผมว่าสังคมไทยผ่านแบบนี้มาเยอะแล้วนะครับ ยุคหนึ่งวันที่ทุกคนนิยม ไม่ใช่สิเสียงส่วนใหญ่นิยมคุณทักษิณและคุณทักษิณก็ทำหลายๆ เรื่องควรแก่การได้รับความนิยมถูกไหมครับ นโยบายบางเรื่องก็ต้องยอมรับว่าเป็นประโยชน์เรื่องหลักประกันสุขภาพล้วนหน้าแม้ว่าจะเป็นเริ่มต้นผมรู้สึกว่าเงินมันไม่พอ แต่โดยหลักการมันเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการ หรืออาจเป็นเรื่องกองทุนหมู่บ้านหรืออะไรก็ตาม ซึ่งยโยบายเหล่านี้ ผมไปเป็นรัฐบาลผมก็ปรับปรุงสานต่อ อย่างนี้เป็นต้น คือก็มีเหตุผลที่คนจะนิยม แต่เวลานิยมไปเป็นลักษณะบุคคล เกิดอะไรขึ้นละ ก็เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่คุณทักษิณทำมันไม่ดี ตอนนั้นทุกคนก็ไปบอกว่า ไม่ต้องไปสนใจ หากมันเกิดค่านิยมเช่นว่าทุจริตก็ไม่เป็นไร ฆ่าตัดตอนก็อาจจะไม่เป็นไร ใช่ไหมครับ ขอให้เราเชื่อว่าทำเรื่องนั้นดี เรื่องนี้ดี สุดท้ายบ้านเมืองก็วิกฤติ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมอยากให้สังคมหมุนกลับมาสนใจในเรื่องของทิศทางสาระให้มากขึ้น ผมถึงบอกว่าพรรคต้องเอาตัวนี้เป็นตัวนำ
เติมศักดิ์- 4 คำถามของนายกรัฐมนตรี คำตอบของประชาชนใน 4 คำถาม จะเป็นตัวสะท้อนหรือไหมครับว่าประชาชนไว้วางใจใครมากกว่า ระหว่างพรรคการเมืองนักการเมือง กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องกลับมาตัวบุคคลอีกครั้งหนึ่ง จะตัวสะท้อนหรือไหม
อภิสิทธิ์- คำถาม ถ้าไปถามเพื่อหมุนไปที่ตัวบุคคล ผมก็ตอบได้ อย่าว่าแต่ประเทศไทยเลย ขณะนี้แทบจะไม่มีประเทศไหนแทบจะไว้ใจนักการเมืองแต่ผมกำลังจะบอกว่าความไม่ไว้ใจนักการเมืองแบบเหมารวมอันตราย
เติมศักดิ์- ยังไงครับ
อภิสิทธิ์- ผมว่าปรากฏการณ์ที่เราเห็นในต่างประเทศ เวลาคนที่เล่นกับกระแสความไม่พอใจนักการเมืองแล้วเมารวมว่านักการเมืองพรรคการเมืองเลวร้ายหมด ชั่วหมด พาลไปถึงว่าบางทีประชาธิปไตยกลายเป็นแหล่งฟูมฟักของคนชั่ว สิ่งที่จะได้มาแทนก็คือจะมีผู้นำที่เล่นกับอารมณ์คนความกลัวความเกลียดของประชาชน แต่สุดท้ายประสบการณ์ทั่วโลก ก้บอกว่าท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้นำสิ่งที่ดีกว่า เข้ามาอันตราย เพราะฉะนั้นอย่าไปพูดแบบนั้นเลยและผมก็เห็นว่าท่านนายกรัฐมนตรีพยายามย้ำหลายครั้งว่าที่ถามไม่ได้จะให้มันอะไรนะ โรดแมป เลือกตั้ง มันรวนเรนะ เพียงแต่ว่าผมเสียดายวิธีที่มันถาม มันทำให้คนไปวิจารณ์ว่าไปชี้นำหรือไหม แถมตอนนี้วิธีได้คำตอบมันไม่ใช่วิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์
เติมศักดิ์- มีทั้งปลายเปิด ปลายปิดนะ อัตนัย ปรนัย
