xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บทสรุป “คิง เพาเวอร์ VS เจิมศักดิ์” กับคำพิพากษา “ขายของเถื่อน-หนีภาษี” “ป.ป.ช.-กรมศุลกากร-ทอท.” ว่าไง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับเป็นคดีความที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานและเป็นที่จับตามองของสังคมอย่างใกล้ชิด กระทั่งในที่สุดก็จบลงด้วยคำพิพากษาของ “ศาลฎีกา” นั่นคือคดีระหว่าง “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” อดีต สว.คนดังกับ “บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด” ของเจ้าสัวจิ้งจอก “วิชัย ศรีวัฒนประภา”

และหากยังจำกันได้คดีนี้เองได้ถูกนำมาขยายต่อโดย “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ในฐานะรองประธานอนุกรรมการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามทุจริต ในสังกัดคณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามทุจริต สภาขับเคลื่อนการเพื่อการปฏิรูปประเทศ(สปท.)

คดีระหว่างนายเจิมศักดิ์กับคิง เพาเวอร์เกิดขึ้นในราวเดือนกุมภาพันธ์ปี 2533 หลังจากที่นายเจิมศักดิ์ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินรายการ “ลงเอย อย่างไร” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ได้หยิบยกข้อมูลมานำเสนอในรายการดังกล่าว โดยตั้งชื่อตอนว่า “ของเถื่อน ภาษีเถื่อน” และพุ่งเป้าปีที่บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ของนายวิชัยซึ่งขณะนั้นยังคงใช้นามสกุล “รักศรีอักษร” ว่า เป็นบริษัทขายสินค้าเถื่อนและสินค้าหนีภาษี

และทันทีที่ออกอากาศได้ไม่นานนัก บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ของนายวิชัยก็ยื่นฟ้องนายเจิมศักดิ์ทันที เป็น คดีหมายดำที่ อ.1822/2554 ในข้อหาดูหมิ่นด้วยการโฆษณา และหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332 ซึ่งคดีได้ต่อสู้กันมาเป็นลำดับตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และมีข้อยุติถึงที่สุดจากคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา

คดีนี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากชั้นพิจารณามีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอยืนยันถึงการทดลองสั่งซื้อสุรา ไวน์ และแชมเปญจำนวนหลายลังจากบุคคลหนึ่งโดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทางและตั๋วเครื่องบิน ซึ่งสินค้าทั้งหมดถูกใส่อยู่บรรจุภัณฑ์ที่มีชื่อบริษัทของโจทก์ติดอยู่ที่ถุงและมีผู้นำมาส่งให้ถึงที่บ้าน จึงเชื่อว่าสามารถสั่งซื้อสินค้าปลอดศุลกากรจากบริษัทโจทก์ได้จริง เป็นการพิสูจน์ได้ว่าคำพูดที่จำเลยกล่าวในรายการเป็นเรื่องจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 การกระทำของจำเลยจึงไม่ความผิดฐานหมิ่นประมาท

ต่อมาบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่ง ศาลอุทธรณ์ มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2558 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ

และสุดท้าย ศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยในการจัดรายการ เป็นการตั้งคำถามตั้งข้อสงสัยกับ รมว.คลังในรายการ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะสื่อมวลชนโดยสุจริตที่วิญญูชนคนทั่วไปก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ และขณะที่การตั้งข้อสงสัยนั้นจำเลยก็ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ บ.การท่าอากาศยานฯ ถือว่าได้ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้แก่สังคมเพื่อช่วยตรวจสอบการทุจริตเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนให้ยกฟ้อง

ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าถึงที่มาของคดีนี้ว่า คดีนี้เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ตรงกับสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการปรับขึ้นภาษีเหล้า บุหรี่ ขณะนั้นมีนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
“เป็นช่วงจังหวะที่ผมกำลังทำรายการ “ลงเอย อย่างไร” ตอน ของเถื่อน ภาษีเถื่อน จึงไปสัมภาษณ์ นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่กำกับดูแลกรมสรรพสามิต ระหว่างการซักถาม ช่องทางการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี บังเอิญผมเคยเป็นกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ทราบว่าในอดีต ทอท. เคยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการนำสินค้าปลอดอากรออกมาขายภายในประเทศ ประกอบกับคำบอกเล่าของนายชรินทร์ นุกรณ์นวรัตน์ ประธานบริหาร บริษัท โกลเบิล ยูเนี่ยน เอกซ์เพรส จำกัด ซึ่งเป็นเพื่อนของผม บอกว่าเคยโทรศัพท์สั่งซื้อเหล้า บุหรี่ ไวน์ จากร้านค้าปลอดอากร โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต พร้อมกับจัดส่งให้ถึงบ้าน”

