ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ร้อนเปรี้ยงปร้างไปทั้งรันเวย์เลยทีเดียว เมื่อมีกระแสข่าว “ฟ้าผ่า” เปรี้ยงลงมาที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เกี่ยวกับการจัดการปัญหาและข้อร้องเรียนที่มีต่อธุรกิจ “ร้านค้าปลอดภาษีอากรหรือดิวตี้ฟรี” ถึงขั้นปลด “นายนิตินัย ศิริสมรรถการ” ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และการยกเลิกสัญญากับกลุ่มบริษัท “คิง เพาเวอร์ฯ”
ทั้งนี้ อันเป็นผลมาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป (สปท.) ได้เข้ามาตรวจสอบ และชี้ว่าทำให้ประเทศชาติเสียหาย
ทว่า ในที่สุดการรอคอยก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดเมื่อ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่า กระแสข่าวไม่เป็นความจริง
กระนั้นก็ดี ปมประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่นายวิษณุยอมรับว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญด้านการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สปท. ได้ทำรายงานส่งถึงรัฐบาล 5 ประเด็นจริง และ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งให้นำเรื่องนี้ไปพิจารณาดำเนินการ และนายวิษณุได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกรรมาธิการของ สปท. อธิบดีกรมธนารักษ์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร ผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม รวมถึงตัว ผอ.ทอท. ที่มีข่าวจะถูกปลดมาพุดคุยกัน
“จะสรุปเมื่อไรยังตอบไม่ได้ เพราะอาจไม่ได้เป็นคนสรุป แต่เบื้องต้นผมได้สรุปส่งนายกฯ ไปแล้วว่าที่คุยกันวันนั้นได้ความอย่างไร เป็นการคุยกันต่อหน้าคนสักร้อยคน บรรยากาศสร้างสรรค์ใช้เวลา 4 ชั่วโมง โดยข้อเสนอบางข้อฟังขึ้น และครั้งนั้นนายกฯ เป็นคนมอบหมายให้ผมเชิญทุกคนมาคุยกัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันการคุยในวันนั้น ไม่ได้มีการเปิดเผย ส่วนข้อเสนอต้องไปถามกรรมาธิการว่าเสนออะไรมา ผมไม่อยากเสียมารยาทที่จะเปิดเผยสิ่งเหล่านั้น และในระยะเวลาอันใกล้คงไม่มีเรียกประชุมเรื่องนี้ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปดำเนินการต่อ แต่เขาอาจจะมาขอพบหรือไม่ไม่ทราบ ถ้าจะมาพบก็จะให้พบ”นายวิษณุชี้แจง พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณี พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สปท. เสนอให้ปลด ผอ.ทอท. โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่า “ไม่ขอเอาเรื่องในที่ประชุมมาเปิดเผย”
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ประเด็นที่ สปท.เสนอนั้น มีอยู่ 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.ให้ปลดนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และคณะกรรมการ ทอท. ซึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้ผู้บริหารชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าบริหารงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่ถูกปกปิดมาโดยตลอด
2. เสนอให้ยกเลิกสัญญากับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ เพราะไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
3. ควรบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กรมศุลกากร และกรมสรรพากร เพื่อให้ ทอท. ได้รับส่วนแบ่งรายได้อย่างครบถ้วน รัฐโดยกรมสรรพากรจะได้มีข้อมูลที่จะเรียกเก็บภาษีอากรอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ขณะเดียวกันกรมศุลกากรจะได้ใช้ข้อมูลเพื่อควบคุมป้องกันการลักลอบจำหน่ายสินค้าหนีภาษีอากร
4. ควรพิจารณาศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เช่น พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 103/7 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ป้องกันการทุจริตและเอื้อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เอกชน รวมทั้งการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ราชการและรายได้ของรัฐ
และ 5. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดเก็บรายได้ให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส เปิดเผย เป็นธรรม ไม่ให้ขัดต่อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบ
วิชัย ศรีวัฒนประภา และนักฟุตบอล เข้าพบ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสทีมเลสเตอร์ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2015/16
ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มีบทสรุป แต่การที่นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจและตรวจสอบก็ถือเป็นการเอาจริงในระดับผู้กุมนโยบายสูงสุดของประเทศ เปิด “ไฟเขียว” ให้จัดการเรื่องนี้ นับตั้งแต่มีการตรวจสอบการได้มาซึ่งสัญญาและการดำเนินธุรกิจของ คิง เพาเวอร์ ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลในช่วงเวลาสิบกว่าปีนับจากปี 2548 ที่ คิง เพาเวอร์ ได้รับคัดเลือกจาก ทอท. ให้ทำธุรกิจดิวตี้ ฟรี ในสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ ในช่วงที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
ขณะที่นายนิตินัยก็รีบออกมาอธิบายยกใหญ่ถึงกระแสข่าวที่ออกมาว่า การประชุมในวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อสรุปและเสียงแตกเป็นสามฝ่าย คือฝ่าย สตง.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ยกเลิกสัญญา แต่ทอท.ให้ทำตามสัญญา อีกฝ่ายไม่แสดงท่าทีคือกรมสรรพากรและศุลกากร และยอมรับว่า สปท.ต้องการให้เปิดเสรีจุดรับสินค้าขาออกรายอื่นด้วย
“..... ในการประชุมวันที่ 25 เมษาฯ นั้นมาจากจุดนี้คือสัญญาการประมูลจุดรับสินค้าขาออก เเละไม่ทราบว่าจะมีการเช็กบิลใครหรือไม่ ....." นายนิตินัย กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย ทางสปริง เรดิโอ เอฟเอ็ม 98.5 เมกะเฮิรตซ์
จากคำให้สัมภาษณ์ของนายนิตินัยทำให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ทอท.นั้น เลือกที่จะยืนอยู่เคียงข้างใคร
นายนิตินัยแจกแจงเอาไว้อย่างละเอียดยิบว่า สัญญาสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ และร้านค้าปลอดภาษี(ดิวตี้ฟรี) ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท คิงเพาเวอร์นั้น สัญญาจะหมดอายุในช่วงประมาณเดือน ก.ย.ปี 2563 ซึ่งขณะนี้ ทอท.เตรียมเปิดประมูลโครงการพื้นที่สัญญาบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงปลายปี 60 หรือต้นปี 61 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าโครงการจะมีมูลค่าเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทหรือไม่ หากวงเงินลงทุนเกิน จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ. พ .ศ. 2556 โดยประเมินว่า โครงการจะมีมูลค่าลงทุนประมาณ 1,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งจะสรุปผลศึกษาช่วงกลางปีนี้ และตามขั้นตอนพ.ร.บ.ต้องเสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาต่อไป
นอกจากนั้น ในการประมูลนี้จะผนวกพื้นที่ของอาคารผู้โดยสารเดิม พื้นที่ประมาณ 2 หมื่น ตร.ม. และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ภายในอาคารเทียบเครื่องบินรอง (แซทเทิลไลท์ เทอร์มินอล) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ซึ่งประเมินว่าจะมีพื้นที่ประมาณ 1 หมื่นกว่า ตร.ม.ซึ่งเฟส2 จะทยอยแล้วเสร็จใน พ.ย. 2562 และเริ่มทดสอบระบบเข้าไปด้วย
ส่วนกรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน(สตง.) ส่งหนังสือวินิจฉัยถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ ทอท. ชี้แจงเรื่องปัญหากรณีพื้นที่ให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick Up Counter) ในสนามบิน ที่ไม่สามารถให้ทางบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี เข้าไปใช้พื้นที่ตามที่ได้ร้องเรียนไปยัง สปท. เพราะปัจจุบันมีคิงเพาเวอร์เป็นผู้เช่าพื้นที่อยู่นั้น บริษัทจะส่งคำชี้แจงภายใน 60 วัน หรือภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ โดยนายนิตินัยอ้างว่า ไม่สามารถมอบพื้นที่ให้กับล็อตเต้ได้ เนื่องจาก ล็อตเต้ไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูล โดยการประมูลให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี 2555 ได้รวมพื้นที่ Pick Up Counter ไว้ แต่ในปี 2558 บริษัทได้แยกการประมูลให้เช่าพื้นที่ Pick Up Counter ในท่าอากาศยานภูเก็ต
ที่สำคัญนายนิตินัยยังบอกด้วยว่า ในส่วนของพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอาการในสนามบิน (Pick Up Counter) ที่คาดใช้พื้นที่ไม่มาก ประมาณ 100 ตร.ม.จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่า จะแยกประมูลต่างหากหรือรวมประมูลกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ประมูล Pick Up Counter ได้ต้องให้รายอื่นสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้เช่นกัน
คำถามก็คือแล้วทำไมตอนทำสัญญากับคิง เพาเวอร์ถึงไม่มีเงื่อนไขเช่นนี้?