อภิสิทธิ์- ที่สำคัญก็คือว่าคนที่จะแสดงความคิดเห็นต้องเดินไปมี ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชนแล้วถ้าเขามีความรู้สึกว่าคำตอบเขามันไม่ถูกใจ คนที่มีอำนาจคิดว่าเขาจะไปไหม มันไม่ใช่ อย่าว่าแต่แบบนี้เลย คุณเติมศักดิ์เวลาเขามีโปรในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในต่างประเทศจะต้องมีตัวเล็กๆ ข้างล่าง ว่าใช่ใช่การสำรวจความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์เพราะรูปอบบมันไม่ได้สะท้อนภาพรวมมันจะมีแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่อยากจะตอบพร้อมจะเดินไปตอบ แต่มีคนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่อยากตอบ หรือรู้ว่าคำตอบถ้าตอบ ไม่ตอบดีกว่า เพราะฉะนั้นต้องเปิดเผยตัวตนด้วย กับผู้มีอำนาจด้วย ราชการด้วย ที่ผมบอกผมเสียดายความจริง 4 คำถาม ถ้ารวบให้ดีเป็นคำถามที่น่าถาม คำถามนั้นคือ ประชาชนคิดว่า คสช.และประชาชนจะต้องร่วมกันกันทำอะไรบ้าง ที่จะให้รัฐบาลของการเลือกตั้งมีธรรมาภิบาล ถามอย่างคุณเติมศักดิ์ว่าสร้างสรรค์ไหม
เติมศักดิ์- คสช.และประชาชนจะต้องร่วมกันทำอะไรบ้าง ที่จะทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งมีธรรมาภิบาล
อภิสิทธิ์- ถ้าถามแบบนี้ จะได้ไม่ต้องมีใครมากล่าวหาว่าไอ้ที่ถามนะ เพื่อที่จะสืบทอดอำนาจ ถามเพื่อที่จะเอานักการเมืองมาชนกับทหาร กำลังถามว่าภารกิจของสังคมเราเห็นตรงกันใช่ไหมว่าเราอยากได้ธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้งเรายอมรับกันใช่ไหมแม้จะมีรัฐธรรมนูญที่เขาโฆษณาว่าปราบโกง แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครมั่นใจว่าเราจะได้ธรรมาภิบาลเพราะฉะนั้นคำถาที่ควรถามในฐานะผู้มีอำนาจคือประชาชนกับผู้มีอำนาจเราต้องต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้เรามั่นใจที่สุด ว่ามีธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้ง ทำไมไม่ถามอย่างนี้
เติมศักดิ์- ประชาชนในที่นี้รวมถึง นักการเมือง พรรคการเมือง ด้วยใช่ไหมครับ
อภิสิทธิ์- ทุกคนเป็นประชาชน ทั้งนั้น แต่ว่าอย่างที่ผมเคยบอกทำไมจะต้องมาดู คุณเติมศักดิ์ถ้าคุณเป็นนักการเมืองแล้วตอบคำถามมีเหตุมีผล ควรฟังไหม
เติมศักดิ์- ก็ควรฟัง
อภิสิทธิ์- คุณเติมศักดิ์ ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่อตอบมาไม่มีเหตุมีผลเลย เอาอารมณ์อย่างเดียวควรฟังไหม ก็ไม่ควรฟัง มันไม่ได้เกี่ยวว่าใครเป็นคนตอบ มันเกี่ยวว่าคำตอบนั้นมันมีเหตุมีผลไหม มันเอาไปใช้ประโยชน์ได้ไหม ทำไมเราไม่ฝึกสักคมให้เป็นอย่างนี้ ถ้าเราทำให้สังคมเป็นอย่างนี้ การเมืองเราจะดีขึ้น แต่ถ้าเราจะคิดว่าเราจะเล่นกับกระแส เล่นกับอารมณ์ เป็นเรื่องของประโยชน์ เป็นเรื่องของการต่อรอง เป็นเรื่องของความขัดแย้งไปเรื่อย ๆ แล้วการเมืองมันจะดีขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อ คสช.