ASTV ผู้จัดการ - มติคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ เอกฉันท์เคาะ “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” รอง ผบ.ตร. นั่ง ผบ.ตร.คนใหม่
วันนี้ (14 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) นัดประชุมครั้งที่ 1/2558 ที่ห้องประชุมสมาคมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1พัน.4 รอ.) ถนนวิภาวดี แต่ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะรองประธานทำหน้าที่เป็นประธาน ก.ต.ช.แทน โดยมีวาระสำคัญในการประชุม 6 วาระ โดยวาระที่ถูกจับตามากที่สุด คือ การคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 11 ต่อจาก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้
ก่อนการประชุมมีนายตำรวจที่อยู่ในข่ายได้รับการเสนอชื่อจำนวน 5 คน คือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา โดยมี 2 แคนดิเดตสำคัญที่น่าจับตามองระหว่าง พล.ต.อ.เอก และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม ก.ต.ช.มีมติเอกฉันท์เลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ เป็น ผบ.ตร.คนที่ 11 เรียบร้อยแล้วด่้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะคณะกรรมการนโยยายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. เปิดเผยผลการประชุม ก.ต.ช.ว่า ที่ประชุม ก.ต.ช.มีมติเอกฉันท์เลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ แทน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ เป็น ผบ.ตร.คนที่ 11 และมีอาวุโสน้อยสุดในบรรดาแคนดิเดต ผบ.ตร.ทั้ง 5 คน โดยจะเกษียณอายุราชการในปี 2563 สำหรับบรรยากาศที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ไม่ได้เดินทางมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะมีประชุมที่รัฐสภา
เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.อาวุโส อันดับหนึ่งที่เป็นแคนดิเดตอีกคนก็ไม่ได้เดินทางเข้าสำนักงาน เนื่องจากมีภารกิจประชุมที่รัฐสภาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ พล.ต.อ.เอกในการคัดเลือก ผบ.ตร.เมื่อปี 2557 เคยเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งกับ พล.ต.อ.สมยศ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ทำให้ถูกจับตาว่ามีโอกาสในปีนี้อีก แต่ในที่สุดที่ประชุม ก.ต.ช.มีมติเลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ตามที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.เสนอ
ประวัติ “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2502 จบการศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย,โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 (นรต.36) ปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากประเทศสหรัฐอเมริกาศึกษาเพิ่มเติมหลักสูตรการสอบสวน (ATF-ILEA) และ หลักสูตร FBI,รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา
รับราชการโดยเริ่มต้นจากตำแหน่งนายเวรผู้บังคับการประจำกรมตำรวจสำนักงานกำลังพล และสารวัตรแผนกสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กองกำกับการสายตรวจ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2537-พ.ศ.2538 ได้ย้ายเข้าสู่กองปราบปรามในตำแหน่งรองผู้กำกับ ในปี พ.ศ.2539 ได้เป็นนายเวรอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา จากนั้นได้ทำงานในตำแหน่งงานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะงานด้านปราบปราม เช่น รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงคราม, รองผู้บังคับการกองตำรวจน้ำ, รองผู้บังคับการกองปราบปราม, ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานแห่งชาติ (ผบก.ตม.ทอช.) เป็นต้นโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบอีกคนหนึ่ง มีผลงานสำคัญ ๆ เช่น เป็นผู้เจรจาให้ปล่อยตัวประกันซึ่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำสมุทรสาครกับกลุ่มนักโทษแหกคุกชาวพม่า ในปลายปี พ.ศ. 2543 ร่วมกับ พล.ต.ต.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (ผู้ช่วย ผบช.ภาค 7-ตำแหน่งและยศในขณะนั้น) เป็นต้น
ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2551 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งในอีก 6 วันต่อมา คือ ในวันที่ 7 ตุลาคม นั้นก็ได้เกิดเหตุการการสลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาขึ้น โดยเป็นการสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการชุมนุม 193 วัน โดยตำรวจ ซึ่งในเหตุการครั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ได้แสดงความมีมนุษยธรรมโดยการถอดเสื้อของตนเองเข้าพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรฯด้วย จนได้รับฉายาว่า"สุภาพบุรุษแก๊สน้ำตา" จนกระทั่งในปี พ.ศ.2552 ได้ย้ายมาเป็นรักษาการ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย) ก่อนจะได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 สืบต่อจาก พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์