กระนั้นก็ดี ย้อนกลับไปดูรายงานศึกษาข้อเท็จจริงของ สปท. กรณีศึกษาโครงการของรัฐที่เสียเปรียบภาคเอกชนเรื่อง “การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรให้แพร่หลายมากขึ้น” ซึ่งศึกษากรณีสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรและร้านค้าเชิงพาณิชย์ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐ-เอกชนฯ และการได้มาซึ่งสัญญา การบริหารสัญญา สามารถสรุปรวมความได้ ดังนี้
ประเด็นแรก การทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่สนามบินสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูมิภาค ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2547 มีอายุสัญญาตั้งแต่ 29 กันยายน 2548 - 31 ธันวาคม 2558 และขยายสัญญาอีก 2 ครั้ง โดยสิ้นสุดในปี 2563 เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐ-เอกชนฯ เพราะมีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งพันล้านบาท แต่มีการจัดทำรายงานและผลการศึกษาคิดคำนวณมูลค่าโครงการให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อใช้กล่าวอ้างหลีกเลี่ยงไม่ ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว
กล่าวคือ ในการจัดทำและอนุมัติให้ความเห็นชอบรายงานและผลการศึกษาการคิดคำนวณมูลค่าโครงการ มีการอ้างและใช้ข้อมูลการลงทุนที่นำมาคิดคำนวณเป็นเท็จ และไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำหนด ทั้งในส่วนของมูลค่าสินค้าคงคลังที่จะนำมาลงทุน ซึ่งตามแนววินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา กำหนดไว้ที่ 3.5 ถึง 4 เดือน แต่มีการจงใจใช้มูลค่าของสินค้าคงคลังที่จัดเก็บในสต๊อกเพียง 1 เดือน มาคิดเป็นมูลการลงทุนเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังคิดคำนวณบนสมมุติฐานของการดำเนินงานเพียง 5 ปี ใช้พื้นที่ประกอบกิจการ 5,000 ตร.ม. ทั้งที่สัญญาจริงกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าปลอดอากรไว้ 10 ปี และใช้พื้นที่จริงกว่า 11,820 ตร.ม. และไม่ได้นำมูลค่าการลงทุนในส่วนของสนามบินในภูมิภาคอีก 3 แห่งมาคิดคำนวณด้วย ทำให้มีการคิดมูลค่าโครงการเพียง 813.83 ล้านบาท
อีกทั้งยังมีการใช้และอ้างข้อมูลการลงทุนที่นำมาคิดคำนวณมูลค่าโครงการทั้งในส่วนของมูลค่าที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ค่าก่อสร้าง ตกแต่งอาคาร ค่าระบบต่างๆ ภายในพื้นที่ และค่าสำรองสินค้าเป็นเท็จ
ขยายความเพิ่มเติมสักเล็กน้อยว่า หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร ทอท. โดยรัฐบาลคมช. ส่ง พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร ไปเป็นประธานบอร์ด ทอท. และลงมือรื้อสัญญาฉาว โดยขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความสัญญา และได้รับการแจ้งกลับมาว่า สัญญาประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ระหว่าง ทอท.กับ คิง เพาเวอร์ฯ เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จะต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ซึ่งสัญญาที่ทำไปแล้วไม่ได้นำเข้าครม. แต่อย่างใด บอร์ด ทอท. ขณะนั้น จึงมีมติว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะมูลค่าการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2535 ตามที่กฤษฎีกามีคำวินิจฉัย ในขณะที่ คิง เพาเวอร์ ฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหาย ทอท. 6.8 หมื่นล้านบาท