เองได้บอกว่าอยากจะมาทำการเมืองให้มันดี มีการปรองดองปฏิรูป ซึ่งเราได้วิจารณ์กันไปแล้ว และก็อยากจะปรองดองในความหมาย ซึ่งก็ไม่ทราบชัดเจน เพราะกำลังรอสัญญาประชาคมอะไรของเขาอยู่นะ คือทำไมไม่มาช่วยกันคิด เช่น คำถามที่ผมถามเมื่อสักครู่นะ สมมุติว่าเรามาช่วยกันตอบว่าเออ มันจะดีได้ทำอย่างไรไม่ให้พรรคการเมืองมันซื้อเสียง คิดว่า คสช. ทำอะไรได้บ้าง ที่จะไม่ให้คนมันซื้อเสียงได้ เราจะไม่ได้ธรรมาภิบาลเลยถ้าเราหากเราทุนใหญ่ครอบงำ คสช. ประชาชน จะทำอะไรกันบ้าง ไม่ให้ทุนใหญ่มาครอบงำขบวนการทางการเมือง เราจะไม่ได้ธรรมาภิบาลเลยถ้าหากการเมืองแทรกแซงตำรวจได้ เออ เราจะมาทำไรกันบ้างที่ต่อไปการเมืองแทรกแซงตำรวจไม่ได้ คุณเติมศักดิ์ว่าเป็นคำถามที่ดีไหม ผมว่ามันก็คล้ายๆ กับ 4 คำถามนะ แต่มันถามแบบเพื่อเอาคำตอบไปสร้างสรรค์และเดินหน้าประเทศ อย่างคำถามที่ 3 หากว่าผมจะตำหนิ ผมจะตำหนิคำถามที่ 3
เติมศักดิ์- ทำไมต้องตำหนิครับ
อภิสิทธิ์- คุณอ่านคำถามที่ 3 มา
เติมศักดิ์- การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศและเรื่องอื่น ๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
อภิสิทธิ์- มันจะไปตอบอย่างอื่นได้ไหมล่ะ มันต้องไม่ถูกต้องอยู่แล้ว ไอ้คำถามแบบนี้มันก็ถามได้ทั้งนั้นละ การคำนึงถึงความมั่นคงอย่างเดียวไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน ถูกต้องหรือไม่ มันก็มีคำตอบในคำถามอยู่แล้ว คือมันชี้นำแล้วผมก็ยังไม่เคยได้ยินใครที่บอกว่าขอให้เลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงถึงอนาคตการปฏิรูปประเทศแล้วถามทำไม ใช่ไหมครับ สู้อย่างที่ผมบอก หมุนคำถามกลับมาดีกว่า คสช.ควรทำอะไรบ้างที่จะทำให้การเลือกตั้งมันได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ถามอย่างนี้ดีกว่า
เติมศักดิ์- เงื่อนไขอะไรบ้างที่จะนำไปสู่รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล
อภิสิทธิ์- ใช่อันนี้จะเป็นประโยชน์กับการทำงานของ คสช.เอง ถ้าเขาบอกว่ายังต้องเดินหน้าปฏิรูปสื่อ ยังต้องเดินหน้าปฏิรูปตำรวจ ต้องกระจายอำนาจมากขึ้น จะได้ทำไหมครับ ถามว่าวันนี้ได้คำตอบข้อที่ 3 ไม่ถูกต้องแล้วแปลว่าอะไรมีประโยชน์อะไร
เติมศักดิ์- อาจนำไปสู่การ ถ้างั้นต้องปฏิรูปก่อน ยังไม่ต้องเลือกตั้งตอนนี้
อภิสิทธิ์- มันอยู่ในคำถามไหม มันมีอยู่ คือวันนี้ผมก็ต้องไปเสนอ ป.ย.ป. คสช.เอง ก็ต้องยอมรับว่าในที่สุด บ้านเมืองต้องกลับสู่ประชาธิปไตย คสช.เองก็ต้องยอมรับว่ามันก็ต้องมีการเลือกตั้ง อย่าทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในประชาธิปไตย ตรงกันข้ามหน้าที่ของคุณคือให้ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งมันเป็นที่มั่นใจของประชาชนเพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นงานใหญ่เป็นงานยาก ผมเห็นใจ ผมเอาใจช่วย ให้ทำให้สำเร็จและผมยืนยันเลยนะถ้าสมมุติได้คำตอบแบบนี้ เช่นบอกว่ามันจำเป็นจะต้องปฏิรูปตำรวจปฏิรูปสื่อแล้วมันเดินไปแล้ว บังเอิญเวลามันไม่พอผมว่าถึงวันนั้นสังคมอาจบอกว่าไม่เป็นไรคุณทำอันนี้ให้เสร็จก่อนนะ แต่ถ้าคุณพูดลอย ๆ แค่เพียงว่าบ้านเมืองยังไม่ดี ยังมีระเบิดอยู่ แปลว่าเลือกตั้งไม่ได้ แล้วเราจะรู้ได้ไงครับ ว่ามันจะเลือกตั้งได้เมื่อไหร่แล้วระเบิดมันจะหมดไปไหม คือวันนี้อังกฤษเลือกตั้ง มีเหตุก่อการร้าย ตั้งกี่เหตุละ ระหว่างการหาเสียง
เติมศักดิ์- อย่างน้อย 2 ละ ใหญ่ๆ
อภิสิทธิ์- ผมไม่เห็นเขาบอกว่าอย่างนี้มันเลือกตั้งไม่ได้ แต่ว่าขณะนี้พรรคการเมืองถูกกดดันกันหมด คุณจะแก้ปัญหา ก่อการร้ายอย่างไรว่ามาตำรวจต้องเพิ่มต้องลดกำหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต้องแก้ไหม เราต้องเอาขบวนการทางการเมืองเหล่านี้มาแก้ปัญหานะครับ ไม่ใช่มาบอกว่ามีปัญหาขบวนการทางการเมืองไม่ต้องมีละมันไม่ใช่
เติมศักดิ์- ครับ 3 ปีที่ผ่านมา ที่ทหารเข้ามาคุมอำนาจ นักการเมือง พรรคการเมือง ควรจะสรุปบทเรียนอย่างไร เพราะหลายครั้งที่นักการเมืองถูกชี้นิ้วว่าเป็นตัวปัญหาของประเทศ
อภิสิทธิ์ -ผมพูดเสมอนะครับว่าเวลาพูดถึงการรัฐประหาร อย่าไปโทษทหารฝ่ายเดียว นักการเมืองก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าเงื่อนไขที่นำไปสู่การรัฐประหารคืออะไรผมว่าที่ชัดเจนที่สุด เงื่อนไขจุดเริ่มต้นการรัฐประหารครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าไม่มีเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม การรัฐประหารเกิดขึ้นไม่ได้ ผมยังนึกไม่ออกเลยว่ามันจะเกิดการรัฐประหาร ถ้าหากว่าไม่มีการเอาเรื่องนิรโทษกรรมขึ้นมา คนพอใจไม่พอใจรัฐบาล รัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกเรื่องหนึ่ง มีทั้งคนพอใจคนไม่พอใจ แต่บังเอิญเนี่ยการทำเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดคนโกง มันจุดกระแสในสังคมขึ้นมา จนในที่สุดเหตุการณ์ก็ลุกลามบานปลาย นักการเมืองต้องเรียนรู้ตรงนี้นะครับ วันนี้เนี่ยถึงบอกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญเนี่ยตัวอย่าง ถามว่าเราเห็นว่ามันมีจุดอ่อนไหม ผมคนหนึ่งที่วิจารณ์รัฐธรรมนูญนะครับ และก็ส่วนหนึ่งเนี่ยรัฐธรรมนูญก็มาจำกัดอำนาจหรือมาตีกรอบบางอย่างมากจนเกินไป ไม่น่าสอดคล้องกับทิศทางของโลกปัจจุบัน เช่น ยุทธศาสตร์ 20 ปี อะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ผมยอมรับนะ ว่าที่มาของตรงนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคนมองว่านักการเมืองไว้ใจไม่ได้ เพราะฉะนั้นสำหรับผมเนี่ย เมื่อกลับไปเลือกตั้ง ไม่ใช่มาถึงนักเมืองตั้งป้อม โอ้ยต้องเอาอำนาจมาให้ผม นักการเมืองต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสมควรจะได้อำนาจนั้นก่อนถึงค่อยมาเสนอว่าควรจะให้อำนาจนักการเมืองหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไหม นักการเมืองก็ควรมีการสรุปบทเรียนแบบนี้
