ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เหตุผลหนึ่งของการยึดอำนาจก็คือความเน่าเหม็นในวงการตำรวจเพราะห้วงเข้าสู่อำนาจของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตลอดจนเครือข่ายมีการแทรกแซงวงการสีกากีจนขึ้นชื่อว่าเป็นยุครัฐตำรวจ มีการใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในหลากหลายรูปแบบ ทั้งจัดกี่-ข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม ตลอดจนออกนโยบายอุ้มตำรวจจนกลายเป็น “ตำรวจมะเขือเทศ”ไม่ใช่สีกากี หรือสีของแผ่นดินอย่างที่ควรเป็น
มาถึงยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองตำรวจใหญ่หลายนายที่ตกเป็นจำเลยสังคมในฐานะเป็นมือไม้ให้กับนักการเมืองในตอนนั้นก็คือพล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร.ที่จะเกษียณอายุราชการ ในปีนี้และพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.ซึ่งครบเกษียณฯไปก่อนหน้า
หลายครั้งเมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการ กปปส.ได้ย้ำถึงความเจ็บช้ำน้ำใจที่ตำรวจเป็นฝ่ายกระทำต่อกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่เพียงปล่อยปละละเลยให้มือระเบิดเข้ามาปั่นป่วนก่อเหตุร้ายโดยสะดวกแต่ยังมีข้อหาร่วมกับบรรดานายทุนธุรกิจสีเทาลงขันกันนับ 10 ล้านเพื่อก่อกวน ยิงปืน ปาระเบิดใส่ประชาชนที่เข้าร่วมขับไล่รัฐบาล และก่อนลงจากเวทีแทบทุกครั้งอดีตนักการเมืองดังแห่งสุราษฎณ์ธานี จะฝากให้ปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในทันทีหากการต่อสู้ของกลุ่ม กปส.ประสบความสำเร็จ
จึงไม่น่าประหลาดใจเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำกองทัพเข้ายึดอำนาจและเริ่มนับ 1 ปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง แต่เป็นการปฏิรูปภายใต้ความคิดเก่าๆของขั้วอำนาจใหม่ กล่าวคือกลุ่มคนที่เป็นต้นความคิดปฏิรูปตำรวจเที่ยวนี้เป็นใครไปไม่ได้นอกจากพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร.น้องชายสุดรักของพล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชื่อของพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เด็กในคาถาจึงโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งในฐานะ “รักษาผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” และต้นคิดแนวปฏิรูปตำรวจภายใต้การนำของทหาร
หลังจากขว้างก้อนหินถามทางอยู่พักใหญ่ล่าสุดทิศทางตำรวจไทยยุคใหม่ได้ปรากฏโฉมออกมาแล้วโดยยังคงอำนาจการสอบสวนอยู่ที่ตำรวจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการผ่องถ่ายอำนาจตำรวจอย่างแท้จริง ขณะที่ส่วนอื่นๆอันเปรียบเสมือนไขมันส่วนเกินบรรดาผู้มีอำนาจในแวดวงสีกากีทั้งใหม่และเก่ายอมตัดใจส่งมอบให้กับหน่วยงานที่เหมาะสมเช่นตำรวจป่าไม้ ขึ้นตรงกับกระทรวงเกษตรฯ ตำรวจรถไฟ ทางหลวง ตำรวจน้ำ ขึ้นตรงกับกระทรวงคมนาคม หรือตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ให้ขึ้นกับกระทรวงการต่างประเทศเป็นต้น
และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นขอนำสู่บรรยากาศการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมานายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สปช.เป็นประธานเสนอรายงานจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ ต่อที่ประชุมมีสาระสำคัญคือเพื่อเป็นการแก้ปัญหาแทรกแซงกิจการตำรวจ จนทำให้ ผบ.ตร.ขาดความเป็นอิสระ หรือตกเป็นเครื่องมือกับนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจจึงกำหนดให้มีการปฎิรูปลักษณะการทำหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)ทั้งหมด ตามรายละเอียดดังนี้
- ปฏิรูปคณะกรรมการข้าราราชการตำรวจ (ก.ตร.) มี 16 คนให้มาจากการลงคะแนนคัดเลือกของนายตำรวจระดับ พ.ต.อ.ทั่วประเทศเพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่แต่งตั้ง ผบ.ตร.
- ปฏิรุปคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) 11 คนมีตัวแทนจากภาครัฐ ฝ่ายการเมือง กระทรวงยุติธรรม และประชาชน ไม่สามารถเลือก ผบ.ตรงได้แต่ให้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและภาระกิจต่างๆของตำรวจ
- ใช้หลักอาวุโส และความสามารถ เป็นมาตรฐานในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ (ของเดิมอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ ความสามารถและเหมาะสม 67 เปอร์เซ็นต์)
- ลด หรือเลิกระบบยศ ลดขั้นตอนการสั่งงาน ยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. และตำแหน่งที่ปรึกษา สบ.10
สำหรับประเด็นงานสอบสวนของตำรวจ จะแยกออกไปด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้นอกจากสังคมภายนอกจะถกเถียงกันอย่างกว้างขวางแล้วแม้แต่บรรดาข้าราชการตำรวจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงก็ยังแบ่งออกเป็น 2 แนวคิดคือเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เหตุผลรวมๆคือรูปแบบการทำงานจะทำอย่างไรเช่นเมื่อพนักงานสอบสวนขึ้นตรงกับสำนักอัยการสูงสุด ขั้นตอนการบังคับบัญชาหลุดจากตำรวจไปแล้วจะสามารถนั่งทำงานที่เดียวกันได้หรือไม่
นอกจากนั้นในสภาพความเป็นจริงในแต่ละอำเภอ พนักงานสอบสวนแทบจะไม่พออยู่แล้วเมื่อรวบรวมคดีทั้งหมดส่งให้อัยการในแต่ละจังหวัดปัจจุบันงานของอัยการยังล้นมือสารพัดคดีทำกันไม่หวาดไหว เมื่อปรับ-เปลี่ยนหน้าที่ ต้องลงไปดูที่เกิดเหตุเองในทุกครั้งเมื่อเกิดคดีต่างๆขึ้นจะสามารถทำได้อย่างตำรวจหรือไม่
ส่วนที่เห็นด้วยก็คือข้อมูลเดิมๆที่อยากให้กระบวนการยุติธรรม มีการคานอำนาจกันอย่างแท้จริง พนักงานสอบสวน(ตำรวจ) หลายคนยินดีขึ้นตรงต่อสำนักอัยการสูงสุด เพราะสิ้นหวังกับระบบตำรวจ
แต่ที่น่าตกใจก็คือการปะทะทางความคิดของบุคคลสำคัญ 2 ท่านที่สังคมไทยให้การยอมรับ ท่านแรกพล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป มีแนวทางชัดเจนหากปฏิรุปตำรวจจะต้องแยกการสอบสวนออกไปด้วยเหตุลอำนาจล้นมือของตำรวจ สืบเองจับเองบางคดีตกเป็นข่าวกลั่นแกล้งประชาชนต้องติดคุกติดตะรางจนตรอมใจตายไปก็มี พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตำหนิรายงานการจัดแผนปฏิรูปกิจการตำรวจของ สช.ว่าเสมือนรายงานส่งครูประจำชั้น “พวกท่านใส่สูท ใส่รองเท้าหนังต่างประเทศ ไม่เข้าใจคนจนว่าได้รับผลกระทบอย่างไร การแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ ต่างประเทศทำกันนานแล้ว เด็กดูหนังก็เข้าใจได้แต่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจกัน....”
พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร สปช.อีกท่านหนึ่งทั้งประสบการณ์และตำรวจน้ำดีที่คนไทยยอมรับกลับมองเห็นต่างอย่างสิ้นเชิงว่าประเทศที่ยังไม่แยกงานสอบสวนของตำรวจไปให้สำนักอัยการ ก็มีมากเช่นกันแต่ปัยหาจริงๆอยากให้มองที่เราควรสร้างพนักงานสอบสวนให้เติบโตในสายงานของเขา และไม่ให้ฝ่ายการเมืองหรือผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงการทำงาน "แม้จะเปลี่ยนได้กรมตำรวจใหม่ขึ้นมาแต่ก็อาจมีปัญหาเดิมๆอีกก็ได้ถ้าไม่หาเกราะป้องกันให้เขา"
สองคนดีแต่ต่างความคิด ต้องบอกตรงๆว่าน่าเสียดายเหลือเกินเพราะที่สุดแล้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกระทรวงตำรวจ ที่จะขยับสับเปลี่ยนกันนั้น “แก่น” คืองานสอบสวน และสืบสวน ยังไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ตำรวจยังคงเป็นยักษ์มีกระบอง มีทั้งกฎหมายกับปืนอยู่ในมือ ยังคงเป็นข้อครหาต่อไป แน่นอนว่าทั้งผู้มีอำนาจ รวมถึงนักการเมืองคงได้อาศัยพึ่งพาบริการกับตำรวจต่อไป
เจตนารมณ์ต้องการให้ตำรวจ หรือ ผบ.ตำรวจหลุดจากโซ่ตรวนผู้มีอำนาจ หลุดจากอิทธิพลนักการเมืองจึงเป็นแค่การ “ผายลม”เหม็นๆของทุกฝ่ายที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง
อย่างไรก็ตามปัญหาหลักอีกเรื่องหนึ่งของวงการสีกากีก็คือการแต่งตั้งโยกย้าย เรื่องนี้อย่าว่าแต่การแต่งตั้งประจำปีที่จะให้ประโยชน์ เลื่อนชั้นเปลี่ยนพื้นที่ทำงานเป็นเกรด A เกรด B กันเลยแม้แต่การย้ายลงโทษก็ยังเห็น 2 มาตรฐานอยู่บ่อยๆ
สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นผู้เสนอแนวทางโดยสาระสำคัญของการแก้ปัญหาแทรกแซงกิจการตำรวจนั้นระบุให้ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)มาจากการลงคะแนนเลือกตั้งของนายตำรวจระดับพ.ต.อ.ทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นผู้คัดสรร “บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ ฟังแล้วดูดี-น่าเชื่อถือ
แต่เพียงข้อแรกที่นำเสนอนั้นจริงๆแล้วไม่ใช่ของใหม่อะไรเลยเพราะในอดีตในยุคที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยใช้แนวทางนี้ “ฟอก”เอาคนของตัวเข้ามาเป็น ก.ตร.เป็นทิวแถว
อาจจะยิ่งเลวร้ายไปกว่าเนื่องจากนายตำรวจระดับ พ.ต.อ.ต้องมาจากสายอำนาจเดียวกันเพื่อสั่งซ้ายหันขวาหันจึงพิจารณาเห็นว่านอกจากไม่ใช่เรื่องใหม่ยังเป็นกติกาที่แทรกแซงได้ ไม่น่าไว้ใจ
ทำไมการแต่งตั้งพิจารณาบุคคลเข้ามารับหน้าที่จึงเป็นหัวข้อที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ
ไม่ต้องดูอื่นไกลขอให้ตัดสินใจจากกรณีระเบิดสี่แยกราชประสงค์ ที่มีผู้เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บอีกนับร้อย เราจะมองว่าเป็นความบกพร่องของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้หรือไม่ ตั้งแต่พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร.คนปัจจุบัน หรือพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตรงฝ่ายความมั่นคง ว่าที่ ผบ.ตร.ในอนาคต และนายตำรวจผู้มีขอบข่ายรับผิดชอบงานข่าว
แง่หนึ่งอาจจะไม่เป็นธรรมแต่เมื่อกลิ่นดินปืนจางลง สถานการณ์ต่างๆเข้าสู่สภาวะปกติบรรดาผู้มีอำนาจควรจะตรึกตรองถึงรากเง้าของปัญหานั่นคือบุคคลากรที่ขาดความรู้ความเข้าใจถึงจิตวิญญาณของตำรวจพวกได้ดิบได้ดีเพราะมีเส้น ทุกคนไม่มีประสบการณ์จริง ยิ่งฝ่ายการข่าวที่ต้องเชี่ยวกรำ มีความชำนาญ
ทั้งสันติบาล และตรวจคนเข้าเมือง สายตรงงานข่าว ตรวจเช็คขบวนการก่อการร้าย นอกจากอาศัยหน้าช้ำๆของ ผบ.ตร.ออกมาแก้ตัวโทษดินฟ้าอากาศไปวันๆ มีใครสักคนกล้าออกมาแสดงความรับผิดชอบกันบ้าง...นอกจากเตรียมวิ่งเต้นเปลี่ยนเก้าอี้กันใหม่
รวบรวมคำสัมภาษณ์ของผู้นำตำรวจอาจจะไม่เชื่อว่าสิ่งที่ท่านแสดงความเห็นออกไปสู่สาธารณะจะเป็นคำพูดที่หลุดออกมราจากปากท่าน เช่นถ้าตำรวจดวงแข็งกว่าโจรเจาก็จับได้ หรือจับมือระเบิดได้แน่ๆหากผมยังมีลมหายใจ
สุดท้ายคือการโทษกล้องวงจรปิดพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ระบุว่ากล้อง CCTV 20 ตัวใช้ได้ 5 ตัวตำรวจต้องจินตนาการปะติดปะต่อเหตุการณ์ทำให้ล่าช้า ทั้งที่ก่อนหน้าในวันเกิดเหตุเห็น มรว.สุขุมพันธ์ บรืพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ออกมายืนยันกล้องวงจรปิด 500 ตัวหรือ 1 พันตัวตัวรอบๆบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ใช้การได้ทุกตัวและมอบให้กับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว
ไม่ว่ากล้องจะดี หรือเสียแต่ความคิดของ ผบ.ตร.ก็คือภาพสะท้อนการทำงานของตำรวจไทย แสดงว่าทุกวันนี้ ตำรวจนักสืบ ฝ่ายข่าวกรอง ฝ่ายความมั่นคง ทำงานกันในห้องแอร์ด้วยการ “ไล่กล้อง” หรือภาพคลิป กับบรรดาสาวกกีฬาสีโพสต์ข้อความปั่นป่วนกันเท่านั้น
ย้อนกลับไป 20-30 ปีไม่มีทั้งกล้องวงจรปิด ไม่มีทั้งเครื่องดักฟังอันทันสมัยแต่ตำรวจไทยในยุคนั้นสามารถทำงานอย่างได้ผล น่าทึ่งมากมายกว่ายุคเศรษฐีเป็นใหญ่กว่า 10 เท่า 100 เท่า ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องกล้องเพราะสมัยนี้ถ้าไม่มีกล้องตำรวจไทยทำงานไม่ได้
ปฏิวัติก็แล้ว ปฏิรูปก็แล้วแต่ตำรวจไทย ยังคงมีประสิทธิภาพแบบเดิมๆคือหวังพึ่งพิงอะไรไม่ค่อยได้ หรือเป็นเพราะ “ผู้มีอำนาจ”ในยุคพลเรือน และทหาร ก็ล้วนปฏิรูปตำรวจแบบศรีธนญชัย มันจึงผิดฝาผิดตัวมาโดยตลอดไงล่ะ