xs
xsm
sm
md
lg

"49บิ๊ก"เอี่ยว“คิงเพาเวอร์"เบียดบังรายได้รัฐ จี้รัฐล้มสัญญาฟ้อง"แพ่ง-อาญา"เรียก 4 หมื่นล้าน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรณี “คิงเพาเวอร์”เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหา ที่สังคมกำลังจับตาเนื่องเพราะผลการศึกษาสัญญาอนุญาตประกอบกิจการร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ของกลุ่มคิงเพาเวอร์ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สรุปชัดว่า ควรยกเลิกสัญญากับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ

อย่างไรก็ดี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันไว้ชัดเจน และเห็นว่ากรณีของสัมปทานที่เกิดขึ้น อาจมีปัญหาในเรื่องความโปร่งใส จึงตอบรับที่จะจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยหลังจากที่ได้รับผลการศึกษาเบื้องต้นของสปท. นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า เมื่อ สปท.เสนอมาก็ต้องรับไว้พิจารณา เเต่จะทำอย่างไรต่อไปนั้น ต้องดูข้อกฎหมาย เเละหลักการให้ชัดเจน เพราะต้องดูเรื่องการใช้กฎหมายทั้งเรื่องของสัญญาเเละเรื่องอื่น ๆ

“การจะบอกเลิกสัญญา มีขั้นตอนอย่างไรต้องไปดูให้ดี เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำ ไม่ได้อยู่ในสมัยของรัฐบาลนี้ เเต่เมื่อถึงรัฐบาลนี้จะบอกให้ไปเลิกสัญญา ต้องไปดูว่าทำได้หรือไม่ กลไกทางกฎหมายเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะเข้าข้างใคร”พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา

จากท่าทีดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี ทำให้เห็นเค้าลางว่า ผลพวงจากการทำผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน และปัญหาเรื่องความโปร่งใสกำลังนำปัญหาใหญ่มาสู่คิงเพาเวอร์ เพราะดูเหมือนหลักฐานต่างๆ ที่ สปท. รวบรวมเสนอต่อนายกฯ นั้น จะหนักแน่นชัดเจน

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุถึงผลทางกฎหมายต่อกรณีของ คิงเพาเวอร์ ว่า เนื่องจาก คิงเพาเวอร์ ซึ่งได้สัมปทานจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ให้เข้าบริหารร้านค้าปลอดภาษี และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในท่าอากาศยานถึง 5 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมเกินกว่า 1,000 พันล้านบาท จึงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ. 2535 แต่บริษัท คิงเพาเวอร์ จงใจทำผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จว่า มูลค่าโครงการต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท จึงถือว่าสัญญาเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น ดัง นั้น รัฐบาลสามารถยกเลิกสัญญากับบริษัท คิงเพาเวอร์ ได้ทันที โดยที่คิงเพาเวอร์ ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใดๆ ได้

ในทางกลับกัน รัฐสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้จาก คิงพาวเวอร์ได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส ทั้งในส่วนของ คิงเพาเวอร์ และ ทอท.อันเป็นเหตุให้รัฐสูญเสียรายได้ถึง 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

กรณีแรกคือ เรื่องการติดตั้ง POS โดยตลอดระยะเวลา 9 ปี นับแต่ให้เริ่มดำเนินการร้านค้าปลอดภาษี คิงเพาเวอร์ ไม่ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ และระบบบันทึกยอดขาย (Point Of Sale : POS)ซึ่งจะเชื่อมต่อข้อมูลการซื้อขายระหว่าง ทอท. กับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ถือเป็นสาระสำคัญของสัญญา โดยทอท. คิดส่วนแบ่งจากยอดรายได้จากข้อมูลของบริษัทฯ เพียงฝ่ายเดียว จึงอาจจะทำให้ ทอท.ได้รับส่วนแบ่งไม่ครบถ้วนตามสัญญา ซึ่งส่วนนี้ทำให้ ทอท. สูญเสียรายได้ไปถึง 27,000 ล้านบาท

กรณีที่ 2 คือ ที่ ทอท. มีมติลดรายได้ที่ คิงเพาเวอร์ ต้องจ่ายให้รัฐตั้งแต่ปี 2555-2558 อีกปีละ 1% ส่วนในปี 2559 ลดให้ถึง 2% โดยอ้างเหตุผลที่ คิงเพาเวอร์ร้องเรียนให้ ทอท. มีมาตรการเยียวยา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้บริษัทต้องสูญเสียรายได้จากยอดขาย และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการสนามบินลดลง ซึ่งการเยียวยาดังกล่าว ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปเกือบ 10,000 ล้านบาท และถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน อย่างไม่สมเหตุสมผล โดยขณะนี้ สตง. อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานและตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอีกด้วย