การไล่บี้ คิง เพาเวอร์ฯ เรื่องสัญญาในเวลานั้นยังไม่ไปถึงไหนก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลโดยพรรคพลังประชาชน มาเป็นแกนนำรัฐบาล และ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ขึ้นแท่นรัฐมนตรี กำกับดูแล ทอท. ช่วงนั้นได้มีกระบวนการที่นำไปสู่ข้อสรุปใหม่ว่าสัญญาที่ ทอท. ทำกับ คิง เพาเวอร์ มีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดย ทอท.ได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงินคำนวณมูลค่าใหม่มายืนยัน ทำให้สัญญาสัมปทานคิงเพาเวอร์ กลับมาสู่สถานะเดิมเหมือนไม่เคยมีเรื่องราวใดๆ เกิดขึ้น
ประเด็นที่สอง ในขั้นตอนการเปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดโครงการ หรือทีโออาร์ โดย ไม่ปรากฏว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นผู้ยื่นแบบแสดงคุณสมบัติผู้เสนอราคาแต่ประการใด ซึ่งใน 5 รายที่ยื่นเสนอนั้น มีบริษัทในกลุ่มคิง เพาเวอร์ คือ บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ยื่นข้อเสนอ
และเมื่อบริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ชนะการประกวดราคา กลับมีการดำเนินการให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 เป็นผู้ทำสัญญากับ ทอท. ในวันที่ 25 มีนาคม 2548 หรือตั้งขึ้นเพียงสองวันก่อนทำสัญญา การเปลี่ยนคู่สัญญาดังกล่าว อาจเป็นการกระทำที่ผิดทีโออาร์ เรื่องข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่ระบุในเงื่อนไขว่า ผู้ยื่นเสนอต้องประสบการณ์ด้านการบริหาร พัฒนาพื้นที่ หรือประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ร้านค้าสินค้า บริการ ขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4,000 ตร.ม.หรือมียอดขายปีหนึ่งมากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ทอท.ยังละเลยปล่อยให้ คิง เพาเวอร์ฯ ยื่นซองเอกสารข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านราคา ที่มีการเสนอใช้พื้นที่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ โดยทีโออาร์กำหนดจำนวนพื้นที่ 20,000 ตร.ม. แต่ คิง เพาเวอร์ฯ จงใจเสนอใช้พื้นที่ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ เป็นจำนวน 25,687 ตร.ม. ภายใต้ข้อเสนอค่าตอบแทน 1,431 ล้านบาท การเสนอใช้พื้นที่เกินกว่าทีโออาร์ 5,687 ตร.ม.นั้น ทำให้ คิง เพาเวอร์ฯ คิดค่าตอบแทนขั้นต่ำในปีแรกได้สูงกว่าผู้เสนอรายอื่นๆ
ทั้งยังยินยอมให้ คิง เพาเวอร์ฯ เสนอข้อความเพิ่มเติมด้านราคาเกี่ยวกับการเสนอผลตอบแทนนอกเหนือไปจากที่กำหนดในทีโออาร์ โดยเจตนาให้ผู้อื่นเข้าใจว่าบริษัทคิง เพาเวอร์ฯ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท. เป็นเงินเพิ่มเติมนอกเหนือจากเงิน 1,431 ล้านบาท อีกจำนวน 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3,431 ล้านบาท แต่ภายหลังกลับตีความว่า เงินจำนวน 2,000 ล้านบาท มิใช่เงินเพิ่มเติมแต่เป็นเงินล่วงหน้าที่บริษัทวางเอาไว้และหักกับผลประโยชน์ตอบแทนในการประกันรายได้ขั้นต่ำในปีแรก 1,431 ล้านบาท ส่วนที่เหลือให้หักกับยอดที่ต้องชำระในปีถัดไป
ประเด็นที่สาม การมีมติไม่อนุญาตให้บริษัทเอกชนรายอื่น เช่าใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเป็นจุดส่งมอบสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง โดย ทอท. ให้เหตุผลว่าได้อนุญาตให้ คิง เพาเวอร์ ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าและส่งมอบสินค้าปลอดอากร ที่สนามบินดอนเมืองแล้ว อาจเป็นการกระทำที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของ ทอท.
