xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ละครลิง 7 สิงหาฯ มหกรรมแหกตาประชาชี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ที่สุดโรดแมปของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เดินมาหลักหมุดสำคัญ ในการออกเสียงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและคำถามพ่วง วันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยไม่มีอุบัติเหตุกลางคันอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

แต่ผลของการประชามติจะมีความสำคัญกับอนาคตประเทศ อย่างที่ “องคาพยพ คสช.” พยายามโหมกระแสหรือไม่ อันนี้คือคำถาม เพราะท่าทีของ “พี่น้อง 3 ป.” แห่งบูรพาพยัคฆ์เอง ทั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ดูจะไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับในห้วงที่ถูกเรียกว่าเป็น “โค้งสุดท้าย” ก่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “21 ซือแป๋” ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สักเท่าไร

ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปที่เรื่องการรักษาสถานการณ์ให้ไม่วุ่นวายมากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดที่ “บิ๊ก คสช.” เป็น “ตัวละครเอก” ในท้องเรื่อง ต้องพึงระวังการขยับหรือพูดอะไรที่อาจเข้าข่ายการไป “ชี้นำ” ถูกหยิบไปเป็นประเด็นโจมตีกันอีก

ส่วนหน้าที่การ “ตีปิ๊บ” รณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์ หลักๆ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ก็ถูกด่ากันขรมเมือง เรื่องการจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญเอย จุลสารการออกเสียงประชามติ หรือ บุ๊คเลทเอย ที่ตกหล่นชาวบ้านไม่ได้รับเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ใช้งบประมาณมหาศาลรวมแล้วเกินกว่า 3 พันล้านบาทเลยทีเดียวสำหรับการประชามติรอบนี้

อย่างล่าสุดสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยี “อินเทอร์เน็ตโพลล์” วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ที่เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตอกย้ำถึงความล้มเหลวในด้านประชาสัมพันธ์ของ กกต.ได้เป็นอย่างดี ทั้งที่กลุ่มตัวอย่างที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ “กทม.และปริมณฑล” แต่กลับมีเพียง ร้อยละ 72.95 ที่รู้จะมีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคม อีกร้อยละ 27.05 ไม่รู้เรื่อง

นอกจากนั้นกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 55.38 บอกว่า ยังไม่ได้มีโอกาสอ่านร่างรัฐธรรมนูญเลยขณะที่ร้อยละ 33.87 ได้อ่านเป็นบางส่วน มีเพียงร้อยละ 10.75 ที่อ่านทั้งฉบับ

ในแง่การตื่นตัวนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.81 ตั้งใจจะออกไปใช้สิทธิ์ ขณะที่ร้อยละ 21.59 ชัดเจนว่าจะไม่ออกไปใช้สิทธิ์ ส่วนอีกร้อยละ 18.6 ยังไม่แน่ใจ

อาจจะดีหน่อยก็ตรงมี “ชอตฮา” เรียกเรตติ้งให้การประชามติได้บ้าง เมื่อ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง ที่โชว์ความแข็งแรงทนทานของหีบบัตรเลือกตั้ง และสายรัดหีบบัตร ปรากฏว่า “กล่องแตก - สายขาด” ทำเอา กกต.สมชัยเหวอรับประทานไปเลยทีเดียว ซึ่งมองในแง่ดีอาจเป็นไม้เด็ดให้คนสนใจออกไปใช้สิทธิมากขึ้นเพื่อพิสูจน์ความทนทานของอุปกรณ์ในคูหาก็เป็นได้

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศไม่คึกคัดเท่าที่ควร ก็เนื่องจากการออกเสียงประชามติ 7 สิงหาฯเป็นเพียง “สิทธิ์” ไม่ใช่ “หน้าที่” อย่างที่เคยกำหนดไว้ในการเลือกตั้งเมื่อครั้งอดีต เมื่อเป็นแค่ “สิทธิ์” ก็เท่ากับว่าไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ ไม่มีผลถูกตัดสิทธิ์อะไรในอนาคต ประกอบกับอารมณ์ของคนไทยที่ยังไม่อินว่าการทำประชามติ หรือร่างรัฐธรรมนูญว่า ผ่านแล้วยังไง ไม่ผ่านแล้วยังไง??