กรณีที่ 3 สูญเสียรายได้จากการลักลอบนำสินค้าปลอดภาษีไปขายนอกพื้นที่ดิวตี้ฟรีของท่าอากาศยาน ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้

“งานนี้คิงเพาเวอร์ เจอทั้งคดีแพ่ง และอาญา คดีแพ่งเป็นเรื่องของการจ่ายค่าเสียหายจากการสูญรายได้คืนให้รัฐ รวมแล้วประมาณ 40,000 ล้าน เนื่องจากตามสัญญา คิงเพาเวอร์ จะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท. ในอัตรา 15% ของยอดขาย แต่จากการตรวจสอบพบว่า ยอดขายรายเดือนของท่าอากาศยานบางแห่งที่แจ้งต่อทอท. ต่ำกว่าที่ปรากฏในรายงานของกรมศุลกากรมาก ซึ่งจากตัวเลขยอดขายจริง อยู่ที่เดือนละประมาณเกือบ 1.4 แสนล้านบาท" นายชาญชัย ระบุ

พร้อมกันนั้น ยังบอกอีกว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ไม่มีการติดตั้ง POS ทำให้ ทอท. สูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไปรวมแล้วประมาณ 27,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้รัฐสามารถเรียกคืนได้ทันที เพราะมีหลักฐานชัด อีกส่วนคือ ความเสียหายจากการที่ ทอท. ลดค่าตอบแทนที่คิงเพาเวอร์ ต้องจ่ายให้รัฐอีก 1-2 % มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมความเสียหายจากการเอื้อประโยชน์ของ ทอท.

“ส่วนคดีอาญา จะเป็นเรื่องของการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จของคิงเพาเวอร์ และร่วมกันหลอกลวง ฉ้อฉล ต่างกรรมต่างวาระ อันนี้อาจมีโทษจำคุก ถามว่าคิงเพาเวอร์ จะมาฟ้องรัฐกลับได้ไหม บอกเลยว่าไม่ได้ ฟ้องเมื่อไหร่ ก็เท่ากับคุณฟ้องเท็จ" นายชาญชัย กล่าวอย่างมั่นใจ

และบอกด้วยว่า นอกจากเรื่องการสูญเสียรายได้แล้ว รัฐยังได้รับความเสียหายจากการเอื้อประโยชน์ให้ คิงเพาเวอร์ โดยคณะกรรมการ ทอท. ในหลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญมีการแอบต่อสัญญาให้ คิงเพาเวอร์ ถึง 2 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกในยุคที่ นายปิยะพันธ์ จำปาสุต เป็นประธานกรรมการ ได้มีการต่ออายุสัญญาให้ คิงเพาเวอร์ 2 ปี จากเดิมที่จะหมดสัญญาในปี 2559 เป็นปี 2561 โดยอ้างว่า เพื่อเยียวยาจากเหตุกลุ่มพันธมิตรฯ ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ 7 วัน และต่อมามีการแอบต่อสัญญาสัมปทานให้คิงเพาเวอร์ อีก 2 ปี ไปสิ้นสุดในปี 2563 โดยอ้างเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจโลกตกตํ่า

นายชาญชัย ระบุด้วยว่า คณะกรรมาธิการฯ จะรวบรวมข้อมูลกรณี คิงเพาเวอร์ ฉบับสมบูรณ์เสนอต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ภายในเดือนพ.ค.นี้ พร้อมทั้งรายชื่อผู้ร่วมกระทำผิด 49 ราย ซึ่งมีทั้งนักการเมือง เอกชน และข้าราชการ จากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่เคยร่วมเป็นบอร์ด ทอท.

"ข้อมูลที่เราส่งให้นายกฯ จะระบุรายละเอียดอย่างชัดเจนว่า คิงเพาเวอร์ ผิดกฎหมายอะไร มีการกระทำผิดเมื่อไหร่ และเสียหายเท่าไหร่ ในส่วนเจ้าหน้าที่ ผิดอะไร แต่ละกรณีเกี่ยวข้องกับคิงเพาเวอร์หรือไม่ หรือผิดเฉพาะเจ้าหน้าที่ ก็จะจัดหมวดหมู่ใหม่อีกครั้ง หลังจากส่งรายงานเบื้องต้นให้ท่านนายกฯไปแล้วชุดหนึ่ง อีกทั้งจะมีรายชื่อผู้ร่วมกระทำผิด ซึ่งหลายคนอยู่ในระดับบริหาร นักการเมืองก็มี อย่างคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งสมัยนั้นร่วมเป็นบอร์ดทอท.ด้วย”

จากนี้คงต้องจับตาดูกันชนิดห้ามกะพริบตา ว่ากรณีของ“คิงเพาเวอร์”จะจบลงอย่างไร สามารถดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสได้จริงหรือไม่.?...ในยุครัฐบาลคสช.
กำลังโหลดความคิดเห็น