xs
xsm
sm
md
lg

ทีวีดิจิตอล รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำว่า “รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง” หมายถึง การกระทำใดๆ ของตนที่ได้ผลออกมาไม่ดี แต่กลับโทษคนอื่นหรือสิ่งอื่น แทนที่จะโทษตัวเอง โบราณท่านจึงเปรียบไว้เหมือนกับการร่ายรำที่ออกมาไม่ดี แทนที่จะโทษตัวเอง แต่กลับไปโทษปี่กลองผู้ให้จังหวะ

คำพังเพยนี้ ใช้ได้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจำนวนหนึ่งในขณะนี้ ที่กำลังกล่าวโทษคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ว่า เป็นตัวการที่ทำให้ธุรกิจโทรทัศน์ดิจิตอลในปีแรกล้มเหลว ผู้ประกอบการ 24 ราย เกือบทุกรายขาดทุน บางรายแม้จะมีกำไรก็เพียงน้อยนิด

พวกเขาโทษ กสทช.ว่าไม่มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านจากกระบบอนาล็อก สู่ดิจิตอล ทั้งในเรื่องการแจกคูปองดิจิตอล การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับทีวีดิจิตอลที่ล่าช้า และระบบโครงข่ายที่ยังไม่ทั่วถึง ส่งผลทำให้ช่องความคมชัดระดับสูง หรือ เอชดี ไม่มีความแตกต่างจากช่องความคมชัดระดับทั่วไปหรือเอสดีมากนัก

เรื่องนี้ เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อย กสทช.ในส่วนที่ดูแลกิจการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการเปิดประมูลทีวีดิจิตอลมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ตัวเองต้องกำกับดูแลน้อยมาก ให้ความสำคัญกับเรื่องการประมูลใบอนุญาตมากกว่าเรื่องอื่นๆ การออกแบบกฎเกณฑ์ กติกา จึงผิดพลาด สวนทางกับความเป็นจริง การดำเนินการเพื่อผลักดันให้ทีวีดิจิตอลได้แจ้งเกิด ก็ล้มเหลว อย่างที่ผู้ประกอบการอ้าง

แต่ความจริงส่วนสำคัญ ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลไม่ยอมพูดถึงคือ ความล้มเหลวในหนึ่งขวบปีที่ผ่านมา เป็นความผิดพลาดของตัวเอง ที่วาดภาพทีวีดิจิตอล ไว้สวยหรูเกินกว่าความเป็นจริง การที่ผู้ประกอบการทั้ง 24 ราย เข้าแข่งขันประมูลใบอนุญาต ในราคาสูงๆ บางราย ประมูลไปมากกว่า 1 ช่อง ก็แสดงว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้ สมัครใจ และมั่นใจที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้

เมื่อการแข่งขันยกแรกจบลง ปรากฏว่า แพ้ ก็หันไปโทษกรรมการว่า จัดเวทีไม่ดี แทนที่จะสำรวจตัวเองว่า ขึ้นผิดเวที หรือ เตรียมตัวมาไม่ดี หรือ เปล่า


ทีวีดิจิตอลหลายๆ ช่อง ใช้เรื่องความคมชัดเป็นจุดขาย บางช่องลงทุนสร้างสตูดิโอหน้าห้างสรรพสินค้ากลางเมือง สตูดิโอเคลื่อนที่ เพื่อสร้างจุดขายในเรื่องความแปลกใหม่ บางช่องใช้วิธีลงทุนต่ำซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศมาฉาย กลยุทธ์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า เขาต้องติดตามชมทีวีดิจิตอลช่องนั้นๆ เพราะมันไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรเลยกับทีวีดาวเทียม หรือทีวีอนาล็อกช่องเดิมที่เขาเป็นแฟนประจำมาช้านาน

ทีวีดิจิตอลกว่าค่อนของจำนวน 24 ช่องจึงไม่มีคนดู เมื่อไม่มีคนดูก็ไม่มีโฆษณา ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน งบโฆษณาของธุรกิจมีจำกัดกว่าเดิม ในขณะที่มีช่องทีวีที่แย่งชิงงบโฆษณามากขึ้น การขาดทุนของทีวิดิจิตอลจึงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ว่า จะต้องเกิดขึ้น และจะเป็นอย่างนี้อีกต่อไป จนกว่าจะเหลือผู้ประกอบการที่ลดลงจาก 24 ช่อง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไป

คุณวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่แห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ ให้สัมภาษณ์จุลสารราชดำเนิน ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม 2558 ได้กล่าวถึงมุมมองของมีเยเอเยนซีต่อทีวีดิจิตอลว่า

“ ที่เราเห็นชัดคือ 1. จำนวนช่องเยอะเกินกว่าที่เงินจะไปถึงพฤติกรรมของคนดูปกติ เราดูกันไม่เกิน 5 ช่อง อย่างพี่ชอบดูหนัง ก็ดู HBO ถ้าอยากดูอะไรทั่วไปก็เปิดช่องสาม แต่ถ้าไม่มีอะไรดู เราก็หาช่องทางเลือก แต่อย่างไรก็แล้วแต่ มันไม่ควรเกิน 10 ช่อง ยกตัวอย่างช่องข่าว ควรมีไม่เกิน 3 ช่องพอ แล้วที่เหลือก็เป็นวาไรตี้

อีกอย่างคือ Platform หลายช่องมีฐานคนดูที่แน่นอนอยู่แล้วในเคเบิล หรือดาวเทียม แต่พอเพิ่มมาอีก 24 ช่อง คนดูก็ไม่สนใจ คนจำนวนมากมีดาวเทียมดูอยู่แล้ว ดาวเทียมก็ดูดิจิตอลได้ เขาก็ไม่มีความจำเป็นในการไปแลกกล่อง

ปัญหาที่เกิดขึ้น มันทั้ง 2 ฝ่าย (กสทช./ผู้ประกอบการ) ที่อ่านตลาดไม่ขาด สำหรับคนซื้อโฆษณา เขาไม่สนใจหรอกว่าจะเป็นดิจิตอล หรือ จะเป็นอนาล็อก หรือจะเป็นเคเบิล ตราบใดที่มีคนดูเขาก็ซื้อ ยกตัวอย่าง “ฮอร์โมน” จะไปขึ้นที่ไหน เขาก็วิ่งไปตามหา

ในส่วนผู้ให้บริการ ความเข้าใจตลาดก็ไม่ 100 % เคยถามหลายรายไปว่า คุณจะประมูลทำไม คุณอยู่ในดาวเทียมอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณเข้าไปดิจิตอล คุณต้องเสียค่าสัมปทานมหาศาล ค่าบริหารจัดการเพิ่มมหาศาลเลย

นี่คือ สถานการณ์ที่เป็นจริง นี่คือ ท่วงทำนองปี่กลอง ที่ผู้รำต้องรำให้เข้าจังหวะ


กำลังโหลดความคิดเห็น