ประเด็นที่สี่ การไม่ติดตั้ง Point of sale หรือ POS และเชื่อมต่อข้อมูลการซื้อขายระหว่าง ทอท.กับ บริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ซึ่งกำหนดไว้เป็นสาระสำคัญในสัญญา เพื่อเป็นการคิดส่วนแบ่งที่ ทอท.จะได้รับตามสัญญา แต่ปรากฏว่าตลอดเวลากว่า 9 ปี นับแต่เริ่มสัญญาการเชื่อมต่อมิได้ดำเนินการ โดยทอท.คิดส่วนแบ่งจากยอดรายได้จากข้อมูลของบริษัทฯ เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งอาจทำให้ ทอท.ไม่ได้รับส่วนแบ่งครบถ้วนตามสัญญา อาจได้น้อยได้มากตามแต่ข้อมูลของบริษัท
ประเด็นที่ห้า การไม่เรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนหรือส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาจากบริษัทคิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในส่วนที่เป็นการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง ซอยรางน้ำ ถนนกิ่งแก้ว และพัทยา ของบริษัทคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งได้เช่าพื้นที่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อทำเป็นจุดส่งมอบสินค้าอยู่ในพื้นที่ตามสัญญาบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ของบริษัทคิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ให้ถูกต้องครบถ้วน
ตามสัญญากำหนดให้บริษัทคิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ชำระค่าเช่าและผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทอท.ในอัตราร้อยละ 15 ของยอดรายได้ หรือตามจำนวนเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้รับอนุญาตตกลงชำระตามสัญญาแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ปรากฏว่า นับตั้งแต่บริษัทคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เช่าใช้พื้นที่ของ ทอท.เพื่อทำเป็นจุดส่งมอบสินค้ากลับไม่มีการบังคับเรียกเก็บเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาอย่างถูกต้องครบถ้วน และภายหลังมีการทำสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ โดยจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทน ในอัตราเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ทำให้ ทอท.ต้องขาดรายได้เป็นเงินไม่น้อยกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท
จากรายงานผลการศึกษาและข้อกล่าวหาจาก สปท. ทั้งหมด ดูเหมือนว่าจะมีน้ำหนักอย่างยิ่ง กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้ “รองฯ วิษณุ” เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อพิจารณา
แต่กระนั้นก็ดี ต้องไม่ลืมว่านายวิชัย ศรีวัฒนประภา นั้น ยืนอยู่ในตำแหน่งผู้ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งทั้งในวงการธุรกิจและวงการการเมืองไทย ทั้ง “เสี่ยเน-เสี่ยหนู” รวมถึง “ป๋าป้อม” ผู้มากบารมี
ปฏิบัติการคลี่คลายและสะสางปัญหาในเรื่องนี้จะเดินไปถึงจุดไหน เป็นเรื่องที่น่าติดตามยิ่งนัก เพราะงานนี้เปรียบเสมือน “ศึกป๋าชนป๋า” ด้วยว่า การเดินเครื่องของ สปท.นั้น มีเงาของป๋าผู้ซึ่งรังเกียจการทุจริตเข้าไส้ผ่านบทบาทของ “พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป” ที่ทนไม่ได้ที่เห็นรายงานข้อเสนอของ สปท. ถูกดึงออกแฟ้มประชุม สปท.มาแล้วสองครั้ง จน พล.ร.อ.พะจุณณ์ ต้องใช้กำลังภายในส่งข้อมูลถึงมือ “บิ๊กตู่”
ขณะที่อีกฝ่ายก็เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นบุคคลมากบารมีและมีคอนเนกชันที่ยึดโยงไปถึงทุกพรรค ทุกขั้วอำนาจ รวมถึงบิ๊กๆ ในคสช.เวลานี้ด้วย
ศึกใหญ่วัดบารมีกันว่าระหว่างสองป๋าครั้งนี้ บอกได้เลยว่า “ไม่ธรรมดา”