เติมศักดิ์ -คุณอภิสิทธิ์ที่ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญ ถ้าได้อำนาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไหมครับ
อภิสิทธิ์ -ผมมองว่าบทบัญญัติหลายบัญญัติควรแก้ แต่ผม อย่างที่บอกก็คือว่าการแก้ไขอะไรที่ในลักษณะเพิ่มอำนาจให้กับนักการเมือง ผมว่ายังไม่ควรทำ ผมว่ารัฐบาลควรพิสูจน์ตัวเองก่อน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นนักการเมืองเนี่ย พิสูจน์ตัวเองก่อนว่าสมควรที่จะได้อำนาจนั้นคืนถึงจะเอาไป ผมว่าจะดีที่สุด แต่ว่าบทบัญญัติไหนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ควรจะที่ควรจะได้เนี่ย อย่างนี้ผมว่าแก้ไขได้ นะครับ เพราะว่าบทบัญญัติหลายเรื่องเนี่ย ย่อหย่อนไปในเรื่องเสรีภาพของประชาชนนะครับ เช่น เรื่อง ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมนะครับ โครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีการลด ใช้คำว่าอะไรความเข้มกระบวนการขั้นตอนในการที่จะให้อนุมัติโครงการเหล่านี้เนี่ย ผมว่าสมควรแก้นะครับ หรือถ้าอย่างน้อยไม่แก้เนี่ย ก็ควรที่จะยึดถือแนวทางซึ่งเราเคยพัฒนากันมานะครับ ยกตัวอย่างเช่นเนี่ย กลับมาเรื่องพลังงานอีกใช่ไหมเนี่ย โรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเนี่ยนะครับ ผมว่ามันต้องมีการกระบวนการที่มันชัดเจนกว่านี้ ในเรื่องการรับฟังการมีส่วนร่วมของประชาชนและทางเลือก คือทุกวันนี้เนี่ย ผมเห็นยังมีความพยายามที่จะพูดบอกว่า ถ้าไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้า คนใต้ก็จะไม่มีไฟใช้
เติมศักดิ์ - ใช้ครับ มีการพูดอย่างนั้น
อภิสิทธิ์ - ที่จริงเนี่ย ถามว่าคนต่อต้านว่าไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าไหมไม่ใช่ เขาเพียงแต่ตั้งคำถามว่าเชื้อเพลิงไหนดีที่สุด แล้วขณะในที่รัฐบาลพูดว่า คนใต้จะไม่มีไฟใช้ คุณเติมศักดิ์ทราบไหม ว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเนี่ย ไม่อนุมัติให้มีการทำโรงไฟฟ้าที่ใช้ไบโอแก๊สในภาคใต้เนี่ย โครงการที่เขาเสนอมา รวมกันแล้วประมาณ 200 กว่าเมกะวัตต์ 20 กว่าโครงการ ทำไมอ่ะ ถ้าคุณคิดว่ามันขัดกัน แนวแล้วคุณจะอ้างอย่างเดียวระบบสายส่ง ถ้าอย่างงั้นถามทำไมคุณไม่ลงทุนระบบสายส่ง ทำไมคุณบอกว่าระบบสายส่งลงทุนไม่ได้ ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน นี่คือตัวอย่างว่า การเปิดพื้นที่เหล่านี้นะครับ และก็ตอนนี้ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับนโยบายหลักประกันสุขภาพ ก็ดูจะเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันอีกนะครับ ตรงเนี่ย
เติมศักดิ์ - เอาบัตรทอง ไม่เอาบัตรทอง