นอกเหนือจากการรับราชการตำรวจแล้ว พล.ต.ท.จักรทิพย์ ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อีกด้วย ข้อมูลส่วนตัว พล.ต.ท.จักรทิพย์ เป็นคนที่ส่วนสูงเพียง 165 เซนติเมตร หนักประมาณ 65 กิโลกรัม ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลรูปร่างเล็ก แต่ทว่าเมื่อแต่งเครื่องแบบแล้วจะพกพาอาวุธปืนขนาดต่าง ๆ พร้อมแม็กกาซีนบรรจุกระสุนและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น กุญแจมือหรือไฟฉาย ติดตัวไว้เสมอ ซึ่งรวมกันทั้งหมดมีน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม จนได้รับฉายาจากบุคคลใกล้ชิดว่า"แป๊ะ 8 กิโล"และได้รับฉายาจากสื่อมวลชนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ว่า"น.1 อีซี่พาส" เนื่องจากติดยศ พลตำรวจโท อย่างรวดเร็วและเป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
ต่อมาในรัฐบาลที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พล.ต.ท.จักรทิพย์ ได้ถูกโยกย้ายไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค (ผบช.ภาค 9) โดยมี พล.ต.ท.วินัย ทองสอง เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน หลังจากรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ในวันที่ 24 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ได้รับคำสั่งจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจรักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แทนที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ศูนย์ราชการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ประวัติการศึกษา
วชิรวุธวิทยาลัย /รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต (รุ่นที่ 36) จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ /ปริญญาโทบริหารรัฐกิจ สหรัฐอเมริกา (KUS)
หลักสูตรเพิ่มเติม
พ.ศ.2537 หลักสูตรฝ่ายอำนวยการ กรมตำรวจ รุ่นที่ 17
พ.ศ.2542 หลักสูตรผู้กำกับการ รุ่นที่ 34
พ.ศ.2544 โรงเรียนนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 41 กรมการปกครอง
พ.ศ.2545 หลักสูตรบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 22
พ.ศ.2545 Post Blast Investigation Course (ATF) (ILEA)
พ.ศ.2546 FBI National Academy, Quantico, VA, USA รุ่นที่ 215
พ.ศ.2549 หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) 2549
พ.ศ.2553 หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) รุ่นที่ 14
พ.ศ.2554 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 13
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ.2548 ประถมาภรณ์มงกุฏไทย
พ.ศ.2551 ประถมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ.2554 มหาวชิรมงกุฏ
พ.ศ.2557 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
ประวัติรับราชการ
พ.ศ.2526 รอง สวส.สภ.อ.เมืองบุรีรัมย์
พ.ศ.2528 รอง สวป.สภ.อ.เมืองบุรีรัมย์
พ.ศ.2529 รอง สว.ผ.นผ.กก.อก.บก.ภ.4
พ.ศ.2531 รอง สว.ผ.2 กก.สส.น.เหนือ
พ.ศ.2532 นว.ผบก.อต.สกพ.
พ.ศ.2534 สว.นผ.อต.สกพ.
พ.ศ.2534 สว.ผ.2 กก.1 บก.ป
พ.ศ.2535 สว.ผ.สายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (191) สปพ.
พ.ศ.2537 สว.ผ.ตรวจพิสูจน์ กก.สข.บก.สปพ.
พ.ศ.2538 รอง ผกก.1 บก.ป.
พ.ศ.2538 รอง ผกก.2 บก.ป.
พ.ศ.2539 นว.อ.ตร.
พ.ศ.2540 ผกก.วช. (ทนท.นิติกร) กองวิชาการ
พ.ศ.2541 ผกก.อก.งป.สนผ.
พ.ศ.2542 ผกก.อก.ส่วนตรวจราชการ 3 จต.
พ.ศ.2543 รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรสงคราม
พ.ศ.2545 รอง ผบก.รน.
พ.ศ.2547 รอง ผบก.ป
พ.ศ.2548 ผบก.ตม.ทอช.
พ.ศ.2550 ผบก.ตปพ.
พ.ศ.2551 รอง ผบช.น.
พ.ศ.2552 รรท.ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.
พ.ศ.2553 ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.
พ.ศ.2553 ผบช.น.
พ.ศ.2554 ผบช.ภ.9
พ.ศ.2555 ผู้ช่วย ผบ.ตร.
พ.ศ.2557 ผู้ช่วย ผบ.ตร. รรท.ผบช.น. (ตั้งแต่ 24 พ.ค.57)
พ.ศ.2557 รอง ผบ.ตร.
ประสบการณ์การทำงานด้านอื่น
พ.ศ.2551 กรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
พ.ศ.2552 กรรมการการทางพิเศษแห่งชาติ
พ.ศ.2554 กรรมการการไฟฟ้านครหลวง
พ.ศ.2557 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (31 ก.ค.57 ปฎิญาณตน 8 ส.ค.57)