ขณะที่ “ฝ่ายการเมือง” ดูจะให้น้ำหนักกับผลที่ออกมา ด้วยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี เนื้อหาหลายส่วนที่กระทบต่ออาชีพนักการเมืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าสู่อำนาจ และการตรวจสอบต่างๆ จึงได้เห็นท่าทีของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่เล่นไปตามทำนองเดียวกันว่า “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”

ต่างจาก “ขุนทหาร คสช.” ที่ไม่ว่าออกหน้าไหนก็ “ตีกิน” ได้สบายบรื๊อ อาจจะมีเอนเอียงไปทาง “โหวตเยส” เล็กน้อย เพื่อรักษาหน้าของตัวเองไว้ว่า ประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางของ คสช. และยังไม่ต้องการนักการเมือง ในทางตรงกันข้ามหากเสียงส่วนใหญ่ “โหวตโน” ก็ยังเอาไปตีความได้อีกว่า คนไทยยังไม่พร้อมให้มีการเลือกตั้ง สอดคล้องกับคำพูดของ “นายกฯตู่” ที่ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คสช.ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ และจะอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

ประมาณว่า คว่ำก็ช่าง หงายก็ช่าง ลากยาวอยู่ดี

“อย่ามาบอกว่า ประชามติ จะเป็นตัวชี้วัดว่า ใครแพ้ใครชนะ ไม่เกี่ยว ผมไม่เคยแพ้ใคร และผมก็ไม่ต้องการเอาชนะใคร เพียงรักษาอำนาจของผม เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงเปลี่ยนผ่านแค่นั้น” พล.อ.ประยุทธ์ พูดไว้เมื่อไม่กี่วันก่อน

จะคว่ำ จะหงาย ก็ไม่ต่าง เพียงแต่รูปแบบการทำงานหลังจากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คงต้องแตกต่างกันบ้าง ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปได้ เป็นอันว่า คสช.มีทางหนีทีไล่มากขึ้น ไม่ให้ถูกมองว่า อยู่นานเกินไปในรูปแบบรัฐบาลทหาร อย่างน้อยถ้าเกิดต้องมีการเลือกตั้งในปี 2560 จริงๆ ตามร่างรัฐธรรมนูญก็ออกแบบฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตามสเปกท๊อปบูตไว้เรียบร้อย

นั่นคือ มีรัฐบาลผสมที่จากพรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก และพรรคใหญ่ที่ยอมจำนวนหนึ่งพรรค ร่วมกันโหวตคนนอกเข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” โดยมี “คำถามพ่วง” ที่ให้อำนาจ ส.ว.ลากตั้ง 250 ชีวิตในการเลือกนายกฯ เป็นใบเบิกทางให้เวลาเจออุปสรรค เป็น ส.ว. 250 คนที่ถือกำเนิดจาก คสช. คอยคานอำนาจในรัฐสภา ไม่ให้บรรดา ส.ส.สายพันธุ์นักเลือกตั้ง ไปทำอะไรนอกเส้นทางเดินที่ คสช.ตีกรอบทิ้งเอาไว้ให้ ที่สำคัญเป็น ส.ว.ที่ล็อค 6 เก้าอี้ให้ “ผบ.เหล่าทัพ” เข้านั่งคุมเกมอยู่ด้วย

ตามสูตรนี้ ก็มีทั้ง รัฐบาล และ ส.ว.ที่มี “พี่น้อง 3 ป.” รวมถึงกองทัพ เป็น “มือที่มองไม่เห็น” กำกับการแสดงอยู่เบื้องหลัง ตลอดระยะเวลาอย่างน้อยๆ 5 ปีเต็ม หรือหากจะเลือกมายืนเด่นอยู่หน้าฉากก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง

ถามว่า คนอื่นรู้มั้ย? ทราบกันทั่วคุ้งทั่วแควว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ คสช.ยักไหล่ไม่แคร์ เพราะอย่างน้อย “รัฐบาลนอมินี” นี้ก็ได้ชื่อว่า เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผลดีที่ได้คือ การคบค้าสมาคมกับต่างประเทศจะเปิดกว้างมากขึ้นกว่าตอนเป็นรัฐบาลทหาร ที่ชาติประชาธิปไตยมีข้อจำกัดในการเสวนาพาที