“ระหว่างสัมภาษณ์ ผมถาม นพ.พฤฒิชัยว่า จริงๆ แล้วมีเรื่องหนึ่งที่ผมเองก็แปลกใจ มีเพื่อนผมเขาบอกว่าสามารถสั่งเหล้าและไวน์ที่ไม่ต้องเสียภาษีจากร้านค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรีได้โดยไม่ต้องไปซื้อที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ต้องใช้พาสปอร์ตเพื่อแสดงว่าเดินทางไปต่างประเทศ แต่สามารถโทรศัพท์ไปสั่งแล้วสามารถส่งไวน์เป็นลังมาถึงบ้านได้ ถ้าระบบทำแบบนี้ผมเป็นห่วง เราจะมีเหล้าบุหรี่ไม่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐขายในบ้านเมืองของเรา ผมก็เป็นห่วงเหมือนกัน หลังจากสกู๊ปชิ้นนี้ออกอากาศไป ผมก็ถูกบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ฟ้องหมิ่นประมาท เพราะไปพาดพิงถึงคิงเพาเวอร์”

นายเจิมศักดิ์เล่าต่อว่า “หลังจากนายชรินทร์ทราบข่าวว่าผมถูกฟ้อง จึงทำการทดลองสั่งซื้อเหล้าบุหรี่จากร้านค้าปลอดอากรอีก ครั้งนี้ถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐาน ถึงแม้นายชรินทร์ไม่สามารถระบุว่าสั่งซื้อจากใคร ซื้อจากบริษัทโดยตรงใช่หรือไม่ แต่สินค้าที่อยู่ในคลิปวิดีโอเป็นสินค้าปลอดอากรจริง บรรจุอยู่ในกล่องและถุงที่มีตราของบริษัทที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผม ซึ่งผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ขายสินค้าปลอดอากรตอนนั้นมีอยู่เจ้าเดียว คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ผมจึงขอให้นายชรินทร์ไปให้การต่อศาล นายชรินทร์ไม่ได้บอกว่าสั่งจากคิงเพาเวอร์ แต่โทรศัพท์สั่งซื้อไปแล้ว ก็ได้รับสินค้าจากร้านค้าปลอดอากร”

นอกจากนี้ยังขอร้องให้ ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตบอร์ด ทอท. รุ่นเดียวกับตนไปให้การต่อศาล ในฐานะที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีข้อกล่าวหามีการขนสินค้าปลอดอากรออกในช่องทางที่ไม่ปกติ (ท่าอากาศยานเชียงใหม่) รวมทั้งอดีตอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งเคยเป็นบอร์ด ทอท. รุ่นเดียวกับตนเองเช่นกัน นำแฟ้มคดีเปรียบเทียบปรับบริษัท กรณีไม่ได้ใช้พาสปอร์ตซื้อสินค้าปลอดอากรมาแสดงต่อศาล

“เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาจากพยานหลักฐานแล้ว จึงพิพากษายกคำฟ้องของโจทก์ แต่ถ้าพิจารณาคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คำถามของผมดูเหมือนว่าจะหมิ่นประมาท แต่ได้รับยกเว้น เพราะเป็นการนำเสนอเรื่องจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ทนายความของผมบอกให้ยื่นอุทธรณ์ ผมก็บอกว่าชนะคดีแล้วจะอุทธรณ์ทำไม ทนายความผมอธิบายจนเข้าใจว่าผมยังหมิ่นประมาท แต่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรับโทษ”

นายเจิมศักดิ์กล่าวต่อว่า “ทางบริษัทคิงเพาเวอร์ก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล กล่าวว่าผมผิดหมิ่นประมาท ส่วนผมก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเช่นกัน ระบุว่า คำถามของผมไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าผมไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท เพราะคำถามที่ผมถามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นข้อสงสัยเพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข โดยสรุปแล้วศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาคนละประเด็น จากนั้น บริษัท คิง เพาเวอร์ได้ให้ทนายความยื่นฎีกาต่อศาล และในที่สุดศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น ให้ยกคำฟ้องโจทก์

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับคิง เพาเวอร์กับนายเจิมศักดิ์นั้น ก็ต้องบอกว่า คดีความได้ดำเนินจบสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่จะต้องตรวจสอบกันต่อไปก็คือจะมี “หน่วยงานตรวจสอบ” ใด หยิบยกเอาคำพิพากษาของศาลฎีกาไปขยายผลในทางกฎหมายต่อไปหรือไม่

โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง “การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.)” และ “กรมศุลกากร”

หรือจะทำนิ่งเฉยเลยผ่านเหมือนเช่นทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เนื่องเพราะหวาดหวั่นต่อ “ซูเปอร์คอนเนกชั่น” ของเจ้าสัววิชัย รักศรีอักษร



กำลังโหลดความคิดเห็น