อภิสิทธิ์ - ผมว่าที่ผ่านมาเนี่ยกระบวนการของการส่งเสริมมีส่วนร่วมของประชาชนเนี่ย ที่ผมทำมาแล้วเนี่ยอย่างเช่น ปัญหามาบตาพุดก็พยายามทำเป็นตัวอย่างว่า ควรจะแก้แบบนี้นะครับ การมีกลไกอย่างเช่น สมัชชาสุขภาพนะครับ หรือแม้แต่ สสส. แม้ว่าองค์กรเหล่านี้อาจจะมีจุดบกพร่องบ้างในการทำงานเนี่ย เราต้องยอมรับว่า นี่คือการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน มามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 เนี่ย เทียบกับปี 50 เนี่ย ผมว่าถอยไปเยอะ ตรงนี้ต้องๆ รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ผมว่าเรื่องอย่างนี้สำคัญกว่า แต่ถ้าผมจะเริ่มต้นพรรคการเมือง เริ่มต้นบอกว่าอยากจะได้อำนาจพรรคการเมืองมากขึ้นเนี่ย ผมว่าไปไม่ได้ขัดแย้งเหมือนเดิมอีก
เติมศักดิ์ - ครับ บางคนที่ชอบอำนาจตอนนี้เป็นเพราะว่ามีมาตรา 44 สามารถแก้ปัญหาได้เร็ว แต่มาตรา 44 ตามไปถึงรัฐบาลจากการเลือกตั้งด้วย ตรงนี้เป็นข้อจำกัดไหม
อภิสิทธิ์ - ถูกต้องครับ คือผมเข้าใจนะครับเวลาเราคือการใช้มาตรา 44 แบบเนี่ย มันดูเด็ดขาดเป็นรูปธรรมนะครับ แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ เราต้องเรียนรู้นะว่ามันแก้ปัญหาได้จริงไหม ยั่งยืนไหมนะครับ คนเนี่ยมีมาตรา 44 ออกมาบอกว่าแขวนตำแหน่งนั้น ปลดตำแหน่งเพราะว่ามีการสืบสวนเรื่องทุจริตอยู่ เรามีความรู้สึกว่าเด็ดขาด แต่ถามจริงๆ เถอะว่า กี่กรณีแล้วพอทำอย่างนั้น สอบไปแล้วเขาก็ไม่ผิดนะครับ หรือระดับการทุจริตลดลงหมดไปจริงรึเปล่า ก็ยังมีคำถามอยู่เยอะนะครับ การสำรวจในอะไรต่างๆ นะครับ นี่ตัวอย่างนะครับหรือว่าโครงการขนาดใหญ่เนี่ย เดินได้ช้าก็บอกว่าอ่ะเอามาตรา 44 มายกเว้นพังเมืองมั่ง และก็กรณี EEC เนี่ย รู้สึกกระบวนดการสิ่งแวดล้อมก็พิเศษขึ้นมา ผมถามว่าทำไมไม่ใช่อำนาจเนี่ยแก้กระบวนการที่คิดว่ามันเป็นปัญหา อ่ะยกตัวอย่างเช่น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เนี่ย หลักการต้องทำไหม ต้องทำ ถามว่าปัญหาในอดีตมีไหม มีแน่ คุณไปคุยกับภาคธุรกิจเนี่ย เขาจะหงุดหงิดม ากว่า ระยะเวลาที่เสียไป หลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ส่งไปแล้วให้แก้ แก้แล้วบอกว่ามีเรื่องใหม่ อะไรต่างๆ ทำไมคุณไม่ไปแก้กระบวนการนี้ให้มันเดินหน้าได้มากกว่า อ่ะถ้าผมอยากได้โครงการนี้ แล้วผมหาทางลัดขั้นตอนล่ะกัน แต่คนอื่นก็ยังเหมือนเดิมไป ใช่ไหมครับ ผมถึงบอกว่า จริงครับเวลาเห็นการใช้อำนาจพิเศษเนี่ยเราจะรู้สึกว่ามันเป็นรูปธรรม เด็ดขาด รวดเร็ว แต่ปัญหาพื้นฐาสนหลายครั้งมันก็ไม่ได้แก้ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นต้องระวัง อย่าไปเสพติด ตัวอย่างที่ผมเห็นเนี่ยก็คือสภาวะฉุกเฉิน ภาคใต้ของเราเนี่ย 3 จังหวัดภาคใต้เนี่ย อยู่ในภาวะฉุกเฉินมา 12 ปี มันมีไหมครับภาวะฉุกเฉิน 12 ปี