แรงกดดันจากชาติประชาธิปไตยจะลดลงไปเยอะ เพราะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ไม่ต้องมากังวลกับแถลงการณ์เรียกร้องเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่เป็นแมลงหวี่ให้รำคาญใจ ขณะที่การขับเคลื่อนของฝ่ายต้านอย่างพรรคเพื่อไทย ภายใต้การบัญชา “นายใหญ่” จะมีข้อจำกัดและทำได้ไม่เต็มที่เหมือนตอนเป็นรัฐบาลทหาร

นั่นเพราะ การจะปลุกคนออกมาขับไล่บนท้องถนนจะเจอคำถาม 2 ข้อใหญ่ คือ 1.ประชาชนส่วนใหญ่ยังเบื่อหน่ายวัฏจักรเดิมๆ อย่างการปิดถนน ปิดเมือง จนทำอะไรกันไม่ได้มาในห้วงหลายปี และ2.การขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ง่าย เพราะเท่ากับการล้มล้างประชาธิปไตย กลายเป็นการติดกับดักตัวเอง

ท็อปบูตจะได้ 2 ต่อคือ ได้สืบต่ออำนาจ และอยู่แบบชอบธรรมมากขึ้นไม่โดนค่อนแคะ!

แต่กลับกันหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน “โหวตโน” มาวิน แน่นอนว่า ฝ่ายต้านย่อมเขย่าและตีกินจากคะแนนเสียงไม่โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องให้ คสช.คายอำนาจ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในการทำ “เบรกซิท” ของประเทศอังกฤษ ทว่า นอกจากจะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้แล้ว ในทางปฏิบัติยังทำไม่ได้ ในเมื่อวันนี้ “บิ๊กตู่” นั้นอยู่เหนือกว่าตำแหน่งนายกฯ ในเก้าอี้หัวหน้า คสช.

ดังคำตอบของเจ้าตัวเองที่ว่า ถ้าให้ลาออกจากเก้าอี้นายกฯ แต่ก็ยังเหลือเก้าอี้หัวหน้า คสช.อยู่ดี ถอดรหัสแล้วประมาณว่า เอาใครมาเป็นนายกฯ “บิ๊กตู่” ก็ยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ดี

อย่านึกว่า “โหวตโน” กันแล้ว จะใช้เป็นช่องบีบให้มั่นคั้นกันให้ตาย นับวัน “เหล่าท็อปบูต” เริ่มจะแพรวพราวมากขึ้นกับเกมการเมือง โดยเฉพาะข้ออ้างสวยหรูหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ที่อาจนำมาตีกินได้หลายทางในแง่เอาดีเข้าตัว ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เพราะคนเบื่อหน่ายนักการเมือง จึงอยากให้ “บิ๊กตู่” อยู่ต่อเลยไปโหวตคว่ำ อันนี้ก็มาจากคนใน คสช.เอง

ขณะเดียวกันก็มีสมการประเภทถ้าโหวตคว่ำ เท่ากับไม่เอาเลือกตั้ง ยังไม่อยากได้รัฐบาลที่มาจากนักการเมือง ซึ่งติดลบด้านภาพลักษณ์เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ออกมาอีก

สารพัดสารเพเหตุผล-ข้ออ้างมีเตรียมไว้เต็มกระบุง จะตีความอย่างไรก็ได้ เพราะในช่องกากบาทไม่มีให้ใส่เหตุผล แต่บังเอิญว่าคนวิเคราะห์สาเหตุคือ ท๊อปบูตเลยส่อแววจะแปรรหัสเข้าข้างตัวเอง

จะโหวตโน-โหวตคว่ำกันแลนสไลด์ขนาดไหน “บิ๊ก คสช.” ก็ดูจะไม่ไหวหวั่น ล็อควันรอไว้แล้วว่า อังคารที่ 9 สิงหาคม จะนัดทั้ง คสช. และคณะรัฐมนตรี มาวางแผนหาวิธีการในการดำเนินการต่อไป หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ชัดเจนแบบนี้คงจะไปเพรียกหาความรับผิดชอบอะไรลำบาก

ฉะนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ฉันก็จะอยู่ มีอะไรมั้ย?