ขัดกันในตัวไหม คำว่า ภาวะฉุกเฉิน 12 ปี รัฐบาลผมก็เป็นรัฐบาลเดียวที่จะบอกว่า ต้องค่อยๆ ดูนะ ตกลงมันใช่คำตอบไหม มีช่วงรัฐบาลผมอ่ะที่ยกเลิกภาวะฉุกเฉินในบางอำเภอ เพื่อนำร่องไป แต่คิดๆ สานต่อนะครับ และก็สุดท้าย บอกว่า หน่วยงานก็เริ่มคุ้นเคยกับอำนาจในภาวะฉุกเฉิน ก็เลยทำให้มีความคิดว่า ถ้าไม่มีอำนาจตัวนี้เนี่ยปัญหาจะแก้ไม่ได้ แต่ความจริงว่าปัญหาแก้ได้ไหม ถามว่าภาวะฉุกเฉินกลายเป็นภาวะหนึ่งของปัญหาไหม ถูกไหม นี่แหละคือสิ่งที่ต้องดูกันต่อไป
เติมศักดิ์ - เพราะฉะนั้นความขัดแย้งเดิมๆ เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี มันกลับมาหลังการเลือกตั้ง แล้วอาจจะมีรัฐประหารอีก มีการยึดอำนาจอีก เป็นไปได้ไหมครับคุณอภิสิทธิ์ เพราะนี่คือไปสู่คำถามข้อที่ 4 ใครจะทำ ใครจะแก้
อภิสิทธิ์ - อันนี้แหละใครจะแก้ว่าตกลงทุกคนมีบทเรียนรึยังล่ะ ถ้ามันเกิดอย่างนั้นก็แสดงว่าข้อ 1 นักการเมืองยังไม่เรียนรู้บทเรียนแบบในอดีต ว่าเวลาแม้คุณจะได้อำนาจมาจาการเลือกตั้งก็ตาม คุณฯก็ต้องใช้อำนาจนั้นอยู่ในขอบเขต ถ้าคุณใช้อำนาจเกินเลยขอบเขต สุดท้ายแล้วกลไกการตรวจสอบสมดุล ทำงานไม่ได้ สุดท้ายประชาชนแสดงออกในรูปแบบเช่น การประท้วง อะไรต่างๆ อย่างนี้เป็นต้น และก็จะเกิดปัญหาความวุ่นวายเสร็จแล้วฝ่ายความมั่นคงก็จะเข้ามา ก็แสดงว่านักการเมืองไม่เรียนรู้บทเรียน ทำนองเดียวกัน ถ้ามันเป็นอย่างที่คุณเติมศักดิ์ว่า ก็แสดงว่าถ้ามีการรัฐประหารอีก เขาก็ไม่เรียนรู้เหมือนกันว่าเอ๊ะรัฐประหารกี่ครั้งเนี่ย ก็ยังไม่สามารถวางรากฐานตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้เนี่ยนะครับ แทนที่จะมาชี้นิ้วว่าอย่างที่ผมบอกอ่ะว่านักการเมืองบางคนไปชี้คสช.เผด็จการอย่างเดียว คสช.ก็จะด่านักการเมืองอย่างเดียว มีประโยชน์อะไร ทุกคนมีส่วนผิด มีส่วนถูกทั้งนั้น วันนี้ทำไมไม่เอาส่วนถูกของแต่ละฝ่ายเนี่ย มาช่วยกันทำให้บ้านเมืองดีขึ้นในอนาคต
เติมศักดิ์ - สุดท้ายอยากสื่อสารอะไรกับคนเลือกประชาธิปัตย์ ตั้งใจจะเลือกประชาธิปัตย์ แต่อยากได้เงื่อนไขว่า อยากได้ลุงตู่เป็นนายกฯ ต่อ เชิญครับ
อภิสิทธิ์ - ผมๆ ไม่ใช่เวลานะครับที่จะมาบอกว่าจะเลือกหรือไม่เลือกลุงตู่ ผมบอกว่า วันนี้เนี่ยคุณต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรนะครับ ถ้าคุณต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าปฏิรูปประเทศ แก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่เนี่ยนะครับ คุณมาร่วมกับเรา เราจะทำนะครับ แต่ถ้าเราไม่อยู่ในฐานะที่เราทำได้แล้วมีคนอื่นมาทำได้ดีกว่า ผมก็ยืนยันว่าประชาธิปัตนชย์ไม่เป็นอุปสรรคหรอก
เติมศักดิ์ - ประชาธิปัตย์และอภิสิทธิ์ไม่เป็นอุปสรรค
อภิสิทธิ์ - ไม่เป็นอุปสรรค
เติมศักดิ์ - วันนี้ขอบคุณนะครับ คุณอภิสิทธิ์ครับ คนเคาะข่าวลาไปก่อนครับ