แล้วเรื่องการเลือกตั้งปี 2560 ตามโรดแมปที่ คสช.ย้ำหนักย้ำหนา ก็เสมือนการ “ขายฝัน” ให้ประชาชนไม่กดดันมากนัก เนื่องจากเห็นเป้าหมายชัดเจน เอาจริงๆ ถึงตรงนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่า จะมีหรือเปล่า นั่นเพราะไม่มีใครเห็นอนาคตว่า ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองบ้าง อย่าลืมว่า “อุบัติเหตุ” เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่า หลังจากการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้ว ประเทศไทยจะต้องเจอกับอะไรอีก ซึ่งกว่าจะเดินไปถึงตรงนั้น มันพร้อมจะมีตัวแปรอีกมากมายที่อาจทำให้สถานการณ์หรือโรดแมปของ “บิ๊กตู่” ต้องเปลี่ยนแปลงโปรแกรม

เช่น ถ้าเกิดร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำขึ้นมาแล้วฝ่ายต้านเอาไปหากินเพื่อสร้างความปั่นป่วน หวังจะโค่นคสช.ให้หล่นลงจากอำนาจ เพราะไม่มีทางเลือกอื่นไม่ให้ไม่สู้ เนื่องจากคดีความต่างๆ ของฝ่ายตัวเองมีจำนวนมหาศาล ซึ่งในปีนี้กางปฏิทินออกมา เตรียมต่อตัวแถวกันเพียบ หลายรายโดนสอยไปแล้ว อย่างล่าสุดก็ ประชา ประสพดี อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กำลังจะขึ้นเขียงให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอน ตามคำชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สมัยเป็น รมช.มหาดไทย

หรือ เบญจา หลุยเจริญ อดีตรมช.คลังในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุก สมัยนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมสรรพากร หลังใช้ตำแหน่งหน้าที่ไม่ถูกต้อง ช่วยให้ลูกชายลูกสาว ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่แห่งค่ายเพื่อไทย ไม่ต้องเสียภาษี

ถ้าให้ คสช.ได้เลื้อยยาวๆ ติดซังเตกันบานตะไทแน่ โดยเฉพาะน้องสาวในไส้อย่าง “หนูปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีชนักปักหลังเรื่องโครงการรับจำนำข้าวในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ต้องเจอกับการดำเนินการด้านละเมิด ซึ่งเป็นอำนาจของนายกฯที่ไล่เบี้ยให้รับผิดชอบค่าเสียหายของโครงการฯไม่มากไม่มาย แค่ 2.8 แสนล้านเศษๆเท่านั้น

แทนที่จะรุกไล่กดดัน “รัฐบาลทหาร” กลับถูกบดขยี้เข้าใส่มากกว่า

ฝ่ายการเมืองก็ต้องดิ้นเต็มพิกัด สารพัดวิชามาร โดยจังหวะก็กลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมือง แล้วนั่นก็อาจไปเข้าทาง “บิ๊ก คสช.” ที่พูดก็พูดกันไป สามารถขยายอายุตัวเองออกไปโดยเหตุผลว่า บ้านเมืองยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ได้เหมือนกัน จึงยังลงจากหลังเสือไม่ได้ ในทำนองเดียวกันจากที่ฝ่ายต่อต้านเคยตั้งหน้าตั้งหาเขี่ยเชื้อไฟที่มอดลงให้ปะทุ ไปๆมาๆอาจเป็นฝ่ายอำนาจที่มานั่งเขี่ยเสียเอง เพื่อให้เห็นความจำเป็นว่าต้อง คสช.อยู่

จับอาการ “ฝ่ายทักษิณ” ที่เคยตั้งท่าจะลุยเต็มสูบจุดกระแสต้านก็แผ่วลงอย่างไม่น่าเชื่อ เกมสั้นๆ อีเว้นท์คว่ำประชามติ หมายมั่นว่าจะน๊อค “รัฐบาลทหาร” ที่ลงทุนกวักมือเรียกแกนนำจับเครื่องไปล้อมวงหารือวางเกมกันถึงเมืองนอก ก็ออกมาเป็นพิธี เดินกันไม่สุด แป๊กอย่างไม่น่าเชื่อ ขนาด “ยิ่งลักษณ์” ที่แฟนเพจ 5 ล้านกว่ายังโพสต์เฟซบุ๊กแบบเงียบๆ ลิ่วล้อ-ลูกน้องแต่ละคนก็เกิดอาการแหยง จากกรณีที่ “ตระกูลบุรณุปกรณ์” ขาใหญ่ จ.เชียงใหม่ ถูกปูพรมจัดหนักจนสะเทือนกันไปทั้งพรรค อีกขาหนึ่ง “เกมใต้ดิน” ที่เคลื่อนไหวอยู่ ก็ขาดน้ำหล่อเลี้ยงจนทำได้ไม่ถนัดถนี่นัก

หรือแม้จะมีแนวร่วมเฉพาะกิจอย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” สาย “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือสาย “นายหัว” ชวน หลีกภัย ที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะช่วยกระชุ่นกระแส “โหวตโน” เพิ่มแต้มได้บ้าง แต่อย่างที่บอก ถึงชนะไปก็เท่านั้น

ช่วงหลังประเด็นเน้นๆ ที่ทาง “เพื่อไทย - คนเสื้อแดง” เคยโจมตีเรื่องรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย จึงค่อยๆ เพี้ยนออกไป กลายเป็นพยายามเชื่อมโยงจนออกลูกมั่วซั่ว เหมือนคนหมดมุก สุดท้ายงัดเรื่อง “เกาเหลา คสช.” ปล่อยข่าวความขัดแย้งระหว่าง “พี่ป้อม - น้องตู่” ออกมาใช้อีกครั้ง พร้อมๆ กับเสี้ยมให้ “บิ๊กป้อม” สลับเก้าอี้ขึ้นไปเป็นนายกฯแทน “บิ๊กตู่” แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

ส่วนเกมยาวๆ ที่หวังจะเอาคำแนนเสียง “โหวตโน” ในการประชามติไม่ว่าชนะหรือแพ้ ไปต่อยอดดิสเครดิตแซะ “รัฐบาลทหาร” ให้ซวนซัดซวนเซ ก็ยิ่งยากไปกันใหญ่ เพราะ คสช.ประเมินปิดทางไว้เสียหมด โดยเฉพาะการสร้างวาทกรรมย้อนอดีตให้เห็นความเน่าเฟะของประเทศในน้ำมือของนักการเมือง เรียกว่ามีอะไรก็โยนขี้ไปให้นักการเมืองให้หมด ทั้งโกง ทั้งกิน ทั้งกร่าง แล้วยังเป็นตัวปัญหาในการสร้างความขัดแย้งจนถึงทุกวันนี้

โจทย์ใหญ่ของ คสช.วันนี้ไม่ใช่การผ่านประชามติ เพื่อให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่นำไปสู่การเลือกตั้งอย่างที่วาดฝันไว้สวยหรูในชื่อ “โรดแมป คสช.” อะไรนั่นหรอก แต่ต้องกกระชับอำนาจให้มั่นคงที่สุดเพื่อรับมือกับ “ปัจจัยแทรกซ้อน” ที่อาจจะมีเข้ามาในอีกไม่ช้า

ผนวกกับการใช้ความเข็ดขยาดเรื่อง “ม็อบปิดเมือง” หรือเหตุการณ์ก่อน 22 พฤษภาคม 2557 มาสร้างความหลอกหลอนให้ประชาชนไม่อยากกลับไปสู่จุดนั้น ใช้เป็นใบต่ออายุในเก้าอี้ต่อไปอีก หรือคำพูดประมาณว่า จะเลือกอนาคตที่เห็นไม่ชัด หรืออดีตที่ล้มเหลว ตรงนี้ก็เท่ากับจับความเลวร้ายของนักการเมืองมาหากินเรื่อยๆ เพราะมีต้นทุนเป็นจำเลยของสังคมทุกวันนี้อยู่แล้ว

ไปๆมาๆ ประชามติ 7 สิงหาฯก็เป็นแค่ละครฉากหนึ่ง เป็นมูฟเม้นท์ให้จับต้องกันพอพิธีเท่านั้น จะผ่านหรือไม่ผ่าน โหวตโน-โหวตเยสกันมากน้อยแค่ไหน ก็มีสารพัดเหตุผลที่จะตีความให้อยู่ต่อได้แบบสบายๆ

เข้าอิหรอบนี้ เชื่อดิ!! ปี 2560 ไม่มีเลือกตั้งหร๊อกกก *เสียงสูง*.


กำลังโหลดความคิดเห็น